โลกในมุมมองของ Value Investor      4 มกราคม 63

ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

​Ray Dalio เป็นผู้ก่อตั้งและบริหารกองทุน Bridgewater Associates ซึ่งเป็นกองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกกองทุนหนึ่งตั้งแต่ปี 1975 หรือประมาณ 45 ปีมาแล้ว  เวลานี้เขาอายุประมาณ 70 ปีและน่าจะเริ่มเกษียณจากงานหลักแต่ก็ยัง Active หรือยังทำงานคึกคักและเป็นที่ปรึกษาและให้ความเห็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจและความเป็นไปของโลกรวมถึงการเขียนหนังสือให้ความรู้จากประสบการณ์ในชีวิตของตนเองในฐานะของนักลงทุนและผู้บริหารกองทุนที่ยิ่งใหญ่และประสบความสำเร็จอย่างสูงในช่วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา  ว่าที่จริงตอนนี้เขาดังกว่าตอนเป็นผู้บริหารมาก  ส่วนหนึ่งจากการที่เริ่มเขียนหนังสือที่ได้รับความนิยมอย่างสูงทั่วโลกโดยเฉพาะหนังสือที่ชื่อว่า “Principles: Life and Work”  ที่บอกเล่าเรื่องราวของชีวิตและการทำงานของตนเองที่ประสบความสำเร็จว่ามาจากการใช้หลักการต่าง ๆ  ที่เขาพัฒนาขึ้นมาตลอดชีวิต  อย่างไรก็ตาม  เขาไม่ได้พูดถึงหลักการการลงทุนซักเท่าไร  ซึ่งทำให้นักลงทุนแบบ VI รวมถึงผมก็ยังไม่รู้ว่าเคล็ดหรือหลักการลงทุนของเขาเป็นอย่างไร แน่นอนว่าเขาไม่ใช่นักลงทุนแนว “VI พันธุ์แท้” แบบบัฟเฟตต์หรืออีกหลายคนที่เป็นไอดอลของสาวก VI ทั่วโลก  อย่างไรก็ตาม  ผมเชื่อว่าหนังสือ  “หลักการการลงทุนของ Dalio” คงจะออกมาในไม่ช้า

​Dalio เป็นคนที่เชื่อว่า Principles หรือหลักการนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะนำเราสู่ความสำเร็จในชีวิตและหน้าที่การงาน  เราต้องการสิ่งใดก็จะสามารถได้ดังหวังด้วยหลักและวิธีการต่าง ๆ  ที่เราจะกำหนดหรือสร้างขึ้นมาและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดไปเรื่อย ๆ  มันเป็น “กระบวนการ”  ที่เขาเรียนรู้จากชีวิตการทำงานและกลายเป็น “สูตรสำเร็จ”  และเขาเชื่อว่าคนที่ประสบความสำเร็จทุกคนมีหลักการที่ทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จ  เขาเองบอกว่าความสำเร็จของเขานั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากตนเอง  แต่มาจาก “หลักการ” ที่เขาใช้ซึ่งเขาเปิดเผยหรือบอกเล่าในหนังสือที่เขาเขียน

​ข้อแรก  คือ ต้องตัดสินใจด้วยตัวเองว่าจะทำอะไร  และสอง  ต้องกล้าที่จะทำมัน   ในการนี้คุณจะต้องคิดด้วยตนเองในขณะที่มีใจเปิดกว้างที่สุดที่จะรับความคิดเห็นจากคนอื่น  เราจะต้องมองว่าเวลานั้นเหมือนกับสายน้ำในแม่น้ำที่พาเราไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง  ไปประสบกับความเป็นจริงที่ทำให้เราต้องตัดสินใจ  เราหยุดมันไม่ได้และเราก็หลีกเลี่ยงสิ่งที่จะเข้ามาไม่ได้  ที่จะทำได้ก็คือการที่เราจะต้องเผชิญกับมันอย่างดีที่สุด  ในชีวิตของเรา  เราต้องเผชิญสิ่งต่าง ๆ  เป็นล้าน ๆ  และต้องตัดสินใจในจำนวนที่เท่ากัน  คุณภาพของการตัดสินใจจะเป็นตัวที่กำหนดคุณภาพชีวิตของเรา  ถ้าเราตัดสินใจถูกเราก็ได้รับผลตอบแทน  ตัดสินใจผิด  เราก็เจ็บ  

​การตัดสินใจแต่ละครั้งนั้นจะช่วยสอนให้เราเรียนรู้ว่าคราวต่อไปเราจะต้องทำอย่างไร  ครั้งแรก ๆ  เราก็มักจะพลาด  แต่ถ้าเราเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ    การตัดสินใจก็จะดีขึ้นเรื่อย ๆ  การคิดในเรื่องนี้ดาลิโอบอกว่าเราจะต้องมีหลักการพื้นฐานที่สำคัญก็คือ  จะต้องรู้ว่าอะไรคือ “ความจริง”  เพราะความจริงคือสิ่งที่สำคัญที่สุดและจำเป็นต้องใช้ในการตัดสินใจที่ถูกต้อง   ความจริงที่ว่านี้จะต้องเป็น “กฎของธรรมชาติ” ไม่ใช่ความเชื่อของเราหรือแม้แต่คนอื่นหรือในสังคมหรือเป็นสิ่งที่เราหวังหรือเราชอบอยากจะให้มันเป็น  พูดง่าย ๆ ก็คือ  ต้องรู้ว่าอะไรคือ “ความเป็นจริง” อย่างแท้จริง

​เมื่อรู้แล้วว่าอะไรคือความเป็นจริง  ชีวิตที่ประสบความสำเร็จก็คือ  ชีวิตที่มีความฝัน  บวกกับความเป็นจริง  บวกกับความมุ่งมั่นตั้งใจ  แต่คำถามต่อมาก็คือ  อะไรคือความสำเร็จในชีวิต?  บางคนอาจจะบอกว่ามันคือความยิ่งใหญ่มีชื่อเสียง  ร่ำรวยมีเงินทอง  หรือบางคนก็อาจจะแค่ว่าขอให้มีชีวิตครอบครัวที่มีความสุข  นั่นไม่ใช่เรื่องสำคัญ  ความสำเร็จนั้นเป็นเรื่องของตัวเราเอง  อย่าไปแคร์คนอื่น  เราต้องเลือกทางเดินของเราเอง  แต่ไม่ว่าจะเลือกทางไหน  สิ่งที่ต้องคิดก็คือ  อะไรคือความจริงของเราเอง  โดยเฉพาะที่เราหวังว่ามันจะไม่ใช่  เช่นความเป็นจริงที่ว่าเราไม่เก่ง  เราไม่สวย  เรามาจากครอบครัวที่ยากจนมาก  เป็นต้น  ซึ่งสิ่งต่าง ๆ  เหล่านี้บางทีก็เรียกว่า  “จุดอ่อน” ที่คนจำนวนมากอาจจะไม่เข้าใจหรือไม่ยอมรับ

​ดาลิโอบอกว่า  ปัญหาของเขา  ความผิดพลาดของเขา  และจุดอ่อนของเขา  เคยทำให้เขาเจ็บปวดและเขาก็ติดอยู่กับมันเพราะเขาเอาแต่หวังว่าเขาจะไม่มีสิ่งเหล่านั้น  แต่แล้วเขาก็เรียนรู้ว่าความเจ็บปวดเหล่านั้นคือสัญญาณที่บอกให้รู้ว่าเขาจะต้องตระหนักถึง  “ความเป็นจริง”  เหล่านั้นและจะแก้ปัญหาอย่างไร  และเขาก็ค้นพบวิธีซึ่งสามารถทำให้เขาประสบความสำเร็จและก้าวหน้าขึ้นเรื่อย ๆ  ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 ขั้นด้วยกันคือ

​ขั้นแรก  ตั้งเป้าหมาย  โดยที่เป้าหมายเหล่านั้นจะต้องสอดคล้องกับความสนใจและความชอบ  ความแข็งแกร่งและจุดอ่อนของตนเอง ขั้นที่ 2 ก็คือการเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคที่ขัดขวางไม่ให้เราไปถึงเป้าหมาย  มันมีปัญหาเสมอซึ่งก็ทำให้ต้องเจ็บปวด  เราจะต้องค้นให้พบและแก้ให้ได้  ขั้นที่ 3 ก็คือการวิเคราะห์ปัญหาลงไปถึงพื้นฐาน  บางครั้งก็เป็นเรื่องของจุดอ่อนของคุณเองหรือจุดอ่อนของคนอื่นที่ก่อให้เกิดปัญหา  เมื่อคุณผ่านชีวิตมาเรื่อย ๆ คุณก็จะเรียนรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่คุณทำได้ไม่ดีและจะต้องเปลี่ยนมันหรือหาทางหลบหลีกมัน  ขั้นตอนที่ 4 คือการออกแบบแผนการดำเนินการที่จะหลีกเลี่ยงปัญหาหรืออุปสรรคที่ขวางความก้าวหน้าของคุณ  และขั้นตอนที่ 5 ก็คือการลงมือปฏิบัติตามแผนนั้น  ผลักดันตนเองให้ทำทุกอย่างที่จำเป็น  ชีวิตที่ประสบความสำเร็จประกอบด้วยการทำขั้นตอนทั้ง 5 นั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า  ทำมันอย่างดีที่สุดแล้วคุณก็จะพบว่าชีวิตคุณจะขึ้น-ลง เป็นรอบ ๆ  และพัฒนาหรือวิวัฒนาการสูงขึ้นเรื่อย ๆ นี่เป็นกฎของธรรมชาติ

​ในระหว่างที่คุณเติบโตขึ้นคุณก็จะพบกับสิ่งที่ท้าทายมากขึ้นและก็จะพบกับความเจ็บปวดมากขึ้นเข้าทำนองยิ่งสูงเวลาตกก็ยิ่งเจ็บ  สิ่งเลวร้ายเกิดขึ้นได้กับเราทุกคน  ขึ้นอยู่กับการจัดการหรือเผชิญกับมัน  มันอาจจะทำลายเราหรือมันอาจจะทำให้เราแข็งแกร่งขึ้นและช่วยปรับปรุงให้เราก้าวหน้าขึ้นได้ในอนาคต  ประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิตการลงทุนของดาลิโอก็คือการผิดพลาดอย่างแรงในการลงทุนของเขาในช่วงปี 1982 ที่เขาทุ่มสุดตัวกับความเชื่อที่ว่าเศรษฐกิจของสหรัฐกำลังจะพังและตลาดหุ้นจะตกหนัก  เขามั่นใจขนาดกล้าที่จะประกาศความคิดและความเชื่อของเขาต่อสาธารณะ แต่ความเป็นจริงกลับตรงกันข้าม  เศรษฐกิจของอเมริกากลับเติบโตเร็วที่สุดต่อเนื่องยาวนานซึ่งทำให้บริษัทของเขาแทบเจ๊ง  เขาหมดตัว  พนักงานของบริษัทเหลือแค่คนเดียวคือตัวเขาเอง  อย่างไรก็ตาม  ในที่สุดเขาก็รอดมาได้และเติบโตจนกลายเป็น  “ตำนาน” ของนักลงทุนคนหนึ่งในวันนี้

​เรย์ดาลิโอเชื่อว่าทุกสิ่งในจักรวาลล้วนแล้วแต่เคลื่อนไหวเป็นวัฏจักร  สิ่งต่าง ๆ  เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในแบบที่แตกต่างกันเล็กน้อย  บางอย่างเกิดขึ้นซ้ำในช่วงเวลาสั้น ๆ  ซึ่งง่ายต่อการจดจำ  บางอย่างก็ยาวหรือเกิดขึ้นไม่บ่อยขนาดที่มันไม่เคยเกิดขึ้นเลยในช่วงชีวิตของเรา  ดาลิโอสังเกตพบว่าคนเรานั้นมักจะมีความลำเอียงกับประวัติศาสตร์หรือเรื่องที่เกิดขึ้นเร็ว ๆ  นี้  ขณะที่ไม่กลัวหรือไม่สนใจเรื่องที่เกิดขึ้นนานแล้วโดยเฉพาะที่มันไม่ได้เกิดขึ้นกับตัวเขา  แต่สิ่งเหล่านั้นก็จะเกิดขึ้นอีก มันเป็นความเสี่ยงที่คนอาจจะไม่ตระหนักเท่าที่ควร

ในการที่จะมีชีวิตที่ดีที่สุดนั้น  ดาลิโอให้น้ำหนักที่การวิเคราะห์ผลตอบแทนที่จะได้รับกับความเสี่ยงที่จะเกิดสิ่งที่เลวร้ายเพราะสองสิ่งนี้มักจะมาด้วยกัน  สำหรับดาลิโอแล้ว  เขาต้องการที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดีเยี่ยมกับชีวิตซึ่งหมายความว่าเขาจะต้องหาทางจัดการกับความเสี่ยงที่ใหญ่โต  ในการวิเคราะห์เรื่องเหล่านี้เขาเชื่อว่าลำพังตัวเขาเองนั้นเขาไม่สามารถที่จะมองเห็นภาพทั้งหมด  ดังนั้น  เขาจะต้องหาคนมาช่วยดู  หลักการของเขาก็คือการตัด  “อีโก้”และ “จุดบอด”ของตนเอง  โดยการปรึกษาคนอื่น ๆ  โดยเฉพาะที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากเขา  เขาจะรับฟังอย่างตั้งใจและ “เปิดใจ” เต็มที่ และทั้งหมดนั้นก็คือ  “หลักการสู่ความสำเร็จในชีวิต”  แบบฉบับของเรย์ดาลิโออย่างสั้นที่สุดที่นักลงทุนและคนที่ไม่ใช่นักลงทุนควรนำไปใช้

​