โลกในมุมมองของ Value Investor        5 กรกฎาคม 2568

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ผมคิดว่าเต็มไปด้วยความ “กังวล”  เหตุเพราะว่ามีเรื่องที่ “เลวร้าย” กับเศรษฐกิจและตลาดหุ้นเกิดขึ้นแทบไม่เว้นวัน

ล่าสุดก็คงต้องเป็นเรื่องที่เพิ่งเกิดเมื่อ 2-3 วันก่อนที่ดูเหมือนว่าการเจรจาของผู้แทนไทยกับสหรัฐเรื่องภาษีศุลกากรจะไม่สามารถสรุปได้ก่อนเส้นตายในวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 หรืออีกแค่ 2-3 วันที่จะถึงนี้  ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น  ไทยอาจจะถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากอเมริกาถึง 36% ซึ่งก็จะเป็นอัตราที่น่าจะทำให้การส่งออกสินค้าของไทยไปยังสหรัฐลดลงมาก  และก็จะทำให้การส่งออกโดยรวมของไทยลดลงอย่างรุนแรง  ซึ่งจะส่งผลกระทบกับการเติบโต GDP ของไทยในปีนี้และปีต่อ ๆ ไปที่มีการคาดมาก่อนหน้านี้ว่าจะโตช้ามากอยู่แล้ว

ว่าที่จริงหน่วยงานระดับธนาคารโลกได้ลดการคาดการณ์การเติบโตของ GDP ของไทยเหลือเพียง 1.8% ในปีนี้และ 1.7% ในปีหน้าจากที่เคยคาดว่าจะเกิน 2% ในทั้ง 2 ปี และนั่นก็อาจจะยังไม่ได้รวมถึงผลกระทบจากการปรับภาษีของทรัมป์อย่างเต็มที่ด้วย

เรื่องนี้ก็คงจะทำให้นักลงทุนหลายคนกังวลใจและอาจจะนอนไม่ค่อยหลับถ้าถือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์จำนวนมากโดยเฉพาะที่ส่งออกสินค้าไปตลาดสหรัฐเป็นจำนวนมาก

แต่คนที่กังวลใจยิ่งกว่านั้น  น่าจะเป็นบริษัทที่ผลิตสินค้าส่งออกไปยังตลาดสหรัฐเป็นหลักหรือเป็นจำนวนมากที่กังวลว่าสินค้าของตนเองจะ “ขายไม่ได้” หรือขายได้น้อยลงมาก  เพราะราคาของสินค้าสู้กับคู่แข่งที่ไม่ต้องเสียภาษีหรือเสียภาษีน้อยกว่าสินค้าจากไทยซึ่งก็รวมถึงสินค้าจากเวียดนามที่ได้ตกลงกับสหรัฐเรียบร้อยแล้วว่าจะเสียภาษีนำเข้าที่ 20%   สำหรับหลาย ๆ  บริษัทแล้ว  นี่อาจจะเป็น  “หายนะ”

ผมไม่คิดว่าคนงานที่ทำงานในกิจการส่งออกจะรู้สึกกังวลกับเรื่องนี้  เพราะในช่วงหลาย ๆ  เดือนที่ผ่านมา  การผลิตและส่งออกดีขึ้นมาก  แต่เหตุผลน่าจะมาจากการที่โรงงาน “เร่งผลิต” และส่งออกก่อนที่ “ภาษีทรัมป์” จะถูกบังคับใช้  แต่หลังจากวันที่ 9 ก.ค. ทุกอย่างอาจจะเปลี่ยนไปเพราะภาษีนำเข้าสหรัฐอาจจะเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง  และวันนั้นคนงานจำนวนมากอาจจะต้องกังวลว่าจะตกงานและไม่รู้ว่าจะไปหางานที่ไหน  เพราะโรงงานหลายแห่งที่อยู่ข้าง ๆ  ก็อาจจะกำลังปิดตัวลงเพราะไม่สามารถแข่งขันได้และไม่สามารถหาตลาดอื่นมาทดแทนได้

เรื่องที่น่ากังวลที่เป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่งก็คือปัญหาทางการเมืองที่นายกรัฐมนตรีต้องถูก “พักงาน” และไม่รู้ว่าสุดท้ายจะต้องหลุดจากตำแหน่งหรือไม่โดยศาลรัฐธรรมนูญกรณี “คลิปปล่อยของฮุนเซน” ผู้นำของกัมพูชา

ที่น่ากังวลก็เพราะว่ากรณีนี้ทำให้รัฐบาลที่มีเสียงสนับสนุนในสภาผู้แทนราษฎรเกินครึ่งเพียงไม่กี่เสียงเกิดความไม่มั่นคงและอาจจะล้มได้ทุกเมื่อ  เพราะนอกจากการแพ้โหวตในสภาแล้ว  ยังมีประเด็นเรื่องที่ฝ่ายตรงข้ามลงถนนประท้วงและใช้ “นิติสงคราม” เพื่อล้มรัฐบาลอย่างที่เคยใช้ได้ผลมานานในการเมืองของไทย

การที่รัฐบาลอาจจะล้มนั้น  ผลกระทบสำคัญในระยะสั้นก็คือ  งบประมาณประจำปีหน้าก็จะออกช้าลงไปอย่างน้อย 6-9 เดือน  โครงการที่จะช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้นหรือการแก้ปัญหาสังคมการเมืองก็จะช้าตามกันไป  ส่วนในระยะยาวเองนั้น  ความสามารถทางการแข่งขันของไทยก็จะยิ่งด้อยลงไป  เพราะการลงทุนของไทยที่ช้าลงนั้น  ทำให้คู่แข่งพัฒนาไปจนเราตามไม่ทัน  และเราจะค่อย ๆ  ลดบทบาทลงในเศรษฐกิจและการเมืองของโลก

เป็นเรื่องที่น่ากังวลและบางครั้งก็ทำให้คน “สูงอายุ  รวย  และใจเย็น” อย่างผม  ที่ไม่ควรกังวลอะไรแล้ว “นอนไม่หลับ”  เพราะคิดถึงคนไทยและลูกหลานที่กำลังเติบโตขึ้น  ไม่รู้ว่าประเทศไทยในอีกหลายสิบปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร

ในฐานะของนักลงทุนที่ได้ปรับโครงสร้างพอร์ตหุ้นไปแล้วบางส่วน  กล่าวโดยเฉพาะก็คือ  มีพอร์ตหุ้นเวียดนาม 30% กว่า ๆ   เงินสดประมาณ  10% ต้น ๆ  และพอร์ตหุ้นไทยประมาณ 55%  ความกังวลของผมต่อการลงทุนก็น่าจะมีเพียงครึ่งเดียวคือ  พอร์ตหุ้นไทย  และเนื่องจากการที่ผมกังวลเกี่ยวกับสถานะทางเศรษฐกิจ  สังคมและการเมืองไทยของไทยมานานหลายปีแล้ว  ผมจึงลงเฉพาะหุ้นแนว  “Defensive”  คือหุ้นที่ค่อนข้างปลอดภัยต่อภาวะเลวร้ายต่าง ๆ  ได้ดี  และมีราคาถูก ดังนั้น  โอกาสที่หุ้นจะตกลงมารุนแรงก็ควรจะน้อยลง  ดังนั้น  ผมจึงไม่ได้กังวลมากนักในช่วง “เวลาแห่งความกังวล” ที่กำลังเกิดขึ้น

พอร์ตหุ้นเวียดนามของผมนั้น  ผมรู้สึกว่าแทบจะ  “ไร้ความกังวล” ตั้งแต่ทรัมป์ประกาศสงครามการค้า  ซึ่งในช่วงแรก  ผมกลับคิดว่าอาจจะเป็นผลดีต่อเวียดนามที่จะได้อานิสงค์จากการเป็นตัวแทนจีนในการผลิตสินค้าให้กับอเมริกา  อย่างไรก็ตาม  ต่อมาก็ดูเหมือนว่าทรัมป์จะ “เล่นงาน” ทุกประเทศ  รวมถึงเวียดนามที่ได้ดุลการค้าอเมริกามหาศาลอันดับ 3 หรือ 4  รองเฉพาะจีนกับเม็กซิโก  แต่ผมก็ยังคิดอยู่ดีว่าเวียดนามก็จะไม่ถูกกระทบ  เพราะยังไงคนอเมริกันก็ต้องใช้สินค้านำเข้าในสิ่งที่อเมริกาไม่สามารถผลิตได้ที่ต้นทุนที่ยอมรับได้  และคนที่จะส่งให้อเมริกานั้น  ยังไงก็ต้องมีเวียดนามอยู่ด้วย

การประกาศข้อตกลงการค้าเวียดนามกับอเมริกาที่ “0-20-40” หรือ สินค้าที่อเมริกาส่งเข้าเวียดนามไม่ต้องเสียภาษีศุลกากร  สินค้าที่เวียดนามส่งเข้าอเมริกาจะเสียภาษี 20% ถ้าเป็นสินค้าที่ผลิตในเวียดนามและโดยคนเวียดนาม  และเสียภาษี 40% กรณีที่เป็นสินค้าที่ผลิตโดยคนจีนแต่มาอาศัยเวียดนามเป็นคนส่งออกแทนนั้น  ผมคิดว่าเป็นดีลที่ “ดีเยี่ยม” สำหรับเวียดนาม

เพราะดีลนี้น่าจะเป็นดีลที่ “win-win” คือได้ประโยชน์มากทั้งสองฝ่าย  กล่าวคือ  อเมริกาสามารถส่งสินค้าไฮเท็ค เช่น  สินค้าเกี่ยวกับดิจิทัลและชิพอิเลคโทรนิก  เครื่องบินพานิชย์ และ  อาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีมูลค่าสูงให้เวียดนามได้มากขึ้นแทนที่ยุโรปที่ต้องเสียภาษี  เช่นเดียวกับสินค้าเกษตรและอาหารหลาย ๆ  อย่าง  รวมถึงอาหารสัตว์ที่อเมริกามีความสามารถและผลิตได้เหลือเฟือที่จะกลายเป็นวัตถุดิบให้กับอุตสาหกรรมอาหารของเวียดนามที่จะส่งกลับไปยังสหรัฐได้

ในด้านของเวียดนามเองนั้น  อัตราภาษีนำเข้าที่ 20% ของอเมริกานั้น  ผมเชื่อว่าเป็นอัตราที่ต่ำกว่าคู่แข่งเช่น  จีนที่สูงถึงกว่า 50% ซึ่งผมคิดว่าด้วยศักยภาพของเวียดนามที่ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว  จะทำให้สินค้าของเวียดนามสามารถแข่งขันกับสินค้าของจีนได้  ส่วนกรณีของคู่แข่งอื่นโดยเฉพาะไทยเองนั้น  คงต้องดูว่าเราจะได้ดีลอย่างไร  แต่ผมเองคิดว่าไทยมีข้อเสียเปรียบเวลาไปเจรจากับอเมริกาหลายด้าน

เรื่องแรกก็คือ  ปัญหาทางการเมืองที่ผมคิดว่าในยามที่รัฐกำลังประสบปัญหาความมั่นคงของรัฐบาล  เราอาจจะไม่สามารถรับปากหรือตกลงอะไรที่จะทำให้ถูกต่อต้านจากคนที่เสียประโยชน์จากสัญญาการค้าได้มากนัก  ตัวอย่างเช่นเรื่องของสินค้าเกษตรบางอย่างที่เราเคยกีดกันสินค้าจากอเมริกา เช่น  พวกเนื้อและเครื่องในสัตว์เป็นต้น  เราจึงอาจจะไม่ยอมตกลงให้สินค้าทุกชนิดของอเมริกาเข้าไทยโดยไม่มีภาษีแบบในกรณีของเวียดนาม

เรื่องต่อมาก็คือ  ในระยะหลัง  เราเองไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางการเมืองใกล้ชิดกับอเมริกาเหมือนก่อน  ในขณะที่เวียดนามนั้น  กลายเป็น “เพื่อน”  และถ้าวันหนึ่งต้องเลือกว่าจะอยู่ฝ่ายใดระหว่างจีนหรือสหรัฐ  คงเลือกที่จะเป็นฝ่ายอเมริกา  และนั่นไม่ใช่สิ่งที่แค่คาดเดา  โพลที่ทำในระดับนานาชาติชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า  คนเวียดนามชอบอเมริกามากกว่าจีน  ในขณะที่ไทยเองนั้น  รู้สึกว่าจีนเป็นมิตรมากกว่า

พูดถึงเรื่องนี้แล้วผมก็นึกถึงข่าวการลงทุนมหาศาลของครอบครัวทรัมป์ในเวียดนามที่กำลังเกิดขึ้น  ถ้าเข้าใจไม่ผิด  นี่จะเป็นการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดของครอบครัวทรัมป์นอกสหรัฐ  และเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องอาศัยการสนับสนุนอย่างมากจากรัฐบาลเวียดนาม  ดังนั้น  ผมคิดว่าเราก็น่าจะพอคาดการณ์ได้ว่า  ยังไง  ดีลการค้าระหว่างเวียดนามกับสหรัฐก็น่าจะต้องดีต่อเวียดนามด้วย

เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  สงครามการค้าครั้งนี้  ลึก ๆ  แล้วมาจากการแข่งขันชิงความเป็น  “เจ้าโลก” ระหว่างจีนกับอเมริกาที่คิดว่าต้องบล็อกจีนไม่ให้พัฒนาก้าวหน้าล้ำไปทั้งทางด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี  และดังนั้น  ด้านหนึ่งก็ต้องใช้เวียดนามในการต้านจีน  ในขณะที่ไทยเองนั้น  เนื่องจากบทบาททางเศรษฐกิจที่ด้อยลง  และความรู้สึกที่ว่าไทยเองสนิทกับจีนมากกว่า  ดังนั้น  อเมริกาจึงไม่ค่อยจะสนใจมาก  และคงให้ดีลที่เหนื่อยกว่าของเวียดนามกับไทย

ทั้งหมดนั้นก็ทำให้ผม  “ไร้กังวล” กับพอร์ตหุ้นเวียดนามมาตลอดแม้ว่าผลงานการลงทุนของพอร์ตเวียดนามครึ่งปีที่ผ่านมาลดลงมาพอสมควรทั้ง ๆ ที่ดัชนีตลาดหุ้นเวียดนามบวกเกือบ 10%  และผมก็คิดมาตลอดว่า  ในที่สุดพอร์ตผมก็น่าจะดีขึ้นเรื่อย  ๆ  โดยเฉพาะเมื่อประเด็นเรื่องภาษีทรัมป์ผ่านไป  แต่ในด้านของพอร์ตหุ้นไทยเองนั้น  แน่นอนว่าผมก็ยังกังวลเรื่องภาษีศุลกากรของอเมริกาที่มีโอกาสที่จะทำให้เศรษฐกิจโดยรวม  “เละ”  แต่ความกังวลของผมไม่ใช่เรื่องของพอร์ตหุ้นไทย   แต่เป็นความกังวลว่าเศรษฐกิจประเทศไทยจะเป็นอย่างไร  และคนไทยบางกลุ่มจะเดือดร้อนสาหัสและทุกข์ทรมานระดับไหน