Corner หุ้น IPO

0
โลกในมุมมองของ Value Investor    8 สิงหาคม 63 ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร “วัฏจักร์” ของตลาดหุ้นอย่างหนึ่งที่มักจะเกิดขึ้นบ่อย ๆ ในประวัติศาสตร์ก็คือ  เมื่อตลาดหรือดัชนีตกต่ำลงมาถึงจุดหนึ่ง  มันก็จะปรับตัวขึ้น  ตอนเริ่มต้นก็จะไปอย่างช้า ๆ  และนำด้วยหุ้นขนาดใหญ่ที่มีพื้นฐานดีและมีกำไรที่กำลังจะฟื้นตัวดีขึ้น  ต่อมาเมื่อดัชนีปรับตัวขึ้นถึงจุดหนึ่ง  หุ้นขนาดกลางก็จะเริ่มปรับตัวขึ้นและจะปรับตัวขึ้นแรงกว่าหุ้นขนาดใหญ่ที่มักจะ “อุ้ยอ้าย” และโตช้ากว่า  และหลังจากที่หุ้นขนาดกลางปรับตัวขึ้นไปมากและกระจายตัวออกไปก็จะมาถึงคิวหุ้นตัวเล็กที่เริ่มเห็นว่ากิจการจะมีกำไรดีขึ้นเนื่องจากภาวะทางเศรษฐกิจที่น่าจะดูดีขึ้นอย่างมั่นคงแล้ว  ในขณะนี้  นักลงทุนส่วนบุคคลรายย่อยก็จะเริ่มเข้ามาเก็งกำไรซื้อขายหุ้นกันเป็นจำนวนมากเนื่องจากได้รับข่าวสารที่ว่าตลาดหุ้นทำเงินให้นักลงทุนจำนวนมาก  การลงทุนสามารถ  “สร้างเศรษฐี” ให้กับนักเล่นหุ้นเป็นกอบเป็นกำ ความร้อนแรงของตลาดหุ้นหรือดัชนีหุ้นเมื่อวิ่งขึ้นถึงจุดหนึ่ง  หุ้นทั้งหมด เฉพาะอย่างยิ่งหุ้นตัวเล็กก็จะแพงจนเริ่มมีคนขายหุ้นทำให้หุ้นเริ่มหยุดวิ่ง  ข่าวดี ๆ  ที่จะขับเคลื่อนหุ้นเริ่มหมด  ณ. เวลานี้ก็ถึงคิว   หุ้น “IPO” หรือหุ้นที่เพิ่งเข้าตลาดหุ้นครั้งแรกโดยเฉพาะที่เป็นหุ้นขนาดเล็ก  หุ้นเหล่านี้ถูกนำมาขายโดย “Underwriter” และที่ปรึกษาทางการเงินที่จะประเมินราคาหุ้นโดยอิงจากผลประกอบการของบริษัทที่มักจะมีตัวเลขที่น่าเชื่อถือเพียงไม่กี่ปีหรือบางทีแค่ปีหรือสองปี โดยที่ปีสุดท้ายก่อนเข้าตลาดก็จะเป็นปีที่มักจะดีกว่าปกติ  บ่อยครั้งก็จะเป็นปีที่ผลประกอบการ  “ก้าวกระโดด” วาณิชธนากรก็จะใช้ตัวเลขนี้และประมาณการต่อไปข้างหน้าที่มักจะเติบโตสูงกว่าอดีตมาก  หลังจากนั้นพวกเขาก็จะ “ตีมูลค่า” โดยใช้ตัวเลขเช่น ค่า PE ที่มักจะอิงจากค่า PE ของอุตสาหกรรม  คูณด้วยตัวเลขกำไรของบริษัท  จากนั้นก็จะมีการ “Discount” หรือปรับลดราคาลงมาซัก 10-15% เพื่อที่จะแสดงให้นักลงทุนเห็นว่าจะได้ซื้อหุ้นถูกลงซึ่งจะทำให้“มีกำไร” เมื่อหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ จากสถิติที่มีการศึกษาโดยเฉพาะหุ้นในตลาดของอเมริกานั้น  ดูเหมือนว่าหุ้น IPO นั้นจะถูกตั้งราคาที่ “แพงเกินไป”  เพราะหลังจากที่หุ้นเข้าซื้อขายในตลาดนานพอสมควรเช่น 1 ปีหลังจากซื้อขายวันแรก  ราคาหุ้นมักจะต่ำกว่าราคาจองเป็นส่วนใหญ่  จนผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ในแวดวงของตลาดหุ้น ชอบพูดประชดหุ้น IPO ว่าไม่ใช่มาจากคำย่อว่า “Initial Public Offering” แต่เป็น “It’s Probably Overpriced” หรือแปลว่า “ราคาหุ้นคงจะแพงเกินไป” เหตุผลก็คงเป็นเพราะว่า IPO นั้นมักจะเกิดขึ้นมากตอนหุ้นในตลาดโดยรวมร้อนแรงและราคาหุ้นส่วนใหญ่ก็มักจะแพงเกินไปอยู่แล้ว  ดังนั้นหุ้น IPO ก็มักจะต้องแพงตามและแพงกว่า  เนื่องจากทุกคนต้องการมันและที่ปรึกษาและเจ้าของหุ้นต่างก็มักจะมองโลกในแง่ดีและเชื่อในผลประกอบการที่มักจะสดใสกว่าความเป็นจริง ในตลาดหุ้นไทยเองนั้น  IPO ยังเป็นหุ้นที่นักเล่นหุ้นส่วนบุคคลชอบมากเนื่องจากมันสามารถเป็นเครื่องมือของการ“เก็งกำไร” ที่ทรงประสิทธิภาพเพราะว่าราคาหุ้นจะมีความผันผวนสูงกว่าหุ้นที่อยู่ในตลาดมานานแล้วมาก  ราคาที่เข้าซื้อขายหุ้นในวันแรกนั้นอาจจะแตกต่างจากราคาจองเป็นหลายสิบเปอร์เซ็นต์เป็นเรื่องปกติ  ในประวัติศาสตร์เองนั้น หุ้นบางตัวขึ้นไปถึง 200% หรือชนเพดานก็มีอยู่บ่อย ๆ  ในทางตรงกันข้าม  เวลาที่เกิดการขาดทุนนั้น  กลับมีการขาดทุนไม่มาก แค่ 10-20% ก็ถือว่ามากแล้ว  เหตุผลก็เพราะว่า  “ไม่มีใครมีต้นทุนต่ำกว่าราคาจอง” ยกเว้นแต่ผู้ถือหุ้นเดิมหรือเจ้าของที่หุ้นมักจะถูก “ล็อก”เอาไว้ไม่ให้ขายในช่วงเวลาหนึ่งหลังหุ้นเข้าตลาด  ดังนั้น  การจองซื้อหุ้น IPO รวมถึงการเล่นหุ้นในช่วงวันแรก ๆ  ที่เข้าตลาดหุ้นจึงเป็นสิ่งที่นักลงทุนส่วนบุคคลชอบมาก  หลายคนอาจจะไม่สนใจเรื่องของพื้นฐานและ “ราคาหุ้นที่เหมาะสม”  เกือบทุกคนเข้ามาเล่น “เก็งกำไร” ซึ่งทำให้ปริมาณการซื้อขายหุ้น IPO ในช่วงแรก ๆ  ของการเข้าตลาดหุ้นสูงแบบมโหฬาร และราคาหุ้นบ่อยครั้งก็ขึ้นแบบไม่น่าเชื่อ แต่ไม่ใช่หุ้น IPO ทุกตัวจะประสบความสำเร็จ  การคาดการณ์ว่าหุ้นตัวไหนจะ “วิ่งระเบิด” นั้นผมคิดว่าน่าจะต้องมีปัจจัยต่าง ๆ  ที่เกี่ยวข้องกับการเก็งกำไรมากกว่าพื้นฐานที่แท้จริงของกิจการและความถูกแพงของราคาหุ้น  ซึ่งผมจะลองเสนอเป็นข้อ ๆ  ดังต่อไปนี้ ข้อแรกก็คือ หุ้น IPO ที่จะประสบความสำเร็จมักจะอยู่ในอุตสาหกรรม  “แห่งอนาคต” เฉพาะอย่างยิ่งเป็นอุตสาหกรรม“ไฮเท็ค”  หรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับ “ดิจิตอล”  หรืออุตสาหกรรมที่เป็น “เมกาเทรนด์” อื่น ๆ ที่คนเชื่อว่าจะเติบโตได้อย่างรวดเร็วและต่อไปได้อีกนาน  และโดยที่นักเล่นหุ้นทั่วไปนั้นมักจะไม่ค่อยเข้าใจเรื่องของเทคโนโลยีมากนัก  ดังนั้น หุ้น IPO ที่จะเข้าตลาดก็จะต้องมีชื่อที่คนฟังแล้วจะเกิดความมั่นใจว่านี่คือบริษัทที่ “ใช่เลย” เพราะมีคำที่เกี่ยวกับ“เทคโลยีใหม่ระดับโลก” หรือมาจากแหล่งที่เป็น “ศูนย์กลางของเทคโนโลยีระดับโลก” และที่สำคัญก็คือ  บริษัทมีการซื้อขายสินค้ากับบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก   และในกรณีที่เป็นสินค้าหรือบริการในประเทศก็จะต้องมีชื่อที่เกี่ยวข้องกับอินเตอร์เน็ตหรืออะไรก็ตามที่กำลังเป็นที่กล่าวขวัญถึงกันมาก เช่น คำว่าคลาวด์หรือแพลทฟอร์ม  เป็นต้น ข้อสอง  เป็นบริษัทที่กำลังได้ประโยชน์จากสถานการณ์ปัจจุบันอย่างมาก  เช่น  เป็นบริษัทที่ผลิตสินค้าที่ใช้ในการป้องกันโควิด19 หรือเป็นธุรกิจที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคเลยและยอดขายก็ไม่ได้ตกลงมา  บางทีอาจจะเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ  แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ  กำไรของบริษัทกำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วจน “น่าทึ่ง” ซึ่งทำให้เกิดภาพว่าบริษัทมีความโดดเด่นมากในยามที่บริษัทอื่น ๆ  ส่วนใหญ่กำลังย่ำแย่จนแทบเอาตัวไม่รอด  เรื่องราวของบริษัทที่อยู่ในภาพพจน์ของนักลงทุนก็คือเป็นหุ้นเล็กที่ “เติบโตเร็ว” ซึ่งหาได้ยากในตลาดหุ้นไทยในภาวะปัจจุบันที่เศรษฐกิจเติบโตช้าลงอย่างมาก ข้อสามซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญมากที่จะทำให้หุ้น IPO สำเร็จในช่วงเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นในช่วงแรกก็คือ  ขนาดหรือจำนวนของหุ้นที่ขายให้กับประชาชนหรือนักลงทุนทั่วไปจะต้องไม่สูงมาก  ซึ่งก็หมายความว่า Free Float หรือหุ้นที่หมุนเวียนในตลาดจะมีไม่มาก  เช่น  แค่ไม่กี่ร้อยล้านบาทหรืออย่างมากก็ไม่เกิน 1,000 ล้านบาท  เพราะถ้าเป็นหุ้นที่มีFree Float สูง  การที่จะมีเม็ดเงินมาไล่ซื้อดันราคาหุ้นให้สูงขึ้นไปก็ทำได้ยาก  หุ้นที่มีหุ้นกระจายในตลาดน้อยและเป็นหุ้นที่มีคุณสมบัติโดดเด่นสำหรับการเก็งกำไร เช่น อยู่ในอุตสาหกรรมไฮเท็คและเติบโตเร็ว  นั้น  จะมีโอกาสที่จะถูก “Corner” หรือถูกซื้อโดยนักเก็งกำไรหรือนักปั่นหุ้นจน “เกือบหมด” ซึ่งจะส่งผลให้ราคาหุ้น “วิ่งระเบิด” โดยที่พื้นฐานของกิจการอาจจะไม่รองรับ  ตัวอย่างก็เช่น หุ้นตัวเล็กหลายตัวที่วิ่งขึ้น 200% ในการซื้อขายวันแรกในสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นต้น ผมเชื่อว่าปรากฏการณ์ของ “ภาวะกระทิง” ของหุ้น IPO โดยเฉพาะที่เป็นหุ้นขนาดเล็กซึ่งผมคิดว่ามาจากการที่หุ้นถูกCorner นั้น  อาจจะดำเนินต่อไปได้อีกระยะหนึ่งแต่ก็คงไม่นานนัก  เหตุผลก็เป็นเพราะภาวะการเก็งกำไรของตลาดหุ้นไทยส่วนที่เป็นหุ้นขนาดเล็กที่กำลังเกิดขึ้นนี้  คงไปต่อไม่ได้นาน  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  ความร้อนแรงของหุ้น IPO นั้น มักจะเป็นสัญญาณว่าภาวะกระทิงใกล้จะจบ  ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น  ราคาหุ้นที่ขึ้นไปสูงมากก็จะไม่สามารถดำรงอยู่ได้ นักลงทุนจะต้องเข้าใจว่า  บริษัทที่เราคิดว่าเป็น “ไฮเท็ค” นั้น  อาจจะไม่ใช่บริษัทไฮเท็คที่มีเทคโนโลยีระดับสูงจริง ๆ และบริษัทอื่นจำนวนมากก็สามารถทำได้  ไม่มีทางที่บริษัทจะสามารถเติบโตและทำกำไรมากมายได้ในระยะเวลาอันสั้น  และสิ่งที่จะยืนยันก็คืองบการเงินที่จะทยอยออกมาทุกไตรมาศ   นักเล่นหุ้นเก็งกำไรในหุ้น IPO บางคนอาจจะคิดว่านี่คือการเก็งกำไรและจะซื้อขายหุ้นอย่างรวดเร็ว  ดังนั้น  ถ้าดูว่าหุ้นอาจจะไม่ขึ้นต่อแล้วก็จะขายออกไปก่อน  แต่ในความเป็นจริงนั้น  แทบทุกคนที่เข้ามาซื้อหุ้นก็จะคิดแบบเดียวกัน  ดังนั้น  ในวันที่เราคิดจะขาย  คนอื่นก็อาจจะคิดแบบเดียวกัน  คนที่จะซื้อมีน้อยมาก  หุ้นก็อาจจะตกลงมาได้มากจนเราไม่อยากขายและในที่สุดก็จะ  “ติดหุ้น”  เพราะราคาหุ้นต่ำกว่าต้นทุนของเรามาก  และถ้าขายก็จะขาดทุนอย่างหนัก  ผมคิดว่าคนที่จะมีโอกาสกำไรได้มากในการเล่นหุ้น IPO ก็คือคนที่ “คุมเกม” คือคนที่มีเม็ดเงินมากพอที่จะ Corner หุ้น ซึ่งจะดันราคาหุ้นให้สูงขึ้นไปได้มากตามที่ต้องการ  จากนั้นก็จะค่อย ๆ  ทยอยขายหุ้นออกในเวลาที่เหมาะสมเป็นระยะจนหมดก่อนที่  “ความจริง” ในพื้นฐานของหุ้นจะปรากฏ

การเมืองไทยใครจะชนะ

0
โลกในมุมมองของ Value Investor  1 สิงหาคม 63 ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร             การเมืองเป็นเรื่องใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับคนทั้งประเทศและบางทีก็ทั้งโลก  เพราะฉะนั้น  นักลงทุนจำเป็นที่จะต้องรู้ว่าการเมืองของประเทศเป็นอย่างไรในปัจจุบันและจะเป็นอย่างไรในอนาคต  การเมืองเป็นเรื่องของการแข่งขันหรือการต่อสู้ของคนในสังคมเพื่อที่จะได้อำนาจในการทำสิ่งต่าง ๆ  รวมถึงการจัดสรรทรัพยากรของประเทศในทางที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองหรือกลุ่มตนเองที่มีความคิดคล้าย ๆ  กัน  ความคิดทางการเมืองของคนโดยทั่วไปในโลกยุคปัจจุบันนั้นมักจะแบ่งออกเป็น 2 แนวทางใหญ่ ๆ  นั่นก็คือ  อนุรักษ์นิยมกับเสรีนิยม  คนในสังคมของประเทศอย่างในไทยและประเทศส่วนใหญ่ในโลกก็มักจะแบ่งออกเป็น 2...

ดีเกินคาด

0
บริษัทหลักทรัพย์เวียดนามอวดกำไรไตรมาส 2 หลังจากแตะจุดต่ำสุดในไตรมาสแรกจาก COVID-19 ตลาดหุ้นของเวียดนามกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้งในไตรมาส 2 ทำให้บริษัทหลักทรัพย์มีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้นอย่างมาก บริษัทหลักทรัพย์ SSI มีกำไรเพิ่มขึ้นอย่างน่าประทับใจในไตรมาสที่สอง โดยรายได้รวมพุ่งขึ้น 85.5% 1.38 ล้านล้านด่อง และกำไรก่อนหักภาษีเพิ่มขึ้น 172.4% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ฝั่งของ HCM Securities Corp (HSC) รายงานรายได้มากกว่า 374,000 ล้านด่อง (16.28 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ)โดยมีกำไรหลังหักภาษีเพิ่มขึ้น...

เปลี่ยนโหมดการลงทุน

0
ตัดจากบทสัมภาษณ์ ของดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ในรายการ รู้ใช้ เข้าใจเงิน (20-07-63) 8 ปีที่แล้วที่หุ้นไทยไม่ไปไหน …ทางออกของเราคืออะไร? ตอนนี้ประเทศอื่นเค้าเปลี่ยนหมด บ้านเราพูดตามตรงยังไม่เห็นอะไรเปลี่ยนเลยทางออกคือ "ไปลงทุนต่างประเทศ" ไปลงทุนประเทศที่เค้ามีอนาคตดีๆ หรือถ้าสู้กันในประเทศไทยต้องเปลี่ยนโหมด เก็งกำไรเอาแบบเดิมหุ้นตัวเล็กแบบเดิม ผมคิดว่าแบบนี้ไปไม่รอดหรอก ตราบใดที่ภาพใหญ่ยังไม่เอื้ออำนวย มันไปยาก แต่ถ้าคุณเลือกไปประเทศที่อนาคตสดใส ผมยกตัวอย่าง ไม่ได้เชียร์อะไรมากนะ…เวียดนามเนี๊ย !จริงๆ เท่าที่ผ่านมาหลายปีเค้าก็ไม่ได้ผลตอบแทนอะไรมากมายนะ พอๆ กับเมืองไทย ไม่ค่อยดีหรอก แต่ไปดูพื้นฐานของเค้านี้มันรองรับหมด...

ฝรั่งขายหุ้น

0
โลกในมุมมองของ Value Investor  18 กรกฎาคม 63 ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร มองย้อนหลังไปประมาณ 8 ปี  ตลาดหุ้นไทยนั้นดูเหมือนจะไม่ไปไหน  สิ้นปี 2555 ดัชนีตลาดหุ้นอยู่ที่ประมาณ 1,392 จุด ถึงวันที่ 17 กรกฎาคม 2563 ดัชนีอยู่ที่ 1,360 จุดหรือลดต่ำลงประมาณ 2.3% ...

สัญญาณเก็งกำไรในตลาดหุ้น

0
โลกในมุมมองของ Value Investor     11 กรกฎาคม 63 ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ​ผมสังเกตมานานแล้วว่าตลาดหุ้นไทยนั้นเป็นตลาดที่มีการเก็งกำไรสูงมากเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นของประเทศอื่น ๆ  ที่ผมรู้จัก  การเก็งกำไรของนักลงทุนส่วนบุคคลของไทยนั้น  ว่าที่จริงแทบไม่เคยหายไปเลยยกเว้นก็แต่ในช่วงหลังวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 ที่ เศรษฐกิจไทยแทบจะล่มสลายและคนที่บาดเจ็บหนักที่สุดก็คือผู้ประกอบการและนักธุรกิจที่มีเงินมากพอที่จะเล่นหุ้นหรือลงทุนได้ในช่วงเวลานั้น  ซึ่งก็ทำให้การ “เก็งกำไร” ในตลาดหุ้นหายไปอย่างสิ้นเชิงเป็นเวลาหลายปีก่อนที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวและเกิด  “นักลงทุนรุ่นใหม่” ที่มีความหลากหลายมากขึ้นและรวมถึง  คนชั้นกลางที่ “กินเงินเดือน” และเริ่มสะสมเงินหรือความมั่งคั่งเพื่อการเกษียณ  นักลงทุนรุ่นใหม่เหล่านั้นมีจำนวนมากขึ้นมากเมื่อเทียบกับนักลงทุนรุ่นเก่า  พวกเขานอกจากจะมีเงินแล้วก็ยังมี “ความรู้”ในการลงทุนมากขึ้นมาก  พวกเขารู้ว่าในการเลือกหุ้นลงทุน  เราจะต้องวิเคราะห์และประเมินหามูลค่าที่แท้จริงและเปรียบเทียบกับราคาหุ้น  ถ้าหุ้นราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงมากหรือที่เรียกว่ามี Margin Of Safety สูง  เขาก็จะซื้อ  ถ้าราคาหุ้นแพงกว่าก็ต้องขาย  นี่คือหลักการที่เรียกว่า “Value Investing” ที่กลายเป็น “กระแสหลัก” ของการลงทุนในตลาดหุ้นไทยมาจนถึงทุกวันนี้ ​แต่การเก็งกำไรในตลาดหุ้นเองนั้น...

เก่าไป – ใหม่มา

0
โลกในมุมมองของ Value Investor  4 กรกฎาคม 63 ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ​ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาผมสังเกตเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วเกิดขึ้นในโลกจำนวนมาก   สิ่งใหม่ ๆ เกิดขึ้น  เติบโตอย่างรวดเร็ว  และภายในเวลาไม่นานนักก็แซงหรือทดแทนสิ่งเก่าที่เคยยิ่งใหญ่หรือเป็นสิ่งที่เคยยึดถือกันมายาวนานเป็นสิบ ๆ หรือร้อยปี  นี่ไม่ใช่แค่เรื่องของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ผู้คนต้องใช้กัน   แต่รวมถึงแนวความคิดและปรัชญาของผู้คนที่เปลี่ยนเร็วไม่แพ้กันหรือเร็วยิ่งกว่าสิ่งของที่จับต้องได้  การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วนี้  ผมคิดว่ามาจากการ “ปฏิวัติ” ของเทคโนโลยีโดยเฉพาะทางด้านดิจิตอลที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว  จาก 1G กลายเป็น 5G ภายในเวลาแค่ประมาณ 20 ปี  ซึ่งทำให้ประชาชนรายเล็ก ๆ...

Pent Up Demand กับ Wealth Effect

0
โลกในมุมมองของ Value Investor         27 มิถุนายน 63 ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ช่วงที่การระบาดของโควิด-19 กำลังหมดไปจากประเทศไทยหลังจากเรา “ปิดเมือง” มาหลายเดือนนั้น  สิ่งที่ผมเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญมี 2 เรื่องก็คือ  เรื่องแรก  เกิด “Pent Up Demand” นั่นก็คือ  มีความต้องการของสินค้าและบริการหลายอย่างเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องจาก  “ความต้องการที่ถูกอั้นไว้” ของผู้บริโภคในสินค้าบางอย่าง  ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ  การท่องเที่ยว โดยเฉพาะของคนที่มีเงินมากพอที่จะเที่ยวได้โดยไม่รู้สึกเดือดร้อนหรือต้องห่วงว่าเงินจะหมดไปมาก  และเรื่องที่สองก็คือ  “Wealth Effect” on demand ซึ่งก็คือ  ความมั่งคั่งของผู้บริโภคที่มากขึ้นหรือในกรณีของโควิด-19 ก็คือความมั่งคั่งที่หดหายหรือลดลงไปที่จะมีผลต่อความต้องการซื้อสินค้าของคนในประเทศ ในช่วงนี้  ในบางธุรกิจและในบางพื้นที่  เราก็มักจะได้รับ “ข่าวดี” ที่ว่า  หลังจากมีการเปิดเมืองบางส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  ผลประกอบการหรือยอดขายก็ดีหรือกระเตื้องขึ้นมาก  ยกตัวอย่างเช่น  โรงแรมระดับหรูในเมืองท่องเที่ยวที่สามารถเดินทางได้ด้วยรถยนต์ส่วนตัวจากกรุงเทพเช่น  หัวหิน มียอดผู้เข้าพักเต็มหรือเกือบเต็มอย่างรวดเร็วหลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดใหม่กลายเป็นศูนย์ติดต่อกันเกิน 14 วันหรือมากกว่านั้น  และนั่นก็ทำให้ผม  “ประหลาดใจ” และรู้สึกมีความหวังว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวเร็วกว่าที่คิดเมื่อผมเดินทางไปพักผ่อนที่นั่นเมื่อ 3-4 สัปดาห์ที่ผ่านมา   ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน  ผมก็ได้ข่าวว่าร้านอาหารภัตตาคารที่เริ่มเปิดในห้างต่างก็มีลูกค้าเข้ามากินกันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแม้ว่ายังมีข้อกำหนดให้ต้องเว้นระยะห่างอยู่บ้าง  ดูเหมือนว่าคนจะ “อั้น” กันมานาน  คือไม่ได้ออกไปเดินห้างและแวะกินอาหารในห้าง  เขาเหล่านั้น  ส่วนใหญ่น่าจะเป็นคนชั้นกลางกินเงินเดือนและก็ไม่ได้ตกงานจนต้องกระเหม็ดกระแหม่ไม่สามารถมากินอาหารภัตตาคารได้  ดังนั้น  พวกเขาก็มากินอาหารอร่อย ๆ ที่ไม่ได้กินมานาน  มันเป็น Pent Up Demand หรือความต้องการที่อั้นไว้ในช่วงที่ออกนอกบ้านไม่ได้และร้านปิดเป็นเวลาหลายเดือน สัปดาห์ที่แล้วผมได้ไปพักผ่อนอีกครั้งที่สวนผึ้งจังหวัดราชบุรี  ในโรงแรมที่ค่อนข้างหรูซึ่งดูเหมือนจะมีไม่มากนักเมื่อเทียบกับหัวหิน  สวนผึ้งน่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวของคนไทยเป็นหลักมีต่างชาติน้อย  วันที่เข้าพักนั้นก็เป็นแบบเดียวกับที่หัวหินนั่นคือ  โรงแรมมีลูกค้าที่ค่อนข้างจะเต็มหรืออย่างน้อยก็พอใช้ได้ไม่เหงา  อย่างไรก็ตาม  เมื่อออกท่องเที่ยวในวันต่อมาผมก็เริ่มเห็นความแตกต่าง  ร้านอาหารส่วนใหญ่แม้แต่ร้านดังก็ยัง  “ไม่มีคน” หลายแห่งก็ยังไม่เปิด สภาวะแห่งความเงียบเหงานั้นสัมผัสได้  ผู้บริโภคระดับคนกินเงินเดือนที่ยังต้องระวังว่าเศรษฐกิจยังเลวร้ายอยู่นั้น อาจจะยังไม่พร้อมที่จะจ่ายเงินเพื่อการท่องเที่ยว  ดังนั้น  การท่องเที่ยวย่านสวนผึ้งที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวของคนไทยเป็นหลักนั้นดูเหมือนว่าจะยังไม่กลับมาดี Pent Up Demand นั้น  มักจะเกิดหลังจากที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากภาวะวิกฤติ  ในช่วงวิกฤตินั้น  เศรษฐกิจตกต่ำคนก็มักจะเลี่ยงที่จะใช้เงินโดยเฉพาะกับสินค้าคงทนเช่น รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า บ้านและเครื่องใช้ภายในบ้านที่มักจะสามารถเลื่อนการซื้อไปได้  เพราะของที่มีอยู่ก็ยังพอใช้ได้และมีอายุการใช้ยาว  เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นและของที่มีอยู่ก็ใกล้ “หมดสภาพ”  พวกเขาก็จะเริ่มซื้อกันอย่างรวดเร็วส่งผลให้ความต้องการและยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  แต่หลังจากการซื้อรอบแรกแล้ว   ยอดขายก็จะกลับมาสู่ภาวะปกติตามภาวะของเศรษฐกิจและความต้องการปกติของผู้บริโภค  ถ้าเศรษฐกิจฟื้นตัวจริง  ยอดขายของสินค้าทุกอย่างก็จะฟื้นตัวดีขึ้นตาม  อย่างไรก็ตาม  ถ้าเศรษฐกิจยังไม่ได้ฟื้นตัวหรือกำลังถดถอยลงด้วยซ้ำ  ยอดขายสินค้าต่าง ๆ  รวมถึงยอดขายสินค้าที่เกิดจาก Pent Up Demand ก็จะทรุดตัวลงต่อไป การที่ผู้บริโภคจะมีความต้องการซื้อสินค้าเพิ่มมากน้อยแค่ไหนนั้น  สิ่งหนึ่งที่มีผลมากก็คือ  ความรู้สึกว่าเขารวยหรือมีความมั่งคั่งมากน้อยแค่ไหน  คนที่รู้สึกว่าตนเองมีเงินหรือความมั่งคั่งสูงและรู้สึกว่าในอนาคตเขาจะยังสามารถหาเงินได้อย่างมั่นคงก็จะกล้าใช้เงินกล้าซื้อของที่ต้องการมากกว่าคนที่คิดว่าตนเองจนและรายได้ในอนาคตไม่แน่นอนและจะลดลง  โดยที่ความมั่งคั่งนั้นไม่ใช่แค่เรื่องของเม็ดเงินอย่างเดียว  ทรัพย์สมบัติเช่น  บ้านและที่ดิน  หลักทรัพย์เช่น หุ้นและพันธบัตร ทองและอื่น ๆ  ก็ถือเป็นความมั่งคั่งทั้งสิ้น  และถ้าสินทรัพย์เหล่านั้นมีราคาเพิ่มขึ้นซึ่งทำให้ความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น  พวกเขาก็จะใช้เงินซื้อสินค้ามากขึ้นซึ่งทำให้เศรษฐกิจเฟื่องฟู  คำกล่าวที่ว่าในยามที่ตลาดหุ้นดี  การขายคอนโดราคาแพงจะดีตามนั้นเป็นความจริง  และในยามที่ราคาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นเร็วคนจะบริโภคสินค้าทั่วไปมากขึ้นก็เป็นความจริงเช่นกัน  ตรงกันข้าม  ในยามที่ทรัพย์สินหลัก ๆ  ทั้งอสังหาฯและหุ้นตกหนัก  สินค้าโดยเฉพาะที่มีราคาแพงและไม่ใช่สินค้าจำเป็นก็จะมียอดขายตกลงไปมาก  ทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องของ Wealth Effect ภาวการณ์ของเศรษฐกิจไทยในช่วงนี้ผมเองมีความรู้สึกว่าคนรวยหรือคนที่มีทรัพย์สินหรือความมั่งคั่งสูงนั้นดูเหมือนว่าจะไม่ถูกกระทบอะไรมากนัก  เมื่อมีการเปิดเมือง  พวกเขาก็กลับมาบริโภคสิ่งที่ถูกอั้นไว้ไม่สามารถทำได้อย่างสะดวกมานาน เช่น  การท่องเที่ยวและการซื้อบ้านราคาแพงที่ดูเหมือนว่าจะดีขึ้นอย่างไม่คาดคิดเมื่อเทียบกับบ้านราคาถูก  ในเวลาเดียวกัน  คนชั้นกลางนั้น  น่าจะถูกกระทบมากจากวิกฤติโควิด-19  เพราะการปิดกิจการจำนวนมากโดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวเดินทางทำให้คนจำนวนเป็นล้านต้องตกงานหรือทำงานน้อยลง  พวกเขาต้องใช้เงินเก็บมาประทังชีวิตทำให้ความมั่งคั่งลดลงและในขณะเดียวกันรายได้ในอนาคตก็ดูไม่แน่นอน  ดังนั้น พวกเขารู้สึกจนลง  ว่าที่จริงหลายคนอาจต้องกู้หนี้ยืมสินเพิ่มขึ้น  ดังนั้น พวกเขาก็จะใช้จ่ายน้อยลง  โดยเฉพาะหลังจากที่ผ่านช่วงPent Up Demand ไปแล้ว ผมไม่รู้ว่า Pent Up Demand จะหมดลงไปเมื่อไร  แต่โดยธรรมชาติก็จะค่อย ๆ หมดไปตามเวลาที่ผ่านไป  ประเด็นสำคัญต่อจากนี้ก็คือ  ภาวะเศรษฐกิจที่กำลังตกต่ำลงมากอานิสงค์จากการที่ภาคการท่องเที่ยวโดยเฉพาะจากต่างประเทศยังถูกปิดอยู่และดูเหมือนว่าถึงจะเปิดก็เพียงเล็กน้อย  กับเรื่องของการส่งออกที่ชะลอตัวลงอย่างแรงในปีนี้ไม่เอื้ออำนวยให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้อย่างรวดเร็ว  นี่ทำให้ผู้บริโภคโดยเฉพาะที่เป็นคนชั้นกลางลงมาจะใช้จ่ายน้อยลง  เช่นเดียวกับเจ้าของธุรกิจ SME โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเองซึ่งคงจะถูกกระทบหนักจนรู้สึกได้ถึงความมั่งคั่งที่น้อยลง  ทั้งสองกลุ่มนี้ก็คงบริโภคน้อยลง  และดังนั้น  สินค้าที่มีราคาปานกลางถึงแพงที่พวกเขาใช้  โดยเฉพาะ บ้านราคาถูก  รถยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าน่าจะถูกกระทบหนักเป็นระยะเวลาค่อนข้างนาน  และนี่ก็เป็นอาการที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติเช่น วิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 เช่นเดียวกัน ในขณะที่สินค้าราคาแพงที่ “คนรวย” ใช้เองนั้น  ผมคิดว่าน่าจะถูกกระทบน้อยกว่า  เหตุผลส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่าทรัพย์สินที่มีค่ามากเช่น  บ้านและที่ดินรวมถึงหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์มีราคาลดลงไม่มาก  ทำให้ พวกเขาไม่รู้สึกว่าจนลงมากจนต้องลดการบริโภคลงอย่างมีนัยสำคัญ สินค้าจำเป็นราคาถูกและคนต้องกินและใช้ประจำวันนั้น  น่าจะฟื้นกลับขึ้นมาเกือบเท่าเดิมในเวลาไม่นานเพราะอุปสรรคต่าง ๆ  ในการซื้อและบริโภคหมดไป  คนไทยนั้นถึงจะรู้สึกว่าจนลง  ยังไงก็ยังพอบริโภคสินค้าประจำวันได้ไม่ลดลง  สินค้าบางอย่างนั้นอาจจะมีความต้องการมากขึ้นเมื่อคนจนลงเช่น  บะหมี่สำเร็จรูปที่มีราคาถูกมากซึ่งทำให้คนที่จนลงหันมาบริโภคแทนอาหารที่แพงกว่า  นักเศรษฐศาสตร์เรียกสินค้าแบบนี้ว่าเป็น “Inferior...

ลงทุนในตัวเอง

0
โลกในมุมมองของ Value Investor   20 มิ.ย. 63 ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร สำหรับคนที่ไม่ได้เกิดมาในครอบครัวที่ร่ำรวยหรือมีฐานะพอสมควรนั้น  ก่อนที่จะคิดลงทุนในสินทรัพย์ ธุรกิจ หรือหุ้นและหลักทรัพย์ในตลาด  เขาควรจะเริ่มต้นโดยการ “ลงทุนในตัวเอง”  ซึ่งความหมายในที่นี้ก็คือ  ลงทุนปรับปรุงตัวเองให้มีศักยภาพที่จะทำเงินให้มากขึ้นและเหลือเก็บพอที่จะนำเงินนั้นมาลงทุนในธุรกิจ สินทรัพย์ และหลักทรัพย์ทางการเงินที่จะได้ผลตอบแทนที่ดีต่อไป  การลงทุนในตัวเองนั้นมีข้อดีก็คือ  ตัวเราจะ “มีค่ามากขึ้น” และมันจะติดตัวตลอดไป ไม่มีใครมาเอาไปได้  และที่สำคัญมากอีกอย่างหนึ่งก็คือ  การลงทุนกับตัวเองนั้น  เราสามารถที่จะใช้ “แรงงาน” ของเราแทนเงินได้มาก  ดังนั้น  นี่คือหนทางสำคัญที่สุดสำหรับคนจนที่อยากรวยหรือมีชีวิตที่ดีขึ้นมากในอนาคต การลงทุนกับตนเองที่สำคัญที่สุดเรื่องแรกก็คือในตอนเด็กที่เราจะต้องศึกษาและเรียนรู้วิชาการต่าง ๆ รวมถึงวิชาชีพที่เราจะนำมาทำงานหาเงินใช้  ยิ่งเรียนมากเราก็มักจะทำเงินได้มากขึ้น  อย่างไรก็ตาม  ต้นทุนในการศึกษานั้นก็สูงขึ้นจนบ่อยครั้งก็อาจจะ “ไม่คุ้ม” ถ้าเรา  “ลงทุนไม่เป็น”  แต่นี่ก็มองเฉพาะด้านของผลตอบแทนทางการเงินซึ่งไม่ใช่ผลตอบแทนทั้งหมดที่เราได้จากการศึกษา  ว่าที่จริง  การศึกษานั้นให้ผลตอบแทนที่ไม่ใช่ตัวเงินมากมาย  เช่น ความรู้เกี่ยวกับการใช้ชีวิต  ความเข้าใจโลกที่ทำให้ชีวิตมีความหมายมากขึ้น  ความบันเทิงและรื่นรมย์จากการคิดและจินตนาการต่าง ๆ ที่ตามมา  พูดง่าย ๆ  ความรู้ทำให้เราเป็นคนที่สมบูรณ์ขึ้น การลงทุนกับตนเองที่สำคัญไม่แพ้ความรู้นักก็คือ “การลงทุนกับสุขภาพ”  นี่ก็มักสำคัญขึ้นเมื่อเราเริ่มมีอายุมากขึ้นและสุขภาพเริ่มจะร่วงโรยและเราเจ็บไข้ได้ป่วยง่ายขึ้น  สุขภาพของคนเรานั้น  หลายคนคิดว่ามาจากยีนหรือโชคชะตาเป็นหลัก  และในช่วงที่ยังเป็นหนุ่มสาวนั้น  คนก็มักจะไม่ตระหนักว่าสุขภาพดีมีผลกับชีวิตมากน้อยแค่ไหน  ที่สำคัญก็คือ  อาจจะไม่รู้ด้วยว่าสุขภาพที่ดีโดยเฉพาะเมื่อตนเองมีอายุมากขึ้นนั้นจะต้องมีการ  “ลงทุน”   จริงอยู่  ยีนมีความสำคัญต่อสุขภาพมาก  แต่การ “ลงทุนในสุขภาพ” ที่ดีและมากนั้นก็จะช่วยทำให้เรามีสุขภาพที่ดีขึ้นมากในยามที่เราแก่ตัวลง  และนี่ก็มักจะสำคัญและบ่อยครั้งมากกว่าเรื่องของเงินด้วยซ้ำ ประสบการณ์ของผมเองเกี่ยวกับเรื่องของการลงทุนในเรื่องของความรู้นั้นน่าจะเรียกได้ว่าผมลงทุนค่อนข้างมาก เหตุผลสำคัญก็คือครอบครัวของผมค่อนข้างจน  พ่อทำงานเป็นช่างก่อสร้างและต่อมาเป็นช่างไม้  ที่ไม่เคยมีเงินเหลือเก็บและบ่อยครั้งไม่พอใช้  ว่าที่จริงเขาไม่เคยมีบัญชีเงินฝากในธนาคารเลย  การศึกษาหรือการเรียนในโรงเรียนของลูกเป็นเรื่องที่ “ฟุ่มเฟือย”  แต่ผมเองโชคดีที่เป็นลูกคนสุดท้องที่ได้เข้าเรียนใน “โรงเรียนวัด” ตั้งแต่ชั้นประถมถึงมัธยมต้นและได้เข้าเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเนื่องจากเรียนเก่งพอสมควร  ทั้งหมดนี้ใช้เงินน้อยมาก ผมเรียนปริญญาตรีในคณะวิศวกรรมของรัฐซึ่งใช้เงินน้อยมาก  ด้วยเหตุผลก็คือ  มันคือคณะที่น่าจะสามารถทำเงินได้ดี  “จบแล้วมีงานทำแน่นอน” และใช้เวลาไม่มากเหมือนคณะแพทย์ที่ทำเงินได้มากกว่าแต่ต้องเรียน 7 ปี  ดังนั้นการเรียนวิศวน่าจะเป็น “การลงทุนที่ดี” และเมื่อจบแล้วผมก็เลือกไปทำงานในต่างจังหวัดซึ่งเป็นโรงงานน้ำตาลที่ทุกปีในช่วง “เปิดหีบ”  ประมาณ 4 เดือน เราจะได้เงินเดือนค่าล่วงเวลาเป็น 2 เท่าของเงินเดือนปกติ  นอกจากนั้น  เขามีที่อยู่และอาหาร 3 มื้อซึ่งทำให้เราแทบไม่มีค่าใช้จ่าย  ผมคิดว่านี่คือ “สวรรค์” ของการเก็บเงินเพื่ออนาคต ทำงานในโรงงาน 2 ปี  ผมก็รู้สึกว่าศักยภาพของตนเอง “ตีบตัน” งานช่างนั้นเป็นงานที่เงินเดือนดีในตอนเริ่มต้น  แต่หลังจากนั้นเงินเดือนก็จะปรับขึ้นช้า ๆ  ปีละประมาณ 7-10% และแทบจะไม่มีโอกาสปรับแบบก้าวกระโดดเพราะการเลื่อนหรือปรับตำแหน่ง  บริษัทเป็นธุรกิจครอบครัวที่เจ้าของคุมตำแหน่งบริหารที่สำคัญ  อย่างมากที่เราจะเป็นได้ก็อาจจะเป็นนายช่างคุมโรงงานเมื่อถึงวันที่เราใกล้เกษียณ  ผมคิดแล้วก็ตัดสินใจ “ลงทุนในการศึกษา” เพิ่ม  เพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำเงินของตนเองโดยการ “เรียน MBA” ซึ่งเป็นสาขาวิชาใหม่ที่เพิ่งจะเริ่มมีในประเทศไทยในขณะนั้น ผมคิดว่า  การเรียน MBA จะทำให้ผมสามารถเข้าสู่วงการ “บริหารธุรกิจ” ที่เป็นงานใหญ่ขึ้น  และในบริษัทที่ก้าวหน้าหรือเป็นบริษัทต่างชาติ  เงินที่เก็บได้ทั้งหมดถูกนำมาใช้ในการเรียนและสนับสนุนทางบ้านแบบเดิมที่ทำมาตั้งแต่เรียนจบปริญญาตรี ผมจบปริญญาโททางด้านการตลาดภายใน 2 ปี ด้วยการเรียนและทำงานอย่างละครึ่งเวลาหรือสัปดาห์ละ 3 วัน การเรียนและการเดินทางไปกลับต่างจังหวัดเป็นเรื่องที่เหนื่อยหนักไม่น้อย  แต่เมื่อเรียนจบผมก็ไม่ได้เปลี่ยนงานตามที่หวัง ผมยังทำงานที่เดิมแต่ได้รับการปรับงานให้ช่วยบริหารภายในโรงงานเพิ่มขึ้นบ้าง  อย่างไรก็ตาม  งานหลักก็ยังเป็นเรื่องของการผลิต  เงินเดือนที่เพิ่มขึ้นทำให้การไปเริ่มงานใหม่ในสาขาใหม่ที่เงินเดือนต่ำกว่าไม่น่าสนใจเท่าที่ควร สำหรับคนที่เป็นช่างซึ่งมักจะ “อนุรักษ์นิยม” และไม่ได้อ่านหนังสือแนวธุรกิจสังคมหรือการพัฒนาตนเอง รวมถึงการสร้างแรงบันดาลใจ  การเปลี่ยนแปลงชีวิตมากมายแบบนี้พร้อม ๆ  กับการลดรายได้ลงเป็นสิ่งที่ตัดสินใจได้ยาก  ผมจึงยังทำงานเก็บเงินต่อไปอีก 2 ปี  การเรียน MBA ยังไม่สามารถที่จะทำให้ผมเห็นหรือเลือกช่องทางที่จะเปลี่ยนชีวิตตนเองได้  และนั่นนำมาสู่การ “ลงทุนในตัวเองต่อไป” โดยการไปเรียนต่อต่างประเทศทั้ง ๆ  ที่  “ไม่มีเงินพอ” การไปอเมริกาเพื่อเรียนต่อปริญญาเอกทางด้านการเงินนั้น  ผมคิดว่าคงช่วยให้ผมสามารถเปลี่ยนไปทำงานทางด้านการเงินที่มักเป็นงาน “ใหญ่ที่สุด” ในกระบวนการหาเงิน  แต่ลึก ๆ  แล้ว  ผมก็ไม่หวังจะรวยจากการเรียนมากนัก  สิ่งที่ผมหวังก็คือ  การได้ไป “เปิดโลก” ไปเรียนรู้ภาษาอังกฤษ  ไปเห็นประเทศที่เจริญก้าวหน้า  ผมคิดว่าผมอยากมีชื่อเป็น“ด็อกเตอร์” และเป็นที่ยอมรับของสังคมอย่างน้อยก็ในฐานะของนักวิชาการ  ผมต้องใช้เงินทั้งหมดที่สะสมมาได้เพื่อซื้อตั๋วเครื่องบิน “เที่ยวเดียว” และที่เหลือทิ้งไว้สนับสนุนพ่อแม่  การไปเรียนปริญญาเอกนั้นผมได้ทุนช่วยวิจัยจากมหาวิทยาลัยซึ่งพอใช้ทั้งค่าเรียนและการเป็นอยู่ตราบเท่าที่ยังได้ทุนอยู่ ผมจบปริญญาเอกทางด้านการเงินและการลงทุนในเวลา 4 ปี เมื่ออายุ 32 ปี กลับมาประเทศไทยโดยที่ไม่มีเงินเก็บเลย สรุปแล้ว  เป็นเวลา 10 ปีนับจากการทำงานวันแรก  เงินเก็บเป็นศูนย์  เงินที่ทำมาหาได้ทุกบาททุกสตางค์ถูกนำไปลงทุนในการศึกษาหาความรู้ต่อจากปริญญาตรีเพื่อเพิ่มศักยภาพให้ตนเองในการทำงานหาเงินในอนาคต  ผมเริ่มทำงานทางด้านการเงิน  แต่การจบปริญญาเอกก็มักจะได้ทำงาน “กึ่งวิชาการ”เช่น  งานวางแผนและกำหนดกลยุทธ์องค์กรมากกว่าการทำงานสายปฏิบัติการจริง ๆ  ดังนั้น  ผมก็ยังคงเป็นพนักงานกินเงินเดือนต่อไป  แต่ก็โชคดีที่ว่าตลาดหุ้นไทยเริ่มบูมและความต้องการคนทำงานระดับหัวหน้างานที่มีความซับซ้อนเช่น  งานวานิชธนกิจ มีมากขึ้น และนั่นทำให้ผมมีโอกาสเข้ามาสัมผัสกับ “ตลาดหุ้น”  และ “การลงทุนในหุ้น” ในบริษัทหลักทรัพย์  รายได้จากงานนี้ค่อนข้างจะดีและทำให้ผมมีเงินเก็บพอสมควรเมื่ออายุ 44 ปี  แต่เนื่องจากมีครอบครัวและมีลูกที่เรียนโรงเรียนอินเตอร์ซึ่งต้องใช้เงินมากทำให้ผมไม่ได้ลงทุนทางทางการเงินเป็นเรื่องเป็นราวเพราะ “กลัวความเสี่ยง”   แต่วิกฤติต้มยำกุ้งทำให้ผมต้อง “ตกงาน” และมีทางเลือกไม่มากที่จะรักษาสถานะความเป็นอยู่แบบเดิมได้—นอกจากการลงทุนในตลาดหุ้นที่ตกลงมาอย่างหนักและราคาหุ้นจำนวนไม่น้อยมีราคาถูกมาก  หุ้น “ซุปเปอร์สต็อก” หลายตัวมีค่า PE แค่ 6-7 เท่าจ่ายปันผลถึงปีละ 10%  เงินเก็บทั้งหมดถูกนำมาลงทุนในหุ้น  ชีวิตเปลี่ยนเป็น Value Investor หรือVI ผู้มุ่งมั่น ตลาดหุ้นฟื้นตัวและเติบโตมหาศาลหลังวิกฤติ  ภายในเวลาเพียง 8 ปี ผมก็มี “อิสรภาพทางการเงิน” และเกษียณจากการทำงานประจำตั้งแต่อายุ 52 ปี  และนี่ก็น่าจะเป็นบทเรียนได้ว่า  “ความรู้”บวกกับ “โอกาสทอง” สามารถ “เปลี่ยนชีวิต” คนได้มากและรวดเร็วแค่ไหน   สรุปก็คือ  ความสำเร็จในชีวิตผมนั้นน่าจะเป็นผลจากหลายสิ่งคือ  หนึ่ง  การที่ผมลงทุนในการศึกษาสูงมาก  ไม่ใช่เฉพาะจากห้องเรียน  แต่ผมศึกษาต่อเนื่องมาตลอดเวลาจนถึงทุกวันนี้  สอง  เกิดวิกฤติเศรษฐกิจและตลาดหุ้นในปี2540 โดยที่ผมไม่ได้เสียหายทางด้านการเงินมากนักเนื่องจากยังไม่ได้เป็นนักลงทุนแต่เป็นแค่คนกินเงินเดือนธรรมดา และสุดท้าย  ผมโชคดีที่ถูก “บังคับ” ด้วยสถานการณ์ให้ต้อง “เลือก” เข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ และผมเลือกที่จะลงทุนแบบ VI ที่ผมศึกษามาแล้วว่าเป็นหลักการที่ดีเยี่ยมและปลอดภัยกว่าแนวทางที่นักลงทุนใช้กันก่อนหน้านั้น

พื้นฐาน VS ดัชนีตลาดหุ้นไทย

0
โลกในมุมมองของ Value Investor    13 มิถุนายน 63 ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในช่วงนี้มีความผันผวนสูงมาก  สองสัปดาห์ก่อนดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 7% ในเวลาสัปดาห์เดียว  แต่สัปดาห์ต่อมาคือสัปดาห์ที่แล้วดัชนีกลับปรับตัวลดลงประมาณ 3.7%  โดยที่ทั้งสองสัปดาห์นั้น  ปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันสูงลิ่วเฉลี่ยเกือบแสนล้านบาทต่อวัน  นั่นคงทำให้นักลงทุนจำนวนมากประหลาดใจและอาจจะผิดหวังหลังจากที่รู้สึกดีมากจนคลึ้มอกคลึ้มใจในช่วงที่ตลาดหุ้นวิ่งขึ้นมาต่อเนื่องมากมายถึง 40% หลังภาวะวิกฤติในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม 2563  คำถามที่น่าสนใจก็คือ  ตลาดหุ้นต่อจากนี้และในระยะยาวเป็นตลาดที่น่าสนใจลงทุนแค่ไหน  หรือพูดง่าย ๆ ...