โลกในมุมมองของ Value Investor 14 ธันวาคม 62
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
คนที่เป็น VI “พันธุ์แท้” และเป็นมานานนั้น ผมเชื่อว่าในที่สุดเขาก็จะขยายแนวความคิดและปรัชญาแบบ VI ออกไปจนครอบคลุมถึงทุกเรื่องในชีวิต มุมมองต่อสังคม ประเทศ และโลก และดังนั้น พวกเขาก็จะมีหลาย ๆ สิ่งหลาย ๆ อย่างที่คล้ายคลึงกันไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนของโลก นี่ก็คงเป็นเหตุผลอย่างหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าตัวเองชอบสไตล์การใช้ชีวิตและมุมมองในหลาย ๆ ด้านของวอเร็น บัฟเฟตต์ซึ่งเป็น VI พันธุ์แท้และเป็นไอดอลของผมและของ VI ทั่วโลก ผมคิดว่าการเป็น VI นั้นไม่ใช่เฉพาะเรื่องของการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์หรือในธุรกิจอื่น ๆ ที่เป็นเรื่องของการเงินเท่านั้น แต่ VI เป็นเรื่องของการใช้ชีวิตในทุกด้านทั้งทางด้านของร่างกาย จิตใจและมโนธรรมของเรา
หลักการที่เป็นหัวใจของ VI ที่เรารู้จักและเข้าใจกันก็คือเรื่องของการเงินที่เราจะเลือกการลงทุนที่จะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ามาก ๆ นั่นคือ ลงทุนน้อยแต่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าปกติและมีความปลอดภัยหรือมี Margin Of Safety สูง ไม่ลงทุนหรือทำอะไรที่สุ่มเสี่ยง วิธีการสำคัญก็คือ จะต้องวิเคราะห์อย่างลึกซึ้งว่ากิจการนั้นเป็นกิจการที่ดีในระยะยาวนั่นคือ มีความมั่นคง มีกำไรที่ดี มีอนาคตที่ดี และสามารถซื้อได้ในราคาที่ถูกหรือยุติธรรม นี่คือการเลือกหุ้นรายตัว แต่ใน “ภาพใหญ่” นั้น เราจะต้องลดความเสี่ยงโดยการกระจายการถือครองหลักทรัพย์ให้มากพอที่จะหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดหรือการที่เราคิดหรือคาดการณ์ผิดด้วย ทั้งหมดนี้ก็เพื่อที่จะสร้าง “สุขภาพที่ดีทางการเงิน” ให้กับตัวเรา ซึ่งนี่ก็ไม่ใช่เรื่องของการทำให้เรารวยหรือได้ผลตอบแทนที่ดีเลิศอย่างรวดเร็ว แต่เป็นผลตอบแทนที่ดีและ “ไม่เสี่ยง” และเรา “สบายใจ” กับกระบวนการลงทุนของเราไปเรื่อย ๆ หรือพูดง่าย ๆ “มีความสุขจากการลงทุน” ตลอดเวลา
ถ้าจะพูดต่อไปก็คือ VI ก็จะต้องถามตนเองว่า เมื่อได้เงินจากผลตอบแทนที่ดีแล้ว เราจะใช้เงินอย่างไรให้ “คุ้มค่า” นั่นก็คือ “ใช้เงินน้อยแต่มีความสุขมาก” นี่ก็คือหลักการแบบเดียวกับเรื่องของการลงทุน คือใช้น้อยหรือลงทุนน้อยแต่ได้ผลตอบแทนหรือความสุขมากกว่าปกติ โดยวิธีการก็คือต้องศึกษาและวิเคราะห์ดูว่าสิ่งที่เราใช้นั้นตอบสนองกับอารมณ์ความคิดของเราอย่างไร โดยที่เราต้องเข้าใจจิตวิทยาของคนซึ่งรวมถึงตัวเราว่าเป็นอย่างไร บ่อยครั้งเราถูก “ชักนำ” โดยเพื่อนฝูงและสังคมให้ต้องทำหรือมีสิ่งต่าง ๆ เพื่อ “ไม่ให้น้อยหน้า” ซึ่งจะทำให้เราต้องใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่มีเหตุผลและไม่มีความสุขจริง ๆ หรือมีความสุขแค่ชั่วครู่แต่กลับไม่มีความสุขหรือรู้สึกทุกข์ใจในภายหลัง ดังนั้น VI จะต้องเรียนรู้ว่าจะใช้เงินอย่างไร ความเข้าใจในเรื่องของความสุขนั้น ในปัจจุบันก็ดูเหมือนว่าจะมีมากขึ้นมาก ตัวอย่างเช่น มีการศึกษาที่สรุปว่าการ “ซื้อประสบการณ์” เช่น การท่องเที่ยวนั้น มีความสุขมากกว่าการซื้อของ เป็นต้น
“ความสุข” นั้น แท้ที่จริงแล้วก็ควรเป็นวัตถุประสงค์สุดท้ายของ VI จริง ๆ มากกว่าเรื่องของความมั่งคั่งหรือเงิน นี่ก็เป็นเรื่องของจิตวิทยาอีกเช่นกันที่คนมักจะไม่คิดแสวงหา “ความสุข” เท่ากับการ “หาเงิน” คนส่วนใหญ่อาจจะคิดว่าความสุขเป็นนามธรรมและไม่รู้ว่าจะไปหาเพิ่มจากที่ไหน แต่เงินนั้นเป็นสิ่งที่จับต้องได้ เวลามีเงินเพิ่มนั้นเรารู้และจับต้องได้จริง ดังนั้น เราหาเงิน แล้วค่อยเอาเงินนั้นไปหาความสุข แต่จริง ๆ แล้วบ่อยครั้งเราสามารถหาความสุขได้เลยโดยไม่ต้องใช้เงิน อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่ก็ยังคิดว่า ถ้าไม่มีเงินก็มักจะไม่ค่อยมีความสุข เพราะเวลาเงินน้อยหรือเงินขาดซึ่งทำให้เราไม่สามารถมีหรือใช้จ่ายเพื่อซื้อสิ่งของอย่างสะดวกสบายแล้ว เราก็มักจะรู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจโดยเฉพาะในกรณีที่เราเจ็บไข้ได้ป่วยรุนแรงที่ต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมาก
ผมเองคิดว่าเงินนั้นมีความจำเป็นแน่นอนในสังคมปัจจุบัน คนที่จะหาความสุขโดยไม่ต้องใช้เงินนั้นผมคิดว่าเป็นไปได้ แต่ในชีวิตของคนเรานั้นไม่สามารถหลีกเลี่ยงความทุกข์ได้ ถ้าหากไม่มีเงินหรือมีไม่พอ ความทุกข์ของเราก็จะมากขึ้น ซึ่งนั่นก็จะทำลายความสุขหรือทำให้เราแสวงหาความสุขได้ยากขึ้น แต่เงินที่มากเกินกว่าความจำเป็นนั้นก็ไม่สามารถที่จะใช้ซื้อความสุขเพิ่มขึ้นได้ ดังนั้น สิ่งที่ควรทำก็คือ หาเงินให้มากขึ้นโดยที่ต้องทำโดยไม่ก่อให้เกิดทุกข์ ยิ่งเป็นการหาเงินที่มีความสุขเช่นการทำงานที่เราชอบก็ยิ่งดี แต่ต้องพยายามแยกแยะว่าเงินที่ได้มานั้นจะทำให้เรามีความสุขมากขึ้นถึงจุดหนึ่งเท่านั้น เงินที่มากไปกว่านั้นมักจะก่อให้เกิดความสุขเพิ่มขึ้นน้อยมาก ความสุขที่จะมากขึ้นนั้นจะอยู่ที่ใจและ “กาย” หรือร่างกายเรา เฉพาะอย่างยิ่งก็คือจิตใจที่ “ปล่อยวาง” และร่างกายที่แข็งแรงปราศจากโรคภัยไข้เจ็บนั้น น่าจะเป็นบ่อเกิดของความสุขได้มากที่สุด
ทั้งจิตใจที่ปล่อยวางและร่างกายที่แข็งแรงนั้น เกือบทั้งหมดหาซื้อด้วยเงินไม่ได้ เรื่องของจิตใจนั้น ส่วนใหญ่แล้วก็น่าจะมาจากความสัมพันธ์ที่ดีที่เรามีต่อคนอื่นโดยเฉพาะคนใกล้ชิด เช่น ครอบครัวและเพื่อนสนิท นอกจากนั้นน่าจะมาจากการอดทนและ “เปิดกว้าง” ต่อความคิดและการกระทำของคนอื่น การ “ยึดมั่นถือมั่น” ในความคิดของตนเองนั้นเป็นบ่อเกิดของทุกข์ที่สำคัญ ในส่วนของร่างกายนั้น ปัจจุบันก็มีการศึกษามากมายที่แนะนำวิธีที่จะรักษาร่างกายให้แข็งแรงและปราศจากโรคภัยไข้เจ็บที่รุนแรงและมีชีวิตที่ยืนยาวอย่างเป็นสุขซึ่งแทบทั้งหมดนั้นไม่ต้องใช้เงินมากเลย แต่ก็เป็นเรื่องที่มักทำได้ยากสำหรับคนจำนวนมาก คนที่เป็น VI จะต้องเรียนรู้และนำมาปฏิบัติ และถือเป็นงานที่สำคัญไม่แพ้การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แบบ VI โดยเฉพาะคนสูงอายุ
หลักการการรักษาสุขภาพทางร่างกายนั้น ก็เช่นเดียวกับหลักการลงทุนแบบ VI ไม่ได้มีสูตรตายตัวทุกปัจจัย หลาย ๆ เรื่องนั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาหรือตามการศึกษาใหม่ ๆ อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยสำคัญบางอย่างที่ผมคิดว่ามันส่งผลดีหรือได้ผลชัดเจนมาตลอดกาลซึ่งเป็นสิ่งที่เราจะต้องยึดไว้เสมอ ตัวอย่างเช่น ในเรื่องของการลงทุนในหลักทรัพย์นั้น ราคาหุ้นหรือหลักทรัพย์ที่ “ถูก” เป็นหลักการที่ไม่เคยเปลี่ยนและมันทำให้การลงทุนของเราดีเสมอ ในส่วนของสุขภาพนั้น ผมคิดว่าไม่มีอะไรดีและแน่นอนยิ่งไปกว่าการ “ออกกำลัง” อย่างสม่ำเสมอและการ “ควบคุมน้ำหนักตัว” ไม่ให้อ้วนเกินไปก็เป็นสิ่งที่ดีอย่างไม่มีข้อสงสัย
เรื่องของมโนธรรมหรือจรรยาบรรณและการปฏิบัติโดยชอบต่อสังคมและคนอื่นนั้นเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ผมคิดว่าเราจะต้องยึดถืออย่างเคร่งครัด นี่จะเป็นเครื่องรับประกันว่าเราจะมีชีวิตที่ดีและมีความสุขได้ตลอดไป เหตุผลก็คือ สิ่งเหล่านี้ถ้าเราทำผิดและถูกจับได้แม้แต่เพียงครั้งเดียว มันก็อาจจะทำลายชีวิตและความสุขของเราไปอีกนาน มันไม่เหมือนกับเรื่องอื่นเช่น การขาดทุนหนักในการลงทุนหรือการปล่อยให้ร่างกายอ่อนแอในบางช่วงที่เราสามารถกลับมา “แก้ตัว” ได้ง่ายกว่ามาก ดังนั้น ก่อนที่จะทำอะไรที่อาจจะส่งผลให้เราอาจจะถูกกล่าวหาได้ว่าขาดมโนธรรมหรือจรรยาบรรณ เราควรจะต้องคิดหรือหลีกเลี่ยงเสียแม้ว่านั่นอาจจะทำให้เราพลาดการได้รับผลตอบแทนที่ดีอย่างง่าย ๆ ได้
ข้อสรุปทั้งหมดก็คือ การเป็น VI ที่สมบูรณ์นั้น เราจะต้องเป็นแบบ “บูรณาการ” นั่นก็คือ คิดและทำทุกเรื่องที่สำคัญต่อชีวิตที่วัดด้วยความสุข “แบบ VI” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเงิน ร่างกาย จิตใจ และมโนธรรม ทุกอย่างนั้นจะหลอมเข้าด้วยกันไม่มีความแตกแยก ตัวอย่างเช่น ร่างกายที่แย่นั้นจะทำให้ส่วนอื่น ๆ ไม่สามารถเจริญงอกงามได้ เช่นเดียวกัน จิตใจที่เป็นทุกข์ก็จะส่งผลต่อเรื่องอื่น ๆ รวมถึงร่างกายด้วย หรือความมั่งคั่งที่มีน้อยนิดเกินไปนั้นก็จะทำให้ขาดความสุขในหลาย ๆ ด้าน การทุ่มเทเพียงอย่างเดียวจนเป็นเลิศแล้วปล่อยให้ด้านอื่นอ่อนด้อยไม่ใช่สิ่งที่ดี ตัวอย่างเช่นลงทุนจนมีเงินมากมายแต่สุขภาพทรุดโทรมชีวิตก็จะไม่มีความสุข เป็นต้น คำพูดสุดท้ายก็คือ “VI ต้องลงทุนในทุกด้านที่สำคัญอย่างบูรณาการ” แล้วชีวิตจะมีความสุขอย่างแท้จริง