โลกในมุมมองของ Value Investor 

16 พฤษภาคม 63

ดรนิเวศน์ เหมวชิรวรากร

สงครามโลกครั้งที่สองนั้น  นักประวัติศาสตร์ต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่าเริ่มต้นเมื่อเยอรมันบุกโปแลนด์ในวันที่ 1 กันยายน 1939 และฝรั่งเศสกับอังกฤษประกาศสงครามกับเยอรมันเพราะได้ประกาศค้ำประกันความเป็นอิสระของโปแลนด์เอาไว้  แต่ในช่วงแรกของสงครามเป็นเวลาถึง 8 เดือนนั้น  การรบเกิดขึ้นน้อยมาก  ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องของการปิดน่านน้ำและยิงกันทางอากาศประปรายไม่เหมือนกับสงครามจริง   จนถูกเรียกว่าเป็น  “Phony War” หรือสงครามเก๊”  แต่หลังจากที่เยอรมันเริ่มบุกเข้ายึดฝรั่งเศสในช่วงเดือนพฤษภาคม 1940  สงครามเต็มรูปแบบก็เริ่มขึ้นและยืดเยื้อต่อเนื่องไปอีกกว่า 5 ปีส่งผลให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงทั้งด้านของชีวิตคนและเศรษฐกิจอย่างที่ไม่เคยประสบมาก่อน

สงครามกับโควิด19” นั้น  ก็อาจจะคล้าย   กับสงครามโลก  ความสูญเสียก็น่าจะแรงคล้าย   กัน  มันเริ่มที่อู่ฮั่นช่วงปลายปี 2562 และก็ลามไปทั่วโลก  ในช่วงแรกนั้น  ก็ดูเหมือนว่าจะไม่มีอะไรมากเพราะอาการส่วนใหญ่ไม่รุนแรง บางคนบอก  “แค่ไข้หวัดธรรมดา”  คนที่ตายก็มักเป็นคนสูงอายุ  นั่นคือ “Phony War” แต่ “สงครามจริง ”  เกิดขึ้นอีก 3-4 เดือนต่อมาเมื่อประเทศต่าง   ทั่วโลกเกิดการระบาดจนต้อง “ปิดเมือง” เช่นเดียวกับประเทศไทยที่เราต้องปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจแทบทุกอย่างในเดือนมีนาคม 2563 และก็ไม่มีใครรู้ว่าสงครามโควิด19 จะจบเมื่อไร

สำหรับผมเองนั้น  เรื่องเชื้อโรคหรือเรื่องของสุขภาพเป็นมิติสำคัญที่ทุกคนเห็นชัดเจนและเราก็ต่อสู้เพื่อเอาชนะมัน  เรามองว่าถ้าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง  จำนวนคนตายเพิ่มขึ้นน้อยลง  เราก็ “กำลังชนะ”  แต่ถ้ามองอีกมิติหนึ่ง  เราก็คงต้องดูถึง “ความเสียหายทางเศรษฐกิจ” ด้วยว่ามีความรุนแรงแค่ไหน  เท่าที่ดูตอนนี้ก็ดูเหมือนว่าไทยเราอาจจะกำลังชนะในสงครามกับไวรัส  แต่สงครามทางเศรษฐกิจนั้นดูเหมือนว่า “เพิ่งจะเริ่มต้น”  และสัญญาณที่เห็นชัดเจนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็คือ  การที่การบินไทยกำลังอาจจะต้องเริ่มเข้าแผนฟื้นฟูเพื่อที่จะเอาตัวรอดจากวิกฤติทางการเงินอานิสงค์จากวิกฤติโควิด19 ที่ทำให้ธุรกิจการบินทั้งหมดแทบจะหยุดอย่างสิ้นเชิง  ผมไม่รู้ว่าในที่สุดการบินไทยจะประสบความสำเร็จไหม  แต่กำลังวิตกว่าบริษัทโดยเฉพาะที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่อื่น  จะประสบปัญหาตามมาหรือไม่และมากน้อยแค่ไหน  ผมเชื่อว่าหลายคนอาจจะไม่คิด  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  พวกเขาคิดว่าบริษัทใหญ่   โดยเฉพาะในตลาดหุ้นต่างก็แข็งแรง  มีกำไรที่ดีเยี่ยม  ราคาหุ้นก็อยู่ในระดับสูงและ “กำลังกลับมา”  จะไปเปรียบเทียบกับการบินไทยที่ “มีปัญหามานานแล้ว” ไม่ได้

ผมอยากจะเถียงว่ากรณีของการบินไทยเองนั้น  ใครเคยคิดว่าอาจจะต้องเข้าแผนฟื้นฟูตามกฎหมายล้มละลาย?  จริงอยู่  การบินไทยอาจจะขาดทุนมากกว่าคนอื่น  มีหนี้มากกว่าคนอื่น  แต่การบินไทยนั้นเป็น  “สายการบินแห่งชาติ” ที่มีรัฐบาลเป็นเจ้าของและผู้ถือหุ้นใหญ่ที่พร้อมจะเข้ามาสนับสนุนตลอดเวลาและก็ทำมาตลอด  ความน่าเชื่อถือนี้ทำให้บริษัทสามารถกู้หนี้ยืมสินได้แทบไม่จำกัด  นักลงทุนจำนวนมากโดยเฉพาะที่เป็น “นักออม” เช่น คนที่อยู่ในแวดวงสหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดใหญ่ของหน่วยงานภาครัฐต่างก็ดูว่าหุ้นกู้หรือตราสารหนี้อื่นของการบินไทยนั้นให้ผลตอบแทนที่ดีและมีความปลอดภัยสูง    ว่าที่จริงแม้แต่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือเองก่อนเกิดวิกฤติก็ยังให้เรทติ้งบริษัทในระดับ A ซึ่งถือว่าเป็นระดับ “ดีมาก” ไม่แพ้บริษัทจดทะเบียน “ยักษ์ใหญ่” ทั้งหลายในตลาดหุ้นไทย  ดังนั้น ความคิดที่ว่า  บริษัทมีความมั่นคง  มีเรทติ้งดี  และมีโอกาสล้มน้อยมากนั้น  อาจจะไม่จริงในช่วงที่เกิด “สงครามโควิด19”

วิกฤติโควิด19 นั้น  มองในแง่ของตลาดหุ้นที่เมื่อเริ่มเกิดเหตุการณ์ราคาหรือดัชนีตลาดหุ้นตกลงมาอย่างแรงประมาณ30-40% ในระยะเวลาอันสั้น  แต่เมื่อผ่านไปเพียงแค่ 1-2 เดือนดัชนีกลับสามารถปรับตัวขึ้นมาได้จนติดลบไปเพียง 10-20% จากช่วงก่อนเกิดโควิด19  และในตลาดหุ้นอย่างตลาดนาสดักซึ่งเป็นหุ้นกลุ่มไฮเทคนั้น  ดัชนีหุ้นกลับปรับตัวขึ้นไปจนสูงกว่าตอนต้นปีแล้วนั้น  ก็ต้องถือว่าตลาดหุ้นทั่วโลกฟื้นตัวแบบตัว V ซึ่งเป็นสัญญาณว่าวิกฤติกำลังผ่านไปอย่างรวดเร็วจนดูไม่เหมือนว่าโลกกำลังมีวิกฤติด้วยซ้ำ

แต่ในด้านของเศรษฐกิจนั้น  ดูเหมือนว่าโลกกำลังเจอกับ “สงครามจริง” ที่เพิ่งจะเริ่ม  การคาดการณ์การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของทุกประเทศดูเหมือนว่าจะเลวร้ายลงเรื่อย   บริษัทที่ถูกกระทบอย่างแรงเช่น สายการบินหลายแห่งอยู่ในสภาวะ “ล้มละลาย” และหลายแห่งก็จะล้มจริงถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล  การคาดการณ์ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนจำนวนมากโดยเฉพาะที่อยู่ในธุรกิจ “เก่า” อย่างเช่นรถยนต์และน้ำมันก็ย่ำแย่มากไม่ต้องพูดถึงธุรกิจที่ถูกกระทบจากโควิดโดยตรงอย่างเรือสำราญหรือโรงแรม เป็นต้น โดยที่สงครามนี้ก็ดูเหมือนว่ายังไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อไร

ความขัดแย้งในตรรกะที่ว่าเศรษฐกิจกำลัง “เน่า”  แต่หุ้น  “ดี” นี้  ได้รับการอธิบายโดยบางคนว่าเป็นเพราะโลกกำลังเปลี่ยนไป  มีการแยกตัวระหว่างตลาดหุ้นหรือตลาดการเงินซึ่งเป็นตลาด “จำลองหรือตลาดเสมือนจริง” กับตลาดที่เป็นเศรษฐกิจ “จริง”  พูดง่าย   หุ้นจะขึ้นจะลงก็เป็นเพราะมีคนนำเงินมาซื้อหรือขายด้วยเหตุผลทางการเงินหรือเรื่องอื่นที่ไม่ค่อยเกี่ยวกับเศรษฐกิจอย่างที่เราเข้าใจและคุ้นเคยกันมานาน  แต่นี่สำหรับผมแล้วก็ต้องบอกว่าผมไม่เข้าใจและก็ไม่เชื่อ  ผมถูกสอนให้เชื่อมาตลอดว่า  ราคาหุ้นในระยะยาวแล้วจะต้องสะท้อนถึงผลประกอบการระยะยาวของกิจการเสมอ  ดังนั้น  ถ้าหุ้นทั้งตลาดหรือดัชนีตลาดหุ้นขึ้นและดำรงอยู่ได้ในระยะยาว  เศรษฐกิจและกิจการก็น่าจะต้องดีในระยะยาวด้วย  ถ้ามองไปข้างหน้าแล้วเศรษฐกิจ “เน่า” แน่   หุ้นไม่น่าจะขึ้นไปแล้วอยู่ทน  ในไม่ช้าก็จะต้องตกลงมา

ประเด็นที่จะต้องคิดก็คือ  เศรษฐกิจจะเน่าไปนานแค่ไหนและจะฟื้นตัวเร็วแค่ไหน  ถ้าคำตอบก็คือ  “เร็วมาก” และบริษัทก็สามารถกลับมาสร้างรายได้และกำไร “เท่าเดิม” ในเวลาแค่ปีสองปี  แบบนี้หุ้นก็จะมีเหตุผลที่จะขึ้นไปตั้งแต่ช่วงนี้แล้วก็เดินหน้าต่อ  “มองข้าม”  ปัญหา “ชั่วคราวสั้น ”  เช่นเรื่องโควิด19 ไป   แต่ถ้าเศรษฐกิจมีปัญหาต่อเนื่องไปพอสมควร  บริษัทขนาดใหญ่จำนวนมากยังต้องปรับโครงสร้างและแก้ปัญหาอันเนื่องจากโควิด19ไปอีกนาน  แบบนี้หุ้นก็ไม่สามารถยืนอยู่ได้และอาจจะตกลงมาแรงได้อีก  ซึ่งนี่ก็คือสถานการณ์อย่างที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในปี 2540 ที่เกิดวิกฤติการเงินรุนแรงและกว่าที่เศรษฐกิจและบริษัทจะฟื้นตัวก็กินเวลาหลายปี

ถ้ามองอีกมุมหนึ่งโดยเฉพาะในกรณีตลาดหุ้นของอเมริกา  คำอธิบายว่าทำไมตลาดหุ้นดีทั้ง   ที่เศรษฐกิจกำลังจะแย่ก็คือ  หุ้นที่ดีได้นั้นเป็นเพราะมันเป็นหุ้นไฮเทคขนาดใหญ่ที่ไม่ถูกกระทบโดยเศรษฐกิจที่กำลังแย่  ดังนั้น  หุ้นพวกนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นและเนื่องจากมีขนาดใหญ่  มันจึงช่วยพยุงให้ตลาดหุ้นโดยรวมไม่ตกลงมามากอย่างที่ควรจะเป็น  ถ้าตัดหุ้นเหล่านี้ออกไป  ดัชนีอาจจะแย่กว่านี้มากก็ได้  แต่นี่ก็ไม่ได้อธิบายว่าทำไมตลาดหุ้นไทยถึงตกลงมาไม่มากเช่นกัน เพราะว่าไทยไม่มีหุ้นไฮเทคขนาดใหญ่ที่มาช่วยค้ำยันตลาด  ผมเองก็ไม่สามารถอธิบายได้ชัดเจน  บางทีตลาดหุ้นไทยอาจจะถูกซื้อขายโดยคนไทยที่เข้ามา “เก็งกำไร”  จำนวนมากซึ่งทำให้หุ้นไม่ตกลงมาอย่างที่ควรจะเป็นในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม  ถ้าเป็นกรณีแบบนี้  ในระยะยาวแล้ว  หุ้นและดัชนีหุ้นของเราก็จะอยู่ในระดับสูงไม่ไหวถ้าเศรษฐกิจแย่ต่อไปนานและไม่มีหุ้นที่จะได้ประโยชน์เช่น  หุ้นไฮเทคของอเมริกา

ทั้งหมดนั้นก็เป็นเรื่องของการประเมินหรือคาดเดา  ผมเองก็ไม่รู้ว่าอนาคตทั้งเศรษฐกิจและตลาดหุ้นจะเป็นอย่างไร เราคงจะรู้เมื่อเวลาผ่านไปและอะไรเกิดขึ้นซึ่งก็จะเป็นบทเรียนให้เราต่อไปในอนาคต  อย่างไรก็ตาม  การลงทุนนั้นเราจะอิงกับการประเมินและคาดเดาที่เราไม่มีความมั่นใจสูงไม่ได้  ดังนั้น  สิ่งที่ควรทำก็คือ  ลงทุนในหุ้นที่แข็งแกร่งปลอดภัยและโอกาสถูกทำลายโดยเทคโนโลยีใหม่มีน้อยในราคาหุ้นที่ถูกหรือยุติธรรม  มี Margin of Safety สูง เพราะนี่คือหุ้นที่จะ “ฝ่าพายุ” ได้  การลงทุนเพื่อให้มีอิสรภาพทางการเงินหรือร่ำรวยนั้นก็เหมือนกับการเดินเรือออกทะเลไปสู่ดินแดนอันมั่งคั่งที่อยู่ห่างไกล  มันต้องใช้เวลามาก บางทีแทบจะตลอดชีวิต  และจะต้องฝ่าคลื่นลมและพายุใหญ่ในบางครั้ง  เราไม่รู้ว่าอุปสรรคเหล่านั้นจะมาเมื่อไร  เราไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงมันได้  ดังนั้น  สิ่งที่ต้องทำก็คือ ต้องมั่นใจว่าเรามีเรือที่ดีและแข็งแรงพอที่จะไม่จมลงง่าย   ไม่ว่าพายุจะรุนแรงแค่ไหน  นอกจากนั้น  เราก็จะต้องมีจิตใจที่มั่นคงไม่ท้อถอยต่ออุปสรรคและละทิ้งเป้าหมายที่จะไปตราบที่เป้าหมายนั้นมันท้าทาย  มีเหตุผล และเป็นไปได้