นาย Yoshihide Suga นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นซึ่งเข้ารับตำแหน่งในเดือนกันยายน 2020 ได้เป็นผู้นำคนแรกที่เดินทางมาเยือนประเทศเวียดนามตั้งแต่เกิดวิกฤติ Covid-19  โดยตระหนักว่าเวียดนามประสบความสำเร็จในการควบคุมการติดเชื้อได้ดีกว่าประเทศอาเซียนอื่นๆ รวมทั้งยังสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยการส่งออกสินค้าโดยไม่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว ซึ่งญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกและนำเข้ารายใหญ่อันดับ 3 ของเวียดนาม พบว่ามูลค่าการค้าต่างตอบแทนระหว่างสองประเทศใน 5 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามข้อมูลสถิติของทบวงศุลกากร นอกจากนี้ ข้อตกลงการค้าเสรี FTA เวียดนาม-EU ก็ได้มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2020 นับเป็นประเทศลำดับที่ 77 ที่มีข้อตกลงทวิภาคี FTA กับ EU และอยู่ในระหว่างการเจรจากับอังกฤษที่แยกตัวจาก EU รวมทั้งสหรัฐก็ได้แสดงท่าทีสนใจที่เป็นหุ้นส่วนกับเวียดนามด้วย

ในขณะที่เวียดนามก็คาดหวังว่านายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นจะสนับสนุนให้บริษัทญี่ปุ่นมาลงทุนในเวียดนามเพิ่มขึ้น เนื่องจากข้อมูลการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI) ในปี 2019 พบว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศลำดับที่สองที่มีการลงทุน  FDI ในเวียดนามรองจากเกาหลีใต้ และเป็นประเทศคู่ค้าลำดับที่ 4 รองจากจีน สหรัฐอเมริกาและเกาหลีใต้ รวมทั้งเป็นประเทศสมาชิกภายใต้ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership : TPP) นอกจากนี้ ค่าจ้างแรงงานชาวเวียดนามต่ำกว่าจีน และรายได้ของชาวเวียดนามโน้มสูงขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มประชากรหนุ่มสาวจึงเป็นโอกาสของการลงทุนในบริษัทธุรกิจภาคบริการ เช่น การผลักดันการลงทุนในเวียดนามของเครื่องหมายการค้าใหญ่ เช่น Uniqlo และ Muji

ทั้งนี้ การเยือนเวียดนามของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในระหว่างวันที่ 18 -20 ตุลาคม 2020 ได้ข้อสรุปดังนี้

– บรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับหลักการส่งออกยุทโธปกรณ์และถ่ายโอนเทคโนโลยีทางการทหารแก่เวียดนาม

– การเพิ่มความร่วมมือในการบรรเทาผลกระทบจากโรคโควิด-19 โดยตกลงจะเริ่มกลับมาให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์ระหว่างสองประเทศโดยเร็วที่สุด และจะอนุญาตให้นักธุรกิจและแรงงานมีทักษะเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องกักตัวตามมาตรการควบคุมโรคโควิด-19

-ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่าจะกระชับความร่วมมือในหลายประเด็นของภูมิภาค รวมถึงข้อพิพาทแย่งชิงกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ระหว่างจีนและบางประเทศในอาเซียน โดยย้ำว่าจะรักษาสันติภาพ ความมั่นคงและเสรีภาพการเดินเรือและการบินในบริเวณทะเลจีนใต้

– ตอกย้ำถึงความสำคัญและวิสัยทัศน์ของนโยบายอินโด-แปซิฟิกที่เปิดกว้างและเสรี (free and open Indo-Pacific) ที่เน้น  3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ การส่งเสริมและปลูกฝังค่านิยมพื้นฐาน เช่น หลักนิติธรรมและประชาธิปไตย การแสวงหาความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ การรักษาสันติภาพและเสถียรภาพ

——————————————-

ที่มา : 1. Japan and Vietnam agree to accelerate business reopenings, TOMOYA ONISHI, Nikkei staff   

               writer, Updated on October 19, 2020 JST

              https://asia.nikkei.com/Politics/International-relations/Japan-and-Vietnam- agree-to-

             accelerate-business-reopenings

         2. ผู้นำญี่ปุ่นเยือนเวียดนามกระชับร่วมมือทางทหาร,19 ตุลาคม 2563

https://www.nationtv.tv/main/content/378801722/

โดย : แดนตะวัน