เดลต้า VS เทสลา

0
1545

โลกในมุมมองของ Value Investor        17 มกราคม 64

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

            สิ้นปี 2562 หุ้นเดลต้ามีราคา 53.5 บาท  ต้นปี 2563 เกิดวิกฤติโควิด-19 และต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้ที่ 15 มกราคม 2564 เป็นเวลาประมาณ 1 ปีเศษ หุ้นเดลต้ามีราคา 580 บาท  มูลค่าหุ้นทั้งหมดหรือ Market Cap. เพิ่มขึ้นจากประมาณ 6.7 หมื่นล้านบาทเป็น 7.2 แสนล้านบาท คิดแล้วเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงกว่า 10 เท่าในเวลาเพียงปีเดียว  และทำให้หุ้นเดลต้ากลายเป็นหุ้นที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จากหุ้นขนาดกลางที่ยังไม่ติดเข้ามาในดัชนี SET 50 ที่ไม่ไปไหนมาหลายปี

            ในเวลาเดียวกันนั้น  หุ้นเทสลา มีราคาประมาณ 86 เหรียญสหรัฐและก็ไม่ได้ไปไหนมานานก็ขยับขึ้นฝ่าวิกฤติโควิด-19 มาจนถึงวันนี้มีราคา 826 เหรียญหรือโตขึ้นเกือบ 10 เท่า ในเวลาเพียงปีเดียว และทำให้หุ้นมี Market Cap. หรือมูลค่าตลาดประมาณ 7.8 แสนล้านเหรียญหรือ 23.5 ล้านล้านบาท กลายเป็นหุ้นใหญ่ประมาณอันดับ 5-6 ของตลาดหุ้นอเมริกาและของโลกจากบริษัทระดับกลาง ๆ ที่ยังไม่ถูกคำนวณในดัชนี S&P 500 และนี่ก็คือความเหมือนกันของหุ้นทั้งสองตัวที่ทุกคนต่างก็ “ตะลึง” แต่นั่นก็เป็นเพียงจุดเริ่มต้น  ทั้งสองบริษัทหรือสองหุ้นยังมีอะไรเหมือนกันมากกว่านั้น  เรามาดูกัน

            เทสลาเป็นผู้นำในการผลิตรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าที่กำลังเป็นกระแสหรือเมกาเทรนด์ใหม่ของโลก  อย่างไรก็ตาม  ยอดขายรถยนต์ของบริษัทก็ยังน้อยมากเพียงประมาณ 500,000 คัน ในปีที่ผ่านมาเทียบกับบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างโตโยต้าที่ขายถึงประมาณ 10 ล้านคันต่อปี  กำไรของบริษัทก็น้อยมากและเพิ่งจะเริ่มกำไรหลังจากที่ขาดทุนมานานและก่อนหน้านั้นแค่ 1-2 ปี ยังทำให้อีลอน มัสก์ เจ้าของบริษัทต้องประกาศขายอสังหาริมทรัพย์และอื่น ๆ  เพื่อ “พยุง” ตัวให้รอดจากภาวะยากลำบากทางการเงิน  แต่ภายหลังหุ้นเทสลาดีดตัวขึ้นมาแรงกลับทำให้เขากลายเป็นคนที่รวยที่สุดในโลกเพราะถือหุ้นเทสลาประมาณ 25% ของบริษัท

            หุ้นเทสลาขึ้นมาแรงมากในครั้งนี้ดูเหมือนว่าจะมาจากสตอรี่หรือข่าวดีต่าง ๆ  ซึ่งรวมถึงการที่บริษัทเริ่มมีกำไรและโรงงานที่จีนประสบความสำเร็จในการผลิตอย่างสูง  นอกเหนือจากนั้นก็อาจจะเป็นเพราะว่าคนหรือนักลงทุนเริ่มเห็นว่าบริษัทจะเริ่ม  “Take of” หรือตั้งตัวได้เต็มที่พร้อมที่จะ “ออกบิน”  แล้วจึงเริ่มเข้ามาซื้อหุ้นกันอย่างหนักซึ่งส่งผลให้หุ้นวิ่งขึ้นอย่างแรงหลังจากที่หุ้นนิ่งและประสบกับอุปสรรคมานานไม่ต่ำกว่า 4-5 ปีตั้งแต่เข้าตลาดหลักทรัพย์  และเมื่อหุ้นเริ่มปรับตัวขึ้นแรง  นักเก็งกำไรก็คงตามแห่เข้ามาซื้อเพราะกลัว “ตกรถ”  กลัวจะพลาดโอกาสในการทำเงินจาก  “กระแสใหม่”  ที่จะเปลี่ยนแปลงโลกของรถยนต์ไปตลอดกาลคล้าย ๆ  กับกระแสของการ “ปฏิวัติดิจิตอล” ที่ทำให้ผู้นำโลกอย่างเฟซบุคและอะเมซอนมีมูลค่าหุ้นสูงมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก

            แต่ในสายตาของนักวิเคราะห์จำนวนมากรวมทั้งผมเองนั้นคิดว่าเทสลาอาจจะมีความแตกต่างในแง่ที่ว่ามันเป็นผู้ผลิตสินค้าที่จับต้องได้ที่มักจะไม่สามารถทำกำไรได้แบบ “ทวีคูณ” เมื่อยอดขายมากขึ้น  เหตุผลก็เพราะว่าทุกครั้งที่ยอดขายเพิ่มขึ้น  ต้นทุนก็จะเพิ่มตามในอัตราส่วนที่ใกล้เคียงกับของเดิม  ดังนั้น  กำไรก็จะเพิ่มตามกันไปในอัตราส่วนใกล้เคียงกับของเดิม  ในขณะที่หุ้นดิจิตอลนั้น  เวลามีคนใช้บริการมากขึ้น  ต้นทุนที่เพิ่มจะน้อยมากเพราะต้นทุนในการทำระบบนั้นได้จ่ายไปหมดแล้ว  ทำให้เมื่อถึงจุดเริ่มกำไรแล้ว  หลังจากนั้นกำไรจะโตมากเป็นทวีคูณ  อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้บริษัทผู้ผลิตเสียเปรียบก็คือ  มันจะไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “Network Effect” นั่นก็คือ  คู่แข่งสามารถเข้ามาแข่งขันได้เสมอตราบที่สามารถเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพเท่าเทียมกัน  ในขณะที่หุ้นดิจิตอลอย่างเฟซบุคเองนั้น คู่แข่งจะเข้ามายากมากเพราะผู้ใช้บริการต้องการใช้บริการของบริษัทที่มีเครือข่ายที่ใหญ่กว่า มากกว่าเรื่องของคุณภาพและราคา

            ดังนั้น  โดยสรุปแล้ว  มีคนจำนวนมากไม่เชื่อว่าราคาหุ้นเทสลาที่ขึ้นไปนั้นสอดคล้องกับ “พื้นฐาน” ที่ควรเป็นของเทสลา  คนเชื่อว่านี่เป็นราคาที่เกิดจากการเก็งกำไรสุดโต่งอานิสงค์ส่วนหนึ่งจากการที่สภาพคล่องทางการเงินของโลกสูงลิ่ว  อย่างไรก็ตาม  ไม่มีใครคิดว่าหุ้นตัวนี้มีคนปั่นหรือหุ้นถูก “Corner” อย่างตั้งใจโดยคนใดหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง  เพราะว่าหุ้นเทสลานั้นมีผู้ถือหุ้นกระจายตัวมากและประวัติเรื่องการคอร์เนอร์หุ้นในอเมริกานั้นมีน้อยมาก

            บริษัทเดลต้ามีความคล้ายกับเทสลาในแง่ที่ว่าเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเลคโทรนิกส์ให้แก่บริษัทผู้ผลิตสินค้า  “ไฮเท็ค” ทั่วโลก  โดยเฉพาะด้านของการสำรองพลังงาน  ว่าที่จริงเทสลาก็น่าจะเป็นลูกค้าด้วยเพราะชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้าก็คือพลังงานจากแบตเตอรี่ที่ถูกสำรองไว้  ดังนั้น  สตอรี่ของเดลต้าก็คือการเกาะไปกับเมกาเทรนด์ส่วนนี้ด้วย  ข่าวที่ว่ารายได้และกำไรของบริษัทกำลังจะโต “ก้าวกระโดด” หลังจากที่นิ่งมาไม่น้อยกว่า 4-5 ปีจึงไป “ปลุกหุ้น” ให้วิ่งขึ้นมาและก็คงคล้าย ๆ กับเทสลาที่เมื่อนักลงทุนเห็นหุ้นวิ่งขึ้นมารุนแรงก็แห่กันเข้ามาซื้อส่งผลให้หุ้นวิ่งขึ้นไปอีกและวิ่งขึ้นไปมากเสียยิ่งกว่าหุ้นเทสลา  ซึ่งคนดูว่า  “ไม่น่าเป็นไปได้” เพราะเทสลานั้นเป็นผู้นำที่ขายความไฮเท็ค  ในขณะที่เดลต้านั้นเป็นแค่ผู้ผลิตชิ้นส่วน  ไม่ได้เป็นคนที่จะ “เปลี่ยนโลก”

          แต่สิ่งที่แตกต่างก็คือ  หุ้นเดลต้านั้นมีหุ้น Free Float หรือหุ้นที่อยู่ในมือนักลงทุนที่พร้อมขายน้อยมาก  ในขณะที่หุ้นเทสลาอาจจะมีฟรีโฟลท 75% หุ้นเดลต้าน่าจะมีฟรีโฟลทไม่เกิน 25% ดังนั้น  โอกาสที่หุ้นเดลต้าจะถูก Corner ทั้งอย่างตั้งใจและไม่ตั้งใจจึงสูงกว่ามาก  ว่าที่จริงก่อนเริ่มวิ่งนั้น  หุ้นเดลต้าหรือหุ้นฟรีโฟลทของเดลต้านั้นไม่ได้สูงเลย  และอยู่ในวิสัยที่นักลงทุนรายใหญ่ของไทยสามารถที่จะคอร์เนอร์ได้อย่างไม่ยากเย็น  ว่าที่จริงหุ้นตัวอื่นที่มีฟรีโฟลทระดับเดียวกันหลาย ๆ  ตัวก็น่าจะเคยหรือกำลังถูกคอร์เนอร์กันมาแล้วจนมีมูลค่าหุ้นเป็นแสนล้านบาท  หุ้นเดลต้าก็อาจจะเป็นเพียงอีกตัวหนึ่งที่ถูกคอร์เนอร์เหมือนกัน  เพียงแต่ว่าการคอร์เนอร์อาจจะรุนแรงกว่ามาก  อาจจะเนื่องจากโครงสร้างผู้ถือหุ้นและการเป็นหุ้นของ  “ต่างชาติ” ที่ทำให้ราคาหุ้น  “หลุดโลก”

          หุ้นเทสลากับหุ้นเดลต้ายังมีความคล้ายกันในแง่ที่ว่า  หลังจากที่หุ้นขึ้นไปสูงมากและปริมาณการซื้อขายสูงลิ่วอานิสงค์จากการเก็งกำไรกันอย่างรุนแรง  ทำให้เข้าเกณฑ์ที่จะถูกรวมอยู่ในดัชนี S&P 500 และ SET 50 ตามลำดับ  ผลจากการนั้นจะทำให้กองทุนอิงดัชนีทั้งหลายที่มีจำนวนมากต้องเข้ามาซื้อหุ้นไม่ว่าจะมีราคาเท่าไร  กองทุนจะต้องซื้อหุ้น  “ตามสัดส่วน” ของ Market Cap.  ซึ่งในขณะนี้มูลค่าของหุ้นทั้งสองก็สูงมากเมื่อเทียบกับดัชนี  ผลก็คือ  จะมี “แรงซื้อ” หุ้นทั้งสองตัวเข้ามามหาศาลในวันที่มันถูกนำเข้ามาคำนวณ  ผลก็คือ  ถ้าหุ้นถูกคอร์เนอร์อยู่แล้ว  มันก็จะถูกคอร์เนอร์แน่นเข้าไปอีก  ราคาหุ้นก็อาจจะต้องวิ่งขึ้นไปอีกจนกว่าคอร์เนอร์จะ “แตก”  และเมื่อถึงวันนั้น  ความเสียหายหรือกำไรที่จะได้รับสำหรับบางคนก็จะมหาศาล

            หุ้นเทสลานั้น  กำลังถูกชอร์ตอย่างแรงโดยคนที่คิดว่าหุ้นเทสลานั้น “แพงหลุดโลก” และจะต้องตกลงมาอย่าง “หายนะ” ปริมาณการขายชอร์ตในขณะนี้น่าจะ “มากที่สุดในโลก” ที่ประมาณ 3.7 หมื่นล้านเหรียญหรือกว่า 1 ล้านล้านบาท  เซียนหรือ “ตำนานนักชอร์ต” ที่เคยทำกำไรมหาศาลจากการชอร์ตตราสารซับไพร์มคือ  Michael Burry กำลังพนันอย่างเต็มที่ว่าหุ้นเทสลาจะต้อง “พังทลาย” เราคงต้องดูกันว่าใครจะพัง  ว่าที่จริงคนที่เคยชอร์ตหุ้นเทสลาในปีก่อน “เจ๊ง” ไปแล้วประมาณ 3.8 หมื่นล้านเหรียญเพราะหุ้นขึ้นไปเรื่อยและแพงเวอร์มาทั้งปี  นักวิเคราะห์หลายคนรวมถึงอีลอน มัสก์ บอกว่าคนที่ชอร์ตต่างหากที่จะต้องพังเพราะจะถูก “บี้” ให้ต้องกลับไปซื้อหุ้นที่ราคาแพงขึ้นไปอีก  คนทั่วโลกกำลังหลงรักเทสลา

            หุ้นเดลต้านั้น  ตั้งแต่มีประเด็นว่าอาจจะถูกปั่นหรือคอร์เนอร์หุ้นในช่วงเร็ว ๆ นี้ก็มีการปรับตัวลงมาบ้างแต่ก็ยังอยู่ในระดับสูงมาก  ตลาดหลักทรัพย์และคนที่เกี่ยวข้องเองต้องออกมาเสนอมาตรการเกี่ยวกับเรื่องฟรีโฟลทเพื่อป้องกันไม่ให้การเกิดการคอร์เนอร์หุ้นอย่างง่าย ๆ ก็ยังไม่ได้ข้อยุติ  ในเวลาเดียวกัน  ดูเหมือนว่าคนก็ยังเล่นกันอย่างหนัก  ราคาหุ้นผันผวนวันละเป็น 10% บวกลบเป็นเรื่อง “ปกติ” ผมเองไม่แน่ใจว่าเมื่อมาตรการออกมาจะทำให้หุ้นสงบลงและราคาสะท้อนพื้นฐานที่แท้จริงเมื่อไร  และเคยสงสัยว่าเราจะ “ขายชอร์ต” หุ้นเดลต้าได้ไหม  เพราะผมรู้สึกว่าราคานี้ยังไงก็รับไม่ได้  แต่เมื่อตรวจสอบกับโบรกเกอร์ของผมดูแล้วก็พบว่า  ในกรณีของหุ้นเดลต้าไม่น่าจะทำได้  เพราะไม่มีคนให้ยืมหุ้นหรือถ้าให้ยืมแล้วมาขอคืนเราก็ “ตาย” ดังนั้น  สำหรับผมแล้ว  กรณีของหุ้นเดลต้าก็ไม่ต้องสนใจที่จะเข้าไป “หาเงินจากความผิดพลาดของตลาด”  แต่แค่เอาไว้ศึกษาว่าความคิดของเราถูกต้องไหม  แค่นั้น