ค้าปลีกยุคใหม่… โอกาสและความท้าทาย

0
1805

ตัวอย่าง หุ้น MWG  Super Stock ในดวงใจ อ. นิเวศน์

จบไปแล้วกับปี 2021 สุดโหด นับเป็นอีกปีหนึ่งที่ท้าทายมากสำหรับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงประชาชน คนทั่วไป ที่นอกจากจะต้องระวังภัยจากโรคระบาดแล้ว ยังต้องทำทุกวิถีทางเพื่อเอาตัวรอด ในภาวะเศรษฐกิจที่ไม่สู้ดีนัก  การมาถึงของโรคระบาดโควิด-19 ทำให้ พฤติกรรมหลาย ๆ อย่างของคนเปลี่ยนไป การเปลี่ยนแปลงนี้นำมาสู่โอกาสทางธุรกิจมากมายเช่นกัน แต่ใช่ว่า ใคร ๆ ก็สามารถจะคว้าโอกาสเหล่านั้นไว้ได้…

เทรนด์การบริโภครูปแบบใหม่ (New Consumption Trend) กำลังเติบโตขึ้นในตลาดค้าปลีกของภูมิภาคเอเชีย ซึ่งมีมูลค่าราว 10 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ อ้างอิงข้อมูลจาก McKinsey Global Institute ประเทศเวียดนาม จะเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนที่แข็งแกร่งของเทรนด์การบริโภคครั้งนี้ โดย McKinsey คาดการณ์ว่า ในทศวรรษข้างหน้านี้ ประชากรชนชั้นบริโภค (ซึ่งหมายรวมถึง บุคคลที่มีอำนาจซื้อ อย่างน้อย 11 เหรียญสหรัฐต่อวัน) ของเวียดนามจะอยู่ที่ ราว 36 ล้านคน บวกกับการขยายตัวของเมือง (Urbanization) ที่จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มาเร่งการเติบโตของเทรนด์การบริโภครูปแบบใหม่นี้ โดยในอีก 10 ปีข้างหน้า ประชากรชาวเมืองของเวียดนามอาจเพิ่มขึ้นกว่า 10 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 44% ของประชากรทั้งหมด จาก 37%  ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ การบริโภคจากเหล่า “digital citizen” หรือ บุคคลที่เกิดระหว่างปี 1980-2012 หรือที่เราคุ้นหูในนาม Generation Y และ Generation Z ซึ่งเกิดมาในยุคที่เทคโนโลยีเริ่มมีความก้าวหน้า จะคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของการบริโภคทั้งหมดของเวียดนาม กลุ่มคนเหล่านี้ใช้ชีวิตผ่านหน้าจอมือถือ อยู่บนโลกออนไลน์ และ คุ้นเคยกับ แอพพลิเคชั่น e-commerce และ social network  หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น Shopee, Lazada, Tiki, TikTok, หรือ Zalo (แอพพลิเคชั่นที่มีผู้ใช้กว่า 52 ล้านคนต่อเดือน) ฉะนั้น กลยุทธ์ การติดต่อ-สื่อสารกับลูกค้าผ่านหลากหลายช่องทาง (omni-channel strategy) จึงจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับบริษัทค้าปลีก ในยุคปัจจุบัน

จากคาดการณ์ของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม สัดส่วนการขายสินค้าผ่านช่องทาง ค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) จะแตะระดับ 35-40% ภายในปี 2025 และอุตสาหกรรมดังกล่าว จะคงอัตราการเติบโตที่สองหลัก แต่ใช่ว่า ผู้เล่นทุกรายในตลาดจะมีที่ยืนเสมอไป เพราะบริษัทที่ต้องการเป็นผู้ชนะในตลาดนี้ จะต้องปรับตัวให้ทันกับพฤติกรรมการบริโภค การจับจ่าย ใช้สอย ของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ในช่วง วิกฤติโควิด ที่ผ่านมา เราเห็นการปรับตัวของผู้เล่นรายใหญ่หลายรายไม่ว่าจะเป็น Mobile World (MWG) , Central Retail, AEON, หรือ Masan (MSN) ที่ล้วนแล้วแต่พยายาม ปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริการ การขาย รวมถึง ภาพลักษณ์ เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคยุคปัจจุบันมากยิ่งขึ้น

ในกรณีของ MWG ผู้ใหญ่รายใหญ่ที่มีสินค้าครอบคลุมตั้งแต่ โทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอุปโภคบริโภค รวมไปถึง อาหารแห้ง อาหารสด ซึ่งเดิมทีมีแผนเร่งการเปิดสาขาใหม่ของ Bach Hoa Xanh (ร้านขายสินค้าอุปโภคบริโภค) ล่าสุดได้ประกาศชะลอการขยายหน้าร้านใหม่ ๆ ของ Bach Hoa Xanh ลง และหันไปเปิดตัวร้านขายสินค้าชนิดใหม่ๆ เช่น เครื่องประดับ และ อุปกรณ์กีฬา อย่างต่อเนื่อง ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2021

อีกทั้ง MWG ยังให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของบริษัท โดยมุ่งเน้นการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาลดขั้นตอนการทำธุรกรรมของลูกค้า เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดี และ เพิ่มยอดขายให้กับบริษัทในที่สุด

ล่าสุด MWG ยังได้ร่วมมือกับ F88 ผู้ให้บริการทางการเงิน เพื่อนำเสนอสินเชื่อให้กับลูกค้าร้าน The Gioi Di Dong (ร้านขายโทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์) และ Dien May Xanh (ร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้า) อีกด้วย

โดยสรุปแล้ว พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค รวมถึงความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น ล้วนแล้วแต่เป็นโอกาสทางธุรกิจ แต่คำถามที่สำคัญคือ ท้ายที่สุดแล้ว จะมีสักกี่รายที่พร้อมจะปรับตัวและฉกฉวยโอกาสนี้ไว้ เพราะแม้แต่บริษัทยักษ์ใหญ่ที่เหมือนจะเป็นเสือนอนกิน ต่างก็ต้องดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอดอย่างที่สุดเช่นกัน

ขอบคุณข้อมูลจาก Cafef.vn

(https://cafef.vn/nganh-ban-le-nhin-tu-nhung-dong-thai-quyet-liet-cua-the-gioi-di-dong-hau-covid-19-bua-tiec-lon-nhung-khong-phai-ai-cung-co-cho-20220107142737323.chn)