โคโรน่าในเวียดนาม
พอดีวันนี้แอดได้รับ inbox ว่า "สวัสดีครับแอดมิน พอจะเรื่องโรคโคโรน่า ที่เวียดนาม มาอัพเดทกันบ้างมั้ย รอรับชมครับ ขอบคุณครับ" ทางเพจจึงรวบรวมข้อมูลมา Update ให้ฟังดังนี้ค่ะ
สถานการณ์โลก
เวลา13:00 น. 29 ม.ค. 62
อัปเดตยอดผู้ป่วยสะสมทะลุ 6,000 เสียชีวิตแล้ว 132 ราย...
หุ้นรายตัวในดัชนีVN30 ...
บทความนี้จะมาแนะนำและอัพเดตข้อมูลหุ้นรายตัว ที่ยังคงอยู่ในกลุ่ม 30 หุ้นที่ทำกำไรมากที่สุดในปี 2019 ของเวียดนามค่ะ เป็นบริษัทด้านเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของเวียดนาม FPT Corporation หรือ FPT ค่ะ
ภาพรวม
• FPT เป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนาม มีธุรกิจหลักคือ โทรคมนาคม การศึกษา เทคโนโลยีสารสนเทศ อาทิ การจัดจำหน่ายและกระจายสินค้าไอที, ส่งออกซอฟต์แวร์, การรวมระบบ, บริการอินเตอร์เน็ต เป็นต้น รวมถึงธุรกิจการลงทุนและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
• ผู้ก่อตั้งบริษัท Truong Gia Binh ได้รับการขนานนามว่าเป็น Bill Gates แห่งเวียดนาม และเป็นนักธุรกิจชาวเวียดนามคนแรกที่ได้รับรางวัลจาก Nikkei Asia จากกลุ่ม Nikkei ประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย
• เป็นหนึ่งในบริษัทที่ไม่ใช่กิจการของรัฐที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนาม และกำลังขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ ที่ปัจจุบันมีการดำเนินการแล้วใน 45 ประเทศทั่วโลก โดยที่ผ่านมาได้เข้าซื้อบริษัทไอทีในสโลวะเกีย และบริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีของสหรัฐฯ
• บริษัทในเครืออาทิ
- FPT Software Company Limited
- FPT Information System Company Limited
- FPT Investment JSC
- FPT Education...
ลงทุนในธุรกิจที่กำลังถูก Disrupt
โลกในมุมมองของ Value Investor
25 มกราคม 63
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ตั้งแต่กระแส Disruption หรือการทำลายล้างธุรกิจดั้งเดิมโดยเทคโนโลยีใหม่ที่อิงกับดิจิตอลเกิดขึ้นเต็มที่ทั่วโลก เราก็ได้เห็นหลาย ๆ ธุรกิจหรือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหลาย ๆ ตัวตกต่ำลงแทบจะเป็น “หายนะ” การที่หุ้นตกลงมาครึ่งหนึ่งของจุดสูงสุดเป็นเรื่องปกติ บางกลุ่มหรือบางตัวตกลงมาเหลือแค่ 10% เจ้าของซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่บางคนนั้นเปลี่ยนสถานะจากมหาเศรษฐีกลายเป็นเศรษฐีธรรมดา หลายคนจากเศรษฐีก็เหลือแค่เป็นคนรวยธรรมดา ๆ คนหนึ่งในเวลาเพียงไม่กี่ปี คนที่ลงทุนในหุ้นที่ถูกหรือกำลังถูก Disrupt นั้นต่างก็ขายหุ้นหนีตาย หุ้นถูกหลีกเลี่ยงโดยนักลงทุนโดยเฉพาะที่เป็นนักลงทุน “ผู้รอบรู้” หรือเป็น “VI” ไม่ว่าราคาจะตกลงมาเท่าไร ครั้นจะสวิทซ์หุ้นจากหุ้นที่ถูกหรือกำลังถูก Disrupt เป็นหุ้นที่กำลัง Disrupt คนอื่น ก็หาไม่ได้ในตลาดหุ้นไทย ต้องไปลงทุนข้ามประเทศในตลาดใหญ่อย่างอเมริกาหรือจีน ซึ่งยังมีอุปสรรคไม่น้อย แถมราคาหุ้นก็ดูเหมือนว่าจะแพงมาก เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ตนเองอาจจะยังมีความรู้หรือความเข้าใจไม่พอว่าควรจะเข้าตอนไหน
แต่สำหรับผมแล้ว “ในวิกฤติก็มีโอกาสเสมอ โดยเฉพาะในตลาดหุ้น” ข้อแรกก็คือ มันจะต้องวิกฤติก่อน แล้วเราถึงจะหาโอกาส ความหมายของผมก็คือ มองหาหุ้นที่ราคาตกลงมามากจน “ถูกมาก” ซึ่งคำว่าถูกมากนี้ต้องวัดด้วยมาตรวัดทุกค่า เช่น ค่า PE PB Dividend Yield และ Market Cap. หรือรวมถึงตัวอื่น ๆ ที่อาจจะใช้ได้ ถ้าค่าทุกค่านั้นบ่งบอกว่าหุ้นมีราคา “ถูกมาก” อย่างที่ “ไม่เคยปรากฏมาก่อน” แบบนี้ก็ชัดเจนว่าหุ้นกำลัง “วิกฤติ” อย่างไรก็ตาม ถ้ามีค่าบางตัว เช่น ค่า PE อาจจะไม่ต่ำ หรืออาจจะติดลบเลย แต่เป็นเหตุการณ์เฉพาะครั้งเดียว หุ้นก็ยังสามารถพูดได้ว่าถูกมาก วัดจากตัวเลขอื่น ๆ ได้ โดยเฉพาะจากค่า Market Cap. หรือมูลค่าหุ้นทั้งหมดของบริษัทเทียบกับที่เคยเป็นมา
“โอกาส” ที่อาจจะเกิดขึ้นก็คือ ธุรกิจหรือหุ้นที่คนคิดว่าถูก Disrupt หรือกำลังถูก Disrupt นั้น ไม่ถูก Disrupt จริง หรือถูก Disrupt แค่บางส่วน หรือใช้เวลานานมากก่อนที่มันจะถูกทดแทนได้ทั้งหมดซึ่งทำให้ธุรกิจยังคงหากินหรือทำกำไรได้ไปอีกนานและคุ้มที่จะลงทุน ถ้าเราเจอหุ้นแบบนี้ที่มีราคาตกลงมามากเกินไป มันก็อาจจะเป็นโอกาสที่เราจะเข้าไปลงทุนและทำผลตอบแทนทบต้นได้ดีพอ เช่น 10-15% ต่อปีต่อเนื่องไปอีกซัก 10 ปี เป็นต้น
การวิเคราะห์เพื่อหาซีนาริโอว่าหุ้นที่ตกลงมามากจากความกลัวว่ามันจะถูก Disrupt จะเป็นแบบไหนจริง ๆ นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายนักและจะต้องคำนึงถึงเรื่องของท้องถิ่นหรือสถานที่ตั้งของธุรกิจซึ่งส่วนใหญ่ก็คือประเทศไทยด้วย และต่อไปนี้ก็คือธุรกิจบางอย่างที่ผมมอง
หุ้นแบ้งค์ขนาดใหญ่ที่ให้บริการการเงินทุกรูปแบบนั้น ผมคิดว่ากำลังถูก Disrupt บางส่วนโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการโอนเงินและแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ รายได้และกำไรคงหายไปอย่างมีนัยสำคัญแต่ธุรกิจอื่น เช่น การปล่อยสินเชื่อหากินจากส่วนต่างของดอกเบี้ย การบริหารเงินและบริหารความเสี่ยงให้ลูกค้า การขายประกันและผลิตภัณฑ์ทางการเงินการลงทุน ก็ยังน่าจะอยู่ไปอีกนาน นอกจากนั้น ธนาคารยังสามารถลดต้นทุนของการให้บริการโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ต้องใช้คนและสาขาลงได้ไม่น้อยเมื่อเวลาผ่านไป ดังนั้น แบ้งค์โดยรวมจึงน่าจะยังไม่ถูกDisrupt และผมคิดว่าการที่หุ้นแบ้งค์หลาย ๆ ตัวตกลงมาแรงนั้น น่าจะเป็น “โอกาส” ในการลงทุน อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้อาจจะมีประเด็นเรื่องของภาวะเศรษฐกิจที่ทำให้เกิดหนี้เสียมากขึ้นและความต้องการสินเชื่อลดลง ซึ่งก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่อาจจะต้องพิจารณาร่วมด้วย
ธุรกิจ “สื่อดั้งเดิม” ทั้งหลายซึ่งแน่นอนว่ารวมถึงทีวี หนังสือพิมพ์ สื่อนอกบ้าน ผมคิดว่า ถูก Disrupt อย่างรวดเร็วและยังไม่จบ ราคาหุ้นที่ตกลงมานั้นเรียกว่าเป็นวิกฤติระดับ “หายนะ” คนจำนวนมากยังทยอยเลิกดูทีวี หนังสือพิมพ์วารสารต่าง ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ผมเองที่เคยติดละครหลังข่าวบนจอทีวีนั้น ก็เพิ่งจะเลิกเปิดทีวีไปหลายเดือนแล้วตามภรรยาซึ่งเลิกดูละครผ่านทีวีแต่หันไปดูในไอแพดแทน ดังนั้น หุ้นในกลุ่มนี้ที่ตกลงมามากเป็นวิกฤติแต่โอกาสที่จะซื้อลงทุนก็อาจจะไม่เกิด ราคาที่ลงไปนั้น อาจจะเหมาะสมกับธุรกิจที่ค่อย ๆ ลดค่าลงไปเรื่อย ๆ และไม่รู้ว่าจะหยุดเมื่อไร
ห้างค้าปลีกแบบมีหน้าร้านโดยเฉพาะที่เป็นช็อบปิ้งมอลขนาดใหญ่นั้น ราคาหุ้นก็ลงมาบ้างเหมือนกันแต่ไม่มากขนาดเป็นหายนะ แม้ว่ากำไรจะโตช้าลงมากหลายคนก็ยังคิดว่าหุ้นในกลุ่มนี้ยังน่าสนใจลงทุน คำถามสำคัญก็คือ ห้างแบบนี้ในประเทศไทยในที่สุดจะค่อย ๆ ตกต่ำลงเพราะถูก Disrupt จากการค้าขายผ่านทางอินเตอร์เน็ตแบบที่เกิดขึ้นในประเทศพัฒนาแล้วอย่างในอเมริกาหรือไม่? นอกจากนั้น ธุรกิจอย่างการขายอาหารที่มีหน้าร้านก็ดูเหมือนว่ากำลังถูกท้าทายโดยการขายอาหารแบบดีลิเวอร์ลี่ผ่านแอ็ปต่าง ๆ สุดท้ายภัตตาคารจะแย่หนักไหม?
คำตอบเรื่องนี้คงต้องดูเป็นธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์ไป กลุ่มแรกพวกเมกาสโตร์ ที่ขายสินค้าทั่วไปที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ผมคิดว่ากำลังถูก Disrupt อย่างช้า ๆ เมื่อคนเริ่มสั่งของจากที่บ้านและพบว่ามีความสะดวกสบายมากขึ้นเรื่อย ๆ อานิสงค์จากความก้าวหน้าของการทำโลจิสติกส์ที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น คนมีเหตุผลที่จะต้องไปซื้อที่ห้างน้อยลง การเติบโตของยอดขายจะน้อยลงจนอาจจะถึงกับติดลบก็เป็นไปได้ อย่างไรก็ตาม ห้างคง “ไม่ตายแต่ไม่โต”
ธุรกิจทำห้างให้เช่าแบบสรรพสินค้านั้น บางคนบอกไม่ถูกกระทบเพราะรับค่าเช่าจากคนขายของ แต่ถ้าคนขายของได้น้อยลง ค่าเช่าที่จะจ่ายได้ก็ต้องลดลงหรือเพิ่มขึ้นไม่ได้ จริงอยู่ คนไทยนั้นอาจจะยังต้องการเดินห้างอยู่เนื่องจากมันเย็นสบาย มีแหล่งบันเทิงและทำธุรกรรมต่าง ๆ เช่น การเงิน รวมถึงกินอาหารภัตตาคารในห้าง ส่วนการซื้อสินค้านั้นเขาอาจจะทำน้อยลงเนื่องจากการทำผ่านอินเตอร์เน็ตสะดวกกว่า มีแบบสินค้าให้เลือกมากกว่าและราคาถูกกว่า ดังนั้น ธุรกิจทำห้างให้เช่าจึงอาจจะมีกำไรหรือเติบโตไม่เหมือนเดิม ราคาหุ้นไม่ควรจะแพงอย่างที่เคยเป็น
ร้านขายสินค้าเฉพาะกลุ่มหรือเฉพาะอย่าง เช่น สินค้าปรับปรุงและตกแต่งบ้านนั้น ผมคิดว่าเนื่องจากสินค้ามีความหลากหลายมากทั้งราคา รูปแบบ ความถี่ในการใช้ ทำให้ผู้บริโภคต้องการ “ดูของจริง” มากกว่าจะดูจากภาพ และบ่อยครั้งเป็นการซื้อหลายอย่างพร้อม ๆ กันและมีมูลค่าค่อนข้างสูง ดังนั้น คนซื้อจึงอยากจะไปซื้อที่ร้านมากกว่าสั่งจากอินเตอร์เน็ต ดังนั้น ผมคิดว่าคงยังห่างจากการถูก Disrupt พอสมควร กลุ่มที่สองคือสินค้าอิเล็กโทรนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหลาย นี่คือสินค้าที่อาจจะถูก Disrupt ได้ง่ายเนื่องจากมันเป็นสินค้าที่เป็นมาตรฐานเหมือนกันและมียี่ห้อและรุ่นไม่มากนัก การเลือกผ่านอินเตอร์เน็ตทำได้ง่าย อย่างเดียวที่ดูเหมือนว่าหลายคนก็ยังอยากไปซื้อที่ร้านก็เพราะว่ามันเป็นสินค้าที่มีราคาสูง ยอมเสียเวลาไปดูซักหน่อยและได้รับบริการการอธิบายการใช้งานก็อาจจะยังคุ้มค่า อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่จะถูก Disrupt และอาจจะเกิดขึ้นเร็วนั้นมีพอสมควร เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ คนที่พยายามขายผ่านอินเตอร์เน็ตนั้น อาจจะรวมไปถึงเจ้าของผลิตภัณฑ์หรือบริษัทขนาดใหญ่ที่สามารถสร้างระบบที่มีประสิทธิภาพสูงและแข่งขันกับห้างที่มีหน้าร้านได้
ธุรกิจขนาดใหญ่สุดท้ายที่น่าสนใจมากเพราะราคาหุ้นตกลงมาจนน่าจะเป็นวิกฤติแล้วก็คือ ธุรกิจพลังงานโดยเฉพาะถ่านหินและน้ำมันซึ่งพูดกันว่ากำลังถูก Disrupt จากพลังงานสะอาดและการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ความคิดของผมก็คือ นี่คือธุรกิจที่ผู้ใช้นั้นเป็นโรงงาน(โรงไฟฟ้า) หรืออุปกรณ์(รถยนต์) ที่มีอายุยืนยาวและมีจำนวนมากมาย ดังนั้น การเปลี่ยนหรือทดแทนถ้าจะเกิดขึ้นก็จะเป็นไปอย่างช้า ๆ เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ เทคโนโลยีใหม่ก็ยังไม่ได้เหนือกว่าเทคโนโลยีเก่าในทุกด้านโดยเฉพาะราคาและความสม่ำเสมอและประสิทธิภาพของการทำงานทำให้การ Disrupt เป็นไปอย่างช้า ๆ ผมคิดว่าอย่างน้อยคงต้องเป็น 10 ปีขึ้นไปก่อนที่ธุรกิจจะมีปัญหาอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ นี่ทำให้ราคาของสินค้าโดยเฉพาะที่เป็นต้นน้ำถูกกระทบในด้านลบได้ค่อนข้างแรงเมื่อความต้องการลดลงแม้เพียงเล็กน้อย
ยังมีธุรกิจอีกมากที่เราจะต้องวิเคราะห์ผลกระทบของ Disruption ว่าที่จริงในระยะหลัง ๆ นี้ แทบไม่มีธุรกิจไหนที่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอย่างแท้จริง ดังนั้น นักลงทุนจะต้องคิดและคำนึงถึงอยู่เสมอเมื่อจะลงทุนซื้อขายหุ้น
หุ้นรายตัวVingroup(VIC)กลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ของเวียดนาม
ถ้าหากพูดถึงกลุ่มบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนามคงจะขาด Vingroup ไปไม่ได้ บทความนี้จึงจะมาแนะนำและอัพเดตข้อมูล ของ Vingroup Joint Stock Company (VIC) หรือ Vingroup JSC กันค่ะ ความเป็นมา • ก่อตั้งในยูเครนโดยกลุ่มวัยรุ่นไฟแรงชาวเวียดนาม ในปี 1993 ด้วยชื่อเดิม Technocom เริ่มต้นด้วยธุรกิจการแปรรูปอาหารภายใต้แบรนด์ Mivina และประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว...
วันวานกับวันนี้
โลกในมุมมองของ Value Investor 18 มกราคม 63
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
บางทีอาจจะเป็นเพราะผมแก่ตัวลงทำให้ชอบมองย้อนหลังและเปรียบเทียบอดีตกับปัจจุบันในทุกเรื่องทุกประเด็นทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือเรื่องที่ผมคิดว่าเป็น “แนวโน้ม” ใหญ่ หรือเป็นกระแสที่เป็นการเปลี่ยนแปลงระยะยาวทางเดียว ไม่ใช่เรื่องที่เป็นการเปลี่ยนแปลงระยะสั้นกลับไปมาหรือขึ้นลงเป็นแฟชั่น ในบทความนี้ผมคงพูดเฉพาะเรื่องของเศรษฐกิจและตลาดหุ้นเป็นหลักและก็จะเป็นเรื่องที่มาจากความเข้าใจและความรู้สึกที่เก็บสะสมมาต่อเนื่องยาวนานโดยไม่ได้อ้างอิงตัวเลขแบบวิชาการ อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าตัวเลขจริงก็คงไม่ผิดไปมากจนทำให้ข้อสรุปนั้นมีความผิดพลาดอย่างมีนัยสำคัญ
เรื่องแรกก็คือการเติบโตของเศรษฐกิจซึ่งในอดีตนั้นเราเคยโตเร็วมาก ช่วงเวลาส่วนใหญ่เราเคยโตประมาณ 7% ต่อปี บางช่วงสั้น ๆ เราเคยโตเกิน 10% และช่วงที่เราประสบ “ปัญหา” ทางเศรษฐกิจ เราก็โตประมาณ 5% แต่เดี๋ยวนี้ดูเหมือนว่าเราจะโตแค่ 3% ต่อปี หรือน้อยกว่านั้น นั่นเป็นตัวเลขคร่าว ๆ ผมจำได้ว่าในช่วงที่เศรษฐกิจโตเร็วนั้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีความคึกคักมาก ในสมัยที่ผมยังเป็นเด็กนั้น แค่เห็นแสงไฟนีออนในยามค่ำคืนที่เยาวราชและต่อมาแถวถนนเพชรบุรีตัดใหม่ที่เป็นแหล่งของ “คนกลางคืน” มันก็บอกได้ถึงความเติบโตของเศรษฐกิจแล้ว ต่อมาก็เป็นเรื่องของรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นเต็มถนน การผุดขึ้นของคอนโดมิเนียม การเติบโตของห้างค้าปลีกสมัยใหม่ และแม้แต่ร้านอาหารจีนหรืออาหารทะเลที่แสนแพงต่าง ๆ เหล่านี้ ก็เป็นสัญญาณที่บ่งบอกอย่างชัดเจนว่าคนรวยขึ้นและมีจำนวนมากขึ้น ตรงกันข้าม ในระยะหลังหรือวันนี้ ผมก็เริ่มเห็นสัญญาณที่บอกว่าเศรษฐกิจกำลังหงอยเหงาลง ภัตตาคารหรูหลาย ๆ แห่งที่ผมเคยไปกินต่อเนื่องมาเป็นสิบ ๆ ปี ค่อย ๆ ทยอยปิดตัวลง จริงอยู่ การเปลี่ยนพฤติกรรมของการกินก็คงมีส่วนบ้าง แต่ผลจากภาวะเศรษฐกิจน่าจะมากกว่า
ตลาดหุ้นเมื่อวันวานกับวันนี้นั้น ผมคิดว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปมากพอสมควร สิ่งที่ชัดเจนก็คือการลดลงของนักลงทุนส่วนบุคคลที่ซื้อขายหุ้นลงทุนเองในตลาดนั้น หลังจากที่ Peak หรือขึ้นถึงจุดสูงสุดในช่วงประมาณ 6-7 ปีมาแล้ว บัดนี้ดูเหมือนว่าจะลดลงไปมาก จากตัวเลขปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันประมาณ 70-75% ในช่วงต้น ๆ ของการก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์ และสูงเกิน 50% ของปริมาณการซื้อขายทั้งหมดมานานมาก เดี๋ยวนี้เหลือแค่ประมาณ 30-40% โดยที่นักลงทุนต่างประเทศยังคงซื้อขายกันประมาณ 25-35% ต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงวันนี้ ผู้เล่นใหม่ที่มีบทบาทเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก็คือนักลงทุนสถาบันที่ซื้อขายอยู่ที่ประมาณ 15% จากที่มีบทบาทน้อยมากในอดีต
ปริมาณการซื้อขายของหุ้นตัวเล็กเทียบกับขนาดหรือ Market Cap. นั้นสูงมากในอดีตซึ่งเป็นสัญญาณว่านักลงทุนส่วนบุคคลในตลาดหุ้นที่มักเป็นรายย่อยนั้นเป็น “นักเก็งกำไร” ที่ซื้อขายหุ้นเพราะหวังส่วนต่างของราคาหุ้นในระยะสั้น ในช่วงที่การเก็งกำไรสูงสุดประมาณ 3-4 ปีที่ผ่านมานั้น การเห็นหุ้นตัวเล็กหรือกลาง-เล็ก ติดอันดับ 1 ใน 10 ของหุ้นที่มีการซื้อขายสูงสุดจำนวนหลายตัวเกือบทุกวันเป็นเรื่องปกติ แต่ในวันนี้หุ้นตัวเล็กหรือกลาง-เล็กแทบไม่เคยติดอันดับเลย นักเก็งกำไรเองนั้นก็ยังคงอยู่ แต่ก็มีน้อยลงอานิสงค์จากการที่หุ้นตัวเล็กมีราคาตกลงไปมากซึ่งทำให้นักเล่นหุ้นหายไปจากตลาดไม่น้อย นักลงทุนส่วนบุคคล “รายใหญ่” หลายคนผันตัวเองไปเล่นเก็งกำไรในหุ้นขนาดใหญ่โดยใช้เครื่องมือหรือตราสารทางการเงินที่สามารถ “ขยายผลของราคาโดยการกู้” เช่น บล็อกเทรด มาเล่นแทนการเล่นหุ้นขนาดเล็ก
ในอดีตนั้น หุ้นที่ปรับตัวขึ้นแรงมาก ราคาขึ้นไปเป็นหลายเท่าตัวในเวลาไม่นานมักจะมีแต่หุ้นขนาดเล็กหรือกลาง-เล็ก สาเหตุมักจะมาจากการที่บริษัทมีการเติบโตของผลประกอบการที่โดดเด่นซึ่งทำให้นักลงทุนเข้ามาเก็งกำไรโดยการเข้ามาซื้อหุ้นจำนวนมากจนหุ้นถูก “Corner” ปริมาณ Free Float ที่มีน้อยทำให้หุ้นสามารถถูกกำหนดโดย “เจ้ามือ” ที่มักเป็นนักลงทุนรายใหญ่เมื่อเทียบกับนักลงทุนรายย่อยอื่น ๆ แต่เดี๋ยวนี้หุ้นขนาดใหญ่บางตัวที่มี Free Float คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของหุ้นทั้งหมดไม่มากก็สามารถถูกต้อนเข้ามุมเหมือนกัน เหตุผลก็คือ นักลงทุนสถาบันที่มีเม็ดเงินจำนวนมากได้เข้ามาเล่นในเกมนี้ด้วย ก่อนหน้านี้อาจจะเล่นในหุ้นขนาดกลางหรือกลาง-เล็ก เวลานี้หุ้นขนาดใหญ่ที่มีผลประกอบการเติบโตเร็วก็วิ่งเร็วได้จนไม่น่าเชื่อเหมือนกัน พูดง่าย ๆ ก็คือ นักลงทุนสถาบันบางแห่งเริ่มเข้ามาทำตัวเหมือนนักลงทุนส่วนบุคคลรายใหญ่ในตลาด
ตลาดหุ้นไทยตั้งแต่อดีตนั้น เราไม่เคยขาด “เซียนหุ้นรายใหญ่” ที่เป็นบุคคลธรรมดา ตั้งแต่จำความได้ เรามี “ขาใหญ่” ในตลาดหุ้นตั้งแต่เปิดตลาดใหม่ ๆ ในช่วงแรก ๆ ก็มีไม่กี่คน พวกเขามีบทบาทเข้าไปเกี่ยวข้องกับหุ้นบางตัวในบางเวลามาตลอดและมักจะเป็นที่รู้กันในวงการ บางครั้งมีถึงขนาดจะไปเทคโอเวอร์แบ้งค์ขนาดใหญ่ แน่นอน ในบางช่วงเวลาโดยเฉพาะในยามที่ตลาดประสบกับวิกฤติพวกเขาก็มักจะห่างหายไปบ้าง แต่เมื่อตลาดหุ้นคึกคักขึ้นก็จะกลับมาใหม่ ขาใหญ่นั้น หลายคนก็หายไปจากตลาดเมื่อเวลาผ่านไปแต่หลายคนก็ยังคงอยู่และใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ตามตลาดหลักทรัพย์ที่โตขึ้น ชื่อของพวกเขานั้นทุกคนในตลาดต่างก็รู้จักดีเพราะอยู่มานานเป็นสิบ ๆ ปี
แต่คนอาจจะไม่รู้ว่าในวันนี้ ขาใหญ่หรือเซียนหุ้นรายใหม่นั้นเกิดขึ้นไม่น้อยโดยที่หลายคนนั้นไม่เป็นที่รู้จักของคนในสังคม พวกเขาเพิ่งเติบโตขึ้นมา ส่วนใหญ่อาจจะไม่เกิน 10 ปีด้วยซ้ำ แต่ขนาดของเม็ดเงินและความสามารถที่จะขับเคลื่อนหุ้นนั้นมหาศาล ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะกล้าได้กล้าเสียกว่าในการที่จะ Leverage หรือกู้เงินขยายผลการลงทุนเป็นหลาย ๆ เท่าตัว อิทธิพลของนักลงทุนรายใหญ่รุ่นใหม่นั้นน่าจะแซงเซียนหุ้นรุ่นเก่าไปแล้ว ในขณะที่เซียนหุ้นรุ่นเก่านั้นก็กำลังเข้าสู่วัยสูงอายุและอาจจะค่อย ๆ ถอนตัวออกไปจากตลาดในไม่ช้า
สมัยก่อน คือช่วงตั้งแต่เปิดตลาดหุ้นถึงปีวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี 2540 เป็นเวลา 22 ปี นั้น คนที่ “ลงทุนในตลาดหุ้น” นั้น แทบจะเรียกว่าไม่มี มีแต่คน “เล่นหุ้น” ที่เป็น “รายใหญ่” หน่อยก็มักเป็นคนทำธุรกิจที่ชอบเก็งกำไรและมีเงินมากหน่อยก็จะเข้ามาเล่นหาเงินจากตลาดหุ้น นักลงทุนที่เหลือก็คือนักลงทุนส่วนบุคคลรายย่อยที่มักจะเป็นแม่บ้านหรือคนที่ชอบเก็งกำไรหรือเล่นการพนัน คนที่เป็นพนักงานบริษัทที่จะเล่นหุ้นนั้นจะมีก็แต่คนที่อยู่ในวงการการเงินและหลักทรัพย์ การเล่นหุ้นนั้นมักจะอาศัยข่าวสารข้อมูลที่เป็นเรื่องของภาพใหญ่และเหตุการณ์และกลยุทธ์การดำเนินงานของบริษัท แต่สิ่งสำคัญที่สุดก็คือเรื่องของ “ข้อมูลภายใน” เกี่ยวกับผลประกอบการและการเข้ามาเล่นของนักลงทุนรายใหญ่ที่มีอิทธิพลขับเคลื่อนราคาหุ้นได้
หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจและการเกิดขึ้นของแนวความคิดการลงทุนแบบ VI มาจนถึงทุกวันนี้เป็นเวลาประมาณ 20 ปี กลุ่มของนักลงทุนเปลี่ยนแปลงไปมาก นักลงทุนส่วนบุคคลกลายเป็นคนกินเงินเดือนหรือคนทำงานส่วนตัวที่มีรายได้และการศึกษาสูง นักลงทุนสถาบันเกิดขึ้นมากมายอานิสงค์จากการส่งเสริมของภาครัฐที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนหุ้นระยะยาว กองทุนบำเหน็จบำนาญ กองทุนประกันสังคม และกองทุนต่าง ๆ สารพัดนอกจากนั้น การเปลี่ยนแปลงทางด้านประชากรศาสตร์และสังคมที่คนไทยต่างก็มีลูกน้อยลงมากหรือไม่มีเลยทำให้ต้องลงทุนเพื่อการเกษียณของตนเองแทนที่จะหวังพึ่งพาลูก ทั้งหมดนี้ทำให้มีเม็ดเงินจำนวนมหาศาลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น คนรุ่นใหม่จำนวนมากไม่ได้คิดว่าหุ้นเป็นเรื่องของการพนันแต่เป็นการลงทุน “เพื่อชีวิต” การลงทุนในตลาดหุ้นเองนั้นไม่ได้แตกต่างจากการลงทุนในธุรกิจ และดังนั้น การวิเคราะห์และศึกษาข้อมูลของบริษัทเพื่อที่จะใช้เลือกหุ้นจึงเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งหมดนี้ทำให้การลงทุนในตลาดหุ้นเป็นกิจกรรมที่สำคัญระดับชาติ ตลาดหลักทรัพย์กลายเป็น “เสาหลัก” ที่สำคัญไม่แพ้สถาบันหลักอื่น ๆ ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
กล่าวโดยสรุปทั้งหมดก็คือ เศรษฐกิจในอดีตของเราก้าวหน้าเร็วมากแต่กำลังชะลอลงอย่างแรงในวันนี้ ส่วนตลาดหุ้นของเราก็เช่นกัน มีการเติบโตอย่างรวดเร็วและแข็งแรงมั่นคงมีมาตรฐานดีขึ้นมากมานาน แต่การเติบโตของหุ้นที่ค่อนข้างนิ่งมานานถึง 6-7 ปี รวมถึงการลดลงของการสนับสนุนจากภาครัฐในช่วงเร็ว ๆ นี้ก็อาจจะทำให้ตลาดหงอยลงได้เช่นกัน
ตลาดหุ้นไทย VS ตลาดหุ้นนิวยอร์ก
โลกในมุมมองของ Value Investor 11 มกราคม 63
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ในช่วงเร็ว ๆ นี้ดูเหมือนว่าดัชนีดาวโจนส์ของตลาดหุ้นนิวยอร์คจะทำสถิติสูงสุดตลอดกาลใหม่ขึ้นเรื่อย ๆ จนล่าสุดคือเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2563 ดัชนีปิดที่ประมาณ 28,824 จุด ทั้ง ๆ ที่อเมริกากำลังมีปัญหาสงครามการค้ากับจีนรวมถึงการพิพาททางทหารครั้งรุนแรงกับอิหร่าน ซึ่งนักวิเคราะห์หลายคนอ้างว่าทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยถดถอยลง ดัชนีปีที่ผ่านมาปรับตัวขึ้นไปแค่ 1% และน่าจะย่ำแย่ต่อไปในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ดัชนีตลาดหุ้นของโลกโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลายต่างก็ปรับตัวขึ้นดีมากในช่วงหนึ่งปีที่ผ่าน ว่าที่จริงปีที่แล้วนั้นดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวขึ้นดีที่สุดปีหนึ่ง ดัชนีดาวโจนส์เองก็ปรับตัวขึ้นไปในระดับ 20% นี่ทำให้นักลงทุนส่วนบุคคลจำนวนมากในตลาดหุ้นไทยรู้สึกท้อแท้ผิดหวังกับการลงทุน หลายคนถอนตัวออกจากตลาด ปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันลดลงเรื่อย ๆ โดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อย ว่าที่จริงความท้อแท้หมดหวังนั้นเริ่มก่อตัวมานานพอสมควรแล้วอย่างน้อยก็ตั้งแต่ปี 2561 ที่ดัชนีตลาดหุ้นก็ตกลงไปประมาณ 11% โดยที่ “หุ้นยอดนิยม” ที่เป็นหุ้นที่นักลงทุนส่วนบุคคลชอบเล่นกันมากนั้น บางตัวตกลงไปเกินครึ่ง อนาคตของตลาดหุ้นไทยสำหรับนักลงทุนหลายคนดู “มืดมน” ตลาดหุ้นอเมริกาดู “สดใส”
ว่าที่จริงตลาดหุ้นอเมริกาตั้งแต่ปี 2009 หลังจากวิกฤติซับไพร์มในปี 2008 นั้น ปรับตัวดีขึ้นมาตลอดแทบทุกปีเป็นเวลา11 ปีแล้ว สิ้นปี 2008 ดัชนีดาวโจนส์อยู่ที่ประมาณ 8,000 จุดเศษ ๆ ถึงปัจจุบันดัชนีเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 3.6 เท่า คิดแล้วเท่ากับผลตอบแทนที่ปีละ 12.3% แบบทบต้นไม่รวมปันผล นี่เป็นผลตอบแทนที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของตลาดหุ้นอเมริกา คือเป็นตลาดกระทิงที่ยาวมากเกิน 10 ปีและให้ผลตอบแทนที่สูงมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เพราะในอดีตนั้นตลาดกระทิงมักจะกินเวลาโดยเฉลี่ยแค่ 5-6 ปี ที่สูงเป็น 10 ปีนั้นมีน้อยมาก นี่เป็นยุคทองของตลาดหุ้นอเมริกาอย่างแท้จริง และเมื่อคำนึงถึงเศรษฐกิจและบริษัทจดทะเบียนของอเมริกาที่ดูเหมือนว่าจะยังดีมากเพราะเป็นเศรษฐกิจที่มีพลวัตรเป็นเศรษฐกิจดิจิตอลที่ก้าวหน้าและยังมีประชากรที่เพิ่มขึ้นและ “ไม่แก่” เมื่อเทียบกับประเทศที่ก้าวหน้าอื่น ๆ ในโลก
คนอาจจะคิดว่าตลาดหุ้นไทย “แย่มาก” อนาคตไม่รู้อยู่ที่ไหน? แต่ถ้ามองย้อนหลังไป 11 ปีหลังวิกฤติซับไพร์มเหมือนกันก็จะพบว่าตลาดหุ้นไทยเองนั้นก็ปรับตัวดีขึ้นมากเหมือนกัน ว่าที่จริงไม่แพ้ตลาดหุ้นอเมริกาหรือดัชนีดาวโจนส์เลย สิ้นปี 2008 ดัชนีตลาดอยู่ที่ประมาณ 450 จุด ถึงวันที่ 10 มกราคม 2563 ดัชนีอยู่ที่ 1,581 จุด หรือเพิ่มขึ้นเป็น 3.5 เท่าเกือบเท่ากับการเติบโตของดัชนีดาวโจนส์ในเวลาเดียวกัน ถ้าคิดรวมปันผลแล้ว ผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทยดีกว่าตลาดนิวยอร์กด้วยซ้ำ
แต่ความแตกต่างของการเติบโตหรือผลตอบแทนจากตลาดทั้งสองในเวลา 11 ปีหลังวิกฤติก็คือ ดัชนีดาวโจนส์นั้นมีการเติบโตค่อนข้างสม่ำเสมอกว่าตลาดหุ้นไทยมาก ดัชนีตลาดหุ้นไทยเติบโตขึ้นแรงมากในช่วง 4 ปีหลังวิกฤติ โดยที่ปี 2552 ดัชนีเพิ่มขึ้นถึง 63% ปี 53 ขึ้นไปอีก 41% ปี 54 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยที่ -0.7% พอถึงปี 2555 ดัชนีขึ้นไปอีก 36% รวมแล้วในเวลา 4 ปี ดัชนีปรับตัวขึ้นไป 942 จุดหรือเพิ่มขึ้นกว่า 200% คิดเป็นผลตอบแทนทบต้นปีละ 33% และนี่คือ “ยุคทอง” ของนักลงทุนส่วนบุคคลโดยเฉพาะที่เป็น VI และนักเก็งกำไรที่มัก “ทุ่มสุดตัว” และทำให้เกิด “เศรษฐี” จากหุ้น และ “เซียนหุ้น” จำนวนมาก พวกเขามักจะ “ลงทุนในหุ้น 100%” หลายคนเกินร้อยโดยการใช้มาร์จินซื้อขายหุ้น นั่นน่าจะก่อให้เกิด “วัฒนธรรมการลงทุนในหุ้น” สำหรับคนไทยจำนวนมากโดยเฉพาะที่ยังเป็นหนุ่มสาว หุ้นไม่ใช่การเก็งกำไรหรือการพนันอีกต่อไป แต่หุ้นคือ ‘‘ชีวิต” แม้แต่นักธุรกิจหรือผู้ประกอบการก็ยังเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น บ่อยครั้งก็ผ่านลูกหลานที่ได้สร้างผลตอบแทนเป็นที่ประจักษ์ว่า ลงทุนในหุ้นดีกว่าการทำธุรกิจของตนเอง
หลังจาก “สี่ปีทอง” ของตลาดหุ้นจบลงที่ดัชนีประมาณ 1,400 จุดในปี 2555 แล้ว ดัชนีก็แกว่งตัวเป็น Sideway มาตลอดจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาประมาณ 7 ปี ที่ดัชนีปรับตัวขึ้นมาไม่ถึง 200 จุดคิดเป็นผลตอบแทนแบบทบต้นเพียง 2.8% ต่อปี ในขณะที่ดัชนีดาวโจนส์ในเวลาเดียวกันนั้นยังคงเติบโตขึ้นโดยเฉลี่ยแบบทบต้นถึงปีละ 10% โดยที่ 4 ปีหลังนี้ในสมัยประธานาธิบดีทรั้มป์ดัชนีดาวโจนส์เติบโตขึ้นถึงปีละ12.8% โดยที่หุ้นที่นำให้ดัชนีเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วนั้นมาจากหุ้นดิจิตอลยุคใหม่ที่เติบโตอย่างรวดเร็วและประกอบกับการลดภาษีนิติบุคคลที่ทำให้กำไรของบริษัทจดทะเบียนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้ค่า PE ของหุ้นไม่ได้สูงเกินไปจนทำให้ราคาหุ้นเป็น “ฟองสบู่” และนี่คงเป็นเหตุผลที่ทำให้ดัชนีดาวโจนส์และดัชนีอื่น ๆ ในประเทศสหรัฐไม่ประสบกับปัญหา “วิกฤติตลาดหุ้น” อย่างที่นักวิเคราะห์หลายคนเกรงกลัวกัน
มองในฐานะของนักลงทุนระยะยาวที่ลงทุนกันเป็นสิบ ๆ ปีหรือตลอดชีวิต เราคงบอกไม่ได้ว่าตลาดไหนดีกว่าชัดเจนระหว่างตลาดหุ้นไทยกับตลาดหุ้นสหรัฐ เพราะตัวเลขผลตอบแทนโดยเฉลี่ยระยะยาวของทั้งสองตลาดนั้นใกล้เคียงกันมาก ไม่ใช่แค่ 11 ปีที่ผ่านมาแต่ย้อนหลังไปถึงช่วงเวลาเปิดตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อ 45 ปีที่ผ่านมาที่ตลาดหลักทรัพย์สร้างผลตอบแทนให้แก่นักลงทุนประมาณเกือบ 10% ต่อปีแบบทบต้นซึ่งก็ใกล้เคียงกับตลาดหุ้นสหรัฐ ประเด็นที่ว่าบางช่วงบางตอนตลาดหุ้นหนึ่งให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าอีกตลาดหนึ่งนั้น จริง ๆ แล้วก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ในขณะนี้ตลาดหุ้นไทยอาจจะเป็นช่วงเวลาที่ “เลวร้าย” ตลาดอาจจะไม่ไปไหนเป็นทศวรรษ แต่ในตลาดหุ้นอเมริกาเองก็เคยมีช่วงเวลาแบบนี้เช่นเดียวกัน ดังนั้น ผมอยากสรุปว่านับจากวันเปิดตลาดหุ้นหรือนับจากช่วงเวลาที่เกิดวิกฤติซับไพร์มซึ่งเป็นปัญหาระดับโลก ตลาดหุ้นไทยกับตลาดหุ้นสหรัฐนั้น “ดีเสมอกัน”
คำถามที่สำคัญก็คือ เวลาต่อจากนี้ล่ะ ตลาดหุ้นไทยหรือตลาดนิวยอร์กหรือตลาดหุ้นอเมริกาจะดีกว่าในระยะยาว ซึ่งนี่ก็จะเป็นคำถามสำคัญโดยเฉพาะสำหรับนักลงทุนรุ่นใหม่หรือนักลงทุนคนหนุ่มสาวที่จะต้องตัดสินใจลงทุนเพื่อชีวิตอีกหลายสิบปีข้างหน้า เพราะการตัดสินใจผิดก็จะทำให้ชีวิตทางการเงินแตกต่างไปมาก สำหรับผมเองนั้น ผมคิดว่าในระยะยาวแล้ว ดัชนีตลาดหุ้นโดยรวมก็จะสะท้อนถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และเศรษฐกิจของประเทศเองนั้นก็มักจะถูกกำหนดโดยปัจจัยสำคัญ 3 ประการนั่นก็คือ 1) ระบบการปกครองและการบริหารเศรษฐกิจของประเทศ 2) กำลังแรงงานของประเทศว่ามีมากขึ้นหรือน้อยลง และ 3) ก็คือ คุณภาพของคนหรือแรงงานว่ามีความสามารถหรือประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน ซึ่งถ้ามองว่าคนไทยกำลังแก่ตัวลงอย่างรวดเร็วและในไม่ช้ากำลังแรงงานก็จะน้อยลงเมื่อเทียบกับอเมริการวมถึงประเด็นอื่น ๆ ที่กล่าวถึงแล้ว ผมก็คิดว่าภาพรวมของเศรษฐกิจอเมริกาก็น่าจะดีกว่าไทยในอนาคต และนี่น่าจะเป็นเหตุผลว่าตลาดหุ้นในอนาคตของอเมริกาน่าจะดีกว่าตลาดหุ้นไทยในระยะยาวนับจากวันนี้
อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่เป็นคนไทยและอาศัยอยู่ในประเทศไทย การลงทุนในประเทศไทยก็น่าจะมีความได้เปรียบอยู่พอสมควรในการที่จะรู้จักบริษัทหรือหุ้นรายตัวเป็นอย่างดี ดังนั้น คนที่เป็นนักลงทุนโดยเฉพาะที่เป็น VI ก็น่าจะสามารถเลือกหุ้นรายตัวได้ดีรวมถึงอาจจะเห็นโอกาสหรือจังหวะในการลงทุนในหุ้นรายตัวที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าค่าเฉลี่ย เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ถ้าเราลงทุนแบบ Focus หรือลงทุนที่เน้นการถือหุ้นไม่กี่ตัว โอกาสที่เราจะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าปกติหรือดีกว่าผลตอบแทนเฉลี่ยของตลาดก็มีความเป็นไปได้ ดังนั้น กล่าวโดยสรุปก็คือ ถ้าจะลงทุนแบบอิงดัชนีในกองทุนรวมของประเทศ ผมคิดว่าลงทุนในอเมริกาน่าจะดีกว่า แต่ถ้าจะลงทุนแบบเลือกหุ้นเอง การลงทุนในประเทศไทยก็ยังมีโอกาสที่จะเอาชนะการลงทุนในตลาดหุ้นอเมริกาได้ทั้ง ๆ ที่ภาพรวมโดยเฉลี่ยในระยะยาวตลาดหุ้นไทยอาจจะไม่ดีเท่า โดยที่เหตุผลก็คือ เรารู้จักหุ้นในตลาดไทยดีกว่าโดยเฉพาะในหุ้นตัวเล็กลงมาที่บางตัวสามารถโตได้เร็วมากเทียบกับหุ้นตัวใหญ่ทั้งในตลาดหุ้นไทยและอเมริกา
หุ้นรายตัว VCB กับกำไรหนึ่งพันล้านเหรียญสหรัฐฯในปี2019
ในช่วงปีที่ผ่านมา ภาคการธนาคารของเวียดนามได้รับการพูดถึงและถูกคาดการณ์ถึงศักยภาพในการเติบโตที่ดีเยี่ยม ในบทความนี้จึงจะมา แนะนำหุ้น bluechip ในดัชนีVN30 หุ้นในกลุ่มธนาคาร ที่ทำกำไรมากที่สุดของตลาดหุ้นเวียดนามในปี 2019 ค่ะ Joint Stock Commercial Bank for foreign Trade of Vietnam (VCB : HOSE) หรือ Vietcombank...
Ray Dalio: หลักการสู่ความสำเร็จ
โลกในมุมมองของ Value Investor 4 มกราคม 63
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
Ray Dalio เป็นผู้ก่อตั้งและบริหารกองทุน Bridgewater Associates ซึ่งเป็นกองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกกองทุนหนึ่งตั้งแต่ปี 1975 หรือประมาณ 45 ปีมาแล้ว เวลานี้เขาอายุประมาณ 70 ปีและน่าจะเริ่มเกษียณจากงานหลักแต่ก็ยัง Active หรือยังทำงานคึกคักและเป็นที่ปรึกษาและให้ความเห็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจและความเป็นไปของโลกรวมถึงการเขียนหนังสือให้ความรู้จากประสบการณ์ในชีวิตของตนเองในฐานะของนักลงทุนและผู้บริหารกองทุนที่ยิ่งใหญ่และประสบความสำเร็จอย่างสูงในช่วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ว่าที่จริงตอนนี้เขาดังกว่าตอนเป็นผู้บริหารมาก ส่วนหนึ่งจากการที่เริ่มเขียนหนังสือที่ได้รับความนิยมอย่างสูงทั่วโลกโดยเฉพาะหนังสือที่ชื่อว่า “Principles: Life and Work” ที่บอกเล่าเรื่องราวของชีวิตและการทำงานของตนเองที่ประสบความสำเร็จว่ามาจากการใช้หลักการต่าง ๆ ที่เขาพัฒนาขึ้นมาตลอดชีวิต อย่างไรก็ตาม เขาไม่ได้พูดถึงหลักการการลงทุนซักเท่าไร ซึ่งทำให้นักลงทุนแบบ VI รวมถึงผมก็ยังไม่รู้ว่าเคล็ดหรือหลักการลงทุนของเขาเป็นอย่างไร แน่นอนว่าเขาไม่ใช่นักลงทุนแนว “VI พันธุ์แท้” แบบบัฟเฟตต์หรืออีกหลายคนที่เป็นไอดอลของสาวก VI ทั่วโลก...
ทำความรู้จักหุ้นรายตัว VNM กับการเข้าซื้อ GTNFoods
เริ่มทศวรรษใหม่ด้วยหุ้นรายตัวในดัชนีVN30 หุ้น VI ที่เป็นที่สนใจและน่าจะเป็นที่รู้จักของคนไทยในระดับหนึ่งแล้วนะคะ นั่นคือ Vietnam Dairy Products JSC (VNM) หรือ Vinamilk ค่ะ VNM เป็นกลุ่มบริษัทที่มี Market cap ขนาดใหญ่ในตลาดหุ้นเวียดนาม ที่ดำเนินธุรกิจมาหลายสิบปี โดยมีธุรกิจหลักเกี่ยวกับการผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์นม อาทิเช่น นมสด โยเกิร์ต นมเปรี้ยว...
Top 10 เหตุการณ์สำคัญในตลาดหุ้นเวียดนามปี 2019
พรุ่งนี้ปีใหม่! 2020 แล้ว เรามาสรุป 10 เหตุการณ์สำคัญในตลาดหุ้นเวียดนามปีนี้ จากชมรมนักข่าวหลักทรัพย์เวียดนามกันดีกว่าค่ะ
กฎหมายใหม่ได้รับการอนุมัติ 26 พ.ย. 2019 รัฐบาลได้อนุมัติกฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักทรัพย์ ที่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2021 โดยกฎหมายฉบับใหม่มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงคุณภาพของ บริษัทในตลาดหุ้นและปกป้องนักลงทุนมากขึ้น รวมทั้งปูทางไปสู่การจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์เวียดนามและศูนย์รับฝากหลักทรัพย์และการชำระหนี้ของเวียดนามซึ่งรัฐถือหุ้นในสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 50 ของทุน หรือหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดยกเครื่องแผนตลาดหุ้น 28 ก.พ. 2019 คำสั่ง...