เล่นหุ้นท่ามกลางมรสุม

0
2216

โลกในมุมมองของ Value Investor  10 ตุลาคม 63

ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

​วิกฤติโควิด-19 นั้น  เมื่อเวลาผ่านมาประมาณ 8-9 เดือนแล้วก็ดูเหมือนว่าจะรุนแรงกว่าที่ทุกคนคิด  เพราะการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจ “ล่าสุด” นั้น  บ่งบอกว่าวิกฤติครั้งนี้น่าจะรุนแรงไม่แพ้ “ต้มยำกุ้ง” ที่เกิดขึ้นในปี 2540  คือปีแรกที่เกิด  เศรษฐกิจติดลบถึงประมาณเกือบ 10% และหลังจากนั้นก็จะฟื้นตัวดีขึ้นประมาณ 4-5% ต่อปีในอีก 2-3 ปีข้างหน้า  สิ่งที่อาจจะแตกต่างกันก็คือ  ความ “เจ็บปวด” ของผู้คนในวิกฤติปี 2540 คือ  “คนรวย”ที่เป็นเจ้าของธุรกิจและผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่บริษัทแทบล้มละลายและขาดสภาพคล่องทางการเงินเพราะค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมากและธนาคารไม่มีเงินจะให้กู้  ตรงกันข้าม  วิกฤติโควิด-19 นั้น  คนที่เจ็บปวดก็คือ  “คนจน” ที่ต้องตกงานหรือต้องลดเงินเดือนลงเพราะ “ไม่มีงานจะทำ” และธุรกิจ SME ที่อาจจะต้องเจ๊งเพราะขายของไม่ได้  

​สิ่งที่ตามมาจากความแตกต่างของวิกฤติทั้งสองครั้งนั้นก็คือตลาดหุ้น  หลังวิกฤติปี 2540  อานิสงค์จากการที่ระบบการเงิน “ล่มสลาย”และคน  “เคยรวย” ต่างก็ไม่มีเงินที่จะมาลงทุนซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์  ปริมาณการซื้อขายหุ้นจึงลดลงมากและส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นตกต่ำลงต่อเนื่องยาวนาน  จริงอยู่  ดัชนีก็มีการปรับตัวขึ้นบ้างเป็นระยะ  แต่ปริมาณการซื้อขายก็มีน้อยมาก  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ พื้นฐานของบริษัทจดทะเบียนต่างก็ย่ำแย่แทบเอาตัวไม่รอด  เหตุผลที่จะลงทุนซื้อหุ้นจึงแทบไม่มีแม้ว่าราคาหุ้นบางตัวจะต่ำมากจนแทบไม่น่าเชื่อ  หุ้นระดับ  “ซุปเปอร์สต็อก” บางตัวอาจจะขายในราคา PE ไม่เกิน 10 เท่าเนื่องจากราคาหุ้นตกลงมามากแต่ก็ไม่มีใครต้องการ  นักลงทุนส่วนบุคคลทั้งรายย่อยและรายใหญ่ต่างก็หายไปจากตลาด  ในตอนนั้นไม่มีใครพูดว่า  “วิกฤติคือโอกาส” 

​วิกฤติโควิด-19 นั้น  ตลาดหุ้นกลับคึกคักขึ้น อานิสงค์จากการที่มีเม็ดเงินและสภาพคล่องในระบบสูงขึ้น  “คนรวย” มีเงินสดเหลือเฟืออานิสงค์จากการที่ประเทศไทยลดระดับการลงทุนในธุรกิจลงมานาน  ส่วนคนชั้นกลางระดับสูงต่างก็เก็บเงินเพื่อการเกษียณ  และอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดลดต่ำลงเป็นประวัติการณ์ ดังนั้น  พวกเขาจึงย้ายเงินมาลงทุนในตลาดหุ้น  นับเฉพาะจากต้นปีถึงวันนี้  นักลงทุนส่วนบุคคลซื้อหุ้นสุทธิไปแล้วกว่า 200,000 ล้านบาท  เช่นเดียวกับนักลงทุนสถาบันที่ซื้อสุทธิไปกว่า 70,000 ล้านบาท  คำพูดที่ว่า  “วิกฤติคือโอกาส” ได้รับการกล่าวขวัญกันทั่วไป  ราคาของหุ้นหลายกลุ่มและหลายตัว  “ทะลุเพดาน” คือปรับตัวขึ้นสูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 มากมายทั้ง ๆ ที่ผลประกอบการ  “ปกติ” นั้น  แม้ว่าจะไม่เลวร้าย   แต่ก็ไม่ได้ดีขึ้น  ว่าที่จริงในตลาดหุ้นไทยนั้น  แทบไม่มีบริษัทที่ได้ประโยชน์ระยะยาวจากโควิดเลย

​การที่หุ้นบางตัวหรือบางกลุ่มปรับตัวขึ้นไปมากในภาวะที่เศรษฐกิจไทยกำลังตกต่ำลงมากนั้น  ถ้ามองอย่างผิวเผินก็อาจจะดูว่าเป็นเรื่อง “ปกติ” สำหรับวิกฤติครั้งนี้ที่โลกเต็มไปด้วยสภาพคล่องทางการเงินที่ถูกอัดฉีดเข้าไปในระบบโดยรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ  และเม็ดเงินเหล่านั้นต่างก็ต้องวิ่งหาทรัพย์สินที่มีอย่างจำกัดซึ่งก็ผลักดันให้ทรัพย์สินต่าง ๆ โดยเฉพาะหุ้นมีราคาเพิ่มขึ้น  แต่ก็แน่นอนว่าไม่ใช่หุ้นทุกตัว  ว่าที่จริงหุ้นส่วนใหญ่ก็อาจจะไม่ได้ขึ้นเลย  มันอาจจะตกลงมาเนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจที่ทำให้บริษัทขายสินค้าได้น้อยลงและกำไรก็ลดลงมาก  และดังนั้น  ราคาหุ้นก็ตกลงมามากเป็น  “วิกฤติ”  อย่างไรก็ตาม  บริษัทและกลุ่มบริษัทบางกลุ่ม  เช่น หุ้นในกลุ่มดิจิตอลหรือไฮเท็คนั้น  ยอดขายและกำไรอาจจะปรับตัวขึ้นมากเนื่องจากโควิด-19 ที่ทำให้คนต้องปรับพฤติกรรมซึ่งต้องอาศัยสินค้าหรือบริการของบริษัทเพิ่มขึ้น  ดังนั้น  หุ้นเหล่านั้นก็มีราคาเพิ่มขึ้นมาก  และในประเทศหรือตลาดที่พัฒนาอย่างในสหรัฐหรือในจีน  ราคามันขึ้นไปมากเสียจนสามารถชดเชยการตกลงมาของหุ้น  “ยุคเก่า” ได้  ผลก็คือ  ดัชนีหุ้นปรับตัวสูงขึ้นกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ด้วยซ้ำ

​ประเทศหรือตลาดหุ้นไทยเองนั้น  ถึงวันนี้เราก็มีหุ้นบางตัวหรือบางกลุ่มที่ปรับตัวขึ้นไปมากคล้าย ๆ กับในตลาดหุ้นของอเมริกาแม้ว่าการปรับตัวขึ้นจะไม่สามารถชดเชยการตกลงมาของหุ้นโดยเฉพาะที่เป็นตัวใหญ่ ๆ  ในตลาดได้  เพราะหุ้นที่ปรับตัวขึ้นมา  “สวนกระแส” นั้น  แทบทั้งหมดเป็นหุ้นตัวเล็กหรือกลางที่มีการ“เก็งกำไร” สูงมาก  เห็นได้จากการที่หุ้นเหล่านั้นมีปริมาณการซื้อขายสูงติดอันดับ 1 ใน 10  หุ้นที่มีการซื้อขายสูงสุด บ่อยครั้ง  ซึ่งก็มีส่วนทำให้ตลาดหุ้นไทยยังมีความคึกคักและดึงดูดให้นักลงทุนหน้าใหม่เข้ามา  “เล่นหุ้น”  ในตลาดเพิ่มขึ้นมากทั้ง ๆ  ที่ภาวะเศรษฐกิจและตลาดหุ้นโดยรวมนั้นค่อนข้างแย่

​ประเด็นก็คือ  หุ้น “ยอดนิยม” ที่มีราคาเพิ่มขึ้นมากเกินกว่าช่วงก่อนโควิด 19 และมีราคาที่แพงมากวัดจากค่า PE และค่าอื่น ๆ นั้น  มีเหตุผลเพียงพอไหม?  เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ  มันคล้าย ๆ  กับหุ้นไฮเท็คในสหรัฐหรือจีนที่มีผลประกอบการและพื้นฐานในระยะยาวดีขึ้นไหม?  คำตอบของผมก็คือ  ไม่!  เหตุผลก็เพราะว่า เราแทบจะไม่มีหุ้นที่เรียกว่าเป็นหุ้นไฮเท็คที่มีขนาดที่มีนัยสำคัญเลยในตลาดหุ้น  ตรงกันข้าม  หุ้นแทบทุกตัวนั้นประสบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่ลดทอนกำลังซื้อของคนไทยในประเทศ  ดังนั้น  บริษัทขนาดใหญ่ที่สุดในตลาดที่มักจะเป็นผู้ขายสินค้าให้กับผู้บริโภคจึง “เจ็บตัว” กันถ้วนหน้า  และดังนั้นราคาหุ้นจึงลดลงและน่าจะมีมูลค่าที่เหมาะสม  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  หุ้นเหล่านี้ต่างก็ถูกถือและลงทุนโดยนักลงทุนต่างประเทศและสถาบันในประเทศ ดังนั้น  หุ้นตัวใหญ่จึงแทบจะไม่มีตัวไหนที่ปรับตัวขึ้นเลย

​มาดูหุ้นที่ปรับตัวขึ้นแรงเป็นกลุ่มดูบ้างเพื่อจะดูว่ามีเหตุผลเพียงพอและสอดรับกับพื้นฐานของกิจการหรือไม่

​กลุ่มแรกก็คือหุ้นที่ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์ส่งออกเป็นหลัก  เหตุผลหรือสตอรี่ที่ใช้ก็คือ  มันมีความต้องการมากขึ้นเนื่องจากคนต้องการอุปกรณ์ไฮเทคมากขึ้น  แต่นี่อาจจะเป็นเรื่อง  “ชั่วคราว” เพราะธุรกิจนี้มักมีผู้แข่งขันกันมากในตลาดโลก  ภายในระยะเวลาหนึ่ง  ราคาของสินค้าก็จะลดลง  ผู้ผลิตก็จะมีกำไรลดลง  ในระยะยาวแล้วก็เป็นไปได้ว่ายอดขายของบริษัทอาจจะเพิ่มขึ้นอย่างถาวรแต่ไม่มาก  แต่ที่สำคัญก็คือ  กำไรของบริษัทก็จะไม่โตเร็วเหมือนช่วงที่สินค้ากำลังเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นมากในช่วงนี้  ดังนั้น  หุ้นจึงไม่ควรมีราคาที่แพงเกินไป  เพราะนี่คือสินค้า  “โภคภัณฑ์” ค่า PE ไม่ควรเกิน 10-15 เท่า ไม่ใช่กว่า 40-50 เท่า อย่างที่เป็นอยู่

​กลุ่มต่อมาก็คือผู้ผลิตและขายสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะที่ได้ประโยชน์จากโควิดซึ่งก็คือผู้ผลิตสินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อเช่น ถุงมือยาง  นี่ก็คล้าย ๆ กับสินค้าอิเล็กโทรนิกส์  เพียงแต่ว่าการเพิ่มขึ้นของความต้องการแรงกว่ามาก  ส่งผลให้ผลประกอบการดีเยี่ยมในช่วงเวลาอันสั้น  อย่างไรก็ตาม  หลังจากนั้นไม่นาน  ผู้ผลิตและกำลังการผลิตใหม่ ๆ  ก็จะเพิ่มขึ้นเร็วมากและผลประกอบการจะถดถอยกลับมาอย่างรวดเร็วเพราะกำลังการผลิตจะล้น  ดังนั้น  ราคาหุ้นที่ขึ้นไปเกินพื้นฐานระยะยาวมากก็จะถอยกลับมาอย่างแรงได้

​หุ้นกลุ่มอุปโภคบริโภคที่ขายสินค้าหรือบริการซึ่งรวมถึงการเงินให้กับคนทั่วไปบางตัวก็มีราคาปรับตัวขึ้นไปรุนแรงแม้ว่าจะไม่เท่าสินค้าโภคภัณฑ์ดังกล่าว  หุ้นในกลุ่มนี้มักจะเป็นบริษัทที่ยังมีรายได้และกำไรที่ “น่าพอใจ” เพราะไม่ถูกกระทบจากภาวะเศรษฐกิจมากเหมือนหุ้นอื่น ๆ  ที่ขายสินค้าให้กับผู้บริโภคเหมือนกัน  ดังนั้น  มันจึงถูกมองว่าเป็นหุ้นที่  “ดีเยี่ยม” ในภาวะที่คนอื่นลำบากกันหมด  เหตุผลอีกอย่างหนึ่งก็คือ  เมื่อพ้นภาวะโควิดระบาดไปแล้ว  มันก็อาจจะกลับมาโตเป็นหุ้น  “ซุปเปอร์สต็อก” ได้  เพราะมันเป็น  “ผู้นำ”  ในธุรกิจที่มี  “แบรนด์” หรือมีความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืนและโตต่อไปได้  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  นาทีนี้ “นักเก็งกำไร” ทุกคนต่างก็มองหุ้นที่จะเข้าไป “เล่น” เก็งกำไรทุกวัน  หุ้นตัวไหนที่เข้าข่าย เช่น  มีสตอรี่  หุ้นมี Free Float ต่ำ  มี  “เจ้ามือ” ที่เป็นที่ยอมรับ  มีราคาที่ขึ้นลงรวดเร็วและหวือหวาแทบทุกวัน  ก็จะได้รับความสนใจ  ดังนั้น  ราคาหุ้นก็ขึ้นไปเกินราคาก่อนโควิด

​หุ้นกลุ่มสุดท้ายก็คือ  IPO ซึ่งช่วงนี้เป็น “สุดยอด” ของการเล่นหุ้นเก็งกำไร  และแน่นอนว่าต้องเป็น IPO ตัวเล็กและ Free Float น้อยที่จะสามารถปรับตัวขึ้นไปสูงมากถึง 200% ในวันแรกได้  แต่ถ้าเป็นตัวใหญ่และถูกซื้อโดยนักลงทุนสถาบันและต่างชาติ ก็จะไม่เข้าเกณฑ์นี้

​ทั้งหมดนั้น  ผมก็เพียงแต่อยากเตือนว่า  การเล่นหุ้นในภาวะที่เหมือนอยู่ท่ามกลาง “มรสุม” ทางเศรษฐกิจนั้น  มันไม่ใช่การลงทุนที่มักกล่าวกันว่า  “มีโอกาสในวิกฤติ” แต่มันคือการ “เก็งกำไร” ที่โอกาสได้หรือเสียมีพอ ๆ กัน  ถ้าเราเป็นนักลงทุนระยะยาว  เราควรจะหลีกเลี่ยง  เพราะโอกาสในวิกฤตินั้นหมายความว่าเราซื้อหุ้นที่ดีเยี่ยมในราคาที่ต่ำกว่าที่มันเคยเป็นมาก  ไม่ใช่ในราคาที่สูงกว่าที่เคยเป็น