บทเรียนของการเล่นหุ้นตามสถานการณ์

0
2247

โลกในมุมมองของ Value Investor   14 พฤศจิกายน 63

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

            นักลงทุนหรือคนเล่นหุ้นในตลาดหุ้นไทยส่วนใหญ่แล้วก็เป็นคนที่ลงทุนระยะสั้น  และวิธีที่ใช้ก็คือการ “เล่นหุ้นตามสถานการณ์” นั่นก็คือ  การซื้อ-ขายหุ้นโดยอิงกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ  สังคมและการเมืองที่เกิดขึ้น  ซึ่งเหตุการณ์เหล่านั้นก็มักจะมีผลกระทบต่อหุ้นแต่ละตัวที่แตกต่างกันมากบ้างน้อยบ้างและอาจจะกระทบในด้านที่ดีเป็นคุณหรือบางทีก็กระทบในด้านที่เสียเป็นโทษ  พวกเขาจะวิเคราะห์เหตุการณ์ต่าง ๆ  และลงมือปฏิบัติหรือซื้ออย่างรวดเร็วเมื่อคิดว่าสถานการณ์เอื้ออำนวยต่อหุ้นกลุ่มใดหรือตัวใดตัวหนึ่ง  และก็จะรีบขายทันทีเมื่อคิดว่าหุ้นกลุ่มใดหรือตัวใดจะถูกกระทบหนัก  ประเด็นในเรื่องของ “พื้นฐาน” และราคาหุ้นของบริษัทเป็นตัวรอง  เพราะเขาคิดว่ายังไงหุ้นก็ขึ้นถ้ามี “ข่าวดี”  และหุ้นก็จะต้องตกเมื่อมี “ข่าวร้าย” เพราะฉะนั้นจึงต้องซื้อหรือขายก่อน  ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะวิเคราะห์พื้นฐานให้เสียเวลาและทำให้ขาดทุนหรือพลาดโอกาสในการทำกำไรอย่างรวดเร็ว

            การระบาดของไวรัสโคโรนาในวิกฤติโควิด-19 นั้น  เป็นสถานการณ์ที่แปลกประหลาดในแง่ที่ว่ามันทำให้เกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจซึ่งทำให้บริษัทจดทะเบียนจำนวนมากที่เป็น “ธุรกิจเก่า” สูญเสียธุรกิจไปมากอย่างไม่เคยเจอมาก่อน  ธุรกิจการท่องเที่ยวเดินทางและบันเทิงที่มีการชุมนุมคนจำนวนมากแทบจะต้องหยุดอย่างสิ้นเชิงในช่วงแรกและถึงวันนี้ก็ยังไม่ฟื้น  อย่างไรก็ตาม  โควิดกลับเป็นผลดีต่อธุรกิจใหม่โดยเฉพาะดิจิตอลที่เติบโตขึ้นอย่างมหาศาลในเวลาอันสั้น  ผลที่มีต่อตลาดหุ้นก็คือ  ในช่วงแรกของวิกฤตินั้น  ดัชนีตลาดหุ้นตกลงมาต่ำมากถึง 30-40%  แต่ภายในระยะเวลาอันสั้น  ดัชนีตลาดหุ้นของประเทศที่มีการพัฒนาทางเทคโนโลยีสูงก็ปรับตัวขึ้นและสูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ด้วยซ้ำ  อานิสงค์จากการที่หุ้นดิจิตอลและหุ้นไฮเท็คปรับตัวขึ้นมาสูงมากเป็นประวัติการณ์  กลายเป็นว่าวิกฤติโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจพังแต่ตลาดหุ้นกลับดีขึ้น

            ในตลาดหุ้นไทยเองนั้น  แม้ว่าเราจะไม่มีหุ้นดิจิตอลหรือเทคโนโลยีที่มีขนาดใหญ่หรือมีนัยสำคัญ  แต่ก็มีหุ้นที่ได้ประโยชน์จากเหตุการณ์โควิดอยู่บ้าง  เช่นเดียวกับหุ้นบางกลุ่มหรือบางตัวที่ไม่ได้ถูกกระทบจากเหตุการณ์โควิดนัก  หุ้นเหล่านี้ก็เช่น  หุ้นที่เกี่ยวข้องกับถุงมือยางที่มีความต้องการใช้มากขึ้นทั่วโลกเพื่อป้องกันบุคลากรทางการแพทย์จากการติดเชื้อโควิด  บริษัทประกันภัยที่ได้รับเบี้ยประกันเพิ่มจากคนที่ประกันโควิด  บริษัทที่ผลิตชิ้นส่วนอิเลคโทรนิกส์ส่งออกที่ได้รับคำสั่งซื้อมากขึ้นเพราะสินค้าไฮเท็คมีความต้องการมากขึ้น  เป็นต้น  ดังนั้น  หุ้นเหล่านั้นก็กลายเป็นหุ้นที่นักเล่นหุ้นที่เน้นการเก็งกำไรระยะสั้นเข้ามาซื้อและดันให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปสูงมากคล้าย ๆ  กับหุ้นไฮเท็คของต่างประเทศ  อย่างไรก็ตาม  เนื่องจากไม่ใช่เป็นหุ้นขนาดใหญ่  มันก็ไม่สามารถดันให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยสูงขึ้นไปเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ได้

            หุ้นที่ถูกขายหนักมากที่สุดและราคาหุ้นตกลงไปมากที่สุดก็คือหุ้นที่ถูกกระทบมากที่สุดจากโควิด-19  นั่นก็คือหุ้นที่เกี่ยวกับการเดินทางท่องเที่ยวเฉพาะอย่างยิ่งสายการบินและโรงแรมที่ธุรกิจแทบจะหยุดในช่วงแรกและก็ยังไม่ฟื้นจนถึงปัจจุบัน  นอกจากนั้นก็คือหุ้นแบ้งค์โดยเฉพาะขนาดใหญ่ที่อาจจะประสบกับหนี้เสียอย่างหนักเนื่องจากลูกหนี้เงินกู้จำนวนมากกำลังจะประสบปัญหาทางการเงิน   ว่าที่จริงแทบทุกธุรกิจที่อิงอยู่กับการใช้จ่ายของประชาชนทั่วไปต่างก็ประสบปัญหาแทบทั้งสิ้นเพราะเศรษฐกิจถดถอยลงไปมาก  ดังนั้น  นักลงทุนซึ่งเล่นหุ้นตามสถานการณ์ต่างก็ขายหุ้นเหล่านั้นทิ้งโดยไม่ได้คำนึงถึงพื้นฐานระยะยาวของกิจการว่า  เมื่อเรื่องโควิด-19 จบลงแล้ว  กิจการจะฟื้นตัวกลับมาได้มากน้อยแค่ไหน  ผลก็คือ  หุ้นขนาดใหญ่เหล่านั้นก็ตกลงมามากในระดับ 30-40% จากช่วงก่อนวิกฤติ

            ในช่วง 1-2 สัปดาห์ก่อน  เหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้น  ซึ่งมีศักยภาพที่จะเปลี่ยนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและกระทบกับโลกรวมถึงประเทศไทยก่อนหน้านั้นอย่างมีนัยสำคัญนั่นก็คือการแถลงว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัทยาไฟเซอร์จากการทดลองได้ผลดีมาก  และการที่นาย โจ ไบเดนน่าจะชนะในการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาซึ่งจะทำให้โลกสงบลงจากการทำสงครามการค้าซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกดีขึ้น  และดังนั้น  การ “ซื้อขายหุ้นตามสถานการณ์” ครั้งใหญ่จึงเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง และครั้งนี้ก็เป็นตรงกันข้ามกับครั้งแรกนั่นก็คือ  หุ้นไฮเท็คตกลงมาและหุ้นดั้งเดิมปรับตัวขึ้น  คนที่เข้าไปซื้อหุ้นไฮเท็คในช่วงที่ราคาขึ้นไปสูงมาก  ขาดทุน  และคนที่ซื้อหุ้นดั้งเดิมเช่นแบ้งค์ตอนราคาตกต่ำ กำไร  อย่างไรก็ตาม  การปรับตัวครั้งนี้ก็อาจจะเป็นระยะสั้น  เหตุผลก็เพราะว่าโดย “พื้นฐาน” แล้ว  หุ้นไฮเท็คนั้นดีขึ้นจริงเนื่องจากโควิด  เพียงแต่ราคาหุ้นอาจจะถูกเร่งมากเกินไปจากการเก็งกำไร  ดังนั้น  การปรับตัวลงครั้งนี้จึงอาจจะเป็นเรื่อง “ชั่วคราว” หลังจากนี้แล้วมันก็อาจจะกลับมาใหม่   

            ในตลาดหุ้นไทยนั้น  หุ้นที่ได้ผลดีจากโควิด-19 และราคาหุ้นขึ้นไปสูงมากถูก “เทขาย” อย่างหนักเพราะคนคิดว่าผลดีหรือความต้องการสินค้าของบริษัทจะลดน้อยลงเมื่อโควิดสงบแล้ว  ตรงกันข้าม  หุ้นขนาดใหญ่ที่ราคาหุ้นตกลงมาหนักก่อนหน้านี้ปรับตัวดีขึ้นทั่วหน้า  คนคิดว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นมากถ้าโควิดหายและการท่องเที่ยวกลับมา  นอกจากนั้นเมื่อเศรษฐกิจโลกดีขึ้น  เศรษฐกิจของไทยก็จะดีขึ้น  เพราะไทยนั้นเป็นเศรษฐกิจที่อิงกับโลกมาก  ผมคงไม่ต้องพูดว่าคนที่ “เจ็บตัว” ก็คือคนที่เข้าไปเล่น  “เก็งกำไร” ในหุ้นที่วิ่งขึ้นไปแรงเพราะโควิด  และถ้าเขายังไม่ขายเพราะคิดว่ายอดขายและกำไรของบริษัทก็ยังดีมากและดังนั้นราคาหุ้นก็จะปรับตัวกลับขึ้นมาได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ดัชนีหุ้นไทยก็กำลังปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่นก็จะเป็นสิ่งที่อันตรายมาก  เหตุผลก็เพราะว่า  ในช่วงที่ราคาหุ้นขึ้นไปสูงนั้น  มันขึ้นไปสูง  “ตามสถานการณ์”  แต่ “พื้นฐาน” ของกิจการนั้นไม่ได้ดีพอที่จะรับกับมูลค่าหุ้นที่สูงขนาดนั้น

            ในความคิดผมเองนั้น  เวลาที่เกิด “สถานการณ์” รุนแรงหรือวิกฤติขึ้น  สิ่งที่จะต้องวิเคราะห์หรือประเมินก็คือ  นอกจากผลกระทบต่าง ๆ  ที่ตามมาทั้งดีและร้ายต่อกิจการแต่ละแห่งแล้ว  สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ  มันจะกระทบแบบถาวรหรือชั่วคราวและนานแค่ไหน  หรือพูดแบบสมัยใหม่ก็คือ  กิจกรรมหรือพฤติกรรมอะไรจะกลายเป็น  “New Normal” คือเมื่อเหตุการณ์ผ่านไปแล้วคนก็ไม่กลับมาทำแบบเดิมอีกแต่จะทำแบบที่เคยทำตอนเกิดเหตุการณ์นั้น  และกิจกรรมอะไรหรือพฤติกรรมอะไรที่คนจะเลิกทำและกลับมาทำเหมือนเดิมก่อนเหตุการณ์นั้น  ตัวอย่างที่อาจจะเป็น New Normal ก็เช่น  การทำงานหรือรับชมรายการบันเทิงต่าง ๆ ที่บ้านผ่านระบบสื่อสารยุคใหม่ที่จะมีมากขึ้นมาก  และสิ่งที่คนก็น่าจะกลับมาทำเหมือนเดิมเป็น  “Old Normal” ก็อาจจะเป็น  การท่องเที่ยวโดยเครื่องบินเมื่อโควิด-19 ผ่านไปแล้ว  เป็นต้น

            การประเมินในเรื่องของ “ช่วงเวลา” ของสถานการณ์ก็เป็นเรื่องสำคัญ  เพราะในช่วงแห่ง “วิกฤติ” นั้น  บริษัทหรือกิจการมักจะประสบกับปัญหาทางการเงิน  ซึ่งบางครั้งอาจจะ “ทำลายพื้นฐาน” ของกิจการอย่างรุนแรง ความสามารถในการแข่งขันอาจจะเสียไปหรือตกต่ำลงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง  ซึ่งในส่วนนี้  นอกจากดูความรุนแรงที่ผลประกอบการถูกกระทบแล้ว  เราควรต้องดูฐานะทางการเงินโดยเฉพาะปริมาณหนี้สินต่อทุนของกิจการด้วย  และในกรณีของสถานการณ์โควิด-19 นั้น  ดูเหมือนว่าประเด็นเรื่องของเวลาจะมีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง  คือคาดเดาได้ยากว่าจะจบเมื่อไร

            เมื่อนำทุกอย่างข้างต้นมาประกอบเข้าด้วยกันแล้ว  ผมคิดว่าการลงทุนใน “สถานการณ์โควิด-19” นั้น  เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากเมื่อเปรียบเทียบกับวิกฤติครั้งก่อน ๆ  ที่การแก้ปัญหาทั้งหลายนั้นค่อนข้างตรงไปตรงมาและทุกอย่างพอคาดการณ์ได้  ยกตัวอย่างเช่น  ในกรณีของวิกฤติ “ต้มยำกุ้ง” ที่ภารกิจในการแก้ปัญหาชัดเจนว่าคือการ “ปรับโครงสร้างหนี้” ของกิจการขนาดใหญ่ทั้งหลาย  หรือในกรณีวิกฤติซับไพร์มปี 2008 ที่ ใช้การอัดฉีดสภาพคล่องเพื่อหลีกเลี่ยงการล้มละลายเป็นหลัก  ดังนั้น  ในส่วนของผมเอง  จึงไม่ได้ทำอะไรมากนักในวิกฤติครั้งนี้  เหตุผลเพราะการฟื้นตัวของกิจการต่าง ๆ  ยังไม่ชัดเจนและราคาหุ้นก็ไม่ได้ตกลงมาต่ำหรืออยู่ในระดับที่ต่ำเพียงพอที่จะเกิดความมั่นใจว่า  นี่เป็นโอกาสที่ดีพอที่จะลงทุนได้อย่างสบายใจหรือยัง