ความเจ็บปวดและการแก้ไขในวิกฤติต้มยำกุ้ง VS โควิด-19

0
2222

โลกในมุมมองของ Value Investor      3 กรกฎาคม 64

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

          จนถึงวันนี้เป็นเวลาประมาณปีครึ่งแล้วตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิด-19  ดูเหมือนว่าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นแต่กลับแย่ลงและไม่รู้ว่าโรคจะติดต่อร้ายแรงไปอีกนานแค่ไหน  ซึ่งก็จะมีผลให้เศรษฐกิจตกต่ำลงต่อไปจนอาจจะทำให้ประชาชนจำนวนมากโดยเฉพาะที่มีรายได้น้อยประสบกับปัญหาจน “รับไม่ไหว”  ผมเองเคยพูดว่าเวลาของการเติบโตทางเศรษฐกิจของเราอาจจะ “หายไป 3 ปี”  แต่ลึก ๆ  แล้วก็มีโอกาสที่จะกลายเป็น 4 ปี  ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น  นี่ก็จะเป็นวิกฤติที่รุนแรงเท่า ๆ  กับวิกฤติ  “ต้มยำกุ้ง” ปี 2540  ที่เศรษฐกิจไทย  “หายไปประมาณ 4 ปี”  แต่ถ้ามองในมุมของจำนวนคนที่ถูกกระทบจากวิกฤติซึ่งไม่ได้มีแค่ทางเศรษฐกิจ  แต่ในด้านสังคมและอื่น ๆ  ด้วยแล้ว  ผมคิดว่าวิกฤติโควิด-19 นั้นรุนแรงกว่าวิกฤติต้มยำกุ้งมาก  ลองมาทบทวนความหลังกันในฐานะของคนที่เคยอยู่ในท่ามกลางวิกฤติทั้งสองครั้ง

            วิกฤติต้มยำกุ้งนั้น  เป็น “วิกฤติคนรวย” นั่นก็คือ  คนรวยหรือคนที่มีฐานะดีโดยเฉพาะที่เป็นเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ที่สามารถกู้เงินโดยเฉพาะดอลลาร์จากต่างประเทศเข้ามาใช้ลงทุน  ประสบกับปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัวเมื่อมีการลดค่าเงินบาทซึ่งทำให้เกิดภาวะล้มละลาย  ซึ่งส่งผลให้สถาบันการเงินล้มตามไปด้วย  ซึ่งนั่นก็ส่งผลให้สภาพคล่องทางการเงินที่หล่อเลี้ยงธุรกิจทั้งประเทศหายไปเกือบหมดเศรษฐกิจโดยเฉพาะจากบริษัทใหญ่ ๆ  “หยุดชะงัก”  ส่วนวิกฤติโควิด-19 นั้น  บริษัทขนาดใหญ่และคนรวยมีปัญหาน้อย  ยอดขายอาจจะลดลงบ้างแต่พวกเขาก็ยังมีกำไร  คนที่เจ็บหนักก็คือ  “คนจน” หรือคนชั้นกลางในบางภาคของเศรษฐกิจเช่นที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเดินทางและความบันเทิงที่มีการชุมนุมผู้คน  เพราะโควิด-19 ทำให้กิจการเหล่านั้นถูกปิดและพวกเขาไม่สามารถหางานอื่นที่ให้ผลตอบแทนเท่ากันได้ 

            ในช่วงวิกฤติปี 40 นั้น  ผมเป็นพนักงานของสถาบันการเงินที่ในที่สุดก็  “ถูกปิด” ในช่วงเวลาก่อนที่จะถูกปิดซึ่งกินเวลาเป็นปี ๆ  นั้น  ผมไม่ได้เดือดร้อนอะไรนัก  ผมยังได้เงินเดือนเหมือนเดิม  งานที่ทำนั้นอาจจะน้อยลงเนื่องจากไม่มีเงินที่จะปล่อยกู้แล้ว  งานที่ทำก็กลายเป็นการหาทางทำให้บริษัทรอดจากการล้มละลายซึ่งในที่สุดก็ไม่สำเร็จ  เพราะ  “ภาพใหญ่”  ของประเทศไปไม่ไหวแล้ว  ในช่วงนั้น  สิ่งที่รบกวนจิตใจจริง ๆ  ก็คือ  “อนาคตเราจะเป็นอย่างไร” เกือบทุกเที่ยงวัน  ผมก็มักจะเดินไปกินอาหารกลางวันย่านสยามสแควร์คนเดียว  แล้วก็มองดูร้านค้าทั้งด้านนอกและในช็อบปิงมอลที่เหงาหงอยและหลายร้านก็ปิดร้าง  คนชั้นกลางขั้นสูงหลายคนเริ่ม  “เปิดท้ายขายของ”  เอาเสื้อผ้าหรูหรือของใช้มีค่าใส่ท้ายรถหรูมาขายในชุมชนหรูเช่นย่านทองหล่อ  ไม่มีใครบ่นว่า “ไม่มีจะกิน” อย่างในช่วงโควิดนี้

            ออกจากงานในสถาบันการเงินผมก็สามารถได้งาน  “ที่ปรึกษา” ในบริษัทสื่อสารขนาดใหญ่แทบจะทันที  ดูเหมือนว่ากลุ่มคนที่ทำงานในสถาบันการเงินส่วนใหญ่ที่ถูกปิดจะสามารถเข้าไปทำงานให้กับบริษัทในอุตสาหกรรมอื่น ๆ โดยเฉพาะผู้ส่งออกที่กำลังดีขึ้นมากเนื่องจากค่าเงินบาทที่ลดลง   ส่วนผู้ใช้แรงงานเองนั้น  ในช่วงแรกที่ต้องตกงานก็อาจจะมีบ้างที่ “กลับบ้านต่างจังหวัด” ที่จะมีอาหารและที่อยู่ที่จะเอาตัวรอดได้  รัฐบาลเองนั้น  ถ้าผมจำไม่ผิดก็มี “โครงการมิยาซาวา” ที่เป็นเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่นจำนวนประมาณ 5 หมื่นล้านบาทที่จะหางานให้คนในท้องถิ่นทำ  ผมยังจำได้ว่ามีญาติคนหนึ่งที่เป็น “แม่บ้าน” และก็ไม่ได้ยากจนหรือลำบากอะไรอุตส่าห์ไป “เรียน” การทำงานฝีมือของโครงการหนึ่ง 

            ในระดับของคนชั้นกลางกินเงินเดือนนั้น  ผมเองถูกถามจากเพื่อนว่า  เขามีเงินกู้บ้านและรถอยู่จะทำอย่างไร  เพราะบริษัทเงินทุนที่กู้มาถูกปิดหรืออาจจะกำลังถูกปิด  ถ้าผ่อนต่อจะเป็นปัญหาไหม  พวกเขามีเงินและพร้อมที่จะผ่อนแต่ผ่อนไม่ได้และอาจจะถือโอกาสไม่ยอมผ่อนเพราะคนให้กู้กำลังจะเจ๊ง  ดังนั้น  ลูกหนี้จำนวนมากในบัญชีของสถาบันการเงินอาจจะเป็น  “หนี้เสีย” แต่จริง ๆ แล้วพวกเขายังจ่ายหนี้ได้  ว่าที่จริงผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น  ข้อสรุปของผมก็คือ  คนจนและคนชั้นกลางส่วนใหญ่ไม่ได้เจ็บหนักอะไรนัก ในขณะที่คนรวยหรือเศรษฐีใหญ่จำนวนมากจนลงหรือมีความมั่งคั่งน้อยลงมาก  เหตุเพราะบริษัท “ล่มสลาย” หรือรอดมาได้แต่มีการเพิ่มทุนโดยเฉพาะจากผู้ถือหุ้นต่างประเทศจนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่  ส่วนเศรษฐีไทยกลายเป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อย  และภายหลังที่วิกฤติได้รับการแก้ไขผ่านไป  ประเทศไทยก็ผ่านเข้าสู่ยุค  “Modern Business” ที่เกิดธุรกิจใหม่ ๆ  ด้วยการบริหารแบบใหม่ที่เป็นระบบและเป็นเครือข่าย  มีสาขากระจายไปทั่วประเทศ  และได้รับการสนับสนุนทางการเงินโดยตลาดทุนที่ไม่ได้อิงเฉพาะกับสถาบันการเงินอีกต่อไป  เศรษฐีใหม่ของไทยเกิดขึ้น  เศรษฐีเก่าค่อย ๆ  เลือนหายไป

            พูดถึงปัญหาสังคมที่มักจะมีคน  “ฆ่าตัวตาย” มากขึ้นในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจนั้น  อาจจะมีคนคิดว่าปีต้มยำกุ้งคนน่าจะลำบากและเครียดจนฆ่าตัวตายกันมาก  ผมคิดว่านี่เป็น “ภาพลวงตา” และส่วนหนึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ครั้งหนึ่งในตลาดหุ้นในช่วงปลายปี 2538 ที่เกิดการ “พยายามฆ่าตัวตาย”  ต่อหน้าคนจำนวนมากในตลาดหลักทรัพย์ที่ตึกสินธรในขณะนั้น  ของนักเล่นหุ้นคนหนึ่งที่ขาดทุนหุ้นจน “หมดตัว” ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยเริ่มมีปัญหารุนแรงและดัชนีตลาดหุ้นตกต่ำมานานจากจุดสูงสุดที่กว่า 1,750 จุดเหลือประมาณ 1,200 จุด ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา   ภาพเหตุการณ์นั้นเป็นข่าวโด่งดังมากและอาจจะติดอยู่ในความคิดของคนในภายหลัง  แต่ความเป็นจริงก็คือ  ผมไม่เห็นว่าจะมีอัตราการฆ่าตัวตายที่ผิดปกติในหมู่ประชาชนทั่วไปเลย  แต่ในวิกฤติโควิด-19  ผมคิดว่าน่าจะมีคนฆ่าตัวตายมากขึ้นจริงโดยเฉพาะในช่วงนี้ที่หลายคนบอกว่า  “ไม่ไหวแล้ว”

            พูดถึงการต่อสู้หรือจัดการในการแก้ปัญหาวิกฤติในภาคของรัฐแล้ว  ผมคิดว่ามีอะไรที่เหมือนกันและแตกต่างกันพอสมควร  ประการแรกก็คือ  ใน “รอบแรก” ที่เกิดปัญหานั้น  ดูเหมือนว่าไทยจะ “ชนะ”  และแทบจะมีการ  “เปิดแชมเปญ” ฉลอง  ในกรณีของต้มยำกุ้งนั้น  ในช่วงต้นปี 2540 แบ้งค์ชาติซึ่งเป็นทัพหน้าในการต่อสู้กับ “การโจมตีค่าเงินบาท” ของนักลงทุนต่างประเทศที่น่าจะรวมถึงจอร์จโซรอสด้วยนั้น  เราสามารถ  “เอาชนะ” ได้อย่างน่าประทับใจ  สิ่งที่เราทำในตอนนั้นก็คือการเอาเงินดอลลาร์ที่เป็นเงินสำรองของประเทศไปซื้อเงินบาทในต่างประเทศโดยการทำ “Swap” เพื่อปกปิดธุรกรรม  นั่นอาจจะทำให้คนเข้ามาปั่นเงินบาทเจ๊งและเลิกเข้ามาโจมตีเงินบาทต่อไป  อย่างไรก็ตาม  นั่นก็คงเหมือนกับการเก็งกำไรหรือปั่นหุ้นที่ไม่มีพื้นฐาน   ตอนแรกหุ้นก็อาจจะขึ้น  แต่ในที่สุดเงินสำรองเราก็หมดและเงินบาทก็ “ล่มสลาย” ในวันที่ 2 กรกฏาคม 2540 ที่ไทยต้องประกาศลดค่าเงิน  นี่ก็คงคล้าย ๆ กับวิกฤติโควิด-19 ที่ในช่วงแรกเราทำได้ดีมากและเราก็ “ประกาศไปทั่ว” ก่อนที่จะพบว่าเรา “พลาดไปมาก” ในวันนี้

            ยุคต้มยำกุ้งนั้นประเทศไทยมีนายกเป็นทหารที่  “สมบูรณ์แบบ” ในหลาย ๆ  ด้าน  เป็น “นักเรียน  ห้องคิงโรงเรียนเตรียมอุดม”  เป็นทหารที่เอาชนะคอมมิวนิสต์ด้วยนโยบาย 66/23 ที่นิรโทษกรรมคนและนักศึกษาที่หนีเข้าป่าเพื่อต่อสู้กับรัฐบาล  ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงจากนโยบายแข็งกร้าวปราบคอมมิวนิสต์ของรัฐบาลขวาจัดในยุคก่อน  เป็นผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารสูงสุดถึง 4 ปี ก่อนที่จะลาออกมาเล่นการเมืองเมื่ออายุ 58 ปี และได้เป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2539 ในช่วงที่ประเทศไทยกำลังประสบกับมรสุมอย่างหนัก  การจัดการแก้ไขปัญหาวิกฤติของ  “บิ้กจิ๋ว” หรือพลเอกชวลิต ยงใจยุทธนั้น  ก็คงคล้าย ๆ  กับในกรณีของวิกฤติทั้งหลายที่  “สับสนอลหม่าน” ประเภทวันหนึ่งพูดอย่างหนึ่ง  พอถึงอีกวันก็เปลี่ยนไป  รับปากไว้แล้วพอถึงวันก็  “ลืม” จน “หมอ” ที่อยู่ “ฝ่ายตรงข้าม” ต้องออกมาพูดว่าพลเอกชวลิตน่าจะเป็น  “อัลไซเมอร์” ในยุคที่คนไทยยังไม่รู้จักโรคนี้  อย่างไรก็ตาม  “บิ้กจิ๋ว” ไม่เคยว่าใครหรือโกรธใคร  เวลาพูดจะสุภาพและหวานจนได้ฉายาว่า  “จิ๋วหวานเจี้ยบ”

          เมื่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเลวร้ายลงไปมาก  แรงต่อต้านบิ้กจิ๋วก็มากขึ้นเรื่อย ๆ  พรรคการเมืองฝ่ายค้านก็พยายามที่จะล้มรัฐบาลแต่ก็ไม่สำเร็จ  ถึงจุดหนึ่งประชาชนโดยเฉพาะที่เป็นคนชั้นกลางขึ้นและคนรวยก็เริ่มประท้วงเพราะเป็นผู้ที่บาดเจ็บมากที่สุด  เรียกว่าเป็น “ม็อบคนรวย”  เพราะเป็นครั้งแรกที่มีการจัดม็อบขึ้นกลางถนนสีลมนำโดยผู้บริหารระดับสูงขององค์กรและบริษัทขนาดใหญ่เรียกร้องให้พลเอกชวลิตลาออกซึ่งในที่สุดเขาก็ลาออกเพื่อรับผิดชอบต่อผลงานของตนเองและเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้  แนวความคิดแบบ  “ประชาธิปไตย” ของบิ้กจิ๋วในห้วงเวลานั้นเองก็อาจจะเป็นผลมาจาก “กระแส” ของประชาชนในช่วงนั้นที่มีการเรียกร้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยโดยเป็นฉบับที่ “เขียนโดยประชาชน” และได้รับการรับรองโดยสภาผู้แทนราษฎรเรียกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 40 ก่อนที่พลเอกชวลิตจะลาออกและถูกแทนที่โดยนายชวน หลีกภัย  ผู้นำฝ่ายค้านที่พาประเทศผ่านวิกฤติในที่สุด

สำหรับในกรณีของวิกฤติโควิด-19 นั้น  ผู้อ่านก็คงจะต้องวิเคราะห์เองว่าการจัดการของรัฐมีความเหมือนหรือแตกต่างอย่างไรจากวิกฤติต้มยำกุ้งและจะลงเอยแบบไหน


??สนใจเรียนรู้ออนไลน์ ลงทุนหุ้นเวียดนามเชิงลึก สามารถดูรายละเอียดและสมัครได้ที่: https://bit.ly/316AyPX

ท่านสามารถติดตามข่าวสารจาก VietnamVI ได้ที่Website: https://www.vietnamvi.comFacebook: https://www.facebook.com/vvinvestor/

Line: @vietnamvi https://lin.ee/47V0kep

YouTube: https://youtube.com/c/vietnamvi

FB กลุ่มคุยหุ้นเวียดนามฯ: https://web.facebook.com/groups/4738903604867