โลกในมุมมองของ Value Investor       24 พฤษภาคม 2568

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ในภาวะที่ตลาดหุ้นซบเซาและดัชนีตลาดหุ้น  “ตกทุกวัน” อย่างต่อเนื่อง  และแม้แต่หุ้นที่ดีและประกาศผลการดำเนินงานที่  “น่าประทับใจ” และราคาก็ไม่แพง  บางตัวถูกที่สุดในประวัติศาสตร์ของตัวหุ้น  แต่หุ้นกลับตกลงมาแรงอย่างผิดคาด  และนั่นคงทำให้นักลงทุนซึ่งรวมถึง “VI” ทั้งที่เป็นพันธุ์แท้และพันทาง  ต่างก็  “หมดหวัง” กับตลาดหุ้นไทย  นักลงทุนจำนวนมากทยอยขายหุ้น  หลายคนเปลี่ยนไปลงทุนหุ้นต่างประเทศ  ซึ่งตอนนี้สามารถทำได้ง่ายพอ ๆ  กับการลงทุนในหุ้นไทยและไม่เสียภาษีกำไรจากหุ้นเช่นกัน  โดยทำผ่านการซื้อ  “DR” และกองทุนรวมหุ้นต่างประเทศที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

แต่สำหรับผมและนักลงทุนอีกจำนวนมากที่ลงทุนระยะยาว  ที่เป็นการลงทุน “เพื่อชีวิต” และชีวิตตอนนี้อยู่ได้อย่างสบายก็อาศัยเงินจากการลงทุนนั้น  ผมจำเป็นต้องมีหุ้นไทย  และจะต้องมีหุ้นไทยจำนวนพอเพียงที่จะใช้ชีวิตในระดับปัจจุบันและอนาคตโดยไม่ต้องวิตกกังวล  คำถามก็คือ  เราจะต้องมีหุ้นไทยแบบไหนที่จะทำให้ได้ผลตอบแทนที่ดีพอและปลอดภัยมากในระยะยาวไม่ว่าตลาดหุ้นไทยจะเป็นอย่างไรต่อจากนี้

“สูตร” การลงทุนหุ้นที่จะ “เอาตัวรอด” ได้ในสถานการณ์แบบนี้ของตลาดหุ้นไทยของผมก็คือ  “สูตรหุ้นรอด 5-5-5-5” ซึ่งผมคาดว่าน่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยได้อย่างน้อยปีละ 5% แบบทบต้นในระยะเวลา 5 ปี ข้างหน้าโดยที่มีความเสี่ยงต่ำ  และแม้ว่าตลาดหุ้นโดยรวมจะไม่ดีในอีกหลายปีข้างหน้า  พอร์ตหุ้นนี้ก็จะสามารถทนทานกับภาวะเลวร้ายได้  เหตุผลก็เพราะว่าหุ้นที่เราเลือกมานั้น  ทำผลตอบแทนได้ดีกว่าตลาดโดยเฉพาะในยามที่เศรษฐกิจไม่ดี  มาดูกันว่ากลยุทธ์ของสูตรนี้คืออะไร

หมายเลข 5 ตัวแรกคือการเลือกหุ้นที่ปัจจุบันจ่ายปันผลตอบแทนอย่างน้อย 5% ต่อปีขึ้นไป  ซึ่งเวลานี้ก็มีหุ้นแบบนี้อยู่จำนวนไม่น้อย  อย่างไรก็ตาม  ควรจะดูว่าเป็นการจ่ายปันผล  “ปกติ” คือเป็นการจ่ายจาก “กำไรปกติ” จากการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา  จะจ่ายปันผล 100% ของกำไรก็ได้  เพราะในกลยุทธ์การเลือกหุ้นของเรานั้น  จะเน้นหุ้นที่มั่นคงแข็งแกร่ง  มีเงินสดเหลือเฟือที่จะรับกับสถานการณ์เลวร้ายทางเศรษฐกิจได้

เลข 5 ตัวที่สองก็คือ  หุ้นที่เราจะเลือกนั้น  เราต้องคาดการณ์และมั่นใจว่า  อีก 5 ปีข้างหน้า  ปันผลที่เราจะได้รับนั้น  ก็ยังไม่น้อยกว่า 5% จากราคาหุ้นที่เราซื้อได้ในวันนี้  ซึ่งนั่นอาจจะหมายความว่า

1) ถ้าหุ้นตัวนั้นจ่ายปันผลตอบแทนให้เรา 5% ต่อปีในวันนี้  ปันผลในอีก 5 ปีข้างหน้า  เราเชื่อมั่นว่าจะไม่ลดลง  ยังคงจ่ายได้อย่างน้อยเท่าเดิมในวันนี้  อาจจะเพราะว่าหุ้นอยู่ในธุรกิจที่ยังไปได้เรื่อย ๆ  และแม้ว่าอาจจะไม่โตแต่ก็ไม่ลดลง  และบริษัทก็ยังน่าจะรักษาสถานะในการแข่งขันและทำผลกำไรได้เหมือนเดิม  ตัวอย่างง่าย ๆ  ก็เช่นในธุรกิจธนาคารที่อาจจะอิ่มตัวและการแข่งขันก็ไม่รุนแรง  และธนาคารส่วนใหญ่ก็มีการบริหารงานที่ดีในการลดความเสี่ยงของธุรกิจ  เป็นต้น

2) ถ้าหุ้นตัวนั้นจ่ายปันผลมากกว่า 5% ในวันนี้  เช่น จ่าย 6-8%  และเราเชื่อมั่นว่า  ในอีก 5 ปี ข้างหน้า  แม้ว่าธุรกิจจะตกลงมาบ้าง  กำไรก็อาจจะถดถอยลงบ้าง  แต่ยังไงเขาก็ยังรักษาระดับการจ่ายปันผลที่ทำให้เราได้รับปันผลตอบแทนจากราคาหุ้นในวันนี้ไม่น้อยกว่า 5% ต่อปี  หุ้นตัวนี้ก็ยังเข้าข่ายที่เราจะเลือกซื้อหรือเก็บไว้ได้  อย่างไรก็ตาม  สิ่งที่ต้องระวังก็คือ  แทนที่ปันผลจะลดลงเล็กน้อยในช่วง 5 ปี  มันอาจจะลดลงมากจนทำให้หุ้นหมดสภาพที่จะจ่ายปันผลได้ดีแล้ว  หายนะก็อาจจะเกิดขึ้นได้  ในกรณีแบบนี้  การดูสถิติการจ่ายปันผลย้อนหลังไปหลายปีจะช่วยให้เราวิเคราะห์ได้ดีขึ้น

3) อาจจะถือว่าเป็นข้อยกเว้น  ก็คือ  ในกรณีที่ปัจจุบันหุ้นจ่ายปันผลน้อยกว่า 5% ต่อปี เช่น  อาจจะ 2-3% ต่อปี  แต่เป็นการจ่ายปันผลที่เพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ  และเรามั่นใจว่าภายใน 5 ปี ปันผลที่จ่ายจะคิดเป็นไม่น้อยกว่า 5% จากราคาหุ้นในวันนี้  อาจจะเพราะธุรกิจของบริษัทแข็งแกร่งและมั่นคงมาก  ผลประกอบการของบริษัทยังเติบโตขึ้นไปเรื่อย ๆ  โดยที่ไม่น่าจะมีอุปสรรคอะไรมาขวาง  แบบนี้ก็ถือว่าเป็นหุ้นที่เข้าข่ายจะเป็น  “หุ้นรอด” ได้แม้ว่าวันนี้อาจจะยังไม่ใช่ “หุ้นปันผล”

เลข 5 ตัวที่สามคือจำนวนของหุ้นใน “พอร์ตหุ้นรอด” ซึ่งจะเป็นหุ้นปันผลอย่างน้อย 5 ตัวที่เราเลือก  จะต้องเป็นหุ้นที่มาจากอุตสาหกรรมหลากหลายอย่างน้อย 5 อุตสาหกรรมเพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงในกรณีที่บางอุตสาหกรรมอาจจะประสบกับปัญหารุนแรงในช่วง 5 ปีข้างหน้า  ตัวอย่างเช่น  เราอาจจะมีหุ้นปันผลในอุตสาหกรรมการเงิน 1 ตัวหรืออย่างมากอาจจะ 2 ตัว  หุ้นในธุรกิจสื่อสาร 1 ตัว  หุ้นในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 1 ตัว  หุ้นค้าปลีก 1 ตัว  หุ้นสินค้าผู้บริโภคที่มียี่ห้อ 1 ตัว  รวมแล้วมีหุ้น 6 ตัวใน 5 อุตสาหกรรม  เป็นต้น

เลข 5 ตัวสุดท้ายก็คือ  เราจะต้องตั้งเป้าหมายว่าพอร์ตนี้จะต้องถือต่อไปซัก 5 ปี  ถึงจะเห็นผลชัดเจน  ในระหว่างนั้น  เราก็คงจะพบว่าหุ้นบางตัวอาจจะดีเกินคาด  บางตัวก็ตามคาด  และบางตัวก็จะต่ำกว่าคาด  แต่ถ้าโดยรวมแล้วผลตอบแทนซึ่งแน่นอนว่าต้องรวมปันผลที่ได้รับ  ได้ถึง “เป้า” คืออย่างน้อย 5% ต่อปี  ก็แสดงว่ากลยุทธ์นั้น  ใช้ได้  อาจจะไม่ต้องปรับอะไร  แต่ถ้าผลตอบแทนบางปีต่ำกว่าที่คาด  ก็ต้องประเมินว่าเกิดจากอะไร  บางทีอาจจะเป็นสถานการณ์ชั่วคราว  ก็ไม่ต้องทำอะไร  แต่ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงหรืออาจจะเป็นเรื่องที่เราเลือกหุ้นผิด คือปันผลของหุ้นบางตัวลดลงมากและถาวร  ก็ต้องปรับพอร์ตตามสถานการณ์

นักลงทุนหลายคน  โดยเฉพาะที่เคยผ่านยุคที่ตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนสูง ๆ  มาแล้ว  อาจจะรู้สึกว่าผลตอบแทน 5% ต่อปีนั้น  ต่ำเกินไป  อาจจะไม่คุ้มค่าที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นที่  “เสี่ยงมาก”  เช่นเดียวกัน  ประสบการณ์ของการลงทุนใน “หุ้นปันผล” ก็อาจจะเลวร้าย  ได้ปันผลมากถึง 10% แค่ปีเดียวแต่ราคาตกลงไป 20-30% และหลังจากนั้นปันผลก็หายไป  จึงไม่อยากและไม่สนใจที่จะเล่นหุ้นปันผล

แต่นั่นอาจจะเป็นการผิดพลาดจากการกำหนดตัว “หุ้นปันผล” ที่มักจะมองแค่ “ปันผลปีล่าสุด” แต่ไม่ได้ดูอดีตย้อนหลังไป 4-5 ปี ว่าปันผลที่จ่ายนั้นมั่นคงแน่นอนแค่ไหน  คิดเป็นปันผลต่อหุ้น  เช่น  1 บาท 1.2 บาท 1.3 บาท 1.4 บาท ย้อนหลังไป 4 ปี   ส่วนข้อมูลผลตอบแทนเงินปันผลคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ในแต่ละปีนั้น  ก็เป็นข้อมูลประกอบที่ทำให้ดูง่ายว่าจ่ายกี่เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับราคาหุ้นในปีนั้น ๆ  แต่อาจจะทำให้เข้าใจผิดได้  เพราะราคาหุ้นอาจจะตกลงมาเรื่อย ๆ  ทำให้ผลตอบแทนเงินปันผลคิดเป็นเปอร์เซ็นต์เพิ่มขึ้นทั้ง ๆ  ที่จ่ายปันผลลดลงเรื่อย ๆ  

ว่าที่จริง  แทบทุกครั้งที่มีบทวิเคราะห์ว่าหุ้นตัวไหนเป็น “หุ้นปันผลสูง” ที่น่าซื้อ  ผมแทบจะไม่สนใจเลย  เพราะหุ้นเหล่านั้นมักจะปันผลสูงผิดปกติแค่ปีนั้นและอาจจะบางปี   ปีอื่น ๆ  ปันผลมักจะน้อยและไม่แน่นอน  บางทีก็อาจจะไม่จ่ายปันผลด้วยซ้ำ  เพราะบริษัทมักอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูงหรือเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่ควบคุมผลประกอบการยาก  ดังนั้น  ถ้าคิดจะเล่นหุ้นปันผล  จะต้องวิเคราะห์เอง  หรือต้องถามนักวิเคราะห์ที่มีความสามารถจริง  อย่าดูแค่ตัวเลขที่มีคนนำเสนอว่าเป็นหุ้นปันผล

เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  บริษัทที่จะเป็นหุ้นปันผลได้นั้น  มักจะต้องเป็นบริษัทที่แข็งแกร่ง  มั่นคง  อยู่มานาน  มีขนาดใหญ่พอสมควร  มีผู้บริหารที่ดีและดูแลผู้ถือหุ้น  อย่างน้อยโดยการจ่ายปันผลที่เหมาะสม  หุ้นเหล่านี้บางทีราคาหุ้นก็ไม่ค่อยไปไหน  เพราะธุรกิจอาจจะไม่ค่อยโต  และนักเก็งกำไรในตลาดหุ้นก็ไม่สนใจ  เช่นเดียวกับนักลงทุนต่างประเทศ  ที่มองแต่หุ้นเติบโตและก็เห็นว่ามีตลาดหุ้นอื่นที่สามารถค้นหาและลงทุนได้  แต่สำหรับนักลงทุนไทยแล้ว  นาทีนี้เราจะหาหุ้นเติบโตในตลาดหุ้นไทยที่ไหนหรือในอุตสาหกรรมไหน?

สำหรับ  VI พันธุ์แท้แล้ว  ในช่วงเวลาที่มืดมนนี้  ไม่มีหุ้นกลุ่มไหนที่จะปลอดภัยและให้ผลตอบแทนที่ดีเท่ากับหุ้นที่ยังสามารถจ่ายปันผลอย่างน้อยเท่าเดิมได้ในระยะยาวอย่างน้อยอีก 5 ปี ข้างหน้า