โลกในมุมมองของ Value Investor 10 ตุลาคม 63
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
วิกฤติโควิด-19 นั้น เมื่อเวลาผ่านมาประมาณ 8-9 เดือนแล้วก็ดูเหมือนว่าจะรุนแรงกว่าที่ทุกคนคิด เพราะการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจ “ล่าสุด” นั้น บ่งบอกว่าวิกฤติครั้งนี้น่าจะรุนแรงไม่แพ้ “ต้มยำกุ้ง” ที่เกิดขึ้นในปี 2540 คือปีแรกที่เกิด เศรษฐกิจติดลบถึงประมาณเกือบ 10% และหลังจากนั้นก็จะฟื้นตัวดีขึ้นประมาณ 4-5% ต่อปีในอีก 2-3 ปีข้างหน้า สิ่งที่อาจจะแตกต่างกันก็คือ ความ “เจ็บปวด” ของผู้คนในวิกฤติปี 2540 คือ “คนรวย”ที่เป็นเจ้าของธุรกิจและผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่บริษัทแทบล้มละลายและขาดสภาพคล่องทางการเงินเพราะค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมากและธนาคารไม่มีเงินจะให้กู้ ตรงกันข้าม วิกฤติโควิด-19 นั้น คนที่เจ็บปวดก็คือ “คนจน” ที่ต้องตกงานหรือต้องลดเงินเดือนลงเพราะ “ไม่มีงานจะทำ” และธุรกิจ SME ที่อาจจะต้องเจ๊งเพราะขายของไม่ได้
สิ่งที่ตามมาจากความแตกต่างของวิกฤติทั้งสองครั้งนั้นก็คือตลาดหุ้น หลังวิกฤติปี 2540 อานิสงค์จากการที่ระบบการเงิน “ล่มสลาย”และคน “เคยรวย” ต่างก็ไม่มีเงินที่จะมาลงทุนซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ปริมาณการซื้อขายหุ้นจึงลดลงมากและส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นตกต่ำลงต่อเนื่องยาวนาน จริงอยู่ ดัชนีก็มีการปรับตัวขึ้นบ้างเป็นระยะ แต่ปริมาณการซื้อขายก็มีน้อยมาก เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ พื้นฐานของบริษัทจดทะเบียนต่างก็ย่ำแย่แทบเอาตัวไม่รอด เหตุผลที่จะลงทุนซื้อหุ้นจึงแทบไม่มีแม้ว่าราคาหุ้นบางตัวจะต่ำมากจนแทบไม่น่าเชื่อ หุ้นระดับ “ซุปเปอร์สต็อก” บางตัวอาจจะขายในราคา PE ไม่เกิน 10 เท่าเนื่องจากราคาหุ้นตกลงมามากแต่ก็ไม่มีใครต้องการ นักลงทุนส่วนบุคคลทั้งรายย่อยและรายใหญ่ต่างก็หายไปจากตลาด ในตอนนั้นไม่มีใครพูดว่า “วิกฤติคือโอกาส”
วิกฤติโควิด-19 นั้น ตลาดหุ้นกลับคึกคักขึ้น อานิสงค์จากการที่มีเม็ดเงินและสภาพคล่องในระบบสูงขึ้น “คนรวย” มีเงินสดเหลือเฟืออานิสงค์จากการที่ประเทศไทยลดระดับการลงทุนในธุรกิจลงมานาน ส่วนคนชั้นกลางระดับสูงต่างก็เก็บเงินเพื่อการเกษียณ และอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดลดต่ำลงเป็นประวัติการณ์ ดังนั้น พวกเขาจึงย้ายเงินมาลงทุนในตลาดหุ้น นับเฉพาะจากต้นปีถึงวันนี้ นักลงทุนส่วนบุคคลซื้อหุ้นสุทธิไปแล้วกว่า 200,000 ล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนสถาบันที่ซื้อสุทธิไปกว่า 70,000 ล้านบาท คำพูดที่ว่า “วิกฤติคือโอกาส” ได้รับการกล่าวขวัญกันทั่วไป...
ทำไมนายกฯ ญี่ปุ่น เลือกเยือนเวียดนามเป็นประเทศแรกหลังรับตำแหน่ง ?.ซุกะ โยชิฮิเดะ เลือกเยือนเวียดนามและอินโดนีเซียเป็นประเทศแรก หลังจากรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่น ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่า เพราะเวียดนามกำลังเติบโตทั้งด้านเศรษฐกิจและอาจมีอิทธิต่ออาเซียนในอนาคต.สื่อญี่ปุ่นรายงานว่า 'โยชิฮิเดะ ซุกะ' นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นจะเดินทางเยือน 'เวียดนาม' และ 'อินโดนีเซีย' ในช่วงกลางเดือน ต.ค.ที่จะถึงนี้ ซึ่งเป็นการเดินทางเยือนต่างประเทศครั้งแรกของโยชิฮิเดะ หลังจากขึ้นมารับตำแหน่งนายกฯ ญี่ปุ่น และยังเป็นการเดินทางตามรอยชิโส อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่เลือกเดินทางเยือนเวียดนามเป็นลำดับแรกเช่นกันเมื่อดำรงตำแหน่งนายกฯ รอบที่ 2 เมื่อปี 2555.นิคเคอิ สื่อญี่ปุ่นวิเคราะะห์ว่า การเดินทางเยือนเวียดนามและอินโดฯ เป็นการสานต่อนโยบายต่างประเทศของชิโส อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ตามนโยบายเสรีและเปิดประตูสู่อินโด-แปซิฟิก ขณะที่เอเชียไทม์ชี้ว่า ในด้านความมั่นคงญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตามวิสัยทัศน์ Vientiane Vision และด้วยภูมิศาสตร์ของเวียดนามเป็นเสมือนใจกลางภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงยังเป็นหน้าด่านของภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ดังนั้นเวียดนามจึงเป็นประเทศที่ญี่ปุ่นให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกในภูมิภาค.นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังมองว่า ในปี 2563 เวียดนามดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน และเวียดนามยังมีศักยภาพในการเป็นผู้นำอาเซียนในเชิงพฤตินัยอีกด้วย ซึ่งอนาคตญี่ปุ่นมองว่า เวียดนามจะมีอิทธิพลเป็นอย่างมากในด้านความมั่นคงของภูมิภาคนี้ จากภูมิศาสตร์ของประเทศและศักยภาพทางเศรษฐกิจ และญี่ปุ่นยังต้องการสร้างความสัมพันธ์กับเวียดนามในด้านความมั่นคงของภูมิภาค รวมทั้งญี่ปุ่นกำลังพยายามหาพันธมิตรในกลุ่มประเทศอาเซียนเพื่อรักษาเสถียรภาพในภูมิภาคนี้ เพื่อลดการเติบโตของจีนในภูมิภาคนี้.ในปี 2562 ญี่ปุ่นเป็นผู้ลงทุนใหญ่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากเกาหลีใต้ โดยมีการยื่นโครงการลงทุน 4,385 โครงการเป็นมูลค่าการลงทุนกว่า 59,330 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา...
โลกในมุมมองของ Value Investor 3 ต.ค. 63
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ปรากฏการณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งในแวดวงของ Social Media ในประเทศไทยในระยะหลังนี้ก็คือสิ่งที่เรียกกันว่า “ทัวร์ลง” ซึ่งก็คือการที่ผู้เล่นหรือผู้ใช้สื่อดิจิตอลสมัยใหม่โดยเฉพาะในทวิตเตอร์จำนวนมากเข้ามาโพสต์และ/หรือมาดู รูป วิดีโอ และเขียนความคิดเห็น ในประเด็นต่าง ๆ ที่เป็นที่สนใจในสังคมขณะนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นประเด็นที่คนที่อยู่ในกลุ่มรู้สึกไม่พอใจและอยากที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จำนวนของคนที่เข้าไปดู คุยกันหรือคอมเม้นต์นั้นจะต้องมีจำนวนมาก และมักจะติดอันดับสูงที่สุด 10 อันดับ ในขณะนั้น ส่วนประเด็นที่เกิดขึ้นก็มักจะเป็นเรื่องทางการเมืองและสังคมที่เป็นเรื่อง Controversy คือมีความเห็นที่แตกต่างกันสูงในสังคมของไทย ซึ่งในอดีตนั้น ความขัดแย้งหรือความไม่พอใจก็มักจะถูกปิดไว้หรือไม่สามารถที่จะกระจายเป็นวงกว้างสู่คนจำนวนมากเนื่องจากข้อจำกัดของ “สื่อรุ่นเก่า” ที่มักถูกควบคุมโดยรัฐ เช่น ทีวีหรือวิทยุ หรือถูกควบคุมโดยกิจการขนาดใหญ่เช่นหนังสือหรือสิ่งพิมพ์ที่มีจำนวนน้อยและต้นทุนในการทำงานสูงและเป็น “สื่อทางเดียว” ที่มีประสิทธิภาพต่ำ
เรื่องที่ทำให้ “ทัวร์ลง” นั้น ส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นเรื่องของ “การเมือง” ในความหมายที่กว้าง นั่นก็คือ รวมไปถึงเรื่องทางสังคมที่เป็นอานิสงค์จากการเมือง เช่น เรื่องของสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมของคน การจัดสรรทรัพยากรของประเทศ เสรีภาพในการใช้ชีวิต เป็นต้น ส่วนในเรื่องของการเมืองตรง ๆ ก็เช่น เรื่องที่เกี่ยวข้องกับระบบการปกครอง ความยุติธรรม นโยบายและการปฏิบัติของรัฐบาล เป็นต้น ผลจากการที่มี “ทัวร์ลง”...
โลกในมุมมองของ Value Investor 26 ก.ย. 63
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ในฐานะที่เป็นนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทยและเวียตนาม ผมเองได้ติดตามดูผลงานของตลาดทั้งสองแห่ง ทั้งทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ ดัชนีตลาดหุ้น และตัวหุ้นที่จดทะเบียนในตลาด และก็แน่นอนว่า ก็เปรียบเทียบผลงานพอร์ตหุ้นทั้งสองของผมว่าพอร์ตไหนมีผลตอบแทนดีกว่ากันและมองด้วยว่าอนาคตพอร์ตไหนน่าจะมีโอกาสเติบโตมากกว่าด้วย ในการเปรียบเทียบนั้น ผมจะดูดัชนีหุ้นของทั้งสองแห่งเป็นหลัก
ตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินของเวียตนามเพิ่งจะเปิดเมื่อปี 2000 ปี และเนื่องจากเป็นตลาดเปิดใหม่ การ “เก็งกำไร” จึงน่าจะรุนแรงมาก ดัชนีตลาดวิ่งจาก 100 จุด ขึ้นไปถึงจุดสูงสุดที่ประมาณ 1,140 จุดหรือ 11 เท่าภายใน 7 ปีและนั่นเกิดขึ้นตอนต้นปี 2007 ซึ่งก็ถือเป็น “ฟองสบู่ลูกแรก” ของเวียตนาม ในช่วงเวลาเดียวกัน ดัชนีตลาดหุ้นของไทยเอง ก็ปรับตัวขึ้นสูงสุด จากประมาณ 200 จุด ซึ่งเป็นดัชนีต่ำสุดหลังวิกฤติปี 2540 หรือปี 1997 กลายเป็นประมาณ 910 จุดในช่วงปลายปี 2007 เหมือนกัน
จากปี 2007 ซึ่งเป็นปีที่ดัชนีตลาดหุ้นทั้งไทยและเวียตนามปรับตัวขึ้นเป็นจุดสูงสุดหลังวิกฤติปี 1997 ดัชนีตลาดหุ้นทั้งสองแห่งก็ประสบกับวิกฤติปี 2008 หรือวิกฤติซับไพร์มที่เกิดขึ้นในอีกประมาณ 10 ปีต่อมาหลังวิกฤติ...
บริษัทจัดการกองทุน Asia Frontier Capital กล่าวว่า ดัชนี VN-Index ของเวียดนาม “ต่ำกว่ามูลค่า” เมื่อเทียบกับดัชนีของประเทศอื่น ๆP/E ณ วันที่ 31 สิงหาคม ของ ดัชนี VN-Index อยู่ที่ 14.7 เท่าขณะที่ดัชนี Shanghai Composite ของจีน อยู่ที่ 17.6 เท่าS&P500 ของสหรัฐฯ อยู่ที่ 27.3 เท่าSET Index ของไทยอยู่ที่ 21.3 เท่าAFC กล่าวว่า ในขณะที่การประเมินมูลค่าตลาดหุ้นของสหรัฐฯ แพงเกินเศรษฐกิจที่แท้จริง และเศรษฐกิจยุโรปยังดูไม่ดี แต่เศรษฐกิจเวียดนามฟื้นในรูปตัว "V" แล้ว ถือว่าทำได้ดีกว่าประเทศอื่น ๆ มากปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของเวียดนาม มีทั้งการส่งออกที่เติบโต ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ส่วนใหญ่เผชิญกับตัวเลขทางการค้าที่ลดลงอย่างรวดเร็วการส่งออกของเวียดนามเพิ่มขึ้น 6.5% เมื่อเทียบเดือนต่อเดือนและ 2.5% เมื่อเทียบเป็นรายปีในเดือนสิงหาคมสู่ระดับ 26.5 พันล้านดอลลาร์ นอกจากนี้รัฐบาลยังพิจารณาการลงทุนภาครัฐเพื่อเป็นทางออกสำคัญในการขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญเช่นทางด่วน North-South, สนามบินนานาชาติ...
โลกในมุมมองของ Value Investor 19 กันยายน 63
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เมื่อประมาณเกือบ 20 ปีที่แล้วในตลาดหุ้นไทย มีนักลงทุนกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่าเป็น Value Investor ก่อกำเนิดขึ้น พวกเขาเป็นนักลงทุน “หน้าใหม่” ในตลาดหุ้น ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นนักลงทุน “รายย่อย” และเป็น “คนกินเงินเดือน” ที่มีรายได้ค่อนข้างดีเนื่องจากจบการศึกษาสูง หลายคนเรียนจบจากต่างประเทศและมีตำแหน่งหน้าที่การงานในบริษัทชั้นนำของประเทศหรือบริษัทข้ามชาติ และก็แน่นอนว่าบางคนก็มีฐานะทางบ้านที่ดีหรือดีมากและเป็นนักธุรกิจอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เหมือนกันหมดก็คือทุกคนมีความมุ่งมั่นในการลงทุนโดยเฉพาะในตลาดหุ้นตามแนวทางการลงทุนของ “VI”อย่างที่เรียกกันในปัจจุบันนั่นก็คือ การมองว่าหุ้นก็คือธุรกิจและเราสามารถประเมินมูลค่าของมันได้ และจะซื้อก็ต่อเมื่อมูลค่านั้นสูงกว่าราคาหุ้นมากพออย่างที่เรียกว่ามี Margin of Safetyสูง และจะขายต่อเมื่อราคาหุ้นสูงเกินพื้นฐานหรือ “มูลค่าที่แท้จริง” นั้น
ผมคงไม่ต้องพูดว่า VI กลุ่มนั้นต่างก็ทำผลงานการลงทุนได้ดีเยี่ยม หลายคนเป็นเศรษฐีหรือมหาเศรษฐี ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่น่าเชื่อ คนที่เคยกินเงินเดือนต่างก็ “เกษียณตัวเอง” ตั้งแต่อายุยังน้อยและกลายเป็นนักลงทุนเต็มตัวจนถึงวันนี้ แต่ VI “รุ่นใหม่” ที่เพิ่งจะเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยไม่เกิน 6-7 ปีนั้น จำนวนมากก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ หลายคนพยายามเสาะแสวงหาหุ้น “VI” ที่จะทำกำไรได้งดงามและเจริญรอยตาม VI รุ่นก่อนที่เป็น “ไอดอล” แต่ก็ดูเหมือนว่าจะยังไม่ประสบความสำเร็จนัก และอาจจะไม่ประสบความสำเร็จเลยก็ได้ ปัญหาที่ผมเห็นก็คือ เศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยในภาวะปัจจุบันและอาจจะต่อเนื่องไปอีกนานนั้น ไม่เอื้ออำนวยที่จะทำให้การลงทุนในตลาดหุ้นไทยสร้างผลตอบแทนที่ดีเลิศอย่างที่เคยเป็นเมื่อเกือบ 10 หรือ 20 ปีก่อน เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ เราจะหาหุ้น “VI” หรือหุ้นที่จะเป็น “Super Stock” ในอีก 10 ปีข้างหน้าได้ยากมาก
วิธีหนึ่งที่จะลงทุนระยะยาวแล้วร่ำรวยเหมือน VI รุ่นก่อนนั้น ผมคิดว่าเราจำเป็นที่จะต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมการลงทุนที่เอื้ออำนวยมาก เพราะแม้ว่าผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่ทำผลงานได้ดีเป็นสิบ ๆ ปีจนเปลี่ยนชีวิตได้นั้น ผมก็คิดว่าส่วนที่สำคัญที่สุดก็คือ “โชคดี” ที่ผมลงทุนในประเทศไทยในยุคนั้นซึ่งเป็นยุคที่เศรษฐกิจไทยก้าวหน้าเร็วมากและคนไทยเริ่มต้องเก็บเงินเพื่อรองรับการเกษียณของคนที่กำลังแก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้มีบริษัทหรือกิจการที่แข็งแกร่งและโตเร็ว ขณะเดียวกันก็มีเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่เข้ามาแย่งซื้อหุ้นที่มีคุณภาพดีเหล่านั้น ทำให้หุ้นเหล่านั้นมีมูลค่าสูงขึ้นมหาศาล
ด้วยวิธีง่าย ๆ ที่ผมใช้ซึ่งก็คือ การซื้อหุ้นของกิจการที่ “ดีสุดยอด” นั่นก็คือ บริษัทที่มีความแข็งแกร่งเพราะมีความได้เปรียบทางการแข่งขันที่ยั่งยืนและโตเร็วด้วย ในราคาหุ้นที่ถูกหรือราคายุติธรรม แล้วถือไว้อย่างยาวนานนับ 10 ปี และได้รับผลตอบเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 10 เท่า ซึ่งผมเรียกว่าเป็น...
โลกในมุมมองของ Value Investor 12 ก.ย. 63
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เมื่อเร็ว ๆ นี้มีข่าวว่าบัฟเฟตต์ได้เข้าซื้อหุ้นในตลาดหุ้นของญี่ปุ่นพร้อมกัน 5 ตัวคือ หุ้นอิโตชู มารูเบนนี มิตซูบิชิ มิตซุยและสุมิโตโม ทั้ง 5 บริษัทเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านการค้าของญี่ปุ่นที่ก่อตั้งมานานเฉลี่ยแล้วน่าจะเป็นหลัก100 ปีขึ้นไป ตั้งแต่ญี่ปุ่นเริ่มพัฒนาเป็นประเทศสมัยใหม่จนถึงปัจจุบันที่กลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วและเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ทั้งหมดนี้ แม้ว่าจะเป็นบริษัท “ยุคเก่า” แต่ก็ยังเป็นบริษัท “ยักษ์ใหญ่” ที่มียอดขายมากกว่าปีละ 1 ล้านล้านบาท และครอบคลุมการค้าขายระหว่างประเทศของญี่ปุ่นเกือบทั้งหมดและก็ยังน่าจะเป็นอย่างนั้นต่อไปตราบที่ญี่ปุ่นยังเป็นเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่ของโลกอยู่โดยที่เทคโนโลยี่ดิจิตอลไม่สามารถที่จะทำลายมันได้
ลักษณะการซื้อของบัฟเฟตต์ในครั้งนี้ดูเหมือนว่าจะแตกต่างจากที่เคยทำมาตลอดในชีวิตการลงทุนของเขานั่นก็คือ เป็นการ “กวาดซื้อ” หุ้นหลาย ๆ ตัวที่มีคุณสมบัติเกือบจะเหมือนกันหมดนั่นก็คือมันเป็นหุ้นที่ “ถูกมาก” และเป็น “ตัวแทน” ของบริษัทหรือเศรษฐกิจญี่ปุ่น คือเป็นบริษัท “การค้า” หลัก ๆ ของญี่ปุ่นทั้งหมด ซึ่งไม่ใช่แนวทางเดิมของบัฟเฟตต์ที่เน้นเลือกลงทุนหุ้น “เฉพาะตัว” ที่มีคุณสมบัติเป็นเอกลักษณ์พิเศษและส่วนใหญ่แล้วเป็นแนว “ซุปเปอร์สต็อก” ตามคำพูดที่โด่งดังของเขาที่ว่า “It’s far better to buy a wonderful company at a fair price than a fair company at a wonderful price” ซึ่งแปลว่า “มันดีกว่ามากที่จะซื้อบริษัทที่ดีสุดยอดในราคาที่ยุติธรรมเทียบกับการซื้อบริษัทที่แค่ดีพอใช้ในราคาที่ถูกสุด ๆ”
ความคิดของบัฟเฟตต์ในเรื่องของการซื้อหุ้นนั้น ผมคิดว่าเขามีหลักการใหญ่ ๆ ชัดเจนที่เป็นระบบโดยที่น่าจะสามารถแยกแยะดังต่อไปนี้คือ หนึ่ง หุ้นของบริษัทที่ดีสุดยอดหรือที่เรียกว่า “Great Company” ซึ่งก็คือบริษัทที่มีความได้เปรียบที่ยั่งยืนและเติบโตระยะยาวนั้น เป็นกิจการที่น่าลงทุนที่สุด แต่เงื่อนไขที่เขาจะเข้าลงทุนก็คือ หุ้นจะต้องมีราคาถูกหรือไม่แพงหรืออาจจะเรียกว่า “ราคายุติธรรม” ถ้าหุ้นมีราคาแพงเกินไปเขาก็ไม่ซื้อ...
โลกในมุมมองของ Value Investor 29 สิงหาคม 63
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ผลประกอบการไตรมาศ 2 ที่ออกมานั้นได้สะท้อนผลกระทบของโควิด19 อย่างชัดเจนว่า ธุรกิจหรืออุตสาหกรรมไหนได้รับผลกระทบแรงแค่ไหน ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คืออุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการเดินทางที่ถูกกระทบแรงที่สุดเพราะคนแทบจะเลิกเที่ยวและการเดินทางก็ทำเฉพาะที่จำเป็นจริง ๆ หุ้นในกลุ่มโรงแรมและสันทนาการจำนวน 13 ตัวนั้น มีกำไรแค่ 2 ตัวและกำไรเพียงไม่เกิน 4 ล้านบาท ที่เป็นโรงแรมนั้นขาดทุนกันหมดและขาดทุนมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ส่วนหุ้นขนส่งนั้น จากที่กำไรมาตลอดก็กลายเป็นกลุ่มที่ขาดทุนมากที่สุดในตลาดกว่าหมื่นล้านบาทในไตรมาศเดียว อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าจะมีหุ้นกลุ่มหนึ่งที่อาจจะทำให้หลายคนคาดผิดคิดว่าน่าจะเป็นกลุ่มที่อาจจะได้ประโยชน์ในตอนที่เริ่มเกิดโควิด19นั่นก็คือ หุ้นโรงพยาบาล เพราะคนคิดว่าเมื่อเกิดโรคระบาดใหญ่ ธุรกิจที่ทำหน้าที่หลักในการรักษาโรคน่าจะมีลูกค้ามากขึ้นและทำกำไรมากขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงนั้นกลับตรงกันข้าม หุ้นกลุ่มโรงพยาบาลกลับกลายเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ที่ถูกกระทบแรงรอง ๆ จากกลุ่มโรงแรม ผลประกอบการนั้นลดลงถึงเกือบ 80% เทียบกับไตรมาศ 2 ของปีก่อน และนั่นทำให้ผมนึกถึงคำพูดเก่าของนักลงทุนในยุคหนึ่งที่เกิดวิกฤติว่า “อย่าเข้าโรงแรมหรือโรงพยาบาล”
สิ่งที่ทำให้หุ้นโรงพยาบาลถูกกระทบหนักและทำให้หลายแห่งขาดทุน และหุ้นที่เคยกำไรมากมายนั้น กำไรหดหายไปมากอย่างที่ไม่เคยประสบมาก่อนมีอย่างน้อยสองเรื่องคือ หนึ่ง มีคนติดเชื้อโควิด19ในประเทศไทยน้อยมาก และที่ติดเชื้อก็มักไปรักษาในโรงพยาบาลของรัฐ แต่ในทางตรงกันข้าม การระบาดของโควิดนั้นทำให้คนไม่อยากไปโรงพยาบาลถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ เพราะคนเชื่อว่าโรงพยาบาลเป็นแหล่งที่อาจจะมีเชื้อมากกว่าที่อื่น ผลก็คือ คนเข้าไปใช้บริการน้อยลงมาก ข้อสอง สำหรับโรงพยาบาลที่มีลูกค้าที่เป็นชาวต่างชาติมากซึ่งมักเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่และมีรายได้และทำกำไรได้มากนั้น โควิด19ทำให้เราต้องปิดประเทศซึ่งส่งผลให้ลูกค้าในส่วนนี้ที่อาจจะทำรายได้หลายสิบเปอร์เซ็นต์หรือบางแห่งเกินครึ่งหายหมด ผลก็คือ หุ้นโรงพยาบาลระดับท็อปและเป็นหุ้น “ซุปเปอร์สต็อก” นั้น กำไรแทบจะไม่มีในไตรมาศ 2
ผลกระทบจากโควิด19 ต่อจากนี้ผมคิดว่ายังไม่ได้หมดไป จริงอยู่ คนในประเทศไทยเองนั้นก็เริ่มไปโรงพยาบาลกันแล้วเนื่องจากการที่ไม่มีการระบาดในประเทศมานาน แต่ดูเหมือนว่าโรงพยาบาลก็อาจจะกำลังประสบกับปัญหาที่ว่าเศรษฐกิจของไทยเองก็กำลังตกต่ำลงอย่างแรง คนชั้นกลางโดยเฉพาะที่ทำงานทางด้านบริการเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวตกงานกันเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับผู้ประกอบการรายย่อยที่เคยเป็นลูกค้าของโรงพยาบาลเอกชนต่างก็กำลังลำบากเพราะค้าขายได้น้อยลงมาก ดังนั้น สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นก็คือ พวกเขาก็จะไปโรงพยาบาลน้อยลงและถ้าจำเป็นก็อาจจะไปใช้บริการของโรงพยาบาลรัฐแทน นี่จะทำให้ธุรกิจของโรงพยาบาลที่เน้นผู้ป่วยที่เป็นคนไทยยังไม่สดใสต่อไป
สำหรับโรงพยาบาลที่เน้นลูกค้าต่างประเทศนั้น...
โลกในมุมมองของ Value Investor 22 สิงหาคม 63
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เมื่อสองสามวันก่อนผมได้เริ่มขับรถส่วนตัวไปร่วมสังสรรค์กับเพื่อนกลุ่มนักลงทุน VI ในช่วงเย็นอีกครั้งหลังจากหยุดกิจกรรมที่เคยทำทุกไตรมาศมานานนับสิบปีหลังจากที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาเมื่อ 5-6 เดือนก่อน ผมเองไม่ได้ขับรถช่วงเย็นที่เป็นช่วงเร่งด่วนแบบนี้มานานแต่ก็จำได้ว่าในอดีตนั้น เส้นทางที่ผมใช้คือทางด่วนที่ลงถนนพระราม 4 แถวคลองเตยแล้ววิ่งตรงไปทางกล้วยน้ำไทยนั้น เป็นช่วงที่รถติดหนักมาก แต่การขับรถครั้งนี้ปรากฏว่ารถกลับไม่ติดเลยแม้ว่าจำนวนรถอาจจะยังมากอยู่ ในความรู้สึกของผมก็คือ หลังจากโควิด19ในประเทศไทยสงบลงและเราเปิดธุรกิจในประเทศเกือบทั้งหมดแล้ว กิจกรรมของคนที่ต้องเดินทางประจำวันน้อยลงจนเห็นได้ชัดจากการจราจร จริงอยู่ บางคนอาจจะบ่นว่ารถกลับมา “ติดเหมือนเดิมแล้ว” แต่นั่นคงเป็นบางจุดหรือถนนบางสายและก็อาจจะเป็นบางช่วงเวลา ตัวอย่างเช่นในวันหยุดยาวที่คนเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัดในบางเส้นทาง หรือในถนนบางสายเช่นแถวศรีนครินทร์ที่มีการสร้างรถไฟฟ้า เป็นต้น แต่เส้นทางที่ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงเช่นเส้นทางในศูนย์กลางของกรุงเทพ ผมคิดว่ารถน้อยลงชัดเจน ตัวอย่างที่ผมเห็นทุกวันก็คือถนนรางน้ำหน้าบ้านผมที่เคยเป็นแหล่งพักของนักท่องเที่ยวชาวจีน ที่ตอนนี้ “โล่งตลอด” นี่ก็เป็นสัญญาณสำคัญที่บอกว่าเศรษฐกิจของไทยกำลังถดถอยลง “อย่างแรง”
จำนวนคนเดินห้างก็เป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่บอกว่าเศรษฐกิจกำลังซบเซา หลายคนอาจจะเถียงว่าห้างใหญ่หลาย ๆ แห่งโดยเฉพาะที่อยู่ที่ “ขอบของกรุงเทพ” ที่ตนเองเดินประจำนั้น คนก็กลับมา “เหมือนเดิม” แล้ว หาที่จอดรถไม่ได้และ “คนแน่นยังกับแจกฟรี” แต่นั่นก็อาจจะเป็น “ความรู้สึก” ที่เกิดขึ้นหลังจากที่ห้างเหงามานานและก็อาจจะเป็นเฉพาะในวันหยุด วันธรรมดาที่เขาไม่ได้ไปนั้นคนอาจจะว่างมาก ผมเองเดินและจ่ายตลาดห้างหรูแถวสยามที่เป็นแหล่งสำคัญของนักท่องเที่ยวต่างประเทศแทบทุกสัปดาห์ ผมยืนยันว่าห้างยังเหงามีคนเดินน้อยกว่าเดิมมาก ซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ผมจ่ายสินค้าประจำวันนั้น ในอดีตจะมีคิวจ่ายเงินยาว เดี๋ยวนี้บางวันแทบไม่มีคิวเลย นี่ก็เป็นสัญญาณว่าคนไทยน่าจะใช้จ่ายน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญโดยเฉพาะในสินค้าที่ไม่จำเป็นและ/หรือสินค้าที่ใช้จ่ายโดยนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ
ที่น่าประหลาดใจเล็กน้อยที่ผมเห็นก็คือ สินค้าหรูหราและมีราคาสูงมากอย่างเช่น ร้านที่ขายสินค้าเครื่องแต่งกาย“ซุปเปอร์แบรนด์” หลายร้านนั้นมีคน “เข้าคิว” รอเข้าไปชมและซื้อสินค้าอย่างที่เคยเกิดขึ้นในช่วงก่อนโควิด19 แล้ว ราคาสินค้าของร้านเหล่านี้ไม่ได้มีการ “ลดราคากระหน่ำ” เพื่อเรียกลูกค้า ว่าที่จริงบางร้าน “ขึ้นราคา” สินค้าที่เคยขายด้วยซ้ำ นี่ทำให้ผมสรุปว่า คนที่มีฐานะมั่งคั่งสูงในสังคมไทยนั้น ไม่ได้ถูกกระทบมากจนต้องลดการใช้จ่ายลงเลย พวกเขาใช้จ่ายเหมือนเดิม และตอนนี้เนื่องจากว่าไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้ เขาจึงใช้จ่ายในประเทศไทยแทน และนี่ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกันในต่างประเทศ ตัวอย่างเช่นในจีนที่ตอนนี้มีข่าวออกมาแล้วว่าสินค้าซุปเปอร์แบรนด์ขายดีขึ้นมากกว่าเดิมก่อนโควิด19 ด้วยซ้ำ
นอกจากเรื่องของสินค้าเครื่องแต่งกายหรูแล้ว บ้านหรูในช่วงหลังโควิดก็ดูเหมือนว่าจะขายดีขึ้นโดยเปรียบเทียบกับบ้านที่ขายคนส่วนใหญ่ทั่วไป ว่าที่จริงแม้แต่ในช่วงที่ยังปิดเมืองกันอยู่ก็มีสัญญาณแล้วว่าคนมาดูและซื้อบ้านหรูมากขึ้น นั่นแสดงว่าคน “ซุปเปอร์ริช” หรือคนรวยจัดนั้นไม่ได้ถูกระทบมากจากวิกฤติและยังซื้อสินค้าหรูและมีราคาแพงเหมือนเดิม นี่ก็พอจะเห็นได้จากการที่บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ขายบ้านหรูทำผลงานในไตรมาศ 2ได้ดีกว่าบริษัทที่เน้นบ้านราคาต่ำหรือระดับกลางที่ถูกกระทบอย่างแรง
บ้านมวลชนนั้นอาจจะขายได้น้อยลง แต่ธุรกิจพวกวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างหลายแห่งอาจจะคุยว่ายอดขายไม่ตกในช่วงปิดโควิด นี่อาจจะเป็นเรื่องจริง แต่ก็ต้องระวังว่าสินค้าเหล่านี้มี Lag Time หรือเป็นสินค้าที่เมื่อเศรษฐกิจวิกฤติทันทีนั้น ความต้องการของสินค้ายังมีอยู่เหมือนเดิมเนื่องจากบ้านที่เริ่มสร้างแล้วก็จะต้องสร้างต่อไปจนจบถ้าเจ้าของยังมีกำลังอยู่ ผมเองก็กำลังสร้างเหมือนกันและพบว่างานก่อสร้างนั้นไม่เคยหยุดเลยในช่วงโควิด19 ดูเหมือนว่ามันจะเร็วขึ้นด้วยซ้ำเพราะคนงานไม่ขาดเหมือนในช่วงปกติ สิ่งที่ต้องระวังก็คือ หลังจากนี้เมื่องานเริ่มเสร็จ และงานใหม่ก็ไม่เข้ามาเนื่องจากความต้องการบ้านหรืออาคารต่าง ๆ น้อยลง ธุรกิจก่อสร้างก็อาจจะเห็นยอดขายหดตัวอย่างแรงได้
การตกต่ำลงของเศรษฐกิจนั้น ผมคิดว่าสาเหตุหลักก็มาจากการที่ธุรกิจท่องเที่ยว การเดินทางและกิจกรรมที่คนต้องเข้ามาอยู่ใกล้ชิดกันต้องหยุดลงเกือบจะสิ้นเชิง นั่นทำให้คนจำนวนมากนับล้าน ๆ คนต้องตกงานทันที พวกเขาต้องลดการบริโภคลง ทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นมากที่สุดในช่วงไตรมาศ 2 และเราต่างก็คิดว่าหลังจากนั้นเศรษฐกิจก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ อย่างรวดเร็ว ไตรมาศ 2 น่าจะต่ำสุดและช่วงต่อจากนี้ความเจ็บปวดก็น่าจะน้อยลง อย่างไรก็ตาม ผมก็ค่อนข้างประหลาดใจเมื่อได้ข่าวว่าลูกสาวเพื่อนที่ทำงานเป็นแอร์โฮสเตทของสายการบินระดับท็อป ๆ ของโลกแห่งหนึ่งถูกปลดแบบ “ฟ้าผ่า” หลังจากที่หยุดไม่ได้ทำงานมาหลายเดือนแล้วและกำลังหวังว่าจะกลับไปทำงานเนื่องจากสายการบินเริ่มจะกลับมาบินใหม่ในบางเส้นทาง เหตุการณ์นี้ทำให้ผมคิดว่า ในช่วงไตรมาศ 2 นั้น บริษัทหรือธุรกิจบางแห่งก็ยังพยายามรักษาคนงานไว้ แต่พอถึงวันนี้เขาก็รับกับค่าใช้จ่ายไม่ไหวและต้องปลดคนออกไป ช่วงเวลาเดียวกันรัฐบาลก็ช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายแก่คนจำนวนมากเดือนละ 5,000 บาทจนสิ้นเดือนสิงหาคม ในอีกด้านหนึ่งแบ้งค์ชาติก็ยอมให้ลูกหนี้จำนวนมากพักการชำระเงินจนถึงเดือนกันยายน ทั้งหมดนี้ถ้าไม่ได้รับการต่ออายุอะไรจะเกิดขึ้น? ผมเองคิดว่าเศรษฐกิจคงไม่เลวร้ายลงกว่าไตรมาศ 2 แต่จะดีขึ้นอย่างรวดเร็วผมก็ยังสงสัย
กลับมาเรื่องของการลงทุนบ้าง ในที่ประชุมสังสรรค์เพื่อน VI นั้น ทุกครั้งเราก็จะมีการ “เลือกหุ้น” ที่จะทำผลงานได้ดีใน 3 เดือนข้างหน้า โดยที่ทุกคนจะต้องเลือกหุ้นที่ตนเองชอบ ส่วนใหญ่ก็คนละ 2-3 ตัว พอพบกันอีกในไตรมาศหน้าก็จะมาดูว่าใครได้ผลตอบแทนเท่าไร นี่ก็เป็นกิจกรรมเล่น ๆ ที่ไม่ได้ซีเรียสหรือแข่งขันอะไรกันแต่ทุกคนก็มักจะเลือกในสิ่งที่ตนเองลงทุนจริง ๆ อยู่แล้ว ผลการเลือกในครั้งนี้มีการเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดจากครั้งหลัง ๆ นั่นก็คือ ในช่วงน่าจะ 2-3 ปีมาแล้ว VI กลุ่มนี้มักจะเลือกหุ้นเวียตนามมากกว่าหุ้นไทย หุ้นไทยที่ถูกเลือกนั้นน้อยลงมาก ส่วนหนึ่งเพราะพวกเขาได้หันไปลงทุนในตลาดหุ้นเวียตนามมากขึ้น บางคนโดยเฉพาะที่เป็นชาวต่างชาตินั้นไม่ได้ลงทุนในตลาดหุ้นไทยอีกแล้ว แต่ในครั้งนี้ปรากฏว่าจำนวนหุ้นที่ถูกเลือกกลับกลายเป็นหุ้นไทยเป็นส่วนใหญ่ นี่ก็เป็นการแสดงให้เห็นว่าโควิดน่าจะทำให้หุ้นไทยบางกลุ่มหรือบางตัวมีความน่าสนใจมากขึ้นจน VI บางคนที่เคยทิ้งตลาดไปนั้นหันกลับมาลงทุนมากขึ้น
ความสนใจในหุ้นของคนไทยเองนั้น ผมคิดว่าเกิดขึ้นกับคนทั่วไปด้วยเห็นได้จากจำนวนนักลงทุนหน้าใหม่ที่เพิ่มขึ้นมากอย่างเห็นได้ชัดในช่วงโควิด19 นี่ก็เป็นอะไรที่แปลกเหมือนกัน เหตุผลนั้นผมคิดว่า ประการแรก เป็นเพราะคนที่มีฐานะดีและมีเงินสดอยู่มากนั้นไม่ได้ถูกกระทบจากโควิด พวกเขาคิดว่าการลงทุนในตลาดหุ้นที่ตกลงมานั้นเป็นโอกาสงดงามที่จะทำกำไรอย่างง่าย ๆ เมื่อเทียบกับการฝากเงินที่ให้ผลตอบแทนต่ำมาก ประการต่อมาก็คือ พวกเขาคิดว่าผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่จะถูกกระทบนั้น น่าจะเกิดขึ้นครั้งเดียว หลังวิกฤติแล้วทุกอย่างก็จะกลับมาภายใน 1-2 ปีหรืออย่างมากก็อาจจะ 3 ปี เรื่องที่บริษัทจะ “ล่มสลาย” หรือล้มละลายไปนั้นไม่น่าจะเกิดขึ้น เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ สภาพคล่องในระบบการเงินของไทยยังมีเหลือล้น ตราสารหนี้ที่ออกมาก็ยังมีคนต้องการอีกมาก เมื่อโควิดผ่านไปและลูกค้ากลับมา รายได้และกำไรของบริษัทก็จะกลับมา “เหมือนเดิม” และสุดท้ายก็คือ ตลาดหุ้นต่างประเทศเช่นในสหรัฐอเมริกานั้น ดัชนีหุ้นกลับมาที่เดิมและสูงกว่าแล้ว และผลประกอบการของบริษัทโดยเฉพาะในกลุ่มไฮเท็คนั้นก็เพิ่มขึ้นมาก ดังนั้น เขาเชื่อว่าในที่สุดบริษัทและหุ้นไทยก็จะต้องตามกันไป
ข้อสรุปทั้งหมดของผมก็คือ ภาวะเศรษฐกิจและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนต่อจากนี้น่าจะยังลำบากอยู่มาก โอกาสฟื้นตัวน่าจะเป็นไปอย่างช้า ๆ แต่หุ้นที่ตกลงไปแรงมากกลับฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยเม็ดเงินของคนไทยและนักลงทุนไทยซึ่งยังมีเงินมากและไม่ถูกกระทบจากภาวะเศรษฐกิจมากนัก อย่างไรก็ตาม เมื่อความจริงเริ่มจะปรากฏออกมาเรื่อย ๆ ก็อาจจะมีความเสี่ยงว่า นักลงทุนจะเริ่มตระหนักและถอนเงินออก และวันนั้นก็อาจจะเป็นวันที่ตลาดหุ้นปรับตัวลงมาให้เหมาะสมกับพื้นฐานที่แท้จริงของตลาดหุ้นไทย
โลกในมุมมองของ Value Investor 15 สิงหาคม 63
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
สัปดาห์ที่แล้วมีข่าวเรื่องการประกาศใช้วัคซีนป้องกันโรคโควิด19 ที่รัสเซียซึ่งเป็นประเทศแรกที่เริ่มฉีดป้องกันให้กับประชาชน และแม้ว่าประเทศที่มีความก้าวหน้าส่วนใหญ่ยังไม่ยอมรับว่าเป็นวัคซีนที่ใช้ได้และปลอดภัยจริงเนื่องจากเป็นวัคซีนที่ยังไม่ได้ผ่านขั้นตอนที่เคร่งครัดพอ แต่ก็ทำให้เกิดความรู้สึกว่าโลกกำลังใกล้ที่จะเอาชนะโควิดได้แล้วโดยเฉพาะคนที่อยู่ในวงการตลาดหุ้น นั่นคงมีส่วนทำให้หุ้นไทยที่เกี่ยวข้องกับโควิดโดยตรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยววิ่งขึ้นไปอย่างแรง หุ้นตัวใหญ่ที่สุดคือหุ้นของสนามบิน AOT วิ่งขึ้นไป 9% ในขณะที่หุ้นโรงแรมใหญ่ที่สุดคือ MINT บวกเพิ่มขึ้น 10% ในวันเดียว ส่วนหุ้นของสายการบินหรือแม้แต่หุ้นค้าปลีกที่อิงอยู่กับการท่องเที่ยวต่างก็ปรับตัวขึ้นกันอย่างน้อย 5-6% โดยรวมแล้ว ภายในช่วง 2-3 วันหุ้นเหล่านี้ปรับตัวขึ้นประมาณ 10% อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายสัปดาห์ หุ้นก็ปรับตัวกลับลงมาอย่างมีนัยสำคัญ คำถามคือ หุ้นที่เกี่ยวกับโควิด19โดยเฉพาะการท่องเที่ยวนั้น จะกลับมาเหมือนเดิมก่อนโควิดหรือไม่และเมื่อไร?
การที่จะตอบคำถามนี้เราจำเป็นที่จะต้องวิเคราะห์ว่าการท่องเที่ยวของไทยจะกลับมาเมื่อไร ใช้เวลากี่ปีจำนวนนักท่องเที่ยวถึงจะกลับมาเท่าเดิม นอกจากนั้นก็จะต้องดูว่าบริษัทหรือหุ้นที่อยู่ในตลาดจะทำกำไรและแข็งแรงเหมือนเดิมหรือไม่ ที่สำคัญอีกอย่างก็คือ ภาพของหุ้นท่องเที่ยวในสายตาของนักลงทุนนั้นจะกลับมาสดใสเป็นซุปเปอร์สต็อกและมีค่ามากเหมือนเดิมก่อนเกิดโควิด19 หรือไม่
ข้อแรกก็คือ ผมเองคิดว่าสถานะของประเทศไทยในฐานะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว “ยอดนิยม” นั้น น่าจะยังคงอยู่ การจัดการเรื่องการติดเชื้อที่ดีมากช่วยให้นักท่องเที่ยวสบายใจถ้าจะมาท่องเที่ยวเมื่อเปรียบเทียบกับแหล่งท่องเที่ยวอื่นในโลก การที่ประเทศไทยอยู่ใกล้จีนที่มีคนจำนวนมากและสภาวะทางเศรษฐกิจยังน่าจะดูดีหลังจากโควิด19 ทำให้เราน่าจะรักษาฐานการท่องเที่ยวจากจีนได้ อย่างไรก็ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่เลวร้ายมาก รวมถึงการที่โรคโควิดยังจะอยู่กับเราอีกนานพอสมควรก่อนที่มันจะลดลงจนแทบจะหมดไปนั้น จะทำให้การกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างประเทศต้องใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะกลับมาเท่าเดิม ผมเองคิดว่าเราอาจจะต้องใช้เวลาถึง 3-4 ปี ซึ่งนี่เป็นปัญหาที่หนักมากเนื่องจากธุรกิจมีต้นทุนคงที่ที่เป็นค่าเสื่อมและการดูแลอุปกรณ์และสถานที่รวมถึงการต้องมีกำลังคนที่มีต้นทุนสูงในระดับหนึ่งไม่ว่าจะมีรายได้มากน้อยแค่ไหน ผลก็คือ กำไรของกิจการอาจจะย่ำแย่ไปอีกหลายปี
ประเด็นสำคัญข้อสองก็คือ บริษัทขนาดใหญ่ที่อยู่ในวงการการท่องเที่ยวนั้น ต่างก็สร้างกำลังการผลิตกันอย่างมากมายในช่วงที่ผ่านมาก่อนเกิดโควิด19 และกำลังการผลิตเหล่านั้นไม่สามารถลดลงมาได้ สนามบินถูกสร้างเพิ่มขึ้นและกำลังเสร็จในขณะที่คนใช้ลดลงมาก จำนวนเครื่องบินที่มีอยู่มากเกินความจำเป็นและต้องจอดอยู่และมีต้นทุนในการดูแลรักษาที่สูงมาก โรงแรมถูกสร้างหรือซื้อเพิ่มขึ้นจำนวนมากก็อยู่ในต่างประเทศที่สถานการณ์เลวร้ายเท่ากันโดยที่ต้นทุนค่าเสื่อมราคาและการดูแลสถานที่สูงและลดไม่ได้มาก ห้างค้าปลีกกำลังสร้างเพิ่มขึ้นอีกมาก หลายแห่งก็เพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นอีกมากแต่เมื่อเสร็จจริงก็อาจจะพบว่านักท่องเที่ยวกลับมีน้อยลงกว่าเดิม ทั้งหมดนั้น ธุรกิจต่างก็กู้เงินเพิ่มขึ้นมหาศาลอานิสงค์ส่วนหนึ่งมาจากการที่เงินกู้หาได้ง่ายและมีต้นทุนต่ำมาก นี่ก็เป็นภาระที่หนักมากสำหรับบริษัทเหล่านั้น เพราะแม้ว่ารายได้จะเริ่มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่กำไรก็จะยังไม่มาอีกนานพอสมควร ไม่ต้องพูดถึงกระแสเงินสดที่จะมีน้อยเพราะต้องคืนหนี้ก้อนใหญ่ อัตราการจ่ายปันผลคงจะต้องต่ำต่อไปอีกนาน
มองไกลออกไปหลังจากที่การท่องเที่ยวกลับมาเท่าเดิมก่อนเกิดโควิด19 แล้ว ก็ยังจะมีคำถามตามมาว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเดินทางจะเติบโตเร็วต่อไปอีกหรือไม่ เพราะนี่จะเป็นตัวกำหนดว่าหุ้นท่องเที่ยวในระยะยาวจะเป็น “หุ้นโตเร็ว” อย่างที่นักลงทุนคิดและเข้าใจกันมาตลอดหรือไม่ ประเด็นนี้มีความสำคัญต่อการประเมินราคาหุ้นมาก เพราะหุ้นท่องเที่ยวขนาดใหญ่ในตลาดหุ้นไทยนั้น มีค่า PE ที่สูงมานานแล้วจนถึงโควิด19 และต่อมาจนถึงวันนี้ที่ค่า PE ยิ่งสูงขึ้นไปมากเพราะกำไรของบริษัทกำลังลดลงอย่างมาก ว่าที่จริงหุ้นในกลุ่มนี้มีค่า PE ในระดับ...