โลกในมุมมองของ Value Investor      19 กันยายน 63

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

​เมื่อประมาณเกือบ 20 ปีที่แล้วในตลาดหุ้นไทย มีนักลงทุนกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่าเป็น Value Investor ก่อกำเนิดขึ้น  พวกเขาเป็นนักลงทุน “หน้าใหม่” ในตลาดหุ้น  ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นนักลงทุน “รายย่อย” และเป็น  “คนกินเงินเดือน” ที่มีรายได้ค่อนข้างดีเนื่องจากจบการศึกษาสูง  หลายคนเรียนจบจากต่างประเทศและมีตำแหน่งหน้าที่การงานในบริษัทชั้นนำของประเทศหรือบริษัทข้ามชาติ  และก็แน่นอนว่าบางคนก็มีฐานะทางบ้านที่ดีหรือดีมากและเป็นนักธุรกิจอยู่แล้ว  แต่สิ่งที่เหมือนกันหมดก็คือทุกคนมีความมุ่งมั่นในการลงทุนโดยเฉพาะในตลาดหุ้นตามแนวทางการลงทุนของ “VI”อย่างที่เรียกกันในปัจจุบันนั่นก็คือ  การมองว่าหุ้นก็คือธุรกิจและเราสามารถประเมินมูลค่าของมันได้  และจะซื้อก็ต่อเมื่อมูลค่านั้นสูงกว่าราคาหุ้นมากพออย่างที่เรียกว่ามี Margin of Safetyสูง และจะขายต่อเมื่อราคาหุ้นสูงเกินพื้นฐานหรือ “มูลค่าที่แท้จริง” นั้น

​ผมคงไม่ต้องพูดว่า VI กลุ่มนั้นต่างก็ทำผลงานการลงทุนได้ดีเยี่ยม  หลายคนเป็นเศรษฐีหรือมหาเศรษฐี  ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่น่าเชื่อ  คนที่เคยกินเงินเดือนต่างก็ “เกษียณตัวเอง” ตั้งแต่อายุยังน้อยและกลายเป็นนักลงทุนเต็มตัวจนถึงวันนี้  แต่ VI “รุ่นใหม่” ที่เพิ่งจะเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยไม่เกิน 6-7 ปีนั้น  จำนวนมากก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ  หลายคนพยายามเสาะแสวงหาหุ้น “VI” ที่จะทำกำไรได้งดงามและเจริญรอยตาม VI รุ่นก่อนที่เป็น  “ไอดอล” แต่ก็ดูเหมือนว่าจะยังไม่ประสบความสำเร็จนัก  และอาจจะไม่ประสบความสำเร็จเลยก็ได้  ปัญหาที่ผมเห็นก็คือ  เศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยในภาวะปัจจุบันและอาจจะต่อเนื่องไปอีกนานนั้น  ไม่เอื้ออำนวยที่จะทำให้การลงทุนในตลาดหุ้นไทยสร้างผลตอบแทนที่ดีเลิศอย่างที่เคยเป็นเมื่อเกือบ 10 หรือ 20 ปีก่อน  เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ  เราจะหาหุ้น “VI” หรือหุ้นที่จะเป็น  “Super Stock” ในอีก 10 ปีข้างหน้าได้ยากมาก

​วิธีหนึ่งที่จะลงทุนระยะยาวแล้วร่ำรวยเหมือน VI รุ่นก่อนนั้น  ผมคิดว่าเราจำเป็นที่จะต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมการลงทุนที่เอื้ออำนวยมาก  เพราะแม้ว่าผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่ทำผลงานได้ดีเป็นสิบ ๆ ปีจนเปลี่ยนชีวิตได้นั้น  ผมก็คิดว่าส่วนที่สำคัญที่สุดก็คือ  “โชคดี” ที่ผมลงทุนในประเทศไทยในยุคนั้นซึ่งเป็นยุคที่เศรษฐกิจไทยก้าวหน้าเร็วมากและคนไทยเริ่มต้องเก็บเงินเพื่อรองรับการเกษียณของคนที่กำลังแก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว  ซึ่งทำให้มีบริษัทหรือกิจการที่แข็งแกร่งและโตเร็ว  ขณะเดียวกันก็มีเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่เข้ามาแย่งซื้อหุ้นที่มีคุณภาพดีเหล่านั้น  ทำให้หุ้นเหล่านั้นมีมูลค่าสูงขึ้นมหาศาล

​ด้วยวิธีง่าย ๆ ที่ผมใช้ซึ่งก็คือ  การซื้อหุ้นของกิจการที่ “ดีสุดยอด”  นั่นก็คือ  บริษัทที่มีความแข็งแกร่งเพราะมีความได้เปรียบทางการแข่งขันที่ยั่งยืนและโตเร็วด้วย  ในราคาหุ้นที่ถูกหรือราคายุติธรรม   แล้วถือไว้อย่างยาวนานนับ 10 ปี  และได้รับผลตอบเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย  10 เท่า ซึ่งผมเรียกว่าเป็น  “Super Stock” วิธีนี้เป็นวิธีที่ง่ายและไม่ต้องใช้เวลาและความพยายามมาก  สิ่งที่ต้องทำก็คือการวิเคราะห์ “ภาพใหญ่” ให้ถูกต้อง  เลือกหุ้นที่มีศักยภาพที่จะแข็งแกร่งและเติบโตได้อีกนานในราคาหุ้นที่ถูกหรือยุติธรรมซัก 5- 6 ตัว  เสร็จแล้วก็ติดตามดูผลประกอบการและสถานะของกิจการไปเรื่อย ๆ  เปลี่ยนตัวเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้มันหมดสภาพของซุปเปอร์สต็อก  ถ้าทำได้แบบนี้  ในเวลา 10 ปี  เราก็จะ “เห็นหน้าเห็นหลัง” เหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นในตลาดหุ้นไทยเมื่อ 10-20 ปีก่อน  ปัญหาก็คือ  แล้วที่ไหนล่ะที่เราจะทำอย่างนั้นได้ในวันนี้

​คำตอบของผมก็คือ  “เวียตนาม” ข้อแรกก็คือ สภาวะทางเศรษฐกิจและตลาดหุ้นของเวียตนามในวันนี้คล้ายคลึงกับประเทศไทยเมื่อ 10-20 ปี ก่อนมาก  ในขณะเดียวกัน  ตัวหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นจำนวนไม่น้อยก็มี Business Model หรือวิธีทำธุรกิจที่คล้ายกับตลาดหุ้นไทยในเวลานั้น  เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ  มีธุรกิจ “ใหม่ ๆ” ที่กำลังเติบโตอย่างแรงตามฐานะทางเศรษฐกิจของเวียตนามที่โตเร็วมาก  ซึ่งทำให้คนชั้นกลางเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและหันมาใช้สินค้าหรือบริการแบบใหม่ ๆ นั้น  ตัวอย่างเช่น  ธุรกิจ  “Modern Trade” ทั้งหลายไล่ตั้งแต่ห้างที่เป็นช็อปปิ้งมอล Mega Store  ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อสมัยใหม่  ธุรกิจขนส่งสินค้า การเดินทางและท่องเที่ยวเช่น  ท่าเรือ สนามบินและโรงแรม  ธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานทั้งเรื่องของไฟฟ้าและน้ำมัน  ธุรกิจธนาคารและการเช่าซื้อรถยนต์รวมถึงการปล่อยกู้บ้านและบัตรเครดิต  นอกจากนั้นก็ยังมีธุรกิจเกี่ยวกับสาธารณูปโภคที่ยังขาดแคลนมาก  เช่น ทางด่วนและน้ำประปาที่บริษัทเอกชนเข้ามารับสัมปทานกับรัฐ  ทั้งหมดนั้น  ได้รับการพิสูจน์ในประเทศไทยแล้วว่าเป็นบริษัทที่มีศักยภาพสูงที่จะกลายเป็นบริษัทที่แข็งแกร่งและเติบโตได้ในระยะยาว

​ประเด็นที่น่าสนใจยิ่งกว่าก็คือ  บริษัทจดทะเบียนเหล่านั้นส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมด  ยังมีราคาหรือ Market Cap. ต่ำมากเมื่อเทียบกับบริษัทที่กลายเป็นซุปเปอร์สต็อกในตลาดหุ้นไทยแล้ว  ตัวอย่างหุ้นตัวที่โดดเด่นที่สุดในกลุ่มที่ผมคิดว่ามีมูลค่าตลาดต่ำจนแทบไม่น่าเชื่อเมื่อเปรียบเทียบกับของไทยก็เช่น

​หุ้น A ที่ทำสัมปทานทางด่วนที่จะมีระยะเป็นร้อยกม. และยังมีโครงการอื่น ๆ อีกมากและถือว่าเป็นบริษัทที่ทำสัมปทานเกี่ยวกับสาธารณูปโภคที่ใหญ่ที่สุดในเวียตนามนั้น  มี Market Cap. เพียง 5-6,000 ล้านบาท ค่า PE 4-5 เท่า PB 1 เท่า เศษ ๆ และราคาหุ้นขณะนี้เท่ากับครึ่งหนึ่งของราคาสูงสุดที่เกิดขึ้นเมื่อ 3-4 ปีก่อน  แน่นอนว่าบริษัทก็มีปัญหามากมายและมีหนี้ค่อนข้างมาก  อย่างไรก็ตาม  มูลค่าบริษัทก็ดูเหมือนว่าจะไม่สมศักดิ์ศรีกับความใหญ่โตและสำคัญของบริษัทเลย

​หุ้น B ที่ขายโทรศัพท์มือถือยักษ์ใหญ่ที่ครองตลาดเวียตนามค่อนข้างเด็ดขาด  ซึ่งต่อมาขยายเข้าไปขายเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านที่โดดเด่น  และช่วงหลังเข้าไปทำซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดเล็กภายในชุมชนซึ่งเติบโตเร็วมาก  มียอดขายสิ้นปีที่แล้วกว่า 130,000 ล้านบาท มีสาขาทั่วประเทศนับเป็นพัน ๆ สาขา มีการเติบโตปีละ 20-30% ต่อเนื่อง  แต่ค่า PE เพียง 9-10 เท่า Market Cap. ประมาณ 47,000 ล้านบาท  เมื่อเทียบกับยอดขายและกำไรแล้ว  ศักยภาพของบริษัทสามารถเป็นซุปเปอร์สต็อกได้ไม่ยาก  อย่างไรก็ตาม  นี่คือบริษัทที่นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นเต็มเพดานและต้องจ่ายราคาเพิ่มอย่างน้อย 40-50% จากราคาตลาด

​หุ้น C ที่เป็น “จ้าวพ่อ” ด้านของเทคโนโลยีของเวียตนามในแง่ที่ว่าสามารถขายบริการเขียนโปรแกรมให้บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก  ทำคอนเทนต์ทางด้านดิจิตอล  นอกจากนั้นยังให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ตแก่องค์กรและประชาชนทั่วไป  และล่าสุดก็ยังเปิดสถาบันการศึกษาทางด้านดิจิตอลที่มีนักศึกษาเรียนกันจนล้น  ส่วนหนึ่งเพื่อป้อนบุคลากรให้บริษัทด้วย  ค่า PE ของหุ้นแค่ 11 เท่า Market Cap. 48,000 ล้านบาท พอ ๆ  กับบริษัทที่ขายมือถือ  และก็มี Premium หรือราคาหุ้นสำหรับนักลงทุนต่างชาติเหมือนกันแม้จะไม่มากเท่าคือประมาณ 20-30%  และนี่ก็เป็นบริษัทที่โดดเด่นและมีความแข็งแกร่งที่ไม่เหมือนใครในตลาดหุ้นเวียตนามที่ไม่มีในประเทศไทย

​หุ้น D ซึ่งเป็นบริษัทสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงนั้นเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าทั้งเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดและโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินและอื่น ๆ จำนวนมาก  นอกจากนั้นก็ยังมีธุรกิจเดิมที่ทำระบบปรับอากาศที่น่าจะใหญ่ที่สุดในเวียตนาม  รวมถึงยังมีการทำออฟฟิสราคาไม่แพงให้เช่า  ที่น่าสนใจก็เพราะว่าทรัพย์สินที่บริษัทถืออยู่โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าทั้งหลายนั้นมีมูลค่ามากและทำกำไรได้สม่ำเสมอ  แต่ Market Cap. ของบริษัทมีเพียง 14,000 ล้านบาท  ค่า PE 7 เท่า ค่า PB ต่ำกว่า 1 เท่า และปันผลหรือ Dividend Yield ก็มากกว่า 5% ต่อปี

​ทั้งหมดนี้ก็เป็นแค่ “ตัวอย่าง” หุ้นที่มีศักยภาพเป็น ซุปเปอร์สต็อกในอีก 10 ปีข้างหน้า  ความจริงก็คือ  ยังมีหุ้นอีกหลาย ๆ ตัวที่มีความแข็งแกร่งเพราะมีความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจที่ยั่งยืนและมีการเติบโตเร็วมาก  แต่อาจจะมีราคาหุ้นที่สูงขึ้นพอสมควรแล้วและอาจจะไม่สามารถสูงขึ้นต่ออีก 10 เด้งใน 10 ปีข้างหน้า  อย่างไรก็ตาม  จากประสบการณ์ของตลาดหุ้นไทยเมื่อ 10-20 ปีก่อนนั้น  ผมพบว่าเรามีหุ้นที่กลายเป็นซุปเปอร์สต็อกกว่า 10 ตัว  ดังนั้น  ผมคิดว่าตลาดหุ้นเวียตนามในวันนี้ก็น่าจะสามารถสร้างหุ้นที่จะกลายเป็นซุปเปอร์สต็อกใน 10 ปีข้างหน้าไม่น้อยกว่า 10 ตัวเหมือนตลาดหุ้นไทยในอดีต  อย่างไรก็ตาม  การคาดการณ์ว่าหุ้นตัวไหนจะกลายเป็นซุปเปอร์สต็อกก็อาจจะผิดพลาดได้  วิธีที่ดีที่สุดก็คือการลงทุนเป็น “พอร์ต” ของซุปเปอร์สต็อก ซัก 5-6 ตัวและถือหุ้นไว้ให้นานเป็น 10 ปี โดยที่อาจจะต้องมีการปรับพอร์ตบ้างเป็นระยะเมื่อมีข้อมูลของบริษัทเพิ่มขึ้นในแต่ละปี  ด้วยวิธีนี้ VI รุ่นใหม่ก็อาจจะสามารถร่ำรวยได้เหมือน VI รุ่นก่อน

………………….

สัมมนาปรับทัพลงทุนหุ้นเวียดนาม-อเมริกา-จีน ปี 63
1 ปีมีครั้งเดียวเท่านั้น!

วันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน 2563
เวลา 9.00-17.00 น.

On ground: โรงแรม Novotel Siam Square (ติดรถไฟฟ้า BTS สยาม) ราคา 2,400 บาทจองเต็ม100 ทีนั่งแต่ วันเปิดรับสมัครวันแรก แต่ท่านสามารถร่วมสัมมนาทางช่องทาง online ได้คะ

Online: ผ่านทาง Facebook Live กลุ่มปิด ราคา 1,200 บาท

ดูรายละเอียดและสมัครสัมมนาได้ที่: https://bit.ly/316AyPX