หน้าแรก แท็ก ดร.นิเวศน์

แท็ก: ดร.นิเวศน์

สัญญาณเศรษฐกิจถดถอย

0
โลกในมุมมองของ Value Investor          22 สิงหาคม 63 ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร เมื่อสองสามวันก่อนผมได้เริ่มขับรถส่วนตัวไปร่วมสังสรรค์กับเพื่อนกลุ่มนักลงทุน VI ในช่วงเย็นอีกครั้งหลังจากหยุดกิจกรรมที่เคยทำทุกไตรมาศมานานนับสิบปีหลังจากที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาเมื่อ 5-6 เดือนก่อน  ผมเองไม่ได้ขับรถช่วงเย็นที่เป็นช่วงเร่งด่วนแบบนี้มานานแต่ก็จำได้ว่าในอดีตนั้น  เส้นทางที่ผมใช้คือทางด่วนที่ลงถนนพระราม 4 แถวคลองเตยแล้ววิ่งตรงไปทางกล้วยน้ำไทยนั้น  เป็นช่วงที่รถติดหนักมาก  แต่การขับรถครั้งนี้ปรากฏว่ารถกลับไม่ติดเลยแม้ว่าจำนวนรถอาจจะยังมากอยู่  ในความรู้สึกของผมก็คือ  หลังจากโควิด19ในประเทศไทยสงบลงและเราเปิดธุรกิจในประเทศเกือบทั้งหมดแล้ว  กิจกรรมของคนที่ต้องเดินทางประจำวันน้อยลงจนเห็นได้ชัดจากการจราจร จริงอยู่  บางคนอาจจะบ่นว่ารถกลับมา “ติดเหมือนเดิมแล้ว” แต่นั่นคงเป็นบางจุดหรือถนนบางสายและก็อาจจะเป็นบางช่วงเวลา  ตัวอย่างเช่นในวันหยุดยาวที่คนเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัดในบางเส้นทาง  หรือในถนนบางสายเช่นแถวศรีนครินทร์ที่มีการสร้างรถไฟฟ้า เป็นต้น  แต่เส้นทางที่ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงเช่นเส้นทางในศูนย์กลางของกรุงเทพ  ผมคิดว่ารถน้อยลงชัดเจน  ตัวอย่างที่ผมเห็นทุกวันก็คือถนนรางน้ำหน้าบ้านผมที่เคยเป็นแหล่งพักของนักท่องเที่ยวชาวจีน  ที่ตอนนี้ “โล่งตลอด”  นี่ก็เป็นสัญญาณสำคัญที่บอกว่าเศรษฐกิจของไทยกำลังถดถอยลง “อย่างแรง” จำนวนคนเดินห้างก็เป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่บอกว่าเศรษฐกิจกำลังซบเซา    หลายคนอาจจะเถียงว่าห้างใหญ่หลาย ๆ แห่งโดยเฉพาะที่อยู่ที่ “ขอบของกรุงเทพ” ที่ตนเองเดินประจำนั้น  คนก็กลับมา “เหมือนเดิม” แล้ว  หาที่จอดรถไม่ได้และ “คนแน่นยังกับแจกฟรี”  แต่นั่นก็อาจจะเป็น “ความรู้สึก” ที่เกิดขึ้นหลังจากที่ห้างเหงามานานและก็อาจจะเป็นเฉพาะในวันหยุด  วันธรรมดาที่เขาไม่ได้ไปนั้นคนอาจจะว่างมาก   ผมเองเดินและจ่ายตลาดห้างหรูแถวสยามที่เป็นแหล่งสำคัญของนักท่องเที่ยวต่างประเทศแทบทุกสัปดาห์  ผมยืนยันว่าห้างยังเหงามีคนเดินน้อยกว่าเดิมมาก ซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ผมจ่ายสินค้าประจำวันนั้น  ในอดีตจะมีคิวจ่ายเงินยาว  เดี๋ยวนี้บางวันแทบไม่มีคิวเลย  นี่ก็เป็นสัญญาณว่าคนไทยน่าจะใช้จ่ายน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญโดยเฉพาะในสินค้าที่ไม่จำเป็นและ/หรือสินค้าที่ใช้จ่ายโดยนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ ที่น่าประหลาดใจเล็กน้อยที่ผมเห็นก็คือ  สินค้าหรูหราและมีราคาสูงมากอย่างเช่น  ร้านที่ขายสินค้าเครื่องแต่งกาย“ซุปเปอร์แบรนด์” หลายร้านนั้นมีคน “เข้าคิว”  รอเข้าไปชมและซื้อสินค้าอย่างที่เคยเกิดขึ้นในช่วงก่อนโควิด19 แล้ว ราคาสินค้าของร้านเหล่านี้ไม่ได้มีการ “ลดราคากระหน่ำ” เพื่อเรียกลูกค้า  ว่าที่จริงบางร้าน  “ขึ้นราคา” สินค้าที่เคยขายด้วยซ้ำ  นี่ทำให้ผมสรุปว่า  คนที่มีฐานะมั่งคั่งสูงในสังคมไทยนั้น  ไม่ได้ถูกกระทบมากจนต้องลดการใช้จ่ายลงเลย พวกเขาใช้จ่ายเหมือนเดิม  และตอนนี้เนื่องจากว่าไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้  เขาจึงใช้จ่ายในประเทศไทยแทน  และนี่ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกันในต่างประเทศ  ตัวอย่างเช่นในจีนที่ตอนนี้มีข่าวออกมาแล้วว่าสินค้าซุปเปอร์แบรนด์ขายดีขึ้นมากกว่าเดิมก่อนโควิด19 ด้วยซ้ำ นอกจากเรื่องของสินค้าเครื่องแต่งกายหรูแล้ว  บ้านหรูในช่วงหลังโควิดก็ดูเหมือนว่าจะขายดีขึ้นโดยเปรียบเทียบกับบ้านที่ขายคนส่วนใหญ่ทั่วไป  ว่าที่จริงแม้แต่ในช่วงที่ยังปิดเมืองกันอยู่ก็มีสัญญาณแล้วว่าคนมาดูและซื้อบ้านหรูมากขึ้น  นั่นแสดงว่าคน “ซุปเปอร์ริช” หรือคนรวยจัดนั้นไม่ได้ถูกระทบมากจากวิกฤติและยังซื้อสินค้าหรูและมีราคาแพงเหมือนเดิม  นี่ก็พอจะเห็นได้จากการที่บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ขายบ้านหรูทำผลงานในไตรมาศ 2ได้ดีกว่าบริษัทที่เน้นบ้านราคาต่ำหรือระดับกลางที่ถูกกระทบอย่างแรง บ้านมวลชนนั้นอาจจะขายได้น้อยลง  แต่ธุรกิจพวกวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างหลายแห่งอาจจะคุยว่ายอดขายไม่ตกในช่วงปิดโควิด  นี่อาจจะเป็นเรื่องจริง  แต่ก็ต้องระวังว่าสินค้าเหล่านี้มี Lag Time หรือเป็นสินค้าที่เมื่อเศรษฐกิจวิกฤติทันทีนั้น ความต้องการของสินค้ายังมีอยู่เหมือนเดิมเนื่องจากบ้านที่เริ่มสร้างแล้วก็จะต้องสร้างต่อไปจนจบถ้าเจ้าของยังมีกำลังอยู่  ผมเองก็กำลังสร้างเหมือนกันและพบว่างานก่อสร้างนั้นไม่เคยหยุดเลยในช่วงโควิด19  ดูเหมือนว่ามันจะเร็วขึ้นด้วยซ้ำเพราะคนงานไม่ขาดเหมือนในช่วงปกติ  สิ่งที่ต้องระวังก็คือ  หลังจากนี้เมื่องานเริ่มเสร็จ  และงานใหม่ก็ไม่เข้ามาเนื่องจากความต้องการบ้านหรืออาคารต่าง ๆ น้อยลง  ธุรกิจก่อสร้างก็อาจจะเห็นยอดขายหดตัวอย่างแรงได้ การตกต่ำลงของเศรษฐกิจนั้น  ผมคิดว่าสาเหตุหลักก็มาจากการที่ธุรกิจท่องเที่ยว  การเดินทางและกิจกรรมที่คนต้องเข้ามาอยู่ใกล้ชิดกันต้องหยุดลงเกือบจะสิ้นเชิง  นั่นทำให้คนจำนวนมากนับล้าน ๆ คนต้องตกงานทันที  พวกเขาต้องลดการบริโภคลง  ทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นมากที่สุดในช่วงไตรมาศ 2 และเราต่างก็คิดว่าหลังจากนั้นเศรษฐกิจก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ อย่างรวดเร็ว  ไตรมาศ 2 น่าจะต่ำสุดและช่วงต่อจากนี้ความเจ็บปวดก็น่าจะน้อยลง  อย่างไรก็ตาม  ผมก็ค่อนข้างประหลาดใจเมื่อได้ข่าวว่าลูกสาวเพื่อนที่ทำงานเป็นแอร์โฮสเตทของสายการบินระดับท็อป ๆ ของโลกแห่งหนึ่งถูกปลดแบบ  “ฟ้าผ่า” หลังจากที่หยุดไม่ได้ทำงานมาหลายเดือนแล้วและกำลังหวังว่าจะกลับไปทำงานเนื่องจากสายการบินเริ่มจะกลับมาบินใหม่ในบางเส้นทาง  เหตุการณ์นี้ทำให้ผมคิดว่า  ในช่วงไตรมาศ 2 นั้น  บริษัทหรือธุรกิจบางแห่งก็ยังพยายามรักษาคนงานไว้  แต่พอถึงวันนี้เขาก็รับกับค่าใช้จ่ายไม่ไหวและต้องปลดคนออกไป  ช่วงเวลาเดียวกันรัฐบาลก็ช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายแก่คนจำนวนมากเดือนละ 5,000 บาทจนสิ้นเดือนสิงหาคม  ในอีกด้านหนึ่งแบ้งค์ชาติก็ยอมให้ลูกหนี้จำนวนมากพักการชำระเงินจนถึงเดือนกันยายน  ทั้งหมดนี้ถ้าไม่ได้รับการต่ออายุอะไรจะเกิดขึ้น?  ผมเองคิดว่าเศรษฐกิจคงไม่เลวร้ายลงกว่าไตรมาศ 2  แต่จะดีขึ้นอย่างรวดเร็วผมก็ยังสงสัย กลับมาเรื่องของการลงทุนบ้าง  ในที่ประชุมสังสรรค์เพื่อน VI นั้น  ทุกครั้งเราก็จะมีการ  “เลือกหุ้น” ที่จะทำผลงานได้ดีใน 3 เดือนข้างหน้า  โดยที่ทุกคนจะต้องเลือกหุ้นที่ตนเองชอบ  ส่วนใหญ่ก็คนละ 2-3 ตัว  พอพบกันอีกในไตรมาศหน้าก็จะมาดูว่าใครได้ผลตอบแทนเท่าไร นี่ก็เป็นกิจกรรมเล่น ๆ ที่ไม่ได้ซีเรียสหรือแข่งขันอะไรกันแต่ทุกคนก็มักจะเลือกในสิ่งที่ตนเองลงทุนจริง ๆ  อยู่แล้ว  ผลการเลือกในครั้งนี้มีการเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดจากครั้งหลัง ๆ นั่นก็คือ  ในช่วงน่าจะ 2-3 ปีมาแล้ว  VI กลุ่มนี้มักจะเลือกหุ้นเวียตนามมากกว่าหุ้นไทย  หุ้นไทยที่ถูกเลือกนั้นน้อยลงมาก  ส่วนหนึ่งเพราะพวกเขาได้หันไปลงทุนในตลาดหุ้นเวียตนามมากขึ้น  บางคนโดยเฉพาะที่เป็นชาวต่างชาตินั้นไม่ได้ลงทุนในตลาดหุ้นไทยอีกแล้ว  แต่ในครั้งนี้ปรากฏว่าจำนวนหุ้นที่ถูกเลือกกลับกลายเป็นหุ้นไทยเป็นส่วนใหญ่  นี่ก็เป็นการแสดงให้เห็นว่าโควิดน่าจะทำให้หุ้นไทยบางกลุ่มหรือบางตัวมีความน่าสนใจมากขึ้นจน VI บางคนที่เคยทิ้งตลาดไปนั้นหันกลับมาลงทุนมากขึ้น ความสนใจในหุ้นของคนไทยเองนั้น  ผมคิดว่าเกิดขึ้นกับคนทั่วไปด้วยเห็นได้จากจำนวนนักลงทุนหน้าใหม่ที่เพิ่มขึ้นมากอย่างเห็นได้ชัดในช่วงโควิด19  นี่ก็เป็นอะไรที่แปลกเหมือนกัน  เหตุผลนั้นผมคิดว่า  ประการแรก  เป็นเพราะคนที่มีฐานะดีและมีเงินสดอยู่มากนั้นไม่ได้ถูกกระทบจากโควิด  พวกเขาคิดว่าการลงทุนในตลาดหุ้นที่ตกลงมานั้นเป็นโอกาสงดงามที่จะทำกำไรอย่างง่าย ๆ  เมื่อเทียบกับการฝากเงินที่ให้ผลตอบแทนต่ำมาก  ประการต่อมาก็คือ  พวกเขาคิดว่าผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่จะถูกกระทบนั้น  น่าจะเกิดขึ้นครั้งเดียว  หลังวิกฤติแล้วทุกอย่างก็จะกลับมาภายใน 1-2 ปีหรืออย่างมากก็อาจจะ 3 ปี  เรื่องที่บริษัทจะ “ล่มสลาย” หรือล้มละลายไปนั้นไม่น่าจะเกิดขึ้น  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  สภาพคล่องในระบบการเงินของไทยยังมีเหลือล้น  ตราสารหนี้ที่ออกมาก็ยังมีคนต้องการอีกมาก   เมื่อโควิดผ่านไปและลูกค้ากลับมา  รายได้และกำไรของบริษัทก็จะกลับมา  “เหมือนเดิม”  และสุดท้ายก็คือ  ตลาดหุ้นต่างประเทศเช่นในสหรัฐอเมริกานั้น  ดัชนีหุ้นกลับมาที่เดิมและสูงกว่าแล้ว  และผลประกอบการของบริษัทโดยเฉพาะในกลุ่มไฮเท็คนั้นก็เพิ่มขึ้นมาก  ดังนั้น  เขาเชื่อว่าในที่สุดบริษัทและหุ้นไทยก็จะต้องตามกันไป ข้อสรุปทั้งหมดของผมก็คือ  ภาวะเศรษฐกิจและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนต่อจากนี้น่าจะยังลำบากอยู่มาก โอกาสฟื้นตัวน่าจะเป็นไปอย่างช้า ๆ  แต่หุ้นที่ตกลงไปแรงมากกลับฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยเม็ดเงินของคนไทยและนักลงทุนไทยซึ่งยังมีเงินมากและไม่ถูกกระทบจากภาวะเศรษฐกิจมากนัก  อย่างไรก็ตาม  เมื่อความจริงเริ่มจะปรากฏออกมาเรื่อย ๆ  ก็อาจจะมีความเสี่ยงว่า  นักลงทุนจะเริ่มตระหนักและถอนเงินออก  และวันนั้นก็อาจจะเป็นวันที่ตลาดหุ้นปรับตัวลงมาให้เหมาะสมกับพื้นฐานที่แท้จริงของตลาดหุ้นไทย

Corner หุ้น IPO

0
โลกในมุมมองของ Value Investor    8 สิงหาคม 63 ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร “วัฏจักร์” ของตลาดหุ้นอย่างหนึ่งที่มักจะเกิดขึ้นบ่อย ๆ ในประวัติศาสตร์ก็คือ  เมื่อตลาดหรือดัชนีตกต่ำลงมาถึงจุดหนึ่ง  มันก็จะปรับตัวขึ้น  ตอนเริ่มต้นก็จะไปอย่างช้า ๆ  และนำด้วยหุ้นขนาดใหญ่ที่มีพื้นฐานดีและมีกำไรที่กำลังจะฟื้นตัวดีขึ้น  ต่อมาเมื่อดัชนีปรับตัวขึ้นถึงจุดหนึ่ง  หุ้นขนาดกลางก็จะเริ่มปรับตัวขึ้นและจะปรับตัวขึ้นแรงกว่าหุ้นขนาดใหญ่ที่มักจะ “อุ้ยอ้าย” และโตช้ากว่า  และหลังจากที่หุ้นขนาดกลางปรับตัวขึ้นไปมากและกระจายตัวออกไปก็จะมาถึงคิวหุ้นตัวเล็กที่เริ่มเห็นว่ากิจการจะมีกำไรดีขึ้นเนื่องจากภาวะทางเศรษฐกิจที่น่าจะดูดีขึ้นอย่างมั่นคงแล้ว  ในขณะนี้  นักลงทุนส่วนบุคคลรายย่อยก็จะเริ่มเข้ามาเก็งกำไรซื้อขายหุ้นกันเป็นจำนวนมากเนื่องจากได้รับข่าวสารที่ว่าตลาดหุ้นทำเงินให้นักลงทุนจำนวนมาก  การลงทุนสามารถ  “สร้างเศรษฐี” ให้กับนักเล่นหุ้นเป็นกอบเป็นกำ ความร้อนแรงของตลาดหุ้นหรือดัชนีหุ้นเมื่อวิ่งขึ้นถึงจุดหนึ่ง  หุ้นทั้งหมด เฉพาะอย่างยิ่งหุ้นตัวเล็กก็จะแพงจนเริ่มมีคนขายหุ้นทำให้หุ้นเริ่มหยุดวิ่ง  ข่าวดี ๆ  ที่จะขับเคลื่อนหุ้นเริ่มหมด  ณ. เวลานี้ก็ถึงคิว   หุ้น “IPO” หรือหุ้นที่เพิ่งเข้าตลาดหุ้นครั้งแรกโดยเฉพาะที่เป็นหุ้นขนาดเล็ก  หุ้นเหล่านี้ถูกนำมาขายโดย “Underwriter” และที่ปรึกษาทางการเงินที่จะประเมินราคาหุ้นโดยอิงจากผลประกอบการของบริษัทที่มักจะมีตัวเลขที่น่าเชื่อถือเพียงไม่กี่ปีหรือบางทีแค่ปีหรือสองปี โดยที่ปีสุดท้ายก่อนเข้าตลาดก็จะเป็นปีที่มักจะดีกว่าปกติ  บ่อยครั้งก็จะเป็นปีที่ผลประกอบการ  “ก้าวกระโดด” วาณิชธนากรก็จะใช้ตัวเลขนี้และประมาณการต่อไปข้างหน้าที่มักจะเติบโตสูงกว่าอดีตมาก  หลังจากนั้นพวกเขาก็จะ “ตีมูลค่า” โดยใช้ตัวเลขเช่น ค่า PE ที่มักจะอิงจากค่า PE ของอุตสาหกรรม  คูณด้วยตัวเลขกำไรของบริษัท  จากนั้นก็จะมีการ “Discount” หรือปรับลดราคาลงมาซัก 10-15% เพื่อที่จะแสดงให้นักลงทุนเห็นว่าจะได้ซื้อหุ้นถูกลงซึ่งจะทำให้“มีกำไร” เมื่อหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ จากสถิติที่มีการศึกษาโดยเฉพาะหุ้นในตลาดของอเมริกานั้น  ดูเหมือนว่าหุ้น IPO นั้นจะถูกตั้งราคาที่ “แพงเกินไป”  เพราะหลังจากที่หุ้นเข้าซื้อขายในตลาดนานพอสมควรเช่น 1 ปีหลังจากซื้อขายวันแรก  ราคาหุ้นมักจะต่ำกว่าราคาจองเป็นส่วนใหญ่  จนผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ในแวดวงของตลาดหุ้น ชอบพูดประชดหุ้น IPO ว่าไม่ใช่มาจากคำย่อว่า “Initial Public Offering” แต่เป็น “It’s Probably Overpriced” หรือแปลว่า “ราคาหุ้นคงจะแพงเกินไป” เหตุผลก็คงเป็นเพราะว่า IPO นั้นมักจะเกิดขึ้นมากตอนหุ้นในตลาดโดยรวมร้อนแรงและราคาหุ้นส่วนใหญ่ก็มักจะแพงเกินไปอยู่แล้ว  ดังนั้นหุ้น IPO ก็มักจะต้องแพงตามและแพงกว่า  เนื่องจากทุกคนต้องการมันและที่ปรึกษาและเจ้าของหุ้นต่างก็มักจะมองโลกในแง่ดีและเชื่อในผลประกอบการที่มักจะสดใสกว่าความเป็นจริง ในตลาดหุ้นไทยเองนั้น  IPO ยังเป็นหุ้นที่นักเล่นหุ้นส่วนบุคคลชอบมากเนื่องจากมันสามารถเป็นเครื่องมือของการ“เก็งกำไร” ที่ทรงประสิทธิภาพเพราะว่าราคาหุ้นจะมีความผันผวนสูงกว่าหุ้นที่อยู่ในตลาดมานานแล้วมาก  ราคาที่เข้าซื้อขายหุ้นในวันแรกนั้นอาจจะแตกต่างจากราคาจองเป็นหลายสิบเปอร์เซ็นต์เป็นเรื่องปกติ  ในประวัติศาสตร์เองนั้น หุ้นบางตัวขึ้นไปถึง 200% หรือชนเพดานก็มีอยู่บ่อย ๆ  ในทางตรงกันข้าม  เวลาที่เกิดการขาดทุนนั้น  กลับมีการขาดทุนไม่มาก แค่ 10-20% ก็ถือว่ามากแล้ว  เหตุผลก็เพราะว่า  “ไม่มีใครมีต้นทุนต่ำกว่าราคาจอง” ยกเว้นแต่ผู้ถือหุ้นเดิมหรือเจ้าของที่หุ้นมักจะถูก “ล็อก”เอาไว้ไม่ให้ขายในช่วงเวลาหนึ่งหลังหุ้นเข้าตลาด  ดังนั้น  การจองซื้อหุ้น IPO รวมถึงการเล่นหุ้นในช่วงวันแรก ๆ  ที่เข้าตลาดหุ้นจึงเป็นสิ่งที่นักลงทุนส่วนบุคคลชอบมาก  หลายคนอาจจะไม่สนใจเรื่องของพื้นฐานและ “ราคาหุ้นที่เหมาะสม”  เกือบทุกคนเข้ามาเล่น “เก็งกำไร” ซึ่งทำให้ปริมาณการซื้อขายหุ้น IPO ในช่วงแรก ๆ  ของการเข้าตลาดหุ้นสูงแบบมโหฬาร และราคาหุ้นบ่อยครั้งก็ขึ้นแบบไม่น่าเชื่อ แต่ไม่ใช่หุ้น IPO ทุกตัวจะประสบความสำเร็จ  การคาดการณ์ว่าหุ้นตัวไหนจะ “วิ่งระเบิด” นั้นผมคิดว่าน่าจะต้องมีปัจจัยต่าง ๆ  ที่เกี่ยวข้องกับการเก็งกำไรมากกว่าพื้นฐานที่แท้จริงของกิจการและความถูกแพงของราคาหุ้น  ซึ่งผมจะลองเสนอเป็นข้อ ๆ  ดังต่อไปนี้ ข้อแรกก็คือ หุ้น IPO ที่จะประสบความสำเร็จมักจะอยู่ในอุตสาหกรรม  “แห่งอนาคต” เฉพาะอย่างยิ่งเป็นอุตสาหกรรม“ไฮเท็ค”  หรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับ “ดิจิตอล”  หรืออุตสาหกรรมที่เป็น “เมกาเทรนด์” อื่น ๆ ที่คนเชื่อว่าจะเติบโตได้อย่างรวดเร็วและต่อไปได้อีกนาน  และโดยที่นักเล่นหุ้นทั่วไปนั้นมักจะไม่ค่อยเข้าใจเรื่องของเทคโนโลยีมากนัก  ดังนั้น หุ้น IPO ที่จะเข้าตลาดก็จะต้องมีชื่อที่คนฟังแล้วจะเกิดความมั่นใจว่านี่คือบริษัทที่ “ใช่เลย” เพราะมีคำที่เกี่ยวกับ“เทคโลยีใหม่ระดับโลก” หรือมาจากแหล่งที่เป็น “ศูนย์กลางของเทคโนโลยีระดับโลก” และที่สำคัญก็คือ  บริษัทมีการซื้อขายสินค้ากับบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก   และในกรณีที่เป็นสินค้าหรือบริการในประเทศก็จะต้องมีชื่อที่เกี่ยวข้องกับอินเตอร์เน็ตหรืออะไรก็ตามที่กำลังเป็นที่กล่าวขวัญถึงกันมาก เช่น คำว่าคลาวด์หรือแพลทฟอร์ม  เป็นต้น ข้อสอง  เป็นบริษัทที่กำลังได้ประโยชน์จากสถานการณ์ปัจจุบันอย่างมาก  เช่น  เป็นบริษัทที่ผลิตสินค้าที่ใช้ในการป้องกันโควิด19 หรือเป็นธุรกิจที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคเลยและยอดขายก็ไม่ได้ตกลงมา  บางทีอาจจะเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ  แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ  กำไรของบริษัทกำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วจน “น่าทึ่ง” ซึ่งทำให้เกิดภาพว่าบริษัทมีความโดดเด่นมากในยามที่บริษัทอื่น ๆ  ส่วนใหญ่กำลังย่ำแย่จนแทบเอาตัวไม่รอด  เรื่องราวของบริษัทที่อยู่ในภาพพจน์ของนักลงทุนก็คือเป็นหุ้นเล็กที่ “เติบโตเร็ว” ซึ่งหาได้ยากในตลาดหุ้นไทยในภาวะปัจจุบันที่เศรษฐกิจเติบโตช้าลงอย่างมาก ข้อสามซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญมากที่จะทำให้หุ้น IPO สำเร็จในช่วงเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นในช่วงแรกก็คือ  ขนาดหรือจำนวนของหุ้นที่ขายให้กับประชาชนหรือนักลงทุนทั่วไปจะต้องไม่สูงมาก  ซึ่งก็หมายความว่า Free Float หรือหุ้นที่หมุนเวียนในตลาดจะมีไม่มาก  เช่น  แค่ไม่กี่ร้อยล้านบาทหรืออย่างมากก็ไม่เกิน 1,000 ล้านบาท  เพราะถ้าเป็นหุ้นที่มีFree Float สูง  การที่จะมีเม็ดเงินมาไล่ซื้อดันราคาหุ้นให้สูงขึ้นไปก็ทำได้ยาก  หุ้นที่มีหุ้นกระจายในตลาดน้อยและเป็นหุ้นที่มีคุณสมบัติโดดเด่นสำหรับการเก็งกำไร เช่น อยู่ในอุตสาหกรรมไฮเท็คและเติบโตเร็ว  นั้น  จะมีโอกาสที่จะถูก “Corner” หรือถูกซื้อโดยนักเก็งกำไรหรือนักปั่นหุ้นจน “เกือบหมด” ซึ่งจะส่งผลให้ราคาหุ้น “วิ่งระเบิด” โดยที่พื้นฐานของกิจการอาจจะไม่รองรับ  ตัวอย่างก็เช่น หุ้นตัวเล็กหลายตัวที่วิ่งขึ้น 200% ในการซื้อขายวันแรกในสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นต้น ผมเชื่อว่าปรากฏการณ์ของ “ภาวะกระทิง” ของหุ้น IPO โดยเฉพาะที่เป็นหุ้นขนาดเล็กซึ่งผมคิดว่ามาจากการที่หุ้นถูกCorner นั้น  อาจจะดำเนินต่อไปได้อีกระยะหนึ่งแต่ก็คงไม่นานนัก  เหตุผลก็เป็นเพราะภาวะการเก็งกำไรของตลาดหุ้นไทยส่วนที่เป็นหุ้นขนาดเล็กที่กำลังเกิดขึ้นนี้  คงไปต่อไม่ได้นาน  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  ความร้อนแรงของหุ้น IPO นั้น มักจะเป็นสัญญาณว่าภาวะกระทิงใกล้จะจบ  ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น  ราคาหุ้นที่ขึ้นไปสูงมากก็จะไม่สามารถดำรงอยู่ได้ นักลงทุนจะต้องเข้าใจว่า  บริษัทที่เราคิดว่าเป็น “ไฮเท็ค” นั้น  อาจจะไม่ใช่บริษัทไฮเท็คที่มีเทคโนโลยีระดับสูงจริง ๆ และบริษัทอื่นจำนวนมากก็สามารถทำได้  ไม่มีทางที่บริษัทจะสามารถเติบโตและทำกำไรมากมายได้ในระยะเวลาอันสั้น  และสิ่งที่จะยืนยันก็คืองบการเงินที่จะทยอยออกมาทุกไตรมาศ   นักเล่นหุ้นเก็งกำไรในหุ้น IPO บางคนอาจจะคิดว่านี่คือการเก็งกำไรและจะซื้อขายหุ้นอย่างรวดเร็ว  ดังนั้น  ถ้าดูว่าหุ้นอาจจะไม่ขึ้นต่อแล้วก็จะขายออกไปก่อน  แต่ในความเป็นจริงนั้น  แทบทุกคนที่เข้ามาซื้อหุ้นก็จะคิดแบบเดียวกัน  ดังนั้น  ในวันที่เราคิดจะขาย  คนอื่นก็อาจจะคิดแบบเดียวกัน  คนที่จะซื้อมีน้อยมาก  หุ้นก็อาจจะตกลงมาได้มากจนเราไม่อยากขายและในที่สุดก็จะ  “ติดหุ้น”  เพราะราคาหุ้นต่ำกว่าต้นทุนของเรามาก  และถ้าขายก็จะขาดทุนอย่างหนัก  ผมคิดว่าคนที่จะมีโอกาสกำไรได้มากในการเล่นหุ้น IPO ก็คือคนที่ “คุมเกม” คือคนที่มีเม็ดเงินมากพอที่จะ Corner หุ้น ซึ่งจะดันราคาหุ้นให้สูงขึ้นไปได้มากตามที่ต้องการ  จากนั้นก็จะค่อย ๆ  ทยอยขายหุ้นออกในเวลาที่เหมาะสมเป็นระยะจนหมดก่อนที่  “ความจริง” ในพื้นฐานของหุ้นจะปรากฏ

วิวัฒนาการของชีวิตนักลงทุน

0
โลกในมุมมองของ Value Investor  31 พ.ค. 63 ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร เวลาที่คนเรามีอายุมากขึ้นนั้น  เรามักจะมองกลับไปในอดีตรำลึกถึงความหลังมากขึ้นเรื่อย ๆ  เพราะนั่นเป็นความสุขอย่างหนึ่งที่ไม่ต้องใช้เงินและพลังงาน  ผมเองก็เป็นอย่างนั้น  แต่ในฐานะที่เป็นนักลงทุนแบบ...

Old Normal Investor

0
โลกในมุมมองของ Value Investor 23 พฤษภาคม 63 ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ​ระยะนี้เรื่องของ “New Normal” นั้นน่าจะเป็นประเด็นที่ร้อนแรงที่สุดในทุกวงการ  ชีวิตการทำงาน  สังคม  การเรียน  และที่สำคัญการทำธุรกิจและการลงทุนต่างก็ถูกกล่าวถึงว่าจะมี New Normal  นั่นก็คือ  มีวิถีหรือวิธีใหม่เกิดขึ้นและจะยังอยู่ต่อไปหลังจากวิกฤติโควิด-19  สิ่งที่โดดเด่นก็เช่นการซื้อสินค้าทางอินเตอร์เน็ต  การทำงานที่บ้าน การประชุมทางไกล  และการเรียนออนไลน์ เป็นต้น  เช่นเดียวกัน  การลงทุนเองนั้น  ก็มีการพูดถึงการลงทุนที่จะเป็น “New Normal” ด้วยเช่นกันและก็มีผู้พูดถึงกันมากแล้ว แต่สิ่งที่ผมจะพูดถึงในวันนี้นั้นกลับเป็นเรื่องที่ดูย้อนแย้ง  นั่นก็คือ  ความคิดและวิธีการการลงทุนหรือการเล่นหุ้นของนักลงทุนไทยที่ผมรู้สึกว่าโควิด-19 ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเลย...

สงครามจริงกำลังจะเริ่ม

0
โลกในมุมมองของ Value Investor  16 พฤษภาคม 63 ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร สงครามโลกครั้งที่สองนั้น  นักประวัติศาสตร์ต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่าเริ่มต้นเมื่อเยอรมันบุกโปแลนด์ในวันที่ 1 กันยายน 1939 และฝรั่งเศสกับอังกฤษประกาศสงครามกับเยอรมันเพราะได้ประกาศค้ำประกันความเป็นอิสระของโปแลนด์เอาไว้  แต่ในช่วงแรกของสงครามเป็นเวลาถึง 8 เดือนนั้น  การรบเกิดขึ้นน้อยมาก  ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องของการปิดน่านน้ำและยิงกันทางอากาศประปรายไม่เหมือนกับสงครามจริง ๆ  จนถูกเรียกว่าเป็น  “Phony War” หรือ“สงครามเก๊”  แต่หลังจากที่เยอรมันเริ่มบุกเข้ายึดฝรั่งเศสในช่วงเดือนพฤษภาคม 1940  สงครามเต็มรูปแบบก็เริ่มขึ้นและยืดเยื้อต่อเนื่องไปอีกกว่า 5 ปีส่งผลให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงทั้งด้านของชีวิตคนและเศรษฐกิจอย่างที่ไม่เคยประสบมาก่อน “สงครามกับโควิด19” นั้น  ก็อาจจะคล้าย ๆ  กับสงครามโลก  ความสูญเสียก็น่าจะแรงคล้าย ๆ  กัน  มันเริ่มที่อู่ฮั่นช่วงปลายปี 2562 และก็ลามไปทั่วโลก  ในช่วงแรกนั้น  ก็ดูเหมือนว่าจะไม่มีอะไรมากเพราะอาการส่วนใหญ่ไม่รุนแรง บางคนบอก  “แค่ไข้หวัดธรรมดา”  คนที่ตายก็มักเป็นคนสูงอายุ  นั่นคือ “Phony War” แต่ “สงครามจริง ๆ”  เกิดขึ้นอีก 3-4 เดือนต่อมาเมื่อประเทศต่าง ๆ  ทั่วโลกเกิดการระบาดจนต้อง “ปิดเมือง” เช่นเดียวกับประเทศไทยที่เราต้องปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจแทบทุกอย่างในเดือนมีนาคม 2563 และก็ไม่มีใครรู้ว่าสงครามโควิด19 จะจบเมื่อไร สำหรับผมเองนั้น  เรื่องเชื้อโรคหรือเรื่องของสุขภาพเป็นมิติสำคัญที่ทุกคนเห็นชัดเจนและเราก็ต่อสู้เพื่อเอาชนะมัน  เรามองว่าถ้าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง  จำนวนคนตายเพิ่มขึ้นน้อยลง  เราก็ “กำลังชนะ”  แต่ถ้ามองอีกมิติหนึ่ง  เราก็คงต้องดูถึง “ความเสียหายทางเศรษฐกิจ” ด้วยว่ามีความรุนแรงแค่ไหน  เท่าที่ดูตอนนี้ก็ดูเหมือนว่าไทยเราอาจจะกำลังชนะในสงครามกับไวรัส  แต่สงครามทางเศรษฐกิจนั้นดูเหมือนว่า “เพิ่งจะเริ่มต้น”  และสัญญาณที่เห็นชัดเจนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็คือ  การที่การบินไทยกำลังอาจจะต้องเริ่มเข้าแผนฟื้นฟูเพื่อที่จะเอาตัวรอดจากวิกฤติทางการเงินอานิสงค์จากวิกฤติโควิด19 ที่ทำให้ธุรกิจการบินทั้งหมดแทบจะหยุดอย่างสิ้นเชิง  ผมไม่รู้ว่าในที่สุดการบินไทยจะประสบความสำเร็จไหม  แต่กำลังวิตกว่าบริษัทโดยเฉพาะที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่อื่น ๆ จะประสบปัญหาตามมาหรือไม่และมากน้อยแค่ไหน  ผมเชื่อว่าหลายคนอาจจะไม่คิด  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  พวกเขาคิดว่าบริษัทใหญ่ ๆ  โดยเฉพาะในตลาดหุ้นต่างก็แข็งแรง  มีกำไรที่ดีเยี่ยม  ราคาหุ้นก็อยู่ในระดับสูงและ “กำลังกลับมา”  จะไปเปรียบเทียบกับการบินไทยที่ “มีปัญหามานานแล้ว” ไม่ได้ ผมอยากจะเถียงว่ากรณีของการบินไทยเองนั้น  ใครเคยคิดว่าอาจจะต้องเข้าแผนฟื้นฟูตามกฎหมายล้มละลาย?  จริงอยู่  การบินไทยอาจจะขาดทุนมากกว่าคนอื่น  มีหนี้มากกว่าคนอื่น  แต่การบินไทยนั้นเป็น  “สายการบินแห่งชาติ” ที่มีรัฐบาลเป็นเจ้าของและผู้ถือหุ้นใหญ่ที่พร้อมจะเข้ามาสนับสนุนตลอดเวลาและก็ทำมาตลอด  ความน่าเชื่อถือนี้ทำให้บริษัทสามารถกู้หนี้ยืมสินได้แทบไม่จำกัด  นักลงทุนจำนวนมากโดยเฉพาะที่เป็น “นักออม” เช่น คนที่อยู่ในแวดวงสหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดใหญ่ของหน่วยงานภาครัฐต่างก็ดูว่าหุ้นกู้หรือตราสารหนี้อื่นของการบินไทยนั้นให้ผลตอบแทนที่ดีและมีความปลอดภัยสูง    ว่าที่จริงแม้แต่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือเองก่อนเกิดวิกฤติก็ยังให้เรทติ้งบริษัทในระดับ A ซึ่งถือว่าเป็นระดับ “ดีมาก” ไม่แพ้บริษัทจดทะเบียน “ยักษ์ใหญ่” ทั้งหลายในตลาดหุ้นไทย  ดังนั้น ความคิดที่ว่า  บริษัทมีความมั่นคง  มีเรทติ้งดี  และมีโอกาสล้มน้อยมากนั้น  อาจจะไม่จริงในช่วงที่เกิด “สงครามโควิด19” วิกฤติโควิด19 นั้น  มองในแง่ของตลาดหุ้นที่เมื่อเริ่มเกิดเหตุการณ์ราคาหรือดัชนีตลาดหุ้นตกลงมาอย่างแรงประมาณ30-40% ในระยะเวลาอันสั้น  แต่เมื่อผ่านไปเพียงแค่ 1-2 เดือนดัชนีกลับสามารถปรับตัวขึ้นมาได้จนติดลบไปเพียง 10-20% จากช่วงก่อนเกิดโควิด19  และในตลาดหุ้นอย่างตลาดนาสดักซึ่งเป็นหุ้นกลุ่มไฮเทคนั้น  ดัชนีหุ้นกลับปรับตัวขึ้นไปจนสูงกว่าตอนต้นปีแล้วนั้น  ก็ต้องถือว่าตลาดหุ้นทั่วโลกฟื้นตัวแบบตัว V ซึ่งเป็นสัญญาณว่าวิกฤติกำลังผ่านไปอย่างรวดเร็วจนดูไม่เหมือนว่าโลกกำลังมีวิกฤติด้วยซ้ำ แต่ในด้านของเศรษฐกิจนั้น  ดูเหมือนว่าโลกกำลังเจอกับ “สงครามจริง” ที่เพิ่งจะเริ่ม  การคาดการณ์การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของทุกประเทศดูเหมือนว่าจะเลวร้ายลงเรื่อย ๆ  บริษัทที่ถูกกระทบอย่างแรงเช่น สายการบินหลายแห่งอยู่ในสภาวะ “ล้มละลาย” และหลายแห่งก็จะล้มจริงถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล  การคาดการณ์ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนจำนวนมากโดยเฉพาะที่อยู่ในธุรกิจ “เก่า” อย่างเช่นรถยนต์และน้ำมันก็ย่ำแย่มากไม่ต้องพูดถึงธุรกิจที่ถูกกระทบจากโควิดโดยตรงอย่างเรือสำราญหรือโรงแรม เป็นต้น โดยที่สงครามนี้ก็ดูเหมือนว่ายังไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อไร ความขัดแย้งในตรรกะที่ว่าเศรษฐกิจกำลัง “เน่า”  แต่หุ้น  “ดี” นี้  ได้รับการอธิบายโดยบางคนว่าเป็นเพราะโลกกำลังเปลี่ยนไป  มีการแยกตัวระหว่างตลาดหุ้นหรือตลาดการเงินซึ่งเป็นตลาด “จำลองหรือตลาดเสมือนจริง” กับตลาดที่เป็นเศรษฐกิจ “จริง”  พูดง่าย ๆ  หุ้นจะขึ้นจะลงก็เป็นเพราะมีคนนำเงินมาซื้อหรือขายด้วยเหตุผลทางการเงินหรือเรื่องอื่นที่ไม่ค่อยเกี่ยวกับเศรษฐกิจอย่างที่เราเข้าใจและคุ้นเคยกันมานาน  แต่นี่สำหรับผมแล้วก็ต้องบอกว่าผมไม่เข้าใจและก็ไม่เชื่อ  ผมถูกสอนให้เชื่อมาตลอดว่า  ราคาหุ้นในระยะยาวแล้วจะต้องสะท้อนถึงผลประกอบการระยะยาวของกิจการเสมอ  ดังนั้น  ถ้าหุ้นทั้งตลาดหรือดัชนีตลาดหุ้นขึ้นและดำรงอยู่ได้ในระยะยาว  เศรษฐกิจและกิจการก็น่าจะต้องดีในระยะยาวด้วย  ถ้ามองไปข้างหน้าแล้วเศรษฐกิจ “เน่า” แน่ ๆ  หุ้นไม่น่าจะขึ้นไปแล้วอยู่ทน  ในไม่ช้าก็จะต้องตกลงมา ประเด็นที่จะต้องคิดก็คือ  เศรษฐกิจจะเน่าไปนานแค่ไหนและจะฟื้นตัวเร็วแค่ไหน  ถ้าคำตอบก็คือ  “เร็วมาก” และบริษัทก็สามารถกลับมาสร้างรายได้และกำไร “เท่าเดิม” ในเวลาแค่ปีสองปี  แบบนี้หุ้นก็จะมีเหตุผลที่จะขึ้นไปตั้งแต่ช่วงนี้แล้วก็เดินหน้าต่อ  “มองข้าม”  ปัญหา “ชั่วคราวสั้น ๆ”  เช่นเรื่องโควิด19 ไป   แต่ถ้าเศรษฐกิจมีปัญหาต่อเนื่องไปพอสมควร  บริษัทขนาดใหญ่จำนวนมากยังต้องปรับโครงสร้างและแก้ปัญหาอันเนื่องจากโควิด19ไปอีกนาน  แบบนี้หุ้นก็ไม่สามารถยืนอยู่ได้และอาจจะตกลงมาแรงได้อีก  ซึ่งนี่ก็คือสถานการณ์อย่างที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในปี 2540 ที่เกิดวิกฤติการเงินรุนแรงและกว่าที่เศรษฐกิจและบริษัทจะฟื้นตัวก็กินเวลาหลายปี ถ้ามองอีกมุมหนึ่งโดยเฉพาะในกรณีตลาดหุ้นของอเมริกา  คำอธิบายว่าทำไมตลาดหุ้นดีทั้ง ๆ  ที่เศรษฐกิจกำลังจะแย่ก็คือ  หุ้นที่ดีได้นั้นเป็นเพราะมันเป็นหุ้นไฮเทคขนาดใหญ่ที่ไม่ถูกกระทบโดยเศรษฐกิจที่กำลังแย่  ดังนั้น  หุ้นพวกนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นและเนื่องจากมีขนาดใหญ่  มันจึงช่วยพยุงให้ตลาดหุ้นโดยรวมไม่ตกลงมามากอย่างที่ควรจะเป็น  ถ้าตัดหุ้นเหล่านี้ออกไป  ดัชนีอาจจะแย่กว่านี้มากก็ได้  แต่นี่ก็ไม่ได้อธิบายว่าทำไมตลาดหุ้นไทยถึงตกลงมาไม่มากเช่นกัน เพราะว่าไทยไม่มีหุ้นไฮเทคขนาดใหญ่ที่มาช่วยค้ำยันตลาด  ผมเองก็ไม่สามารถอธิบายได้ชัดเจน  บางทีตลาดหุ้นไทยอาจจะถูกซื้อขายโดยคนไทยที่เข้ามา “เก็งกำไร”  จำนวนมากซึ่งทำให้หุ้นไม่ตกลงมาอย่างที่ควรจะเป็นในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม  ถ้าเป็นกรณีแบบนี้  ในระยะยาวแล้ว  หุ้นและดัชนีหุ้นของเราก็จะอยู่ในระดับสูงไม่ไหวถ้าเศรษฐกิจแย่ต่อไปนานและไม่มีหุ้นที่จะได้ประโยชน์เช่น  หุ้นไฮเทคของอเมริกา ทั้งหมดนั้นก็เป็นเรื่องของการประเมินหรือคาดเดา  ผมเองก็ไม่รู้ว่าอนาคตทั้งเศรษฐกิจและตลาดหุ้นจะเป็นอย่างไร เราคงจะรู้เมื่อเวลาผ่านไปและอะไรเกิดขึ้นซึ่งก็จะเป็นบทเรียนให้เราต่อไปในอนาคต  อย่างไรก็ตาม  การลงทุนนั้นเราจะอิงกับการประเมินและคาดเดาที่เราไม่มีความมั่นใจสูงไม่ได้  ดังนั้น  สิ่งที่ควรทำก็คือ  ลงทุนในหุ้นที่แข็งแกร่งปลอดภัยและโอกาสถูกทำลายโดยเทคโนโลยีใหม่มีน้อยในราคาหุ้นที่ถูกหรือยุติธรรม  มี Margin of Safety สูง เพราะนี่คือหุ้นที่จะ “ฝ่าพายุ” ได้  การลงทุนเพื่อให้มีอิสรภาพทางการเงินหรือร่ำรวยนั้นก็เหมือนกับการเดินเรือออกทะเลไปสู่ดินแดนอันมั่งคั่งที่อยู่ห่างไกล  มันต้องใช้เวลามาก บางทีแทบจะตลอดชีวิต  และจะต้องฝ่าคลื่นลมและพายุใหญ่ในบางครั้ง  เราไม่รู้ว่าอุปสรรคเหล่านั้นจะมาเมื่อไร  เราไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงมันได้  ดังนั้น  สิ่งที่ต้องทำก็คือ ต้องมั่นใจว่าเรามีเรือที่ดีและแข็งแรงพอที่จะไม่จมลงง่าย ๆ  ไม่ว่าพายุจะรุนแรงแค่ไหน  นอกจากนั้น  เราก็จะต้องมีจิตใจที่มั่นคงไม่ท้อถอยต่ออุปสรรคและละทิ้งเป้าหมายที่จะไปตราบที่เป้าหมายนั้นมันท้าทาย  มีเหตุผล และเป็นไปได้

This (Covid19) too shall pass

0
This (Covid19) too shall pass โลกในมุมมองของ Value Investor9 พฤษภาคม 63ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ​เวลาเกิดเหตุการณ์หรือมีสถานการณ์ที่รุนแรงโดยเฉพาะเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดความยากลำบากอย่างใหญ่หลวงจน “แทบทนไม่ไหว” จงจำไว้ว่า เหตุการณ์แบบนั้นจะไม่อยู่ตลอดไป มันเป็นเรื่อง “ชั่วคราว” ถึงวันหนึ่งมันก็จะเปลี่ยนไป นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลาในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ดังนั้น เราจะต้องอดทนเพื่อที่จะ “ผ่านมันไปให้ได้” เพื่อที่จะไปสู่ความรุ่งเรืองและมั่งคั่งที่อาจจะตามมา และคำกล่าวคลาสสิกที่พูดโดย อับราฮัม...

โควิด19 : การปรับตัวครั้งใหญ่ของมนุษยชาติ

0
โลกในมุมมองของ Value Investor        1 พฤษภาคม 63 ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ​เมื่อ 2-3 วันก่อนนั้นมีข่าวเล็ก ๆ  ที่ไม่รู้ว่าจะเป็น “Fake News” หรือ “ข่าวปลอม” หรือเปล่าว่า  นักบินที่กำลังขับเครื่องบินอยู่บนท้องฟ้าคนหนึ่งได้พบ “UFO” รูปร่างคล้ายจานบินอยู่บนท้องฟ้า  และภาพที่บันทึกไว้ได้นั้น  ทางนาซาหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องยืนยันว่าเป็นวัตถุที่ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นอะไรหรือก็คือ เป็น UFOจริง ๆ   ผมเองไม่ได้ตื่นเต้นอะไรและคิดว่าคนทั่วไปก็คงไม่ได้สนใจ  เพราะเรื่องแบบนี้มีมานานอย่างน้อยก็หลายสิบปีแล้ว  แต่ในยามที่กำลัง “ติด” อยู่ที่บ้านไม่ได้ไปไหนมานานเป็นเดือนเนื่องจากการระบาดของโควิด19  นี่ทำให้ผม “จินตนาการ” ไปว่า ถ้ามีมนุษย์ต่างดาวที่ขับยานอวกาศวนเวียนมองดูความเป็นไปของโลกมาตลอดเวลาเป็นหลายสิบหรือร้อยปี  ในช่วงนี้พวกเขาคงประหลาดใจมากที่อยู่ ๆ  ถนนทั่วโลกที่เต็มไปด้วยรถยนต์ก็ว่างลงจนแทบร้าง  ผู้คนที่เดินกันตามถนนเพื่อไปทำงานหรือท่องเที่ยวหายไปเกือบหมด...

20 มหาเศรษฐีหลังโควิด19

0
โลกในมุมมองของ Value Investor  25 เม.ย. 63 ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ​สัปดาห์ก่อนมีข่าวว่ารัฐบาลได้ส่งจดหมายถึง 20 เศรษฐีไทยที่รวยที่สุดในประเทศเพื่อขอคำแนะนำทางเศรษฐกิจเกี่ยวกับการแก้ไขวิกฤติโควิด19 รวมถึงความช่วยเหลือที่เศรษฐีเหล่านั้นจะมอบให้แก่ประชาชนที่ประสบปัญหาในทุก ๆ  ด้าน   รายชื่อเศรษฐีเหล่านั้น  แน่นอนว่าเป็นที่น่าสนใจสำหรับคนส่วนใหญ่ในประเทศ  แต่สำหรับผมแล้ว  รายชื่อที่จะน่าสนใจยิ่งกว่าก็คือ  ภายหลังวิกฤติแล้ว  ใครจะเป็นคนที่รวยที่สุด 20 อันดับ  เหตุผลก็คือ  หลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจทุกครั้ง  มหาเศรษฐีเดิมจำนวนไม่น้อยมักจะเสียหายอย่างหนักจนตกอันดับหรือหายไปจากสาระบบของเศรษฐีใหญ่  รายชื่อมหาเศรษฐีใหม่จะปรากฏขึ้น  รายชื่อใหม่เหล่านี้  ส่วนใหญ่ก็อาจจะเป็นรายชื่อเศรษฐีธรรมดาในตลาดหุ้นอยู่แล้ว...

กองทุนพยุงหุ้น(กู้) BFS

0
โลกในมุมมองของ Value Investor 11 เม.ย. 63 ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ​แผนการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นกู้เอกชน BFS หรือ “Corporate Bond Stabilization Fund” ของธนาคารแห่งประเทศไทยวงเงิน 400,000 ล้านบาทนั้น  ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีและจำเป็นอย่างยิ่งในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่กำลังวิกฤติเนื่องจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าซึ่งทำให้เศรษฐกิจเกือบทุกภาคส่วนโดยเฉพาะที่ขายสินค้าหรือบริการที่ไม่จำเป็นเร่งด่วนแทบจะหยุดนิ่งและส่งผลให้คนจำนวนมากตกงานและบริษัทบางแห่งก็อาจจะต้องล้มละลายเพราะขายสินค้าไม่ได้    ชื่อของกองทุนถ้าฟังอย่างผิวเผินก็เหมือนกับว่าจะออกมาช่วยซื้อดันราคาหุ้นกู้เอกชนไม่ให้ตกต่ำลง  เป็นการช่วยเหลือผู้ลงทุนไม่ให้ขาดทุนรุนแรงซึ่งไม่เห็นว่าจะมีประโยชน์อะไรนัก  เพราะการเป็นนักลงทุนนั้น  เขาก็จะต้องรับความเสี่ยงที่จะขาดทุนอยู่แล้ว  เหนือสิ่งอื่นใด  ทำไมไม่ตั้งกองทุนพยุงหุ้นด้วยเล่า?  เพราะนักเล่นหุ้นก็ขาดทุนเหมือนกัน ​ความเป็นจริงก็คือ  กองทุน BFS นี้คงไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะช่วยนักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นกู้เอกชนซึ่งในปัจจุบันนั้นมีหุ้นกู้ที่ค้างอยู่ในตลาดถึง 3.6 ล้านล้านบาทแม้ว่าพวกเขาก็คงจะได้ประโยชน์จากการที่ราคาหุ้นกู้จำนวนมากไม่ตกต่ำลงมารุนแรงเพราะวิกฤติโควิดรอบนี้  สิ่งที่แบ้งค์ชาติต้องการจริง ๆ  ก็คือการเพิ่ม “สภาพคล่อง” ในระบบการเงินให้แก่บริษัทขนาดใหญ่โดยเฉพาะที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่เป็นผู้ออกหุ้นกู้จำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา  หุ้นกู้จำนวน 3.6...

บทเรียนการลงทุนจากวิกฤติโควิด19

0
โลกในมุมมองของ Value Investor   4 เม.ย. 63 ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร สำหรับนักลงทุน “รุ่นใหม่” ส่วนใหญ่ในตลาดหุ้นไทย  “วิกฤติโควิด19” น่าจะเป็น “Wake Up Call” หรือการปลุกให้ตื่นขึ้นเพื่อเผชิญกับความเป็นจริงที่โหดร้ายของการลงทุนที่คนจำนวนมากไม่ได้ตระหนัก  เพราะสำหรับนักลงทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้นไทยไม่เกิน 12 ปี คือเริ่มลงทุนหลังวิกฤติซับไพร์มในปี 2551 แล้ว  พวกเขาไม่เคยประสบกับการตกลงมาอย่างรุนแรงของตลาดหุ้นจริง ๆ  เลย  ปีที่หุ้นลงแรง ที่สุดก็ไม่เกิน 15% ส่วนใหญ่หุ้นจะขึ้นและก็ขึ้นแรงเกินปีละ 10%  ปีที่หุ้นขึ้นไปเกิน 30% มีถึง 3 ปี  อย่างไรก็ตาม  วิกฤติครั้งนี้นับถึงวันวันศุกร์ที่ 3 เมษายน 2563 ทำให้ดัชนีหุ้นตกลงมาต่ำที่สุดในรอบประมาณ 8 ปี  ซึ่งก็แปลว่าคนที่เริ่มลงทุนมาน้อยกว่า 8 ปี และเป็นนักลงทุนระยะยาว  ทั้งที่ลงทุนเองและลงทุนผ่านกองทุนรวมประเภทต่าง ๆ  นั้น  โดยส่วนใหญ่แล้วอาจจะไม่ได้ผลตอบแทนเลย  เงินหรือความมั่งคั่งที่เก็บสะสมมาตลอดและเคยรู้สึกว่ามันเพิ่มขึ้นมากนั้น  หายไปภายใน “พริบตา”  และนี่ก็ยัง “ไม่จบ” ไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไป  และนี่ก็คือบทเรียนที่หนึ่งของ “วิกฤติตลาดหุ้น” ที่ว่า  “การลงทุนมีความเสี่ยง” โดยเฉพาะความเสี่ยงจาก “วิกฤติตลาดหุ้น” บทเรียนที่สองก็คือ  วิกฤติตลาดหุ้นนั้น  ดูเหมือนว่ามันเป็นเรื่อง “ปกติ” ที่จะต้องเกิดภายในระยะเวลาประมาณไม่เกินทุก 10 ปี  วิกฤติครั้งนี้อาจจะมาช้าหน่อยแต่สุดท้ายก็มา  ผมเองผ่านวิกฤติมาหลายครั้ง  แต่แล้วก็ไม่จำหรือพยายามหาเหตุผลว่าครั้งนี้มันคงไม่เกิดเพราะมันไม่มีสัญญาณทางการเงินที่มีเหตุผลชัดเจนว่ามันจะเกิด  เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ เงินล้นโลกและดอกเบี้ยต่ำสุดในประวัติศาสตร์และราคาหุ้นก็ไม่ได้อยู่ในระดับสูงมากเป็นช่วง “กระทิง”  ว่าที่จริงตลาดหุ้นไทยไม่ได้ไปไหนมาไม่ต่ำกว่า 5-6 ปีแล้ว  มันจะเกิดวิกฤติด้วยเรื่องใด  อย่างมากก็น่าจะแค่ถูก  “หางเลข” จากตลาดหุ้นโลกที่อาจเกิดวิกฤติ- ถ้ามี  ดังนั้น  วิกฤติครั้งนี้ผมจะต้องจำเป็นบทเรียนว่า  วิกฤตินั้น  เป็นสิ่งที่ “คาดไม่ได้” แต่มันมักจะต้องมาในวันใดวันหนึ่งในช่วงไม่เกินประมาณ 10 ปี นับจากวิกฤติครั้งที่แล้ว บทเรียนที่สามก็คือ  ในวิกฤตินั้น  หุ้นกลุ่มที่จะตกลงมาแรงมากทุกครั้งก็คือ  หุ้นของสถาบันการเงินโดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ทั้งหลาย  แม้แต่ครั้งนี้ที่สาเหตุของวิกฤติไม่ได้มาจากสถาบันการเงินแต่สุดท้ายมันก็มาลงที่สถาบันการเงินอยู่ดี  เหตุผลคงเป็นว่าสถาบันการเงินนั้นผูกติดอยู่กับเศรษฐกิจอย่างแยกไม่ออก  เศรษฐกิจทรุดเมื่อไร  ธนาคารก็ไปเมื่อนั้น  เหนือสิ่งอื่นใด  สถาบันการเงินนั้นกู้ยืมเงินมหาศาล  อย่างน้อย 4-5 เท่าหรือ 10 เท่าของทุนของตนเอง  ความเสี่ยงจึงมีมหาศาล  ยิ่งไปกว่านั้น  หุ้นแบ้งค์เป็นหุ้นที่มีผู้ถือหุ้นที่เป็นนักลงทุนเกือบ 100% Free Float สูงมาก  และถูกถือโดยนักลงทุนต่างประเทศและนักลงทุนสถาบันเกือบทุกแห่ง  ดังนั้น  ในวันที่เกิดวิกฤติ  ไม่มีใครจะมารับซื้อหุ้นได้พอไม่ว่าพื้นฐานของบริษัทจะเป็นอย่างไร บทเรียนที่ตามมาจากข้อที่สามก็คือ หุ้นของกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งหลาย  เฉพาะอย่างยิ่งก็คือผู้ขุดน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีทั้งหลายต่างก็จะตกลงมาอย่างหนัก  เหตุผลก็คือ  ราคาของสินค้าเหล่านี้มักจะตกลงมาแรงมากอานิสงค์จากการหดตัวของ GDP ที่ทำให้ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ลดลงในขณะที่ต้นทุนการผลิตยังเท่าเดิม  ผลก็คือ  บริษัทขาดทุนอย่างหนัก  ทำให้หุ้นตกลงมาตาม บทเรียนที่ 5 ก็คือ  หุ้นกลุ่มที่จะพอเอาตัวรอดได้จากวิกฤติก็คือ  ผู้ที่ผลิตหรือขายสินค้าที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันและเป็นกิจการที่บริษัทมีการผูกขาดหรือมีอำนาจทางการตลาดสูง  พูดง่าย ๆ  ยังไงคนก็จะต้องกินต้องใช้  แม้จะลดลงบ้างแต่ก็ไม่ถึงกับทำให้บริษัทขาดทุนหรือมีปัญหาทางการเงิน  ตัวอย่างเช่น  กลุ่มโทรคมนาคมที่ให้บริการโทรศัพท์มือถือ สาธารณูปโภคเช่น ไฟฟ้าและน้ำประปา  ค้าปลีกขนาดใหญ่ที่ขายอาหารและสินค้าจำเป็นประจำวันและร้านสะดวกซื้อเป็นต้น  เหตุผลก็ชัดเจนว่าพวกเขาก็อาจจะมีรายได้และกำไรลดลง  แต่มันไม่เป็นหายนะ  และเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น มันก็มักจะกลับมาเหมือนเดิม บทเรียนที่ 6 ก็คือ  หุ้นที่อันตรายที่สุดในยามเกิดวิกฤติก็คือ  หุ้นขนาดเล็กถึงกลางที่ “โตเร็ว” และมีราคาแพงหรือค่าPE ที่สูงมากจนแทบเป็นไปไม่ได้  เพราะหุ้นเหล่านี้มักจะถูกเข้ามาเล่นเก็งกำไรโดยนักลงทุนรายย่อยจำนวนมากผสมกับนักเก็งกำไรรายใหญ่ที่มักจะเข้ามา  “ดูแล”  หรือ “ปั่นหุ้น” จนทำให้ราคาหุ้นสูงเกินพื้นฐานไปมาก   ในภาวะที่ตลาดหุ้นดีหรือยังเอื้ออำนวย  ราคาก็มักจะดำรงอยู่ได้  ปริมาณการซื้อขายหุ้นก็ยังสูงพอที่จะทำให้นักเล่นหุ้นสบายใจว่าสามารถซื้อและขายได้ด้วยราคาที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปมาก  อย่างไรก็ตาม  วิกฤติมักทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป คนไม่เชื่อว่าบริษัทจะโตได้ในภาวะอย่างนี้จึงเริ่มขายหุ้นทิ้ง  รายใหญ่อาจจะเริ่มขายเพื่อทำกำไรหรือหนีตายเนื่องจากอาจจะกังวลว่าหุ้นจะตกจนตนเองถูกเรียกให้วางเงินมาร์จินเพิ่มเติมจากโบรกเกอร์  ผลก็คือ  ราคาหุ้นตกดิ่งลงมาโดยหาผู้ซื้อได้ยาก  ปริมาณการซื้อขายลดลงอย่างรวดเร็วจนคนที่ถือหุ้นมากขายออกไปไม่ได้  หุ้นกลายเป็น  “หายนะ” บทเรียนที่ 7 ก็คือ หุ้นที่อยู่ใน “ศูนย์กลางของวิกฤติ” กล่าวคือเป็นหุ้นที่ถูกกระทบโดยตรงและ  เต็ม ๆ  มักจะตกลงมาแทบเป็น “หายนะ” เสมอ  โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นบริษัทที่มีฐานะทางการเงินไม่แข็งแรงเช่น  มีหนี้สินมากกว่าที่ควรจะเป็นและ/หรือมีความไม่สอดคล้องในเรื่องของระยะเวลาถึงกำหนดของการชำระหนี้กับรายได้ที่จะเข้ามา  เหตุผลก็คือ นอกจากผลประกอบการที่จะตกลงมาอย่างหนักแล้ว   ยังมาจากความเสี่ยงที่บริษัทอาจจะล้มละลายหรือต้องเพิ่มทุนจำนวนมากพร้อมกับการลดทุนของผู้ถือหุ้นเดิมด้วย  ในรอบวิกฤติปี 2540 ศูนย์กลางคือบริษัทเงินทุน  ส่วนรอบนี้ก็คือธุรกิจท่องเที่ยวที่ถูกกระทบเต็ม ๆ และยังไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อไร บทเรียนที่ 8 คือ  สิ่งที่ผมอยากจะเตือนไว้สำหรับคนที่อยากจะ “ช้อนหุ้น” ที่ตกลงมาแรงมากเพราะเชื่อว่าเมื่อวิกฤติผ่านไปแล้วหุ้นก็จะฟื้นตัว  หุ้นที่ตกลงไปมากก็จะขึ้นมากกว่าหุ้นที่ตกลงมาน้อย นี่เป็นเรื่องที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะเวลาสั้น ๆ  ในช่วงที่พื้นฐานของกิจการยังไม่ปรากฏ  คนยัง “เก็งกำไร” กันอยู่  ซึ่งช่วงนี้ก็อาจจะทำให้เกิด “การปรับตัวขึ้นทางเทคนิค”  เป็นระยะ ๆ  ได้  อย่างไรก็ตาม  สำหรับคนที่ลงทุนระยะยาวแล้ว  สิ่งที่ต้องดูก็คือ  มูลค่าที่แท้จริงวัดจากผลประกอบการระยะยาวเทียบกับราคาหุ้น  ดังนั้น  สิ่งที่จะต้องมองก็คือ  ผลประกอบการจะเป็นอย่างไรต่อไปทั้งในระยะสั้นและระยะยาว  ประเด็นก็คือ  ในช่วงแรก ๆ  ของวิกฤติตลาดหุ้น  การประเมินผลกระทบยังเป็นเรื่องยาก  แต่เมื่อเวลาผ่านไป  เราจะเห็นข้อมูลมากขึ้นและมากขึ้นเรื่อย ๆ  ในกรณีวิกฤติโควิดครั้งนี้  ตัวเลขที่จะต้องจับตามองก็คือ ผลประกอบการไตรมาศแรกและไตรมาศสองที่จะออกมาในระยะเวลาอีก 1 เดือนและ 4 เดือนข้างหน้า ตามลำดับ เพราะมันจะบอกว่าผลประกอบการทั้งปีจะเป็นอย่างไร  รวมไปถึงสถานะการระบาดของเชื้อไวรัสที่จะบอกว่ามันควรจะยุติได้เมื่อไร  สำหรับผมแล้ว  การลงทุนในวันนี้เองนั้น  ส่วนใหญ่น่าจะเป็นเรื่องของการ  “เก็งกำไร” ซึ่งมีความเสี่ยงไม่น้อย  บทเรียนสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ  ในทุกวิกฤติก็จะมี “ผู้แพ้” และ “ผู้ชนะ” เสมอ  ก่อนวิกฤติบริษัทบางกลุ่ม เจ้าสัวบางตระกูล หรือนักลงทุนบางคน “ร่ำรวย” กว่าคนอื่น  หลังวิกฤติก็จะมีบริษัทกลุ่มใหม่  เศรษฐีตระกูลใหม่  หรือนักลงทุนกลุ่มใหม่ร่ำรวยขึ้นมาแทน  “คุณค่า” ของกิจการเปลี่ยนแปลงไปจากกลุ่มเดิมเป็นกลุ่มใหม่  บางครั้งก็เป็นธุรกิจ “New Economy” ในวิกฤติครั้งนี้  คงต้องดูกันต่อไปว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงแบบที่เคยผ่านมาไหม  นี่ก็คงขึ้นอยู่กับสถานภาพของเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วย  เพราะในอดีตนั้น  ทุกครั้งที่เกิดวิกฤติ  หลังจากนั้นไทยก็กลับมาโตต่อไปได้อย่างแข็งแรง  แต่ครั้งนี้ผมก็ไม่ค่อยแน่ใจนัก  เหตุผลก็เพราะว่าตั้งแต่ก่อนวิกฤติหลายปีเราก็อ่อนแอลงมาโดยตลอดอยู่แล้ว  ผมก็อยากจะหวังว่า  หลังวิกฤติเราจะเกิด “ปาฏิหาริย์” ที่ทำให้ประเทศไทยกลับมาแข็งแกร่งและพร้อมต่อสู้กับประเทศอื่น ๆ  ทั่วโลกได้อย่างที่เคยเป็นมาช้านาน  และนั่นก็จะเป็นเวลาที่หุ้นไทยก็จะเติบโตขึ้นต่อไปอีกนานเช่นเดียวกัน

MOST POPULAR