หน้าแรก แท็ก บทความ

แท็ก: บทความ

กลับไปทำงานประจำ

0
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร หลาย ๆ  ปีก่อนในช่วงที่ตลาดหุ้นยังปรับตัวขึ้นเป็น “กระทิง” ต่อเนื่องยาวนานนั้น  เรามักพบนักลงทุนโดยเฉพาะที่ยังหนุ่มแน่นอายุไม่มากเช่น 30-40 ปีหลาย ๆ  คนลาออกจากงานประจำและหันมาลงทุนเต็มตัว  บางคนมีเงินก้อนหนึ่งอาจจะแค่ 2-3 ล้านบาทซึ่งเขา “คิด” ว่าสามารถทำเงินแต่ละเดือนจากการเล่นหุ้นได้ 40,000-50,000 บาท ซึ่งมากพอที่จะ “เลี้ยงชีพ” ได้  ดังนั้นเขาจึงลาออกจากงานประจำเงินเดือนน้อยนิดและน่าเบื่อเพื่อเน้นเล่นหุ้นที่จะ “ได้กำไรดีขึ้น”...

ลงทุนในยุคเศรษฐกิจโตช้า

0
โลกในมุมมองของ Value Investor 1 มิถุนายน 62 ลงทุนในยุคเศรษฐกิจโตช้า ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร มองย้อนหลังไปประมาณ 6 ปี ในช่วงกลางปี 2556  ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 1,600 จุด  แทบจะไม่ต่างจากดัชนีวันนี้ที่ประมาณ 1,620 จุด นี่คือช่วงเวลา 6 ปีที่น่าจะพูดได้ว่าตลาดหุ้นเป็น Sideway คือราคาหุ้นโดยรวมไม่ได้ปรับตัวขึ้นหรือลดลงเป็นเรื่องเป็นราวเป็นระยะเวลายาวนาน  สำหรับนักลงทุนที่มักจะมองภาพเล็กในหุ้นรายตัวหรืออาจจะเป็นกลุ่มและเป็นนักลงทุนระยะยาวก็จะเห็นว่าหุ้นตัวหลัก...

บทเรียนเมื่อฟองสบู่หุ้นแตก

0
บทเรียนเมื่อฟองสบู่หุ้นแตก ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร หลังการประกาศผลประกอบการไตรมาศ 1 ปี 2562 ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์  หุ้นขนาดเล็ก-กลางหลายตัวที่เป็นหรือเคยเป็นหุ้น “ยอดนิยม” ได้ตกลงมาแรงทั้ง ๆ  ที่บางตัวได้ตกลงมามากแล้วในช่วง 1-2 ปีก่อนหน้านี้  อาการที่หุ้นตกลงมาหนักมากอย่างรวดเร็วและมักจะเกิน 50% ของจุดสูงสุดนั้น  ในแวดวงของนักลงทุนเราเรียกว่า  “ฟองสบู่หุ้นแตก” ซึ่งก็มักจะสร้างความเสียหายให้กับคนที่ถือหุ้นตัวนั้นมาก  บางครั้งกลายเป็นหายนะซึ่งเปลี่ยนชีวิตการลงทุนของเขาไปอย่างไม่คาดคิด...

อวสานของหุ้นโรงงาน

0
อวสานของหุ้นโรงงาน ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร       ธุรกิจโรงงานที่ผลิตสินค้าที่เป็นชิ้นส่วนหรือสินค้าสำเร็จรูปให้คนอื่นเพื่อนำไปประกอบเป็นสินค้าขั้นสุดท้ายหรือนำไปขายในยี่ห้อของคนจ้างที่เรียกว่าเป็น  OEM (Original Equipment Manufacturing) นั้น  ต้องถือว่าเป็นเครื่องจักรสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยมากว่า 30 ปี  เริ่มจากการที่ญี่ปุ่นต้อง “ย้ายฐานการผลิต” มายังประเทศไทยเนื่องจากต้นทุนการผลิตสินค้าในญี่ปุ่นสูงขึ้นมากอานิสงค์จากค่าเงินเยนที่ถูกบีบให้สูงขึ้นอย่างกระทันหันจากข้อตกลง Plaza Accord ในปี 1985 ที่ทำให้ค่าเงินเยนแข็งขึ้นถึง 50% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ...

กำเนิด Big Data ..อวสานของการทำโพล

0
กำเนิด Big Data ..อวสานของการทำโพล ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร การเกิดขึ้นของ “Big Data” หรือ “การประมวลผลของข้อมูลขนาดใหญ่” หรือการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีจำนวนมากเพื่อที่จะหาข้อมูลข่าวสารที่อาจจะถูกซ่อนไว้  หรือหาความสัมพันธ์ที่เราไม่รู้  หรือหาแนวโน้มทางการตลาดหรือความชอบของลูกค้าที่จะทำให้หน่วยงานหรือองค์กรธุรกิจสามารถตัดสินใจในการดำเนินงานที่ถูกต้องนั้น  นับวันจะได้รับการยอมรับและดำเนินการอย่างเอาจริงเอาจังมากขึ้นเรื่อย ๆ  ว่าที่จริงบริษัทขนาดใหญ่ เช่น แบงค์หรือบริษัทผู้ให้บริการค้าขายทางอินเตอร์เน็ตขนาดใหญ่ต่างก็กำลังสร้างหน่วยงานนี้ขึ้นเพื่อที่จะศึกษาและวิเคราะห์ลูกค้าของตนเพื่อที่จะหาโอกาสขายสินค้าของตนเองมากขึ้นและป้องกันไม่ให้ลูกค้าของตนหนีไปใช้บริการจากบริษัทอื่น ๆ  มาได้ระยะหนึ่งแล้วไม่ต้องพูดถึงบริษัท “ดิจิตอล”  ระดับโลกทั้งหลายที่ตอนนี้รู้อะไรต่าง ๆ  เกี่ยวกับลูกค้า...

Keep Calm And Carry On

0
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ผมเพิ่งกลับจากการท่องเที่ยวในประเทศอังกฤษครั้งที่เท่าไรก็จำไม่ได้เพราะไปค่อนข้างบ่อย  โดยเฉพาะที่กรุงลอนดอนซึ่งเป็นที่ที่ผมจะอยู่หลายวันเป็นประจำ   ดูเหมือนว่าสิ่งต่าง ๆ  ในลอนดอนจะเป็น  “เหมือนเดิม”  การเปลี่ยนแปลงมีน้อย  อาจจะเป็นเพราะว่าประเทศอังกฤษนั้นเติบโตถึงจุด “อิ่มตัว” แล้ว  จากความยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกในศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 ที่สหราชอาณาจักรเคยยึดครองอาณาเขตและประชากรกว่า 1 ใน 4 ของโลกและได้ฉายาว่าเป็นดินแดน  “อาทิตย์ไม่ตกดิน”  อังกฤษในศตวรรษที่...

VI กับการเมือง : ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

0
VI กับการเมือง ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร  “การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน” นี่เป็นคำกล่าวที่ผมคิดว่าเป็นจริง  ทุกคนต่างก็มีความคิดเห็นทางการเมืองของตนเองและถ้าเปิดโอกาสให้แสดงออก  “อย่างเสรี” เขาก็จะพูดหรือแสดงออกมา  ความคิดทางการเมืองนั้น  ก็เช่นเดียวกับเรื่องอื่น ๆ ทางสังคม  มีวิวัฒนาการมายาวนานตั้งแต่มนุษย์เริ่มสร้างสังคม  อยู่กันเป็นหมู่บ้าน  เมือง  และกลายเป็นรัฐและประเทศ เริ่มต้นนั้น  การเมืองการปกครองก็เริ่มต้นโดยผู้ปกครองที่มี “อำนาจ” ในการสั่งการให้ผู้คนปฏิบัติตามเพื่อให้สังคมอยู่ในระบบหรือกฎเกณฑ์ที่จะทำให้คนที่อยู่ในสังคมสามารถร่วมกันจัดการงานต่าง ๆ  ที่จะทำให้คนส่วนใหญ่มีโอกาสที่จะ “อยู่รอด” มากขึ้น  อำนาจของคนในช่วงแรก ๆ  นั้น  มักจะมาจากความสามารถหรือคุณสมบัติส่วนตัว เช่น  เป็นผู้ชาย  เป็นคนที่มีรูปร่างสูงใหญ่แข็งแรง  เป็นต้น  ต่อมาเมื่อมนุษย์เจริญขึ้น  คนที่มีอำนาจก็ค่อย ๆ  เปลี่ยนไป  เช่น  กลายเป็นคนที่ฉลาด  มีความรู้  และได้รับการศึกษามากกว่า  เป็นต้น กระบวนการเปลี่ยนแปลงของอำนาจจากคนกลุ่มหนึ่งไปสู่คนอีกกลุ่มหนึ่งนั้น  มักจะเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย  บ่อยครั้งก็เกิดการต่อสู้กลายเป็นสงครามที่ทำให้คนล้มตายไปจำนวนมาก  เหตุผลก็เพราะคนที่อยู่ในอำนาจนั้น  มักจะได้รับผลประโยชน์มากมายในขณะที่คนที่ “ไม่มีอำนาจ” ซึ่งมักเป็นคนที่ “ด้อยกว่า” อาจจะเนื่องจากการเกิดหรือการถูกกดขี่เอาเปรียบจากระบบการเมืองหรือสังคมเดิมนั้น  ต้องเป็นผู้รับภาระต่าง ๆ  ผ่าน  “ระบบ” ต่าง ๆ  เช่น  ภาษีหรือกฎหมายที่ “ไม่ยุติธรรม” สำหรับพวกเขา  ระบบของ “อำนาจ” นั้น  ในช่วงที่โลกยังไม่เจริญก็มักจะอยู่ในมือของคนจำนวนน้อยถึงน้อยมาก  ตัวอย่างเช่น ฟาโรห์ของอียิปต์  เป็นต้น  ต่อมาเมื่อโลกเจริญขึ้นเรื่อย ๆ  จำนวนคนที่มีอำนาจก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  แต่จำนวนคน “มีอำนาจ” ที่เพิ่มเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาตินั้น  เพิ่งจะเกิดขึ้นเร็ว ๆ  นี้หรือไม่เกินร้อยกว่าปี  นั่นก็คือวันที่โลกยอมรับว่า  “ผู้หญิง” ก็มีอำนาจเท่า ๆ  กับผู้ชาย  เพราะด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการศึกษา  ผู้หญิงหรือผู้ชายก็มีความสามารถไม่แพ้กัน นอกจากเรื่องของอำนาจแล้ว  แนวความคิดหรือหลักการว่าคนบางคนหรือบางกลุ่มนั้นมีอำนาจมากกว่าคนอื่นเองนั้น  ก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง  เริ่มต้นนั้นก็เช่นเดียวกัน  คนที่มีอำนาจสูงสุดหรือเด็ดขาดมีเพียงคนเดียวหรือน้อยมาก ต่อมาเมื่อสังคมใหญ่และซับซ้อนขึ้น  จำนวนคนที่มีอำนาจมากก็เพิ่มขึ้น  และเมื่อโลกเจริญขึ้นที่ส่งผลให้คนมีการศึกษามากขึ้น  พวกเขาก็ต้องการที่จะมีอำนาจมากขึ้น  จนมาถึงจุดหนึ่ง  สังคมหรือประเทศที่เจริญก้าวหน้ามากที่สุดก็ไม่สามารถที่จะ“กีดกัน” คนบางคนหรือบางกลุ่มไม่ให้มีอำนาจ  และนั่นทำให้คนทั้งประเทศ “มีอำนาจเท่ากันหมด”  ในทางกฎหมาย  และนี่ก็คือระบบ  “ประชาธิปไตย” ที่ไม่มีใครมีอภิสิทธิ์แม้แต่ผู้นำประเทศที่เป็นประธานาธิบดีอย่างของสหรัฐอเมริกา เป็นต้น ในประเทศที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างเต็มที่นั้น  การจัดสรรอำนาจก็จะลดหลั่นกันไป  คนบางคนหรือบางกลุ่มก็มักจะมีอำนาจมากกว่าคนอื่น  คนที่มีอำนาจน้อยกว่าคนอื่นเองนั้นก็ยังอาจจะมีมากและพวกเขายัง  “ยอมรับ” หรือไม่สามารถที่จะ“ต่อสู้”  เพื่อเพิ่มอำนาจของตนเองให้เท่าเทียมกับคนอื่นที่ “อยู่ในอำนาจ”  อย่างไรก็ตาม  ความก้าวหน้าของประเทศและสังคมที่ดำเนินไปเรื่อย ๆ  บางทีอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับอดีตร้อยหรือหลายร้อยปีที่ผ่านมานั้น  ทำให้คนที่มีอำนาจน้อยสามารถเพิ่มศักยภาพหรือความสามารถของตนขึ้นมาเรื่อย ๆ  และเมื่อถึงวันหนึ่ง   พวกเขาก็อยากที่จะมีอำนาจเท่า ๆ  กับคนอื่นและถ้าถูกปฏิเสธหรือถูกกีดกัน  พวกเขาก็จะลุกขึ้นมา  “ต่อสู้”  ด้วยวิธีการต่าง ๆ  และนั่นก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติมาตลอด ในสังคมของประเทศที่พัฒนาแล้วและทุกคนมีอำนาจเท่า ๆ  กันแล้ว  ความคิดทางการเมืองก็จะเปลี่ยนเป็นเรื่องของสิทธิและเสรีภาพที่เขาจะทำได้ถ้าสิ่งนั้นไม่ได้เดือดร้อนใครหรือทำให้คนอื่นเสียสิทธิอันชอบธรรมของตนเอง  คนที่มีแนวโน้มที่สนับสนุนแนวทางแบบนี้มักจะเป็นคนที่มองว่า  เราควรส่งเสริมให้คนมีความเป็น “ปัจเจกชน” อย่าไปสร้างกฎหมายหรือกฎเกณฑ์อะไรก็ตามที่จะไปลดความคิดสร้างสรรค์และแรงจูงใจในการทำงานของคน  นอกจากนั้น  พวกเขามักจะเคารพในสิทธิต่าง ๆ ของคนแม้ไม่ใช่เรื่องของกฎหมายอย่างเช่นเรื่องของเพศสภาพ  การให้ผู้หญิงมีสิทธิที่จะทำแท้ง  การนับถือหรือไม่นับถือศาสนา หรือเรื่องต่าง ๆ ที่  “ไม่ได้เดือดร้อนใคร” เป็นต้น  ในอีกด้านหนึ่ง  พวกเขาก็อยากส่งเสริมให้คนทุกคนมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเพื่อให้ “เท่าเทียม” กับคนอื่น ๆ  พวกเขาคิดว่าคนเกิดมาก็เท่ากัน  แต่ที่แย่กว่าคนอื่นเป็นเพราะระบบเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย  ดังนั้น  คนในสังคมที่รวยกว่าก็ควรที่จะต้องเสียสละเพื่อให้สังคมส่วนรวมดีขึ้น  และนี่ก็อาจจะเรียกว่าเป็นแนวคิดแบบ  “เสรีนิยม” ตรงกันข้ามกับเสรีนิยมก็คือแนวคิดแบบ “อนุรักษ์นิยม” ที่มีความคิดว่า  “คนไม่เท่ากัน”  คนบางคนหรือบางกลุ่มนั้นเหนือกว่า  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเกิดหรือการพัฒนาตนเอง  การให้สิทธิที่เท่าเทียมกันอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง  พวกเขาคิดว่าสังคมที่ดีนั้น  จะต้องมีคนที่ดีกว่าเป็นผู้นำ  การมีกฎหมายหรือประเพณีและวัฒนธรรมที่  “ดี” และทุกคนยึดมั่นในคำสอนของศาสนาหลักของประเทศ   จะทำให้สังคมก้าวหน้าและ “สงบสุข”  ดังนั้น  พวกเขาก็มักจะส่งเสริมอะไรก็ตามที่เป็นความคิดของสังคมยุคเก่า เรื่องที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนโดยเฉพาะที่เป็น  VI ก็คือ  คนที่เป็นนักลงทุนระดับเซียนโดยเฉพาะที่เป็นแนว VI พันธุ์แท้ระดับโลกอย่างวอเร็น บัฟเฟตต์  นั้น  พวกเขามีความคิดทางการเมืองแบบไหน? ชัดเจนว่าวอเร็น บัฟเฟตต์นั้นอยู่ข้าง  “เสรีนิยม”  คือเป็นเดโมแครท ทั้ง ๆ  ที่พ่อของเขาซึ่งเป็น  นักการเมืองเต็มตัวและเป็นสภาชิกสภาคองเกรสหลายสมัยนั้นเป็น “อนุรักษ์นิยม” สุด ๆ และเป็นสมาชิกพรรครีพับลิกัน  ว่าที่จริงในช่วงที่โอบามาเป็นประธานาธิบดีนั้นก็มีข่าวว่าเขาอยากให้วอเร็น บัฟเฟตต์ เป็นรัฐมนตรีคลังแต่บัฟเฟตต์ปฎิเสธ  บัฟเฟตต์เองนั้นก็มักเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองอยู่เสมอ  เขามักช่วยหาเสียงแนว  “ประกาศสนับสนุน” ผู้สมัครที่เขาชื่นชอบ  แต่คงไม่ได้บริจาคเงินมากมาย  เขายังเคยเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ในหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ที่ทรงอิทธิพลทางการเมืองที่สุดฉบับหนึ่งและเป็นหนังสือพิมพ์แนวเสรีนิยม  ตัวบัฟเฟตต์เองเห็นว่าสังคมอเมริกันนั้น  คนรวยยังได้เปรียบคนจนมากและยังจ่ายภาษีน้อยเกินไป  เขาบอกว่าเลขาของเขาจ่ายภาษีคิดเป็นเปอร์เซ็นต์สูงกว่าตัวเขาดังนั้นเขาเรียกร้องให้เก็บภาษีคนรวยมากขึ้น จอร์จ โซรอส เองนั้น  แม้จะไม่ได้เป็น VI แต่หลักความคิดและการลงทุนของเขาเองผมคิดว่าไม่ได้ต่างกัน  เขาเป็นคนที่สนใจและเกี่ยวข้องกับการเมืองสูงมากโดยเฉพาะในประเทศฮังการีซึ่งเป็นประเทศบ้านเกิดของเขา  และยุโรปตะวันออกที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตยโดยเฉพาะในอดีต  โซรอสเองนั้นถึงกับตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนคนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสร้าง  “สังคมเปิด” ในประเทศต่าง ๆ  ด้วยเงินจำนวนมาก สำหรับ VI ไทยเองนั้น  ผมคงไม่สามารถพูดอะไรได้มากนัก  เหตุผลสำคัญส่วนหนึ่งนั้นเป็นเพราะว่าสังคมการเมืองของไทยเองนั้น  ยังไม่ได้พัฒนาเพียงพอที่คนจะประกาศตนสนับสนุนแนวความคิดบางอย่างได้โดยเฉพาะที่เขายังต้อง  “อยู่กับระบบ” เพราะเขาทำธุรกิจหรือทำงานในหน่วยงานหรือบริษัท  เพราะในบางครั้งอาจจะทำให้คนทำ “มีปัญหา” ได้  ไม่ต้องพูดถึงว่าจะเข้าไปทำงานการเมือง  นอกจากนั้น  ในสังคมไทยเอง  คนจำนวนมากหรือส่วนใหญ่ก็มักจะยังไม่ค่อยยอมรับความแตกต่างทางการเมือง  การแสดงจุดยืนที่ชัดเจนก็อาจจะทำให้  “เสียเพื่อน”  ได้ ในส่วนตัวผมเองนั้น  ผมคิดว่าแนวความคิดทางการเมืองของผมมีพัฒนาการมาเรื่อย ๆ  ตั้งแต่เด็กที่มีความเป็นอนุรักษ์นิยม  และเริ่มเป็นเสรีนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ  ตั้งแต่เริ่มเป็น VI เมื่อกว่า 20 ปีก่อน  ส่วนสำคัญน่าจะมาจากการศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และการเมืองเนื่องจากมีเวลามากขึ้นหลังจากเกษียณจากงานประจำในองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่มักจะประกอบไปด้วยคนที่มีแนวโน้มการเป็นอนุรักษ์นิยมตามธรรมชาติในสังคมไทย

Natural Value Investor : ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

0
Natural Value Investor ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร โลกในมุมมองของ Value Investor   23 มีนาคม 62 การที่จะเป็น Value Investor “พันธุ์แท้”  นั้น  ถ้าจะบอกว่าเป็น “เรื่องยาก” ก็คงจะไม่ผิด  แต่ถ้าบอกว่ามันเป็นเรื่อง  “ไม่ยาก”  ก็อาจจะไม่ผิดเช่นเดียวกัน  เหตุผลสำคัญส่วนหนึ่งนั้น  น่าจะขึ้นอยู่กับคุณสมบัติส่วนตัวและนิสัยของคนที่ต้องการจะเป็น VI  คนบางคนนั้นพยายามเท่าไรหรือพยายามเรียนรู้เท่าไรก็ไม่สามารถทำได้  แต่สำหรับบางคนแล้ว  แค่ได้รับคำอธิบายหรืออ่านหนังสือเกี่ยวกับ VI ไม่เท่าไรก็เข้าใจและปฏิบัติได้แทบจะทันที  บางทีอาจจะเพราะว่าหลักการของ VI นั้น  มันตรงกับ “จริต” หรือความคิดและความเชื่อของเขาที่ฝังอยู่ในใจมานาน  บางที  “ตั้งแต่เกิด” ดังนั้น  เขาจึงยอมรับมันอย่างเต็มใจและทุ่มเทกับมันและกลายเป็น “VI ผู้มุ่งมั่น” ที่ลงทุนและใช้ชีวิต “แบบ VI”   คุณสมบัติของคนที่จะเป็น Value Investor พันธุ์แท้ ได้ง่ายนั้น  ผมอยากจะเรียกว่าเป็น  “Natural Value Investor” ซึ่งเป็นคุณสมบัติส่วนตัวบางอย่างที่จะทำให้เขาสามารถเรียนรู้และปฏิบัติตนแบบ VI ได้ง่ายและอาจจะไม่ต้องพยายามหรือฝืนใจอย่างหนัก  เขาสามารถทำมันได้แบบเป็น  “ธรรมชาติ” มาก  เขาอาจจะไม่รู้สึกกระวนกระวายและคิดว่าจะต้องขายหุ้นในยามที่ตลาดหลักทรัพย์หรือหุ้นที่เขาถืออยู่ตกลงมาอย่างหนักโดยที่พื้นฐานของกิจการดูเหมือนว่าจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร  เขาอาจจะสามารถขับรถเก่าราคาถูกไปไหนมาไหนโดยที่ไม่ได้สนใจว่าใครจะมองว่าจนหรือไม่รวยทั้ง ๆ  ที่เขาเป็นเศรษฐี  และตัวอย่างของคนที่น่าจะเป็น Natural VI ที่เรารู้จักกันดีก็คือ วอเร็น บัฟเฟตต์  แต่สิ่งที่คนจำนวนมากอาจจะไม่รู้ก็คือ  คนอย่างจอห์นเนฟ หรือเซียน VI ระดับโลกหลายคนก็มีลักษณะคล้าย ๆ  กัน  เขาเหล่านั้นเป็น  “Natural Value Investor” เป็นคนที่เรียนรู้และใช้ชีวิตแบบ VI มานานหรือตั้งแต่เด็กก่อนที่จะดังระดับโลก   คุณสมบัติของ Natural VI ที่ผมคิดว่าสำคัญมากและใครก็ตามที่มีลักษณะหรือนิสัยแบบนั้นจะมีศักยภาพเป็น “VI พันธุ์แท้” ได้ง่ายถ้าเริ่มเข้ามาศึกษา  เรียนรู้และปฏิบัติตน ก็คือ  ข้อแรก   เขาเป็นคนที่มีนิสัย “ประหยัดอดออม”  ไม่ชอบใช้จ่ายเงินสุรุ่ยสุร่ายหรือใช้เงินในสิ่งที่  “ฟุ่มเฟือย” โดย  “ไม่จำเป็น”  ตัวอย่างเช่น  การใช้สินค้าแบรนด์เนมที่มีราคาสูงมากเมื่อเทียบกับประโยชน์ใช้สอยและรู้สึก  “เสียดายเงิน” ที่อาจจะหามาได้อย่าง “ยากเย็น”  การเป็นคน “ประหยัด”  นั้น  แน่นอน  ส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นคนที่ “ยังไม่มีเงิน” พอที่จะใช้จ่ายสินค้าหรูหรือแพง  แต่คนที่ “ไม่มีเงิน” ส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่คนที่มีนิสัยประหยัด หลายคนพอมีเงินหรือได้เงินมาก็ใช้จ่ายเกินตัวและติดหนี้สินอีกต่างหาก  ดังนั้น  คนประหยัดในความหมายที่แท้จริงก็คือคนที่ “ใช้จ่ายเงินน้อยกว่าความมั่งคั่งหรือสินทรัพย์สุทธิ”  ของเขามาก  ซึ่งทำให้เขาสามารถ “ออมเงิน” ได้มากกว่าคนปกติที่มีรายได้เท่า ๆ  กัน คุณสมบัติข้อสองที่จะทำให้คน ๆ  นั้นมีโอกาสเป็น VI ได้ง่ายก็คือการเป็นคนที่  “มีเหตุมีผลเสมอ”  หรือมีความคิดที่เป็นเหตุเป็นผล  ไม่เชื่อในเรื่องที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์หรือไม่มีข้อพิสูจน์เช่นเรื่องของไสยาศาสตร์หรือโหราศาสตร์   ความเชื่อที่มีเหตุมีผลนั้น  แน่นอน  ไม่ใช่ว่าต้องเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ล้วน ๆ  แบบหนึ่งบวกหนึ่งเท่ากับสอง  ศาสตร์ทางสังคมเช่นเรื่องของเศรษฐศาสตร์  สังคมศาสตร์  พฤติกรรมศาสตร์  สิ่งต่าง ๆ  เหล่านี้เป็นสิ่งที่มีเหตุมีผลที่ทำให้เราสามารถคาดการณ์สิ่งต่าง ๆ ในสังคมและในทางเศรษฐกิจได้ถูกต้องหรือใกล้เคียงพอที่จะนำมาใช้ในการลงทุนและดำรงชีวิตได้  ประเด็นสำคัญก็คือ  คนที่จะเป็น VI นั้น  จะต้องคิดแบบมี  Logic หรือมีเหตุผลไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ  แม้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ในสังคมเชื่อ คุณสมบัติข้อสามก็คือ  VI โดยธรรมชาตินั้น  มักจะต้องเป็นคนที่มี “วินัย” สูง  นั่นก็คือ  เมื่อเขามีหลักการ  มีความคิดและมีแผนที่จะทำอะไรรวมถึงการลงทุนในหุ้นที่เขาศึกษาและวิเคราะห์มาเป็นอย่างดีแล้ว  เขาก็จะทำตามแผนการนั้นโดยไม่วอกแวก   เขามักจะเป็นคนที่มีความมั่นคงทางอารมณ์และมักจะไม่เปลี่ยนแปลงอะไรง่าย ๆ  เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เข้ามากระทบชั่วคราวแต่ในระยะยาวแล้วสิ่งที่เขาคิด  เชื่อ  และกระทำยังเป็นสิ่งที่ถูกต้อง  การเป็นคนที่มีวินัยสูงนั้น  ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นคนที่ต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่คนอื่นกำหนด  ตรงกันข้าม  วินัยนี้จะต้องเป็นสิ่งที่ผ่านการพิจารณาและไตร่ตรองมาเป็นอย่างดี มีเหตุมีผลและมีข้อพิสูจน์แล้วว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกต้องและจะทำให้เราประสบความสำเร็จในระยะยาว  ตัวอย่างที่ผิดที่เรามักจะพบบ่อยมากในเรื่องของการลงทุนก็เช่น  คนบางคนซื้อหุ้นบางตัวที่ไม่ได้มีพื้นฐานที่ดีเลยในราคาที่แพงแต่กลับคิดว่ามันเป็น “หุ้น VI”...

อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต

0
อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต โลกในมุมมองของ Value Investor       16 มีนาคม 62 ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร   ในเรื่องของการวิเคราะห์หุ้นแบบพื้นฐานและระยะยาวนั้น  บ่อยครั้งเรามักจะพูดถึงเรื่องของ S-Curve ซึ่งเป็นกราฟที่มีแกนนอนเป็นระยะเวลาและแกนตั้งเป็นยอดขายหรือการเติบโตของบริษัท   กราฟนี้มีลักษณะคล้ายตัว S นั่นก็คือ  ในช่วงแรก ๆ  ของบริษัท ยอดขายหรือรายได้มักจะโตขึ้นอย่างช้า ๆ  ความชันมีน้อยมาก  จนถึงจุดหนึ่งที่เป็น “จุดเปลี่ยน”...

การเมืองกับตลาดหุ้น ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

0
การเมืองกับตลาดหุ้น ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร โลกในมุมมองของ Value Investor          9 กุมภาพันธ์ 62   สองสามวันที่ผ่านมาเราได้เห็นข่าวการเมืองที่คนทั่วประเทศต่างก็จับตามองและรู้สึกตื่นเต้นกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นและจบลงในเวลาอันสั้น  เหตุผลที่เราตื่นเต้นนั้นเนื่องจากมันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและอาจจะมีผลต่อการแข่งขันในการเลือกตั้งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้าหลังจากที่ประเทศไทยห่างเหินจากการเลือกตั้งมานาน  อย่างไรก็ตาม  ตลาดหุ้นดูเหมือนว่าจะไม่ได้ถูกกระทบอะไรนัก  ดัชนีตลาดเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยในช่วงปิดตลาด  และนี่ก็อาจจะเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ผลกระทบจากการเมืองในประเทศไทยส่วนใหญ่แล้วก็ไม่ได้มีผลกระทบรุนแรงต่อตลาดหุ้นแม้ว่าในทางการเมืองแล้วถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญหรือรุนแรงหรือน่ากลัวก็ตาม   ตัวอย่างของเหตุการณ์สำคัญหรือรุนแรงหรือน่ากลัวในทางการเมืองก็เช่น  การที่ประธานาธิบดีทรัมป์ชนะเลือกตั้ง  การลดภาษีนิติบุคคลในอัตราสูงของทรัมป์  สงครามการค้าระหว่างอเมริกากับจีน   และเรื่องอื่น ๆ  อีกมาก  หรืออย่างในเมืองไทยก็เช่น  การประท้วงของคนเสื้อเหลือง-แดง  การเกิดการรัฐประหาร  การเลือกตั้งใหญ่  เป็นต้น  ทั้งหมดนี้ในระยะสั้น ๆ  มักจะทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวแรงในระดับหนึ่งทั้งทางขึ้นและลงขึ้นอยู่กับมุมมองว่าเหตุการณ์ทางการเมืองนั้นจะส่งผลดีหรือผลเสียต่อการลงทุนและบางทีก็ดูว่าเป็นหุ้นกลุ่มไหนที่จะได้รับผลกระทบ—ในระยะสั้น  ส่วนในระยะยาวนั้น  ดูเหมือนว่าเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาตลอดเป็นสิบ ๆ  ปีก็มักไม่จะไม่กระทบเท่าไร  เหตุผลก็เพราะว่า  โลกในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมานั้นเป็นช่วงที่ประเทศต่าง ๆ  เปลี่ยนหรือยึดถือนโยบาย  “เปิดตลาด”  การค้า  ไม่มีประเทศสำคัญไหนที่นักการเมืองหรือเหตุการณ์ทางการเมืองนำไปสู่การทำลายการทำงานของธุรกิจหรือการค้าขายระหว่างประเทศอย่างที่โลกเคยเกิดขึ้นในสมัยที่ลัทธิคอมมิวนิสต์แพร่หลายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2   ในเมื่อผลกระทบต่อเศรษฐกิจซึ่งต่อเนื่องถึงธุรกิจของบริษัทต่าง ๆ  ในระยะยาวที่มาจากการเมืองนั้นมีน้อย  ผลกระทบของเหตุการณ์ทางการเมืองต่อตลาดหุ้นในระยะยาวจึงมีน้อยตามไปด้วย  คนที่ลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้นจึงไม่ค่อยกังวลอะไรนักกับเรื่องทางการเมือง  ตราบใดที่การเมืองนั้นไม่ทำลาย  “บรรยากาศ”  หรือสภาวะแวดล้อมในการทำธุรกิจของเอกชนในระยะยาวแล้วละก็  เราก็ไม่มีอะไรต้องวิตก  อย่างไรก็ตาม  นักลงทุนนั้นก็คือคนธรรมดาที่อาศัยอยู่ในประเทศ  และการเมืองเองนั้นแม้ว่าจะไม่ทำลายเรื่องของธุรกิจ  แต่มันก็อาจจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเราแย่ลงได้  คนนั้นไม่ใช่แค่ว่าขอให้มีเงินแล้วก็มีความสุข  เราต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีซึ่งรวมถึงสภาวะอย่างอื่นเช่น  อากาศที่ดีไม่มีฝุ่นละอองเป็นพิษ  เราต้องการเสรีภาพในการพูดและแสดงความคิดเห็น  เราต้องการอยู่อย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรีและเท่าเทียมกับคนอื่น  สิ่งต่าง ๆ  เหล่านี้บางทีก็มักจะมาจากการเมือง   ดังนั้น  นักลงทุนโดยเฉพาะที่เป็น VI จึงต้องสนใจการเมือง  การเมืองที่ดีสำหรับคนที่อยู่ในประเทศนั้นก็คือการเมืองที่มีความเป็นประชาธิปไตยสูงซึ่งเคารพสิทธิของคนทุกคนโดยการยอมรับว่าทุกคนนั้นมีความเท่าเทียมกันทางกฎหมาย  ไม่มีการบังคับว่าเราทำอะไรได้หรือไม่ได้ถ้าไม่ไปรบกวนคนอื่น  มีระบบเศรษฐกิจที่เปิดและมีการแข่งขันโดยเสรี  และด้วยหลักการแบบนี้  เราก็จะได้รัฐบาลที่มาจากเสียงของประชาชนส่วนใหญ่  ซึ่งรัฐบาลนั้นเองจะต้องทำการเมืองที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ที่เลือกเขาเข้ามา  และนั่นจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศเจริญเติบโตขึ้นและความเหลื่อมล้ำของคนจะน้อยลง  เพราะถ้ารัฐบาลไหนไม่ทำแบบนั้น  เขาก็จะไม่สามารถได้รับการเลือกตั้งกลับเข้ามาเป็นรัฐบาลได้   แน่นอนว่ามีคนไม่เห็นด้วยกับแนวทางแบบที่กล่าว  หลายคนไม่อยากให้เสียงส่วนใหญ่เป็นคนกำหนดว่าใครควรเป็นรัฐบาล เขาอาจจะคิดว่ารัฐแบบเผด็จการนั้นสามารถทำงานได้ดีกว่าเพราะผู้นำสามารถ “สั่งได้” การรับฟังคนส่วนใหญ่ที่ “ไม่มีความรู้”  หรืออาจจะ  “เห็นแก่ได้”  หรือ “ถูกหลอก” ให้ลงคะแนนเลือกคนที่ไม่เหมาะสมนั้น  จะไม่สามารถเลือก  “คนดี”  ให้เป็นรัฐบาลได้  แต่ประวัติศาสตร์บอกเราว่าแนวคิดแบบประชาธิปไตยนั้นมีความเหนือกว่าระบบเผด็จการอย่างเห็นได้ชัด  และประเทศในโลกก็ปรับตัวและเปลี่ยนแปลงมาเป็นประเทศแบบประชาธิปไตยมากขึ้นเรื่อย ๆ  จนเหลือแต่ประเทศที่ยัง  “ล้าหลังมาก ๆ”  เท่านั้นที่ยังคงระบบแบบเผด็จการอยู่  และระบบประชาธิปไตยที่ผมพูดนั้นก็คือระบบประชาธิปไตยแบบ  “สากล” ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบตามชื่อของรัฐหรือประเทศที่มักจะมีหลักหรือวิธีการที่แตกต่างจากประเทศอื่น ๆ  ซึ่งมักจะไม่ใช่ประชาธิปไตยจริง  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  ผมคิดว่าไม่มีรัฐหรือประเทศไหนในโลกนี้ที่บอกว่าประเทศตนเองไม่ใช่ประชาธิปไตย แม้แต่ประเทศที่เผด็จการที่สุดก็ยังบอกว่าตนเองปกครองระบอบประชาธิปไตย   แม้กระนั้นก็ตาม  บางคนก็อาจจะเถียงว่าทำไมจีนหรืออาจจะรวมถึงเวียตนามจึงเจริญเร็วมากทั้งที่ระบบของเขาก็ยังไม่เป็นประชาธิปไตย  เขายังพูดต่อด้วยว่าที่เจริญเร็วนั้นเป็นเพราะจีนนั้นเขาสามารถ  “สั่งได้” จึงทำให้มีประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ  ผมเองอยากจะเถียงว่าถ้าจีนและเวียตนามเป็นประชาธิปไตยเขาจะยิ่งเจริญเร็วและคนมีความสุขกว่านี้  ว่าที่จริงในสมัยแค่ไม่กี่สิบปีก่อนที่ทั้งสองประเทศยังเป็นเผด็จการอย่างหนักนั้น  เศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของเขาแย่มาก  คนไทยที่ไปเยี่ยมญาติที่เมืองจีนเมื่อ 40 ปีก่อนนั้นต่างก็รู้ซึ้งถึงความจนและความยากลำบากของญาติที่น่าจะมีศักยภาพเท่าเขา  แต่หลังจากที่จีนและเวียตนามปรับประเทศมาเป็นแบบประชาธิปไตยมากขึ้น  พวกเขาก็เจริญขึ้นอย่างรวดเร็วจนทุกวันนี้คนจีนรวยกว่าคนไทยไปแล้ว  เวียตนามเองก็ตามรอยจีนและในที่สุดก็อาจจะรวยไม่แพ้ไทยถ้าเขาปรับตัวเองเป็นประชาธิปไตยแบบสากลมากขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากสองประเทศนี้แล้ว  ผมคิดว่าเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้จะเป็นตัวอย่างทางประวัติศาสตร์ที่ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนที่สุดว่าประชาธิปไตยนั้นเหนือกว่าระบบเผด็จการอย่างชัดเจนเพราะสองประเทศนี้เริ่มต้นพร้อมกันเมื่อประมาณ 70 ปีก่อนที่ทุกอย่างเหมือนกันทั้งเรื่องของคุณภาพของคนและทรัพยากรของประเทศ  แต่เมื่อเวลาผ่านไป  เกาหลีใต้ที่เป็นประเทศประชาธิปไตยแม้ว่าในช่วงแรก ๆ  ยังมีปักจุงฮีเป็นเผด็จการอยู่ในระดับหนึ่ง  แต่หลังจากการรัฐประหารครั้งสุดท้ายของนายพลชุนดูวานในปี 1980 หรือเกือบ 40 ปีมาแล้วและการกลับมาสู่ระบบประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่งประมาณ 5-6 ปีหลังจากนั้น  เกาหลีใต้ก็ไม่มีรัฐประหารอีกเลย  และประเทศก็เจริญขึ้นเร็วมากจนกลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในปัจจุบัน  ในขณะที่เกาหลีเหนือนั้นยังคงเป็นเผด็จการมาตลอดจนถึงทุกวันนี้  ซึ่งก็ส่งผลให้เศรษฐกิจไม่เจริญเติบโตและระดับการพัฒนาของประเทศในปัจจุบันก็แทบจะถือว่าต่ำที่สุดในโลกประเทศหนึ่งยกเว้นในทางทหารที่ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนโดยทั่วไปเลย   ถ้าประเทศไทยจะเจริญเติบโตต่อไปจนกลายเป็นประเทศ “พัฒนาแล้ว” ผมคิดว่าเป็นไปไม่ได้ที่เราจะไม่ใช้ระบบประชาธิปไตยแบบสากลในการปกครองประเทศ  ตัวอย่างในโลกนี้มีเต็มไปหมด  ว่าที่จริงแทบจะไม่มีประเทศที่พัฒนาแล้วในโลกนี้ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย  คนที่คิดว่าเรามีวัฒนธรรมและขนบประเพณีเฉพาะตนเป็นเอกลักษณ์และเราไม่จำเป็นต้องเป็นประชาธิปไตยแบบคนอื่นนั้นผมคิดว่าควรศึกษาประเทศอื่น ๆ  ที่ก็เคยมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเช่นเดียวกัน  สำหรับผมแล้ว  ระบอบประชาธิปไตยที่เคารพต่อสิทธิมนุษยชนนั้น  เป็นเรื่อง “สากล”  คล้าย ๆ  กับอีกหลายเรื่องเช่น  การใช้สื่อสังคมดิจิตอล การดูแลสิ่งแวดล้อม  และอื่น ๆ  อีกมาก  โลกทุกวันนี้จริง ๆ  แล้วมี  Civilization หรืออารยะธรรม เดียว  มันหมดยุคอารยะธรรมอียิปต์  อารยะธรรมจีน หรือแม้แต่อารยะธรรมตะวันตกไปแล้วไม่ต้องพูดถึงอารยะธรรมไทย  เดี๋ยวนี้มีแต่ “อารยะธรรมโลก” ที่อาจจะนำโดยกูเกิล เฟซบุค  อะมาซอน และไมโครซอฟท์   ข้อสรุปสุดท้ายของผมเกี่ยวกับเรื่องการเมืองก็คือ  ผมจะคอยดูและวิเคราะห์ตลอดเวลาว่าพัฒนาการทางการเมืองของไทยในระยะยาวจะพัฒนาไปทางไหน  ในบางครั้งผมเองก็กลัวเหมือนกันว่าระบบการปกครองของประเทศไทยอาจจะ  “ถอยหลัง” ไปจากระบบประชาธิปไตยแบบสากลซึ่งจะเป็นอันตรายต่อการลงทุน—และชีวิต  แต่ถ้าไม่ใช่เรื่องนี้  ผมก็มักจะไม่แคร์และไม่สนใจมากนัก  แต่ถ้าจะให้เข้าไปเล่นหรือเข้าไปเกี่ยวข้อง  ผมคงไม่ทำ  ผมเองยอมรับว่าตนเองไม่ใช่ “นักสู้”  ที่จะเข้าไปต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงการเมืองให้เป็นอย่างที่ตนเองต้องการ  แต่เป็นแค่  “นักเลือก” เวลาเขาให้ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผู้แทนราษฎร

MOST POPULAR