อวสานของเซียนหุ้น
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ตลาดหุ้นไทยในช่วงเกือบ 20 ปี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งประมาณ 10 ปีที่ผ่านมานั้น  ต้องถือว่าเป็น “ยุคทอง” ของนักลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนส่วนบุคคลที่เรียกตนเองว่าเป็น Value Investor หรือ “VI”  เพราะพวกเขาจำนวนมากนั้นสามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงลิ่วแบบที่  “เหนือจินตนาการ” ผลตอบแทนทบต้นต่อปีในระดับ 20-30% ขึ้นไปเป็นเวลา 5-10 ปีนั้นเป็นสิ่งที่กลายเป็นเรื่องปกติ  ผลตอบแทนในปีที่ดีนั้นบางทีเป็นร้อยหรือหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ก็มีโดยเฉพาะในกรณีที่พอร์ตการลงทุนยังไม่ใหญ่นัก  จริงอยู่ส่วนใหญ่คนที่ทำได้ก็มักอาศัยการ Leverage หรือการกู้เงินและใช้มาร์จินในการซื้อหุ้นในระดับสูง  แต่พวกเขาก็มักจะไม่ค่อยพลาดและถูกบังคับขายโดยโบรกเกอร์  เหตุผลก็คือหุ้นที่พวกเขาซื้อนั้นมักจะไม่ตกลงมาแรง ตรงกันข้าม  มันมักจะปรับตัวขึ้นเร็วและสูงมากเนื่องจากแรงซื้อนั้นมักจะไม่ได้มาจากคนเพียงคนเดียว  แต่มาจากการซื้อกันเป็น “กลุ่ม” เนื่องจากเมื่อ VI คนหนึ่งเห็นและซื้อหุ้นตัวไหน  ก็มักจะพูดคุยปรึกษาและแนะนำกับคนในกลุ่มและขยายวงออกไปกว้างส่งผลให้คนอื่นเข้าไปร่วมซื้อด้วย  และนั่นทำให้ VI ที่เป็น “วงใน” ซึ่งมักจะซื้อก่อนคนอื่นและสามารถทำกำไรได้งดงามกว่าคนที่ตามมาทีหลัง
เวลาผ่านไปหลายปี  พอร์ตของ VI หลาย ๆ  คนก็เติบโตขึ้นจนเป็นที่เห็นได้โดยเพื่อนฝูงและสาธารณชน  หลายคนมีพอร์ตระดับเศรษฐีหรือมหาเศรษฐี  แน่นอนเม็ดเงินเริ่มต้นของพวกเขาบางคนก็ใหญ่อยู่แล้วแต่การเติบโตที่มาจากการลงทุนก็มักจะสูงมาก  เหตุผลนอกจากจะมาจากการเลือกหุ้นลงทุนที่ถูกต้องแล้ว   ยังมาจากการที่พวกเขามักจะเป็นคน “เริ่มต้น” ในการขับเคลื่อนราคาหุ้นจากพลังการซื้อที่รุนแรงเนื่องจากปริมาณเม็ดเงินที่มากซึ่งทำให้เขามีต้นทุนที่ต่ำกว่านักลงทุนรายอื่น ๆ  ที่เข้ามาร่วมซื้อทีหลัง   “VI พอร์ตใหญ่” เหล่านี้  ในที่สุดก็ได้รับการยอมรับจากคนที่อยู่ในแวดวงการลงทุน  หลายคนก็ได้รับเชิญจากสื่อให้ออกความเห็นเกี่ยวกับหุ้นและการลงทุน  จำนวนมากกว่านั้นก็เผยแพร่ความคิดของตนเองผ่านสื่อสังคมสมัยใหม่  บางคนก็ “ออกหนังสือ” เผยกลยุทธ์และเคล็ดลับการลงทุนที่ประสบความสำเร็จ  ความเป็น  “เซียน”  ก็ค่อย ๆ  ปรากฏขึ้น  จำนวนมากจนแทบจะนับไม่ถ้วน
ผมเคยไปงานสัมมนาใหญ่การลงทุนแนว VI ในประเทศเพื่อนบ้านและถามคนจัดว่าใครคือ “เซียน” ในประเทศของเขา  คำตอบคือ  เขานึกไม่ออก  นักลงทุนส่วนบุคคลในบ้านเขานั้นแทบทั้งหมดก็มักจะเป็นนักลงทุนรายย่อยที่มีเงินลงทุนไม่มากนักและก็มักจะไม่มีข้อมูลพอที่จะไปแข่งกับนักลงทุนสถาบัน  คนที่ “รวย” จากตลาดหุ้นโดยการลงทุนนั้น  ตามนิยามของเขาอาจจะมีเงินแค่หลักสิบล้านบาทขึ้นไป  ผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนเองนั้นก็มักจะไม่ได้มากมายอะไรนัก  “เซียน”  ถ้าจะมีก็นับนิ้วได้  ส่วนคนที่เลิกทำงานประจำและออกมาลงทุนเต็มตัวก็มีน้อยมาก
สถานการณ์ตลาดหุ้นไทยในช่วงตั้งแต่ 1-2 ปีที่ผ่านเกิดการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงมากในกลุ่มหุ้นขนาดกลางและเล็ก  เพราะแม้ว่าตลาดหุ้นโดยรวมจะไม่ได้สดใสและปรับตัวลงแต่ก็เป็นการปรับตัวขนาดเล็กซึ่งเป็นเรื่องปกติของตลาดหุ้นไทยที่ว่าเมื่อหุ้นดีมาปีสองปี  โอกาสที่หุ้นจะตกก็มักจะสูงอยู่แล้ว  แต่หุ้นตัวกลางและเล็กจำนวนมากนั้น  ราคาหุ้นได้ตกลงมาแรงมากขนาดที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็น “วิกฤติ”  หุ้นจำนวนไม่น้อยราคาลดลงมาเกิน 20% หลาย ๆ  ตัวซึ่งรวมถึงหุ้นของกิจการที่ดีพอใช้และไม่ได้มีปัญหาอะไรมีราคาลดลงมากว่า 50%  เหตุผลที่หุ้นตกนั้น  ตัวที่ตกแรงมาก ๆ  ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะราคาหุ้นที่แพงจัดมีค่า PE สูงมาก  แต่บางตัวก็เป็นเพราะสถานการณ์ทางอุตสาหกรรมและตัวหุ้นเองที่เลวร้ายหรืออาจจะเริ่มเลวร้ายซึ่งทำให้กำไรในอนาคตดูไม่แน่นอน  ในหลาย ๆ  กรณีหุ้นตกแรงเพราะเหตุผลหลาย ๆ  อย่างที่กล่าวข้างต้นประกอบกัน
ในช่วงเร็ว ๆ  นี้  ดูเหมือนว่าหุ้นขนาดกลางและเล็กต่างก็ตกลงมาถ้วนหน้า  กลุ่มหุ้น “เติบโต”  ที่นักลงทุน VI ส่วนใหญ่โดยเฉพาะ  “เซียน”  ชอบเล่นนั้น  น่าจะเป็นกลุ่มที่เจ็บหนักที่สุด  หลายคนน่าจะ  “จนลงไปมาก” บางคนอาจจะสูญเสียสถานะของการเป็นเซียนเลยก็ได้  กลุ่ม “หุ้นถูก” เป็น “หุ้น  VI” หลายกลุ่มก็เริ่มตกลงมาแรงเช่นกัน  ตัวอย่างเช่น หุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ ๆ  ก็เกิดปัจจัยลบหลายเรื่องรวมถึงมาตรการแบ้งค์ชาติในการจำกัดการให้สินเชื่อและอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของทางการที่น่าจะกำลังปรับขึ้นก็ทำให้หุ้นในกลุ่มนี้ตกลงมาแรงทั้ง ๆ  ที่ผลประกอบการล่าสุดก็ยังดูดีมาก   พูดโดยสรุปก็คือ  คนที่เป็น VI เกือบทุกคนต่างก็  “บาดเจ็บ”  กันถ้วนหน้า  ไม่เหมือนกับในอดีตที่ VI มักจะมีผลการลงทุน  “ดีกว่าตลาด”  และการขาดทุนถ้าจะเกิดขึ้นก็น้อย  แต่ปีนี้ทุกอย่างเป็นตรงกันข้าม  เพราะนอกจากจะขาดทุนแล้ว  ผลตอบแทนยังแย่กว่าดัชนีตลาดด้วย
ความคึกคักและมีกำลังใจที่ดีในการลงทุนของเหล่า VI นั้น  ในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมาผมเห็นว่ามักจะ “เต็มเปี่ยม” แม้ในยามที่ดัชนีและหุ้นตกลงมาแรง  พวกเขาก็มักจะกระตือรือร้นและหาหุ้นลงทุนได้มาก  หลายคนไม่กลัวหุ้นตกเพราะเขาคิดว่ามันเป็นโอกาสในการทำเงินโดยการช้อนซื้อหุ้นดีราคาถูกและเขาก็ทำมันอย่างคึกคัก  แต่รอบนี้ดูเหมือนว่า  VI รวมถึงเซียนทั้งหลายต่างก็ “หมดมุก”  หลายคนมองไม่เห็นอนาคตหรือมองไม่ออกว่าอะไรจะเกิดขึ้น  หุ้นในมือที่หลายคนก็ยังถืออยู่จำนวนมากก็ดูเหมือนว่าจะมีโอกาสปรับตัวขึ้นไม่มาก  แต่ถ้าจะขายก็ไม่รู้ว่าจะเอาเงินไปลงทุนอะไรดี  บางคนก็รอที่จะขายถ้าหุ้น Rebound หรือดีดตัวขึ้นหลังจากที่ตกลงมาแรง  สำหรับบางคนนั้น  มูลค่าพอร์ตลดลงอย่างไม่เคยเจอมาก่อนหลังจากวิกฤติซับไพร์มในปี 2008
ผมเองเชื่อว่ายุคทองของนักลงทุนซึ่งแน่นอนว่ารวมถึงยุคทองของ VI นั้นสิ้นสุดไปแล้ว  เหตุผลเพราะว่ามันดำเนินมานานเป็นทศวรรษแล้ว   ราคาหุ้นโดยรวมคือดัชนีได้ปรับตัวขึ้นไปสูงเกินกว่าพื้นฐานหรือผลประกอบการของกิจการน่าจะกว่าหนึ่งเท่าตัว   กล่าวคือในขณะที่กำไรบริษัทจดทะเบียนเติบโตปีละประมาณ 6-7% ราคาของหุ้นกลับโตขึ้นปีละ 14-15% ส่งผลให้ราคาหุ้นแพงขึ้นมากวัดจากค่า PE ที่สูงขึ้นจากที่ไม่เกิน 10 เท่าเป็น 16-17 เท่าในปัจจุบัน  แต่ในขณะเดียวกัน  การเติบโตในอนาคตของเศรษฐกิจและผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไทยน่าจะกำลังถดถอยลงตามอายุของประชากรไทยที่กำลังแก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว  นี่จะทำให้ราคาหรือดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นได้ยาก  เราอาจจะกำลังอยู่ในสภาวะที่  “หุ้นหรือบริษัทโตช้าแต่ราคาแพง” ซึ่งทำให้การลงทุนในอนาคตไม่น่าจะสดใสเหมือนตอนที่  “หุ้นโตเร็วแต่ราคาถูก”
ที่กล่าวมานั้นเป็นเรื่องของตลาดโดยรวม  แต่สำหรับ VI หรือ “เซียน” ที่ชอบลงทุนในบริษัทขนาดกลางหรือเล็กที่  “โตเร็ว”   อาการที่กล่าวมาแล้วก็ยิ่งหนักกว่ามาก  เพราะหุ้นขนาดกลางและเล็กที่ผ่านมาหลายปีนั้นอาจจะโตเร็ว  แต่ราคาหุ้นกลับโตเร็วยิ่งกว่ามาก  ส่งผลให้ราคาหุ้นแพงเป็นทวีคูณแบบ  “เป็นไปไม่ได้” การปรับตัวในรอบนี้ผมเองก็ยังไม่แน่ใจว่าลงมาพอหรือยังเพราะค่า PE ก็ยังสูงลิ่ว  ในขณะเดียวกัน  การเติบโตของบริษัทขนาดกลางและเล็กเองก็ดูเหมือนว่าจะชะลอตัวลงมาก  ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร  ผมคิดว่าโอกาสที่ราคาหุ้นเหล่านั้นจะหวนกลับมาโตเร็วมาก ๆ  อีกครั้งก็น่าจะยากมาก  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  นักลงทุนที่เคยติดตามและเล่นหุ้นเหล่านี้ก็คงจะ  “เข็ด” ไปอีกนาน
ถึงวันนี้ผมเองไม่รู้ว่า  “เซียน” คนไหนเสียหายจากการตกของหุ้นขนาดกลางและเล็กมากน้อยแค่ไหน  จากตัวเลขการตกของหุ้น “High Profile”  หรือหุ้นยอดนิยมในกระแสนั้นบ่งบอกว่าถ้าเซียน  “หนีไม่ทัน” ความเสียหายก็อาจจะน้อง ๆ  หายนะ  อย่างไรก็ตาม  เรื่องนี้ไม่มีใครรู้ยกเว้นแต่เจ้าตัว  ความเชื่อของผมก็คือ  หลังจากเหตุการณ์ช่วงนี้  “เซียน”  ในตลาดหุ้นไทยคงหายไปพอสมควร  และเซียนรุ่นใหม่ก็น่าจะเกิดยากขึ้นมาก  สำหรับผม  มันเป็น  “อวสานของเซียน” บางทีเราอาจจะต้องรออีกนานกว่าจะมีฤดูเซียนใหม่  บางทีอาจจะอีกสิบปีหรือมากกว่านั้น