โลกในมุมมองของ Value Investor   5 มีนาคม 2565

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ถึงวันนี้สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนก็เข้าวันที่ 10 แล้ว  ข่าวใน “สนามรบ” ที่ออกมาดูเหมือนว่าจะไม่ค่อยชัดเจน  เรารู้ว่ารัสเซียบุกเข้าไปในยูเครนหลายทิศทาง  บางเขตโดยเฉพาะทางใต้ก็สามารถยึดพื้นที่และเมืองสำคัญเช่นเมืองท่าได้แล้ว  เขตอื่น ๆ  รวมถึงเมืองใหญ่อันดับสองและเมืองหลวงก็ดูเหมือนว่าจะสามารถรุกรบเข้าประชิดห่างจากเขตเมืองเพียงไม่กี่สิบกิโลเมตร  เป็นไปได้ว่าอีกไม่นานก็อาจจะยึดเมืองสำเร็จ  ชัยชนะ “ในยูเครน” ของรัสเซียนั้น “อยู่แค่เอื้อม” เมื่อคิดถึงว่ารัสเซียนั้นเป็นมหาอำนาจและมีขนาดใหญ่กว่ายูเครนมาก  ถ้าเปรียบแล้วก็เหมือนกับ “หมาป่าที่ต่อสู้กับลูกแกะ” ยังไงก็ชนะไม่ช้าก็เร็ว  แต่ทั้งหมดนี้  จริงหรือ?

ในฐานะที่ชอบศึกษาติดตามเรื่องของสงครามระหว่างมนุษยชาติโดยเฉพาะในกรณีของสงครามโลกครั้งที่ 2 และติดตามการเปลี่ยนแปลงสังคมและการเมืองของโลกโดยเฉพาะในช่วงหลายสิบปีมานี้  ผมเองมีมุมมองต่อสงครามรัสเซีย-ยูเครนต่างจากคนส่วนใหญ่อย่างสิ้นเชิง  ประการแรกก็คือ  สงครามนี้พัฒนาไปอย่างรวดเร็วภายในเวลาชั่วข้ามคืนและถึงวันนี้มันได้กลายเป็นสงครามระหว่างรัสเซียกับ NATO ไปแล้ว  เหตุผลที่เป็นอย่างนั้นผมคิดว่ากลุ่มนาโต้มองว่าปูตินรัสเซียกำลังก้าวร้าวและต้องการนำรัสเซียกลับไปสู่ความยิ่งใหญ่แบบอดีตโซเวียต  คล้าย ๆ กับกรณีที่ฮิตเลอร์เยอรมันก่อสงครามในช่วงก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งตอนนั้นฝ่ายสัมพันธมิตรไม่กล้าขัดขวางหรือทำอะไรเพราะ  “กลัวเกิดสงครามใหญ่” ดังนั้น  ในรอบนี้  พันธมิตรซึ่งก็คือนาโต้ก็มี “บทเรียน” แล้วว่าถ้ายังนิ่งเฉยก็จะนำไปสู่สงครามใหญ่หรือสงครามโลกอีก  จึงต้องขัดขวางและต่อสู้เพื่อที่จะ “ตัดไฟแต่ต้นลม”

ประการที่สองที่ผมน่าจะเห็นต่างก็คือ  ผมคิดว่าเวลาที่ผ่านมาแค่ 10 วันนั้นดูเหมือนว่ารัสเซียไม่ได้ชนะหรือได้เปรียบอะไรเลยในสงคราม  ผมเองคิดว่ารัสเซียกำลังเสียเปรียบและอยู่ในภาวะที่จะยากลำบากมาก  ในที่สุดแล้วก็จะพ่ายแพ้แบบ  “หายนะ”  แบบเดียวกับที่เยอรมันประสบในสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากที่อเมริกาประกาศเข้าสงครามร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร 2 ปีหลังจากเริ่มสงคราม  ในวันนั้น  ถ้าวิเคราะห์ดูก็จะเห็นว่าฝ่ายอักษะและเยอรมันต้องแพ้สงครามอย่างแน่นอน  เหตุเพราะว่าอเมริกานั้นเป็นประเทศใหญ่มากและมีทรัพยากรมหาศาล  ไม่มีทางที่เยอรมัน  ญี่ปุ่นและอิตาลีจะต่อกรได้เลย  ทั้ง ๆ ที่ในวันนั้น  เยอรมันและญี่ปุ่นกำลังรุกรบและมีชัยไปทั่วโลก  ทั้งญี่ปุ่นและเยอรมันต่างก็มองว่าอเมริกานั้นไม่มีอาวุธ ไม่มีทหารที่มีประสบการณ์และเป็นประเทศที่ประชาชนและวัฒนธรรมอ่อนแอไม่พร้อมที่จะต่อสู้อะไรทั้งนั้น  ซึ่งก็เป็นการมองที่ผิดพลาดที่สุด  บางทีอาจจะเป็นเพราะผู้นำของประเทศไม่เข้าใจหรือมีอคติ

กลับมารอบนี้  ก็อีกเช่นกันที่ได้บทเรียนจากประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2   ฝ่ายสัมพันธมิตรนาโต้ไม่ปล่อยเวลาไป 2 ปีก่อนที่จะ “ประกาศสงคราม” กับรัสเซีย  พวกเขาแทบจะ “ประกาศสงคราม”ทันทีตั้งแต่รัสเซียเริ่มบุกยูเครน  บางทีนักวิชาการสงครามคงได้เรียนรู้แล้วว่า  ยังไงกลุ่มนาโต้ก็ชนะแน่เพราะคำนวณดูแล้วว่าตนเองมีพละกำลังมากกว่ารัสเซียอย่างเทียบกันไม่ได้  พลังหรือศักยภาพทางเศรษฐกิจซึ่งจริง ๆ ก็รวมถึงการรบหรือสงครามของรัสเซียวัดจากผลผลิตมวลรวมประชาชาติหรือ GDP นั้น  เล็กกว่าของกลุ่มนาโต้มากและน่าจะอยู่ที่ประมาณ 3-4% เท่านั้น  อย่างไรก็ตาม  มีสิ่งหนึ่งที่แตกต่างจากช่วงสงครามโลกครั้งที่สองนั่นก็คือ  รัสเซียมีหัวรบนิวเคลียร์มากเท่า ๆ  กับนาโต้  ซึ่งถ้ามันถูกนำออกมาใช้ก็สามารถทำลายล้างโลกได้  ดังนั้น  นาโต้ต้องใช้วิธีการต่อสู้ “รูปแบบใหม่” ของศตวรรษที่ 21  นั่นก็คือ  สงครามการค้าและข่าวสารข้อมูลที่นาโต้มีมหาศาลในขณะที่รัสเซียมีน้อยมาก  

โลกยุคใหม่ที่เป็นโลกาภิวัตน์นั้น  มีประเทศน้อยมากที่สามารถอยู่ได้โดยตนเองไม่ต้องพึ่งคนอื่น  ทรัพยากรต่าง ๆ  ในโลกที่นำมาเลี้ยงผู้คนและทหาร ผลิตสินค้าและอุปกรณ์ที่จำเป็นรวมถึงอาวุธต่างก็ผ่านเครือข่ายการขนส่งทางเรือและอากาศ  การชำระเงินและแลกเปลี่ยนสินค้าก็ต้องอาศัยตัวกลางที่ส่วนใหญ่ก็เป็นของรัฐหรือประเทศที่ก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นประเทศในกลุ่มนาโต้  ดังนั้น  ในขณะที่ในสงครามโลกครั้งที่ 2  เรือดำน้ำหรือเรืออูของเยอรมันเป็นกำลังสำคัญทางสงครามที่คอยจมเรือสินค้าฝ่ายสัมพันธมิตรไม่ให้ขนสินค้าและอาวุธยุทโธปกรณ์ให้อังกฤษ  สงครามรัสเซียกับนาโต้กลับกลายเป็นการ “แซงชั่น” ของฝ่ายสัมพันธมิตรนาโต้ไม่ให้เรือสินค้าของตนขนสินค้าให้รัสเซีย

ในด้านของการเงินเอง  สถาบันการเงินของรัสเซียก็ถูกแซงชั่นไม่ให้ใช้ระบบการโอนเงิน “สากล” Swift ซึ่งทำให้รัสเซียมีปัญหาในการซื้อขายสินค้าที่จำเป็นหรือการค้าระหว่างประเทศ  ดังนั้น  ถึงแม้ว่ารัสเซียเองจะมีเงินแต่ก็ซื้ออะไรไม่ได้  ซ้ำร้ายยิ่งกว่านั้น  เงินสำรองที่สามารถเอาไปแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการกับนานาชาติก็เป็นเงินของศัตรูคือเงินดอลลาร์ซึ่งสามารถถูกแช่แข็งเอาไปใช้ไม่ได้  ทั้งหลายทั้งปวงทำให้ผู้คนเฉพาะอย่างยิ่งคนรัสเซียขาดความมั่นใจในเงินรูเบิลอย่างหนักเพราะเงินนั้นไม่สามารถนำมาเปลี่ยนเป็นเงินดอลลาร์ที่สามารถนำไปใช้ที่ไหนก็ได้  ผลก็คือ  เงินรูเบิลตกลงมาหลายสิบเปอร์เซ็นต์ในชั่วข้ามคืนและก็ส่งผลต่อไปถึงตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้นที่ตกลงมากลายเป็นวิกฤติไม่สามารถทำงานได้  ดัชนีตลาดหุ้นตกลงมาแรงหลายสิบเปอร์เซ็นต์จนต้องปิดตลาดจนถึงวันนี้  เช่นเดียวกับสถาบันการเงินขนาดใหญ่ที่สุดของรัสเซียก็แทบจะล้มละลาย  ข้อสรุปก็คือ  ประเทศรัสเซียแทบจะ “ล้มละลาย” แล้วแบบนี้จะต่อสู้สงครามได้อย่างไร?

สงครามการค้าและการเงินยังไม่พอ  สงครามข้อมูลข่าวสารถูกนำมาใช้อย่างเต็มพิกัด  “ความไม่ชอบธรรมของรัสเซีย” ต่อการบุกยึดยูเครนและ “ทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์” รวมถึงเด็กเล็กที่ต้องตายหรืออพยพหนีตายออกนอกประเทศในขณะที่พ่อต้องกลับไปจับปืนต่อสู้กับผู้รุกรานรัสเซีย  ถูกกระจายออกไปทั่วโลกอย่างกว้างขวางในชั่วข้ามคืนโดยสื่อของฝ่ายนาโต้ที่ “ครอบงำโลก” อยู่  นี่ก็แตกต่างจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่แม้แต่เรื่องของคนยิวถูกฆ่าตายในค่ายกักกันของเยอรมันเป็นล้านล้านคนเป็นเวลาหลายปีก็ไม่ถูกนำเสนอเลย  ดังนั้น  “มติมหาชนโลก” ต่อรัสเซียจึงเป็นลบอย่างหนัก  ในแทบทุกวงการตั้งแต่บริษัทธุรกิจระดับยักษ์ของโลกรวมถึงแอ็ปเปิล เฟซบุค  โตโยต้า ต่างก็ระงับการทำธุรกิจกับรัสเซีย  แม้แต่แวดวงของการกีฬาที่คนเห็นว่าไม่เกี่ยวกับการเมืองก็ต่อต้านรัสเซียและไม่ยอมให้รัสเซียร่วมเล่นด้วย   ตอนนี้ถ้าคุณเป็นบริษัทหรือสถาบันระดับโลกและคุณไม่ทำอะไรที่เป็นการประท้วงหรือไม่เห็นด้วยกับการบุกของรัสเซีย  คุณก็คือ  “หมาหัวเน่า” และคนจะไม่ร่วมสมาคมหรืออุดหนุนสินค้าของคุณ  การถูก “โดดเดี่ยว” นั้น  ในช่วงแรกคุณก็จะเศร้าหมอง  ในระยะยาว  คุณตาย  และในที่สุดคนรัสเซียเองอาจจะต้องบอกปูตินว่า  คุณต้อง “จบ” แล้ว  ซึ่งนั่นก็เป็นสิ่งที่นาโต้ต้องการ

ถ้า “จนตรอก” จริง ๆ  รัสเซียยังมีระเบิดนิวเคลียร์ที่จะใช้ได้  แต่รัสเซียจะกล้าใช้หรือ?  ปูตินอาจจะมีอำนาจสั่งและสั่งได้  แต่คนที่จะทำก็ต้องมีหลายคนเช่นผู้บังคับบัญชากองทัพ  แล้วเขาจะทำหรือ?  ถ้านาโต้ก็ไม่ได้ยิงนิวเคลียร์หรือข่มขู่ที่จะทำ  ว่าที่จริงนาโต้ไม่ได้ประกาศด้วยซ้ำว่าเป็นคู่สงคราม  ดังนั้น  สงครามนิวเคลียร์ก็คงไม่เกิด  นิวเคลียร์นั้นที่จริงเป็นอาวุธที่ใช้ป้องกันไม่ให้เกิดสงครามใหญ่โดยเฉพาะระหว่างประเทศใหญ่ ๆ ของโลก  เพราะทั้งสองฝ่ายรู้ว่าถ้ายิงออกไป  ตัวเองก็จะตายด้วย  แต่นิวเคลียร์นั้นไม่ได้ทำให้คุณชนะสงคราม  แม้แต่มหาอำนาจหมายเลขหนึ่งของโลกอย่างอเมริกาก็  “แพ้สงคราม”  เนือง ๆ ต่อประเทศที่เล็กกว่ามาก  และที่แพ้นั้นก็ไม่ใช่เรื่องของการยิงปืน  ขีปนาวุธ หรือระเบิด เลย  แพ้เพราะเรื่องของ “ข้อมูลข่าวสาร” ทั้งนั้นใน “สงครามยุคใหม่แห่งศตวรรษที่ 21”  รัสเซียกำลังทำผิดพลาดมาก  บางทีอาจจะเพราะว่าปูตินแก่เกินไปและมีชีวิตอยู่ในโลกของความขัดแย้งรุ่นเก่าจึงไม่รู้ว่าโลกเปลี่ยนไปเกือบหมดแล้ว  การที่ยังสามารถตัดสินใจแทนคนทั้งประเทศได้นั้นก็เพราะ  “อำนาจเผด็จการ” ที่ยังมีอยู่มากในรัสเซียซึ่งมักทำให้ประเทศเสียหายหนัก  และก็เป็นแบบนี้ในทุกประเทศที่เป็นเผด็จการทั้งในอดีตและปัจจุบัน

ในฐานะนักลงทุนที่ต้องอิงกับพื้นฐานของประเทศ  ผมได้เห็นความเสียหายจากการลงทุนในตลาดหุ้นของประเทศที่เป็นเผด็จการมากขึ้นทุกที  หุ้นของประเทศเหล่านั้นบางทีหรืออาจจะเป็นส่วนใหญ่ก็มีราคาถูกมากจนเรียกได้ว่าเป็น  “หุ้น VI” แต่โชคดีที่ไม่ได้เข้าไปลงทุน  เพราะสุดท้ายผู้นำก็ใช้อำนาจเผด็จการที่เป็นผลเสียหายแก่หุ้นและเราก็ทำอะไรไม่ได้เลย  ดังนั้น  ก่อนลงทุนก็ต้องวิเคราะห์ประเด็นนี้ก่อน  ผมเองคิดว่าถ้าประเด็นก็คือเป็นเผด็จการ  แต่อำนาจไม่ได้อยู่ที่คนคนเดียว  แบบนี้ก็อาจจะยังพอรับได้