พอร์ตหุ้นบัฟเฟตต์ :ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
พอร์ตหุ้นบัฟเฟตต์
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
พอร์ตลงทุนหุ้นจดทะเบียนของ วอเร็น บัฟเฟตต์ ล่าสุดที่เปิดเผยเมื่อเร็ว ๆ นี้มีความน่าสนใจในแง่ที่ว่ามันอาจจะแสดงให้เห็นถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญหลาย ๆ อย่าง ว่าที่จริงมันคงค่อย ๆ เปลี่ยนมาพักใหญ่แล้วเพียงแต่ว่าคนที่ติดตามอาจจะไม่ตระหนัก คนจำนวนมากยังน่าจะจำเรื่องราวต่าง ๆ ของบัฟเฟตต์จากข่าวสาร บทความ และการศึกษาเกี่ยวกับบัฟเฟตต์ที่มักใช้ข้อมูลย้อนหลังไปไกลโดยเฉพาะในช่วงที่บัฟเฟตต์ประสบความสำเร็จสูงสุดและร่ำรวยขึ้นมหาศาลจนกลายเป็นคนที่รวยที่สุดในโลกและยังรวยที่สุดอันดับ 3 ของโลกในวันนี้ แต่จากสถิติผลงานการลงทุนของบัฟเฟตต์ในช่วงอย่างน้อยประมาณ10 ปีที่ผ่านมาคือหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจของอเมริกาในปี 2009 นั้น ก็ดูเหมือนว่าผลงานของเขาจะไม่ได้โดดเด่นหรือมีความมหัศจรรย์อย่างที่เคยเป็นมาในช่วงหลายสิบปีก่อนหน้านั้น ตัวเลขผลตอบแทนที่วอเร็น บัฟเฟตต์ทำได้นั้นไม่ต่างจากผลตอบแทนของดัชนีตลาดอย่าง S&P 500 หรือ ดัชนีดาวโจนส์คือผลตอบแทนแบบทบต้นที่ประมาณ 14-15% ต่อปี ซึ่งก็ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่หุ้นทำผลตอบแทนที่ดีมากที่สุดช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้น ในขณะที่หุ้นในตลาด NASDAQ ซึ่งเป็นกิจการไฮเท็คนั้นให้ผลตอบแทนถึง 17-18%
พอร์ตหุ้นของบัฟเฟตต์ที่แสดงหุ้นตัวใหญ่ที่สุด 15 ตัวนั้น พบว่าหุ้นแอบเปิลกลายเป็นหุ้นที่มีมูลค่าตลาดสูงสุดจำนวนถึงกว่า4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐหรือ 1.2 ล้านล้านบาท ทั้ง ๆ ที่บัฟเฟตต์เคยมีชื่อว่าเป็นคนโลว์เท็ค โทรศัพท์มือถือก็ยังใช้ของเก่าที่ไม่ทันสมัย อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าหุ้นแนวไฮเท็คอื่น ๆ นั้น บัฟเฟตต์ก็ยังหลีกเลี่ยง นักวิเคราะห์และผู้ติดตามบัฟเฟตต์คิดว่าหุ้นแอบเปิลนั้น บัฟเฟตต์ไม่ได้ซื้อเพราะมันเป็นหุ้นไฮเท็ค แต่เขาซื้อเพราะโทรศัพท์ของแอบเปิลนั้นกลายเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคโดยเฉพาะในอเมริกาและคนรวยในโลกนิยมใช้กันเพราะมันเป็นสิ่งที่เท่และพวกเขาคุ้นเคย เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ บริษัทแอบเปิลนั้นมีเงินสดมหาศาลที่จะใช้ในการวิจัยและต่อสู้ในการแข่งขันกับคู่แข่งอย่างมีประสิทธิภาพ เทคโนโลยีไม่ตกยุคแน่นอน แต่ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าก็คือ หุ้นแอบเปิลนั้นมีราคาไม่แพงเลย ค่า PE นั้นเพียง 10 กว่าเท่าเท่านั้น
หุ้นขนาดใหญ่เป็นอันดับสองและอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่กลายเป็นหุ้นกลุ่มใหญ่ที่สุดและใหญ่มากจนน่าตกใจก็คือหุ้นของแบ้งค์อเมริกาที่มีขนาดถึงกว่า 2.2 หมื่นล้านเหรียญหรือ 7 แสนล้านบาท ซึ่งก็ตามด้วยแบ้งค์อีกตัวหนึ่งที่บัฟเฟตต์ถือมานานมากคือหุ้นแบ้งค์ Wells Farco ที่มีขนาดประมาณ 2 หมื่นล้านเหรียญ นอกจากนั้นเขาก็ยังมีหุ้นการเงินที่ถือมานานยิ่งกว่าคือตั้งแต่เขาเพิ่งจะดังก็คือหุ้น อเมริกันเอ็กซเพรสที่เขาถืออยู่ 1.4 หมื่นล้านเหรียญ ไม่นับหุ้นสถาบันการเงินอื่น ๆ ที่เป็นหุ้นเพื่อการลงทุนหรือเน้นทางด้านหลักทรัพย์อย่างหุ้นโกลด์แมนซ้าคและเจพีมอร์แกน รวม ๆ แล้วใน 15 อันดับนั้น เป็นหุ้นเกี่ยวกับการเงินและการลงทุนถึง 7 บริษัท คิดเป็นมูลค่าหุ้นรวมกันถึงกว่า 7 หมื่น 6 พันล้านเหรียญหรือประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท
เหตุผลที่หุ้นในพอร์ตของบัฟเฟตต์เต็มไปด้วยหุ้นการเงินนั้น ผมคิดว่าส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่บริษัทเหล่านั้นมักจะเคยมีปัญหาที่เกิดจากวิกฤติเศรษฐกิจ ราคาหุ้นตกลงมามโหฬารและต้องการคนเข้ามา “กู้” โดยการเข้ามาซื้อหุ้นหรือหุ้นกู้ที่สามารถแปลงเป็นหุ้นสามัญได้ ซึ่งหนึ่งในคนที่มักจะมีเงินสดมากพอในยามนั้นก็คือบัฟเฟตต์ ซึ่งเขาจะเข้ามากู้กิจการโดยการอัดฉีดเงินเข้าไปและทำกำไรได้มากมายเมื่อกิจการฟื้น อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ หุ้นสถาบันการเงินนั้นมักจะมีขนาดใหญ่และมีสภาพคล่องสูง การที่จะเข้าไปซื้อหุ้นในจำนวนและปริมาณที่มากซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับบัฟเฟตต์ที่มีเงินสดเพิ่มขึ้นมากทุกปีจากการรับปันผลจากบริษัทในอาณาจักรเบิร์กไชร์ก็เป็นไปได้ไม่ยาก และสุดท้ายก็คือ หุ้นสถาบันการเงินนั้น มักจะเข้าเกณฑ์การลงทุนของบัฟเฟตต์ที่ว่ากิจการจะต้องมีความมั่นคงเข้าใจง่ายและสามารถคาดการณ์ได้แม่นยำพอสมควร ยังสามารถที่จะเติบโตไปได้ในระยะยาว การที่จะถูกทำลายด้วยเทคโนโลยีก็ยังยาก ว่าที่จริงสถาบันการเงินอาจจะได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีด้วยซ้ำ และราคาหุ้นสถาบันการเงินเองนั้นก็มักจะไม่แพง ทั้งหมดนั้นทำให้บัฟเฟตต์ชอบลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้
หุ้นตัวใหญ่มากอีกตัวหนึ่งที่บัฟเฟตต์ถือมานานมากและเป็นเคยเป็นหุ้น “สุดรัก” ของบัฟเฟตต์ก็คือหุ้นแนว “ผู้บริโภค” ที่ในสมัยก่อนเป็นหุ้นที่ วอเร็น บัฟเฟตต์ ลงทุนมากมายนั่นคือ หุ้นโค๊ก ซึ่งเขาถืออยู่ประมาณ 1.9 หมื่นล้านเหรียญหรือเกือบ 6 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม หุ้น Consumer ซึ่งเคยเป็น Signature หรือหุ้นที่เป็น “ยี่ห้อ” ของบัฟเฟตต์นั้น ในระยะหลังๆ ดูเหมือนว่าจะลดลงมาก ตัวสุดท้ายน่าจะเป็นหุ้นซอสมะเขือเทศไฮน์ที่เขาลงทุนไปมากแต่ดูเหมือนว่าหลัง ๆ กลายเป็นหุ้นผู้บริโภคที่เป็นหุ้นที่อิงเทคโนโลยีอย่างหุ้นแอบเปิลมากกว่า
รวมแล้วหุ้นที่ซื้อขายในตลาดหุ้นที่มีขนาดใหญ่ที่สุด 15 อันดับนั้น มีมูลค่าประมาณ 1.5 แสนล้านเหรียญคิดเป็น 87% ของพอร์ตหุ้นทั้งหมดที่ประมาณ 1.7 แสนล้านเหรียญหรือ 5.4 ล้าน ๆ บาท นี่ก็แสดงให้เห็นถึงพอร์ตที่ Focus หรือเน้นหนักมากในหุ้นไม่กี่ตัวของบัฟเฟตต์ ว่าที่จริงหุ้นตัวใหญ่ที่สุดทั้ง 15 ตัวดังกล่าวนั้น จำนวนไม่น้อยต้องถือว่าบัฟเฟตต์เป็น “เจ้าของ” เพราะเขาถือหุ้นหลาย ๆ เปอร์เซ็นต์ ส่วนมากถึงเกือบ 10% ของบริษัท และกลายเป็นผู้ถือหุ้นที่ใหญ่ที่สุด ดังนั้น เขาสามารถที่จะมีบทบาทหรือสั่งการให้ผู้บริหารดำเนินนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้น เช่น การซื้อหุ้นคืน ซึ่งมักจะทำให้ราคาหุ้นปรับตัวดีขึ้นได้
นอกจากหุ้นที่ซื้อขายในตลาดแล้ว พอร์ตหุ้นของบริษัทที่ไม่อยู่ในตลาดของบัฟเฟตต์เองนั้นก็ใหญ่โตไม่แพ้หุ้นในตลาดเช่นกัน โดยหุ้นเหล่านี้ วอเร็น บัฟเฟตต์มักจะถือหุ้นใหญ่เกิน 50% จำนวนมากถือหุ้น 100% เป็นเจ้าของคนเดียว หุ้นที่มีขนาดใหญ่มากที่อยู่ในพอร์ตนี้บางบริษัทก็เคยเป็นบริษัทจดทะเบียน แต่เมื่อบัฟเฟตต์เทคโอเวอร์มา เขาก็ถอนตัวออกจากตลาด ตัวอย่างหุ้นที่มีมากก็คือหุ้นพลังงานและหุ้นสาธารณูปโภคเช่น รถไฟ เป็นต้น ในขณะที่หุ้นตัวเล็กก็มีหลากหลายนับรวมกันน่าจะเกิน 100 บริษัท บัฟเฟตต์เองบอกว่าเขาชอบเป็นเจ้าของ 100% ในหุ้นทุกตัวที่เขาซื้อ แม้แต่บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นถ้าเขาสามารถเป็นเจ้าของ 100% เขาก็อยากทำ เพราะเขา “ไม่เล่นหุ้น” ซื้อแล้วมักจะไม่ค่อยขาย หรือไม่ก็เก็บไว้นาน จะขายก็เมื่อพื้นฐานของหุ้นเปลี่ยนไปจริง ๆ เท่านั้น
หุ้นในกลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภคเองนั้น ดูไปแล้วก็ออกนอกแนว “ซุปเปอร์สต็อก” ที่เรารู้จักและเป็น Signature เดิมของบัฟเฟตต์ แต่ก็คล้าย ๆ กับสถาบันการเงิน มันสามารถลงทุนด้วยเงินจำนวนมากได้ มันมีความสม่ำเสมอของรายได้และผลประกอบการ สามารถคาดการณ์ได้ใกล้เคียงพอสมควร อนาคตของธุรกิจเองก็ยังเติบโตไปได้ในระยะยาว การถูกDisrupt หรือทำลายด้วยเทคโนโลยีใหม่ก็ยังทำได้ยาก และสุดท้ายที่สำคัญก็คือ ราคาหุ้นไม่แพง
ข้อสรุปของผมก็คือ พอร์ตของบัฟเฟตต์บอกเราว่า การหาซุปเปอร์สต็อกแบบเดิมที่วอเร็น บัฟเฟตต์เคยทำสมัยที่พอร์ตยังมีขนาดเล็กนั้น ทำไม่ได้แล้ว เขาต้องลงทุนด้วยเม็ดเงินขนาดมหึมาในหุ้นแต่ละตัว การหาหุ้นที่เข้าข่ายนั้นทำได้ยากมาก เพราะหุ้นขนาดใหญ่ที่มีคุณสมบัติครบรวมถึงยังโตได้นั้นดูเหมือนว่าจะต้องเป็นกิจการใน New หรือ Digital Economy ซึ่งคาดการณ์ยากโดยเฉพาะตัววอเร็น บัฟเฟตต์เองที่ไม่คุ้นเคยกับมันมากนัก ดังนั้น สิ่งที่เขาทำในช่วงหลัง ๆ จึงเป็นเรื่องของการซื้อหุ้นขนาดใหญ่ที่สามารถประเมินมูลค่าที่เหมาะสมและยังไม่ถูกทำลายด้วยเทคโนโลยีใหม่ โดยที่ราคาซื้อนั้นยังต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงในระดับหนึ่ง ด้วยแนวทางแบบนี้ การที่จะสามารถทำผลตอบแทนเหนือตลาดมาก ๆ ก็เป็นไปได้ยาก แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะสำหรับบัฟเฟตต์แล้ว ต่อจากนี้จนถึงวันที่เขาตาย ถ้าเขาสามารถรักษาผลตอบแทนที่พอ ๆ กับตลาดได้ เขาก็น่าจะได้รับการจารึกในประวัติศาสตร์ว่าเป็นสุดยอดนักลงทุนที่อาจจะไม่มีใครสามารถลบสถิติได้ อานิสงค์จากผลงานการลงทุนที่ชนะตลาด 10% ต่อปีแบบทบต้นติดต่อกันยาวนานกว่า 50 ปี
ความเสี่ยงของการถูกโกงในตลาดหุ้น :ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ความเสี่ยงของการถูกโกงในตลาดหุ้น
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
การศึกษาเรื่องของการลงทุนในตลาดหุ้นนั้น สิ่งหนึ่งที่มักไม่ได้มีการพูดถึงก็คือ “การโกง” หรือการ “ถูกโกง” ไม่ต้องพูดถึงว่าจะวิเคราะห์หุ้นที่มีแนวโน้มจะโกงคนที่เล่นหรือลงทุนอย่างไร ประเด็นก็คือ การพูดว่าหุ้นตัวไหนมีโอกาสที่จะมีการฉ้อฉลมากน้อยแค่ไหนนั้นเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ ขืนทำก็อาจจะถูกฟ้องหมิ่นประมาทได้ เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ใครจะบอกได้ว่าหุ้นตัวนั้นจะมีโอกาสที่จะมีการโกงกี่เปอร์เซ็นต์? ดังนั้น ความเสี่ยงที่หุ้นจะมีการโกงจึงเป็นสิ่งที่ไม่มีคนคิดหรือพูดถึง การวิเคราะห์ทุกบริษัทหรือทุกหุ้นนั้นตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่าไม่มีการฉ้อฉลภายในบริษัทหรือการแต่งบัญชีหลอกลวง ราคาหุ้นที่เหมาะสมก็อิงอยู่กับตัวเลขทางบัญชีที่ปรากฏหรือมีการประกาศออกมาโดยบริษัท แต่ถ้าความเป็นจริงก็คือ มีการโกงหรือมีการตกแต่งตัวเลขบัญชีภายในบริษัท ราคาหุ้นที่เหมาะสมก็อาจจะลดลงมาก คนที่เข้าไปซื้อหุ้นลงทุนก็อาจจะเสียหายหนัก ดังนั้น โดยหลักทางการเงินและการวิเคราะห์หุ้นที่ถูกต้อง เมื่อมี “ความเสี่ยง” ว่าอาจจะมีการโกง สิ่งที่นักวิเคราะห์ต้องทำก็คือ เขาจะต้อง Discount หรือลดมูลค่าที่แท้จริงหรือมูลค่าพื้นฐานลง เช่น วิเคราะห์ตามตัวเลขแล้วราคาหุ้นที่เหมาะสมควรจะเท่ากับ 100 บาท แต่เนื่องจากความเสี่ยงที่จะมีการโกงสูง ราคาอาจจะต้องถูกลดทอนลง 30% เหลือเพียง 70 บาท แต่ถ้าความเสี่ยงน้อยมาก ราคาอาจจะลดลงเหลือ 98 บาท หรือไม่ลดเลย เป็นต้น
หน้าที่ของ VI ก็คือ นอกจากการวิเคราะห์ตามปกติแล้ว เราจะต้องคิดถึงเรื่องที่ว่าบริษัทอาจจะมีการโกงหรือฉ้อฉลซึ่งจะทำให้มูลค่าที่เหมาะสมเปลี่ยนแปลงไปได้ บางครั้งเปลี่ยนแปลงไปมาก แน่นอนว่าเราไม่สามารถรู้ได้แน่ชัดโดยเฉพาะในกรณีที่เรื่องยังไม่ถูกเปิดโปงออกมา แต่การประเมิน “โอกาส” ที่จะมีการโกงว่าสูงหรือต่ำแค่ไหนจะช่วยให้เราลงทุนในหุ้นอย่างปลอดภัยขึ้น และต่อไปนี้คือหุ้นที่เราจะต้องคำนึงถึงเรื่องของการโกงมากเป็นพิเศษ บางเรื่องเป็นลักษณะของธุรกิจเองที่เอื้ออำนวยให้มีโอกาสโกงมากกว่าธุรกิจอื่น บางเรื่องก็เป็นพฤติกรรมของการบริหารงานของบริษัทหรือการซื้อขายหุ้นของเจ้าของที่อาจทำให้เกิดโอกาสในการโกงโดยที่ไม่สามารถจับได้และดังนั้น เขาก็อาจจะมีโอกาสที่จะโกงมากขึ้น
ธุรกิจ “สีเทา” หรือธุรกิจที่ไม่ใคร่จะ “โปร่งใส” ในเรื่องของการดำเนินงาน ตัวอย่างเช่น การประมูลงานของรัฐเช่นการรับเหมาก่อสร้างและการจัดซื้อต่าง ๆ นั้น เป็นที่รู้กันว่าจะต้องมีการจ่ายค่าคอมมิชชั่นหรือรายจ่ายต่าง ๆ ที่ไม่สามารถลงบัญชีตามปกติได้ ดังนั้น จึงต้องมีการดึงเงินออกมาจำนวนหนึ่งที่จะถูกนำไปจ่าย ประเด็นก็คือ ไม่มีใครรู้ว่าเงินนั้นที่จริงแล้วควรเป็นเท่าไร อาจจะเป็นไปได้ว่าผู้บริหารหรือเจ้าของอาจจะแบ่งเงินบางส่วนเข้ากระเป๋าตนเองได้โดยที่ไม่มีใครจับได้ ดังนั้น หุ้นลักษณะนี้จึงต้องมีการ Discount หรือลดมูลค่าลงถ้าเราจะลงทุน
ธุรกิจที่มีการซื้อขายกิจการหรือทรัพย์สินให้กับคนอื่นที่เป็นบุคคลธรรมดาหรือบริษัทเอกชนที่ไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะนั้น มีโอกาสที่จะเกิดการโกงหรือฉ้อฉลมากขึ้นโดยเฉพาะที่ทำกันในต่างประเทศ การฉ้อฉลในที่นี้ก็คือสิ่งที่เรียกว่า “เงินทอน” นั่นคือ ถ้าบริษัทซื้อ ผู้บริหารอาจจะตกลงซื้อในราคาที่เป็นทางการที่แพงกว่าปกติ เช่น จ่ายเงินให้คนขาย100 ล้านบาท แต่บอกให้คนขาย “ทอนเงิน” คืนมาให้ 20 ล้านบาทโดยที่เงินทอนนี้เข้ากระเป๋าผู้บริหาร เป็นต้น ในทางตรงกันข้าม ถ้าขาย ก็ขายในราคาถูกกว่าปกติ ส่วนต่างนั้นผู้ซื้อต้องจ่ายให้กับผู้บริหาร เป็นต้น ทั้งหมดนั้นทำได้เพราะคนที่ขายหรือซื้อเป็นบุคคลธรรมดาหรือบริษัทเอกชนที่ไม่ต้องรายงานงบบัญชีกับใครและก็ไม่แคร์ว่าเราจะทำอะไรถูกต้องหรือไม่ เขาได้ขายหรือซื้อทรัพย์สินในราคาที่เขาพอใจก็พอแล้ว ดังนั้น เวลาเราเจอบริษัทที่มีกิจกรรมดังกล่าวมาก ๆ เราก็ต้องพิจารณาว่ามีโอกาสมากน้อยแค่ไหนที่อาจจะมีการโกงเกิดขึ้น แน่นอนว่าไม่ใช่ว่าทุกบริษัทจะต้องมีการโกง แต่เราจะต้องวิเคราะห์ว่าบริษัทไหนน่าสงสัย และถ้าพบเราก็ต้องระวังและต้อง Discount มูลค่าหุ้นหรือไม่ก็อาจจะต้องหลีกเลี่ยงไม่เกี่ยวข้องกับหุ้นตัวนั้น
ธุรกิจบางกลุ่มนั้น มีความเสี่ยงที่จะถูก “แต่งบัญชี” ได้ง่ายกว่าธุรกิจอื่น การแต่งบัญชีนั้นมักจะทำเพื่อให้บริษัทมีกำไรสูงขึ้น เพื่อที่จะทำให้ราคาหุ้นในตลาดสูงขึ้น เพื่อที่เจ้าของหรือผู้บริหารจะได้ขายหุ้นทำกำไรงดงาม การแต่งบัญชีนั้นจะง่ายขึ้นถ้าธุรกิจขายสินค้าที่มีมาร์จินหรือกำไรต่อยอดขายสูง วิธีก็อาจจะเป็นว่าบริษัทขายสินค้าให้กับ “นอมินี” หรือตัวแทนที่ไม่เปิดเผย ซึ่งจะสามารถทำกำไรเพิ่มขึ้นมากเนื่องจากมาร์จินสูง ส่งผลให้บริษัทมีกำไรโตขึ้นมากโดยที่ผู้บริหารหรือเจ้าของใช้เงินไม่มากนัก และเงินที่ใช้ไปนั้นเขาก็สามารถเรียกคืนมาได้จากการขายหุ้นที่มีราคาสูงขึ้นมาก กรณีแบบนี้จะทำได้ก็ต่อเมื่อราคาหุ้นของบริษัทแพงมาก ๆ จนคุ้มที่จะทำและผู้บริหารหรือเจ้าของสามารถขายหุ้นจำนวนมากออกมาได้
การแต่งบัญชีเพื่อทำให้ดูมีกำไรสูงขึ้นกว่าปกตินั้น ยังสามารถทำได้ง่ายกับธุรกิจประเภท “บินก่อนผ่อนทีหลัง” เช่น การปล่อยกู้ที่รายได้จะถูกรับรู้ทันทีเมื่อปล่อยเงินออกไปแต่ต้นทุนในการปล่อยกู้บางรายการที่สำคัญเช่น สำรองหนี้เสียนั้นสามารถเลื่อนออกไปในอนาคตได้นานพอสมควรด้วยเทคนิคต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงหลักเกณฑ์การตั้งสำรองและวิธีปรับหนี้ให้กับลูกค้าที่กำลังมีปัญหา การทำแบบนี้ก็จะทำให้กำไรของธุรกิจจะเพิ่มขึ้นทันทีแต่ในภายหลังกำไรอาจจะลดลงมากเนื่องจากต้นทุนสำรองหนี้เสียจะเกิดขึ้นภายหลังเมื่อลูกค้ากลายเป็นหนี้เสียที่แก้ไม่ได้แล้ว ดังนั้น ในการลงทุนหุ้นที่พบว่าอาจจะมีความเสี่ยงดังกล่าว สิ่งที่เราควรจะทำก็คือการ Discount มูลค่าหุ้นลง ค่า PE ของหุ้นจะต้องต่ำกว่าหุ้นในธุรกิจคล้ายกันแต่ความเสี่ยงในการแต่งบัญชีน้อยกว่ามาก
บริษัทจดทะเบียนบางแห่งที่มีตัวเลขผลประกอบการที่ดูดีมาก ๆ บางทีเป็นเวลาหลายปีโดยที่เรามองหาเหตุผลไม่ค่อยได้ เช่น เป็นบริษัทที่อยู่ในธุรกิจสินค้าโภคภัณฑ์ที่มักมีความผันผวนของกิจการแต่บริษัทนั้นกลับมีผลประกอบการที่ดีและผันผวนน้อยเปรียบเทียบกับคู่แข่งที่บางครั้งเป็นบริษัทที่ดูเด่นกว่าด้วย หรือบางบริษัทขายสินค้าอุปโภคบริโภคที่มักมีการแข่งขันสูงในตลาดแต่บริษัทมีกำไรต่อยอดขายสูงกว่าคู่แข่งมากแบบ “ไม่น่าเชื่อ” ในกรณีแบบนี้เราก็ต้องดูว่ามันผิดปกติหรือไม่ เราต้องหาเหตุผลให้ได้ว่าทำไมมันจึงเก่งหรือเด่นกว่าคู่แข่งที่มีความสามารถในการแข่งขันพอ ๆ กัน นอกจากนั้นคงจะต้องดูต่อว่ามันจะยังดีต่อไปหรือไม่ ถ้าเราวิเคราะห์ดูแล้วก็ยังหาเหตุผลไม่ค่อยได้ มันก็อาจจะมีอีกเหตุผลหนึ่งนั่นก็คือ มันอาจจะเป็นเรื่องของการแต่งบัญชีหรือการโกง ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยเราก็ควรจะต้องเผื่อความปลอดภัยหรือมี Margin Of Safety ถ้าจะลงทุนซื้อหุ้นตัวนั้น หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ อย่าให้ค่า PE ของหุ้นสูงเกินไป
บริษัทจดทะเบียนใหม่ ๆ ในตลาดหุ้นนั้น บ่อยครั้งเราไม่ค่อยรู้จักผู้บริหารว่ามีพฤติกรรมแบบไหน มีบรรษัทภิบาลดีแค่ไหน ดังนั้น โดยเปรียบเทียบแล้วเราควรจะต้องพิจารณาว่าความเสี่ยงของการโกงจะต้องสูงกว่าบริษัทที่มีประวัติที่ดีในตลาดหุ้นมายาวนานกว่ามาก โดยทั่วไปแล้ว เวลาผมพิจารณาเรื่องความเสี่ยงในการโกง ผมมักจะไม่ค่อยชอบผู้บริหารหรือเจ้าของหุ้นที่ “คุยโม้” มากเกินไป ผู้บริหารที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับหุ้นหรือราคาหุ้นของบริษัทมากเกินไป การซื้อขายหุ้นของตนเองบ่อยและในจำนวนมากนั้นผมคิดว่ามันน่าจะเพิ่มความเสี่ยงของการโกงหรือการฉ้อฉลขึ้นและเราอาจจะต้อง Discount มูลค่าหุ้นลงมามากขึ้นเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นที่ไม่มีพฤติกรรมแบบนั้นหรือมีน้อยกว่า
แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกบริษัทที่ทำสิ่งต่าง ๆ ที่ผมกล่าวจะต้องมีโอกาสที่จะมีการโกงสูงกว่าบริษัทอื่น ๆ สิ่งที่ผมต้องการสื่อก็คือ เราควรจะต้องระวังมากขึ้นและรอบคอบมากขึ้นในการวิเคราะห์บริษัท เพราะประวัติศาสตร์ทั้งในตลาดหุ้นไทยและต่างประเทศนั้นบอกให้เรารู้ว่า ความเสี่ยงในเรื่องของการโกงนั้นมันเป็นความจริงและเมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว ความเสียหายมักจะรุนแรงมาก หลาย ๆ ครั้งหุ้นกลายเป็นหายนะ และแม้กระนั้นส่วนมากแล้วก็ยังไม่สามารถจับคนโกงได้ด้วยซ้ำและทำให้ไม่รู้ว่ามีการโกงจริงไหม เรารู้แต่ว่าผลของมันแทบไม่ต่างกัน
อยู่แล้วรวย :ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
อยู่แล้วรวย
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ผมเป็นคนที่ชอบอ่าน Quote หรือคำพูดของคนดัง ๆ ของโลกทั้งในอดีตและปัจจุบัน เพราะคำพูดเหล่านั้นมักจะมีความหมายที่ดีและให้ข้อคิดที่เราสามารถนำไปใช้ได้ นอกจากคำพูดของคนดังแล้ว ผมก็ยังชอบคำคมที่มีคนเอามาเขียนแสดงให้คนอ่านโดยไม่ได้บอกว่าใครเป็นคนพูดเพราะมันอาจจะไม่โดดเด่นพอและจริง ๆ ก็ไม่มีคนรู้ว่าใครเป็นคนพูดคนแรก คำเหล่านั้นมักถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายรวมถึงที่ติดไว้ท้ายรถบรรทุกและในบ้าน คำ ๆ หนึ่งที่ผมเจออยู่บ่อย ๆ แต่ก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรนักก็คือคำว่า “บ้านนี้ดี อยู่แล้วรวย” เพราะผมคิดว่านี่ก็เขียนไปเพื่อที่จะทำให้คนอยู่สบายใจโดยที่ความเป็นจริงนั้นคงไม่ได้เกี่ยวกับป้ายหรือคำพูดนี้ เพราะคนที่อยู่บ้านนี้ถ้าไม่ได้ทำงานหรือลงทุนอย่างฉลาดและขยันขันแข็งเขาก็คงไม่รวยเพราะอาศัยอยู่บ้านหลังนี้ มันไม่เกี่ยวกัน
แต่สิ่งที่ทำให้ผมสนใจก็คือคำว่า “อยู่แล้วรวย” โดยที่ไม่ต้องพูดถึงบ้าน คำว่า “อยู่” ในที่นี้ก็คือ “การมีชีวิตอยู่” เหตุผลที่ผมคิดว่าถ้าเรายังมีชีวิตอยู่แล้วละก็ เราก็รวย เพราะในปัจจัยสำคัญของการเพิ่มขึ้นของความมั่งคั่งในการลงทุนก็คือ “ระยะเวลาของการลงทุน” โดยที่สูตรของความมั่งคั่งก็คือ ความมั่งคั่งนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 ประการ คือหนึ่ง เงินต้นหรือเงินเริ่มต้น สอง ผลตอบแทนจากการลงทุนแบบทบต้นต่อปี และสามก็คือ ระยะเวลาการลงทุนคิดเป็นปี ถ้าปัจจัยทั้งสามนั้นมีมาก คน ๆ นั้นก็จะรวย แต่ถ้ามีน้อย คน ๆ นั้นก็จน ซึ่งผมมักจะเปรียบปัจจัย 3 ประการนั้นว่าเป็น แก้ว 3 ดวงหรือแก้ว 3 ประการของการลงทุน โดยที่ปัจจัยแต่ละอย่างนั้นจะมีมากหรือน้อยบางเรื่องก็ขึ้นอยู่กับ “ดวง” หรือ “โชคชะตา” ด้วย แต่ทุกดวงหรือทุกเรื่องนั้นก็ต้องอาศัยความพยายามของเราที่จะทำให้มันเพิ่มขึ้น
การเพิ่มขึ้นของ “เงินต้น” ในการลงทุนนั้น บ่อยครั้งขึ้นอยู่กับดวงไม่น้อย เหตุเพราะว่าคนจำนวนไม่น้อยมีครอบครัวหรือพ่อแม่ที่ร่ำรวย หรือบางคนก็โชคดีถูกรางวัลใหญ่หรือได้รับมรดก หรือที่เกิดขึ้นบ่อยกว่าก็คือ การได้แต่งงานกับคนรวยหรือเศรษฐี แบบนี้ก็อาจจะทำให้รวยได้โดยไม่ต้องทำอย่างอื่น แต่หากว่าเราไม่โชคดีแบบนั้น วิธีการที่จะเพิ่มเงินต้นมีทางเดียวก็คือการทำงานอย่างฉลาด ทำงานหนัก และก็อดออมให้มากอย่างน้อยที่สุดก็ต้อง 15% ของรายได้ขึ้นไป ในส่วนของการลงทุนที่จะให้ได้ผลตอบแทนทบต้นที่ดีนั้น ส่วนใหญ่แล้วไม่ได้ขึ้นอยู่กับโชคแต่ขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถและความพยายามของเรา รวมถึงความเสี่ยงที่เราจะต้องกล้ารับด้วย เพราะถ้าเราไม่รับความเสี่ยงเลยหรือรับได้น้อยมาก การที่เราจะมีความมั่งคั่งหรือมีเงินพอที่จะเกษียณอายุได้อย่างมีความสุขเพราะมีเงินดูแลตัวเองก็เป็นไปได้ยาก
ในเรื่องของการลงทุนนั้น มีหลายแนวทางที่จะทำ ถ้าต้องการความปลอดภัยสูงไม่อยากรับความเสี่ยงเลย เช่นเงินออมส่วนใหญ่ฝากอยู่ในสถาบันการเงินหรือซื้อพันธบัตรรัฐบาล ผลตอบแทนต่อปีก็จะต่ำมาก ถ้าเราต้องการสร้างความมั่งคั่งให้สูงขึ้นก็อาจจะต้องทำงานเรื่องการลงทุนหนักขึ้น กล้ารับความเสี่ยงมากขึ้น เช่น ลงทุนในหุ้นมากขึ้น โชคดีที่ว่าเราสามารถที่จะลงทุนในกองทุนรวมอิงดัชนีตลาดหุ้นซึ่งจะทำให้เราไม่ต้องใช้ความสามารถในการเลือกหุ้นเองและในระยะยาวก็มักจะให้ผลตอบแทนที่ดีถ้าเราลงทุนในตลาดหุ้นของประเทศที่ปกครองในระบบทุนนิยมและมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดี แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร การลงทุนในตลาดหุ้นก็เป็นเรื่องที่ต้องออกแรง ต้องใช้ความพยายามโดยเฉพาะถ้าเราเลือกหุ้นลงทุนเอง และทั้งหมดนั้นก็เป็นความเครียดที่เราจะต้องรับ
วิธีเพิ่มเงินหรือความมั่งคั่งข้อสุดท้ายก็คือการ “เพิ่มเวลาในการลงทุน” นั้น ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ง่ายที่สุดและน่าจะมีความเครียดน้อยที่สุด นอกจากนั้นมันแทบไม่ต้องอาศัยความสามารถอะไรเป็นพิเศษใคร ๆ ก็สามารถทำได้ แต่คนกลับสนใจหรือใช้มันน้อยมาก เหตุผลอาจจะเป็นเพราะว่าผลลัพธ์ของมันจะมาอย่างช้า ๆ บ่อยครั้งเราแทบไม่รู้ตัว เรามักจะสนใจอะไรต่าง ๆ ในระยะเวลาไม่เกินหนึ่งปีหรือน้อยกว่านั้น การบอกว่าเงินหรือพอร์ตการลงทุนจะโตเร็วขึ้นแบบ “ทวีคูณ” และใหญ่ขึ้นมากถ้าเราลงทุนแบบทบต้นโดยไม่ถอนเงินออกมาใช้เลยเป็นเวลาซัก 10 ปี 20 ปีหรือ 30 ปีขึ้นไปนั้น มันทำให้คนที่คิดจะทำ “หมดไฟ” หรือหมดความตื่นเต้นตั้งแต่ปีแรก ๆ หรือบางทีตั้งแต่รับรู้หรือได้รับฟังมา คนมักจะคิดว่ามัน “ยาวเกินไป ยังไม่อยากคิด” ตอนนี้ขอทำเงินโดยการหาหุ้น “ซุปเปอร์สต็อก” หรือไม่ก็เล่นหุ้นที่กำลังร้อนแรงซึ่งอาจทำกำไรได้ปีละ 100% ก่อน
ผมเองทุ่มเทเวลาศึกษา ทำงานหนักเกี่ยวกับการลงทุน รับความเครียดมานาน และก็ “ประสบความสำเร็จ” ในการลงทุน ตลอดเวลากว่า 20 ปี นั้นผลตอบแทนแบบทบต้นที่ได้รับสูงมากจนแทบไม่น่าเชื่อ ความสำเร็จที่ได้รับนั้นผมคิดว่าส่วนใหญ่น่าจะเป็นเพราะตนเอง “โชคดี” เพราะตลาดหุ้นในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นดีมาก และที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ หุ้นที่ลงทุนซึ่งก็คือหุ้น “VI” ขนาดเล็กถึงกลางนั้นมีการเติบโตขึ้นมหาศาลจนกลายเป็นหุ้นขนาดใหญ่หรือขนาดยักษ์ของตลาด ทำให้พอร์ตเติบโตขึ้นมโหฬารจนเปลี่ยนชีวิตตนเองได้ จริงอยู่ ความสามารถในการเลือกหุ้นลงทุนก็ส่วนอยู่พอสมควร แต่สิ่งที่สำคัญก็คือการที่เรา “ยืนหยัด” ลงทุนอยู่ในตลาดหุ้นตลอดเวลากว่า 20 ปีโดยแทบไม่ได้ถอยออกจากตลาดเลยแม้ในยามที่ตลาดเลวร้ายบางครั้งเป็นวิกฤติ และทำให้ข้อสรุปถึงความสำเร็จของผมที่ผ่านมานั้น นอกจากเรื่องของการที่สามารถเพิ่มผลตอบแทนการลงทุนแบบทบต้นแล้วก็คือการเพิ่มขึ้นของเวลาการลงทุน
ถึงวันนี้เองผมคิดว่าการลงทุนที่จะให้ผลตอบแทนต่อปีแบบทบต้นสูงเหมือนเดิมนั้นน่าจะเป็นไปได้ยากมาก เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ เราคงไม่โชคดีซ้ำสองที่จะมีตลาดหุ้นที่บูมหรือเป็นกระทิงมายาวนานเป็นสิบ ๆ ปี เราคงไม่มี “หุ้น VI” ราคาถูกมากที่คนไม่รู้จักและไม่สนใจที่เปิดโอกาสให้เราลงทุนในราคาถูกเหลือเชื่อและให้ผลตอบแทนสูงลิ่วติดต่อกันเป็นสิบ ๆ ปี ปัจจัยของความมั่งคั่งข้อสองหรือดวงแก้วดวงที่สองนั้นดูเหมือนเราจะเร่งให้สว่างยากขึ้นมาก ปัจจัยข้อที่หนึ่งหรือดวงแก้วดวงที่หนึ่งคือเงินต้นนั้น มันหยุดไปนานมากแล้วหลังจากที่ผมเลิกทำงานประจำและแทบไม่มีรายได้อะไรอย่างอื่น ดังนั้น สิ่งที่ผมยังเหลืออยู่จริง ๆ ที่ผมจะสามารถใช้มันได้โดยที่แทบไม่ต้องอาศัยความพยายามหรือการทำงานหนักก็คือเวลาของการลงทุน พูดง่าย ๆ สิ่งที่ต้องทำก็คือ พยายาม “อยู่” ต่อไป ถ้าถึงปีหน้าผมยังมีชีวิตอยู่ ผมก็อาจจะรวยขึ้นไปอีกหลาย ๆ ล้านบาท ไม่ต้องพยายามไปทำงานหารายได้อื่น ไม่ต้องพยายามไปหาหุ้นลงทุนที่เหนื่อยยาก ไม่ต้องเครียด
วิธีการเพิ่มเวลาของการลงทุนนั้นมีไม่กี่อย่างและเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยาก ข้อแรก เราต้องเริ่มลงทุนตั้งแต่วันแรกที่มี “เงินตั้งต้น” ที่มักจะมาจากการทำงานและออมไว้ ข้อสอง ต้องลงทุนตลอดเวลาไม่หนีจากตลาดไม่ว่าภาวะตลาดจะเป็นอย่างไร หุ้นจะขึ้นหรือลง หุ้นจะบูมหนักเป็นกระทิงหรือตกหนักเป็นวิกฤติ เราก็ต้องอยู่กับตลาดหุ้น ข้อสาม ยืดเวลาของการลงทุนโดยการยืดอายุขัยของเรา ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดก็คือ รักษาสุขภาพให้ดีที่สุดโดยการออกกำลัง กินอาหารที่ดี อยู่ในบรรยากาศที่บริสุทธิ์ และลดความเครียดในชีวิต ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยากและเราไม่ต้องมีความสามารถอะไรเป็นพิเศษเพียงแต่ต้องอาศัยวินัยที่มั่นคง
สำหรับคนที่มีความทะเยอทะยานอยากรวยหรือมีความมั่งคั่งหรือมั่นคงในชีวิตทั่วไปแล้ว ผมคิดว่าพวกเขาต่างก็พยายามเร่งหารายได้จากการทำงานและออมเงินในสัดส่วนที่มากพร้อมกับการลงทุนอย่างทุ่มเทเพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีเยี่ยม ผมเองคิดว่านี่เป็นสิ่งที่ดีแต่เราก็ไม่จำเป็นต้อง “เร่ง” ทำมากเกินไป เหตุผลเป็นเพราะว่ามันเป็นกิจกรรมที่มี “ต้นทุน” สูง เราอาจจะต้องเสี่ยงมากกว่าปกติและชีวิตก็อาจจะเครียดเกินไป การใช้ปัจจัยข้อที่สามคือเพิ่มเวลาหรือใช้เวลาในการลงทุนให้ยาวขึ้นและยาวที่สุดนั้นจะสามารถทำให้เราไปถึงที่หมายได้เช่นเดียวกันโดยที่เราไม่ต้องเสี่ยงและเคร่งเครียดมากเกินไปจะดีกว่า ผมเองเคยแต่คิดว่า “สู้แล้วรวย” มานานมาก แต่หลังจากกลายเป็นนักลงทุน ผมกลับชอบ “อยู่แล้วรวย” มากกว่า
บทเรียนที่ไม่จำ ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
บทเรียนที่ไม่จำ
โลกในมุมมองของ Value Investor
2 กุมภาพันธ์ 62
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
“Insanity is doing the same thing over and over again and expecting different results” นั่นเป็นคำพูดที่คนชอบอ้างว่าเป็นของอัลเบิร์ท ไอสไตน์ แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานชัดเจน ความหมายก็คือ “เป็นเรื่องไร้เหตุผลมากที่เราจะทำสิ่งเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่าและหวังว่ามันจะได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างออกไปจากเดิม” ถ้าจะอธิบายเพิ่มเติมก็คือ ถ้าคุณต้องการผลลัพธ์ใหม่ คุณก็ต้องทำแบบใหม่ ทำแบบเดิมก็จะได้ผลลัพธ์แบบเดิม อย่าไปหวังว่ามันจะได้ผลลัพธ์ใหม่ ในทางวิทยาศาสตร์นั้น นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ในทางสังคมศาสตร์หรือในทางเศรษฐศาสตร์แล้วมันไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ บางครั้งการทำแบบเดิมแต่อาจจะได้ผลลัพธ์ใหม่ เช่น เคยเล่นหุ้นสั้น ๆ รายวันแบบเก็งกำไรบางทีหรือบางช่วงก็ขาดทุน แต่บางครั้งหรือบางช่วงก็กำไร อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวถ้าเราทำซ้ำ ๆ สุดท้ายเราก็จะต้องขาดทุน คำถามก็คือ ทำไมนักลงทุนหรือคนเล่นหุ้นก็ยังชอบเล่นเก็งกำไรแบบสั้น ๆ วันต่อวัน? เล่นมาแล้วเป็นสิบ ๆ ปีก็มีและส่วนใหญ่ก็ขาดทุนมาตลอด แต่เขาก็ยังหวังว่าเขาก็จะได้กำไรจากการทำแบบเดิม
ผมคิดว่าเรื่องนี้น่าจะเกี่ยวกับจิตวิทยาของมนุษย์ที่ส่งผลมาจากยีน เรื่องแรกก็คือ ยีนของคนเรานั้นบอกให้เรา “เก็งกำไร” เป็นยีนของ “นักเสี่ยงโชค” ทุกครั้งที่เราทำ เราจะรู้สึกตื่นเต้นสนุกสนาน และถ้าทำแล้วได้กำไร เราก็จะมีความสุข รู้สึกว่า“เราชนะ” ถ้าทำแล้วขาดทุน เราก็มีความทุกข์ รู้สึกว่า “เราแพ้” แต่เราก็ไม่ได้หมดตัวหรือต้องลำบากอะไรมากนัก เราหวังว่าคราวหน้าจะต้อง “แก้มือ” เราจะต้องชนะด้วย “หุ้นตัวใหม่” และ “ภาวะตลาดหุ้นใหม่” ที่ดีขึ้น แต่วิธีการลงทุนหรือการซื้อขายหุ้นก็ยังเป็นแบบเดิมคือซื้อมาและขายไปในระยะเวลาอันสั้น ...
บินตรงอีกแล้ว (ภาค 3) !
บินตรงอีกแล้ว (ภาค 3) !
แอดเพิ่งโพสต์เรื่อง Vietjet และ Bangkok airways เปิดบินตรงไปเวียดนามไปหมาดๆ
โพสต์นี้ถึงตาแอร์เอเชียบ้างค่ะ
แอร์เอเชียเปิดเส้นทางบินตรงกรุงเทพ (ดอนเมือง) - เกิ่นเทอ ประเทศเวียดนาม
———-
เกิ่นเทอมีอะไร?
———-
เมืองเกิ่นเทอ (Can Tho) ถือเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของประเทศเวียดนาม และใหญ่ที่สุดในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง เป็นเมืองที่ขึ้นชื่อในเรื่องของการค้าขายทางน้ำ และมีตลาดน้ำขายส่งขนาดใหญ่ อีกทั้งยังได้ชื่อว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของเวียดนาม เพราะเป็นแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญ โดยนักท่องเที่ยวสามารถไปสัมผัสวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบชาวเวียดนามที่ใช้ชีวิตริมคลองได้ที่เมืองนี้
นอกจากการท่องเที่ยวแล้วเมืองเกิ่นเทอยังเป็นแหล่งธุรกิจการค้าที่สำคัญ...
วิกฤติอากาศ : ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
โลกในมุมมองของ Value Investor 25 มกราคม 62
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
วิกฤติอากาศ
ผมเพิ่งกลับจากการพูดในการสัมมนาเกี่ยวกับการลงทุนแบบ VI ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย และก็แน่นอนว่าผมได้มีโอกาสท่องเที่ยวเล็ก ๆ น้อยในเมืองหลวงแห่งนี้ ภาพทั่ว ๆ ไปของ KL ในความรู้สึกของผมก็คือ มันเป็นเมืองที่ถูกออกแบบมาค่อนข้างดี อานิสงค์จากการที่อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษในยุคล่าอาณานิคม ถนนหนทางมีมากซึ่งทำให้รถไม่ค่อยติดยกเว้นบางจุดใจกลางเมือง ตึกรามเก่าที่มีศิลปะเฉพาะมีกระจายไปทั่วเมืองควบคู่ไปกับตึกระฟ้าที่ทันสมัย สถานที่ท่องเที่ยวสำหรับประชาชนที่รัฐสร้างขึ้นเช่น “สวนนกแบบเปิดที่ใหญ่ที่สุดในโลก” ที่ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนในช่วงสั้น ๆ นั้น ดูดีและห่างจากใจกลางเมืองแค่รถวิ่ง 15 นาที ดูเหมือนว่ารอบ ๆ เมือง KL นั้น ยังมีต้นไม้เต็มไปหมดคล้าย ๆ กับ “ป่า” แต่ที่สำคัญที่ผมพยายามสังเกตหลังจากที่กรุงเทพต้องประสบกับปัญหาหมอกควันรุนแรงก็คือ บนท้องฟ้าที่ดูสดใสเป็นสีฟ้าสลับกับเมฆสีขาวที่เห็นขอบเขตอย่างชัดเจน เวลาเดินกลางแดดก็จะพบว่ามันร้อนเปรี้ยงเพราะไม่มีหมอกมาบดบัง โดยรวมแล้วผมคิดว่า KL เป็นเมืองที่น่าอยู่และสมศักดิ์ศรีของการที่จะเป็นเมืองหลวงของประเทศที่ใกล้จะเป็นประเทศพัฒนาแล้ว
กลับมากรุงเทพในช่วง 3-4 วันที่ผ่านมาผมพบว่ากรุงเทพนั้นมีอาการที่น่าห่วงมาก อากาศน่าจะเต็มไปด้วยมลพิษเนื่องจากฝุ่นละอองจากควันของไอเสียรถยนต์และฝุ่นดินที่มาจากการก่อสร้าง การเผาขยะ และอื่น ๆ อีกมาก มองขึ้นไปบนฟ้าก็พบว่ามันขมุกมัวไม่ชัดเจน อาคารที่อยู่ไกลออกไปก็จะมองไม่ค่อยเห็น สีของฟ้านั้นเป็นสีขาวของหมอกควันพิษและมองแทบไม่เห็นเมฆ “ผู้เชี่ยวชาญ” และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องบอกว่ามันเกิดเนื่องจากอากาศไม่ถ่ายเทเพราะไม่มีลมอันเป็นผลจากฤดูกาล “รอสักระยะเมื่อลมมาแล้วมันก็จะหายไป” ตอนนี้ก็ต้องอดทนแต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็พยายามแก้ปัญหาอยู่ ตัวเลขความรุนแรงของมลภาวะถูกนำมาประกาศวันต่อวัน ดูเหมือนว่ามันกำลังจะดีขึ้นแต่แล้ววันต่อมาก็อาจจะเลวลงอีก การแก้ไขปัญหาที่ทำอยู่นั้นผมดูแล้วแทบจะไม่มีผลต่อมลภาวะเพราะมันอาจจะแก้ไม่ถูกจุดจริง ๆ ผู้รู้บางคนบอกว่าตัวการสำคัญที่สุดคือรถโดยเฉพาะที่ใช้น้ำมันดีเซล แต่การแก้ปัญหาเรื่องหนึ่งก็คือจะพิจารณาให้มีน้ำมัน B20 ที่ผสมน้ำมันปาล์มมากขึ้นเป็น 20% ในน้ำมันดีเซล แต่นี่ดูเหมือนว่าจะลดควันเสียได้น้อยมากและคงใช้เวลาอีกเป็นสิบ ๆ ปีกว่าจะเห็นผล บางคนก็เสนอให้ใช้น้ำฉีดจากตึกสูงเป็นละอองเพื่อดักจับฝุ่น บางคนก็เอาน้ำมาล้างถนนเพื่อลดฝุ่น แต่ทั้งหมดนี้ผมคิดว่าคงแก้ไขหรือลดมลภาวะอะไรไม่ได้
ผมคิดว่าอากาศกรุงเทพนั้นแท้จริงแล้วอาจจะเลวร้ายมานานและสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ฤดูกาลอาจจะมีส่วนบ้าง เช่นช่วง “หน้าหนาว” ซึ่งอากาศเย็นลงมาปกคลุมและไม่ค่อยมีลมจะเป็นช่วงที่อากาศแย่ที่สุด ในช่วง “หน้าร้อน” ที่มีลมพัดแรงและช่วง “หน้าฝน” ที่มีฝนตกเกือบทุกวันนั้น ภาวะอากาศเสียฝุ่นละอองอาจจะน้อยลงไปเพราะลมหอบฝุ่นไปที่อื่นและฝนตกช่วยจับฝุ่นลงมาอยู่บนพื้นดิน ที่จริงแล้วเราอาจจะดูดหรือหายใจเอาฝุ่นละอองที่อันตรายเข้าปอดมานานแล้วแต่เราไม่รู้เพราะร่างกายมักจะไม่แสดงอาการอะไรออกมาทันที มันอาจใช้เวลาเป็นปี ๆ หรือหลายสิบปีก่อนที่เราจะเจ็บป่วย ดังนั้น เราไม่ตระหนักว่าเรากำลังอยู่ในอันตรายในเรื่องของสุขภาพ จนกระทั่งปีนี้ที่มลภาวะอากาศรุนแรงประกอบกับสื่อในยุคดิจิตอลที่กระจายข่าวสารไปได้แพร่หลายและเร็วมากได้ทำให้คนเริ่มรู้ถึงอันตรายของการสูดเอาอากาศที่มีฝุ่นโดยเฉพาะที่เป็นฝุ่นขนาดเล็กมากที่มองไม่เห็นและสามารถลอยตัวอยู่ในอากาศที่เรียกว่า PM2.5 การออกมาประกาศว่าระดับของ PM2.5 ในกรุงเทพในช่วงเร็ว ๆ นี้สูงเกินกว่ามาตรฐานที่ 50 หน่วยมาก เช่น บางวันเกิน 100 นั้น ได้ทำให้หลายคนรวมถึงตัวผมเองตื่นตระหนก เราจะต้องทำอย่างไรเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงภาวะนี้โดยเฉพาะบ้านผมที่มีเด็กอายุยังไม่ถึง 2 ขวบซึ่งหมอบอกว่าเป็นคนที่เสี่ยงที่สุดเพราะปอดยังพัฒนาไม่เต็มที่
ในฐานะของคนที่ไม่เชื่ออะไรง่ายโดยเฉพาะถ้าคนที่พูดนั้นมี Conflict of Interest หรือมีแรงจูงใจที่จะทำให้คนฟังแล้วเชื่อในอีกแบบหนึ่ง นอกจากนั้น ผมก็ยังต้องระวังว่าคนที่พูดนั้นอาจจะไม่รู้จริงและอาจจะคิดว่าตนเองรู้เพราะ “ใคร ๆ เขาก็คิดแบบนั้น” ดังนั้น ผมจึงพยายามศึกษาและทดลองดูตามหลักวิทยาศาสตร์โดยมีเป้าหมายว่า เราจะหลีกเลี่ยงภาวะเลวร้ายของอากาศนี้ได้อย่างไร? ในยามที่การแก้ไขในระดับเมืองซึ่งมักต้องอาศัยพลังหรืออำนาจรัฐนั้นยังไม่เกิดผล
เรื่องแรกที่ผมคิดและทำก็คือ ความรุนแรงของมลภาวะ สิ่งนี้เป็นเรื่องจำเป็นที่เราจะต้องรู้มิฉะนั้น เราจะไม่สามารถบอกได้ว่ามันร้ายแรงแค่ไหนและเราจะต้องทำอย่างไรเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงมัน สิ่งจำเป็นสำหรับเรื่องนี้ก็คือ เราต้องมีเครื่องวัดค่าคุณภาพของอากาศหรือค่า AQI แบบพกพา การดูจากเวบไซ้ต์นั้น บางทีก็มีประโยชน์น้อยและบางแห่งอาจจะเชื่อถือไม่ได้เพราะมันอยู่ห่างจากจุดที่เราอยู่และมันอาจจะติดตั้งในระดับที่ไม่ใช่ระดับที่เราหายใจ การมีเครื่องวัดที่ติดตัวหรือใกล้กับตัวเรานั้นจะทำให้เรารู้ว่าเราจะทำอย่างไร เช่น จะหนีไปให้พ้นหรือใช้หน้ากากกันฝุ่นเป็นต้น จากการวัดค่า AQI พกพาของผมนั้น ผมพบว่าทุกครั้งมีค่าสูงกว่าค่าที่อ่านจากเวบไซ้ต์มาก บางครั้งเกิน 50%
นอกจากเรื่องค่า AQI แล้ว เรามักจะได้รับคำบอกเล่าหรือคำแนะนำผิด ๆ โดยที่เราไม่รู้ ตัวอย่างเช่น ให้อยู่ในบ้านในยามที่อากาศเสียหนัก ๆ อย่าไปออกกำลังในที่โล่งหรือริมถนน ถ้าทำในสวนสาธารณะอากาศก็จะดีกว่าเพราะต้นไม้ช่วยซับอากาศเสีย ผมเองในช่วงแรก ๆ ที่เกิดข่าวเรื่องอากาศเป็นพิษ ผมได้เปลี่ยนไปออกกำลังในยิมที่เป็นร้านฟิตเนสจนกระทั่งมาค้นพบว่าอากาศในยิมก็สกปรกพอ ๆ กับข้างนอก ประเด็นของผมก็คือ หลังจากที่ผมสงสัยในทฤษฎีของผู้เชี่ยวชาญหรือผู้รู้ทั้งหลายที่แนะนำวิธีการหลีกเลี่ยงอากาศเสีย ผมก็นำเครื่องวัดอากาศไปวัดทุกแห่งที่ผมไป ผลปรากฏว่าทุกแห่งหนนั้น คุณภาพอากาศใกล้เคียงกันหมด ทั้งในบ้าน ในสวนและบนทางเท้าริมถนน เช่นเดียวกับในช็อปปิ้งมอลหรู ว่าที่จริงถ้าเราคิดถึงหลักทางวิทยาศาสตร์ว่าอากาศนั้นไปได้ทุกแห่งและฝุ่นที่ลอยอยู่ในอากาศก็ไปตามอากาศแล้ว ที่ไหนมีอากาศที่นั่นก็น่าจะมีฝุ่นพอ ๆ กัน
ผมค้นพบอีกว่า วิธีที่จะหลีกเลี่ยงฝุ่นก็คือ การอยู่ในบ้านหรืออาคารที่ปิดประตูหน้าต่างมิดชิดแล้วเปิดเครื่องกรองอากาศที่สามารถกรองฝุ่นขนาดเล็กเช่น PM2.5 ได้ และถ้าเราอยู่ในที่เปิดโล่งหรือในอาคารที่คนเข้า ๆ ออก ๆ และไม่มีเครื่องกรองอากาศ วิธีที่น่าจะสามารถป้องกันฝุ่นจะอยู่ที่การสวมหน้ากากที่ป้องกันฝุ่นขนาด PM2.5 ได้เท่านั้น และต้นไม้ในสวนนั้นไม่สามารถที่จะดูดซับฝุ่นได้และอากาศในสวนเองนั้นก็น่าจะถ่ายเทหรือไหลมาจากที่อื่น ผมเองไม่รู้ว่าการสวมหน้ากากจะป้องกันฝุ่นได้ 90% ขึ้นไปตามที่มีคนพูดหรือไม่ แต่การใช้เครื่องกรองฝุ่นในบ้านที่ปิดค่อนข้างมิดชิดอย่างที่บ้านผมนั้นสามารถกรองฝุ่นได้เกือบ 100% ค่า AQI ที่วัดได้นั้นอยู่ระหว่าง 0-4 เมื่อเปิดนานพอในขณะที่อากาศข้างนอกค่า AQI อยู่ที่ 100 กว่า
ถึงวันนี้ ผมเองไม่แน่ใจว่ากรุงเทพจะมีวันที่อากาศมีคุณภาพดีจริง ๆ หรือเปล่า เราคงต้องติดตามไปเรื่อย ๆ จนครบทุกฤดูกาล ผมคิดว่าเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังโดยเฉพาะในระยะยาว ในสมัยที่โลกยังไม่เจริญและประเทศผู้นำอย่างอังกฤษเริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจเติบโตเร็วมากจนถึงวันหนึ่งก็พบว่าสภาพแวดล้อมทั้งน้ำและอากาศเลวร้ายมาก หลังจากนั้นพวกเขาก็เริ่มตระหนักและแก้ไขจนกระทั่งประสบความสำเร็จและนี่ก็คือประเทศที่กลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วอย่างแท้จริง ประเทศไทยเราเอง ถ้าจะนำชาติไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจะต้องเป็นหนึ่งในกระบวนการนั้น
ในระหว่างที่ยังไปไม่ถึง หน้าที่ของเราก็คือ อย่าสร้างมลภาวะโดยไม่จำเป็นและปกป้องตนเองให้พ้นจากภัยนี้เท่าที่จะทำได้ ผมเองคิดว่าบางทีเราอาจจะต้องทนและยอมรับการสูดอากาศที่ไม่สะอาดในช่วงที่จำเป็น แต่ในช่วงที่อยู่บ้านและตอนนอนหรือตอนออกกำลัง เราอาจจะต้องอยู่ในอากาศที่บริสุทธิเพราะมีการกรองอากาศอย่างดีเพื่อชดเชย ด้วยวิธีการนี้ ร่างกายของเราก็อาจจะรับได้ การไม่ทำอะไรเลยและ “เชื่อ” ข้อมูลของหน่วยงานโดยเฉพาะที่พยายามบอกว่า “อากาศดีแล้ว” ไม่น่าจะเป็นแนวทางที่ดีและเป็นความเสี่ยงที่คาดการณ์ไม่ได้
มารู้จักหุ้น SAB กันเถอะ
มารู้จักหุ้น SAB กันเถอะ
- SABECO หรือ SAB เป็นบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายใหญ่ที่สุดในเวียดนามและอันดับที่ 21 ของโลก
- ส่วนแบ่งการตลาด (Market share) อยู่ที่ 45.7%
- ปี 2017 Vietnam Beverage Company Limited บริษัทย่อยกลุ่ม ThaiBev ชนะการประมูลหุ้น SAB...
ธุรกิจ Consumer Finance ในเวียดนาม หน้าตาเป็นอย่างไร
ธุรกิจ Consumer Finance ในเวียดนาม หน้าตาเป็นอย่างไร
วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกันค่ะ เวลาที่คนเวียดนามช๊อตเงิน หรืออยากจะได้เงินไปจับจ่าย เค้าไปหาจากที่ไหนกันนะ ... คำตอบง่ายๆคือไม่แตกต่างจากบ้านเราเท่าไรเลยค่ะ ทั้งยืมเงินเพื่อน เล่นแชร์ เข้าโรงรับจำนำ หรือว่า กู้นอกระบบ ทำให้หลายฝ่ายหันมาสนใจธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลกันมาขึ้นค่ะ
เมื่อการกู้นอกระบบเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แถมยังเสียดอกเบี้ยแพงมหาศาล ที่เวียดนามก็มีเล่นแชร์กันด้วยในหมู่เพื่อนด้วยค่ะ (ในภาษาเวียดนามเรียกว่า chơi hụi หรือ chơi họ ในภาษาทางภาคเหนือ)...
ความเป็นไป(ไม่)ได้ ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ความเป็นไป(ไม่)ได้
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
โลกในมุมมองของ Value Investor
นักลงทุนที่ดีนั้น นอกจากวิชาความรู้ในด้านต่าง ๆ แล้ว วิชาความรู้ที่สำคัญมากอย่างหนึ่งก็คือเรื่องของสถิติและความเป็นไปได้หรือ Probability และความผันแปรหรือ Variation หรือความคลาดเคลื่อนจากสิ่งที่คาดการณ์ หลักทฤษฎีเกี่ยวกับการเงินและการลงทุนนั้น ต่างก็อาศัยวิชาความรู้นี้เป็นอันมาก เหตุผลก็เพราะเรื่องของการลงทุนนั้นมักจะเกี่ยวข้องกับการพยากรณ์อนาคตซึ่งมีความไม่แน่นอนสูงและโอกาสที่เหตุการณ์ในอนาคตจะออกมาแตกต่างจากที่คาดการณ์ไว้มีสูงมาก การใช้หลักการทางสถิติโดยเฉพาะความน่าจะเป็นจะช่วยให้เรารู้ว่าโดยเฉลี่ยถ้าเราทำมันมากพอหรือตรวจสอบย้อนหลังมากพอ ค่าของมันควรจะเป็นเท่าไรและโอกาสที่เหตุการณ์แต่ละครั้งจะแตกต่างกับสิ่งที่คาดการณ์นั้นจะมีมากหรือน้อยแค่ไหน
ในฐานะของนักลงทุน เราคงไม่มานั่งคำนวณโอกาสความเป็นไปได้ของเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเป็นตัวเลข เพราะแม้แต่นักสถิติเองก็มักจะทำไม่ได้แม่นยำ แต่เราต้องเข้าใจแนวคิดของมันเพื่อที่จะได้ไม่ “ถูกหลอก” ด้วยตัวเลขที่นักวิเคราะห์ทำมาให้เราเชื่อและตัดสินใจลงทุนตามตัวเลขที่อาจจะ “สวยหรู” แต่ไม่ได้บอกว่าโอกาสที่จะเกิดขึ้นอาจจะน้อยมากและโอกาสที่จะผิดพลาดอาจจะสูงมาก ซึ่งนั่นอาจจะทำให้เราขาดทุนมหาศาล ตัวอย่างเช่น เขาคาดว่ากำไรของบริษัทปีหน้าจะโตขึ้น 50% คิดเป็นเงิน 600 ล้านบาท จากกำไรปีที่แล้วที่ 400 ล้านบาท โดยไม่ได้บอกว่ามันมีโอกาสที่บริษัทอาจจะไม่ได้กำไรเพิ่มเลยหรืออาจจะขาดทุนก็ได้
นอกจากการคาดการณ์ตัวเลขการเติบโตถึง 50% แล้ว นักวิเคราะห์ยังได้ให้ Target Price หรือราคาเป้าหมายของหุ้นโดยอิงกับการเติบโตซึ่งมีเซียนหุ้นหลายคนรวมถึง ปีเตอร์ ลินช์ พูดว่าเราสามารถใช้ค่า PEG ซึ่งก็คือค่า PE หารด้วย Growth เท่ากับ 1 เท่าได้ ดังนั้นค่า PE ที่เหมาะสมของหุ้นก็คือเท่ากับ Growth ที่ 50 เท่า แต่ว่าก่อนประกาศหรือออกบทวิเคราะห์ หุ้นตัวนั้นมีค่า PE แค่ 25 เท่า ดังนั้น ราคาหุ้นเป้าหมายก็ปรับขึ้นไปเป็น 1 เท่าตัว เช่น จาก 50 บาทก็กลายเป็น 100 บาท นักลงทุนที่เชื่อตัวเลขราคาเป้าหมายของนักวิเคราะห์ก็แห่กันเข้าไปซื้อส่งผลให้หุ้นขึ้นไปแรงมากจากราคา 50 บาทกลายเป็น100 บาท และด้วยอิทธิพลของแรงเก็งกำไรราคาก็วิ่งต่อไปอีกกลายเป็น 120 บาท ซึ่งทำให้นักวิเคราะห์ “ตื่นเต้นมาก” เขาเห็นว่าราคาน่าจะวิ่งต่อไปได้อีกมองจากปริมาณการซื้อขายหุ้นที่เพิ่มขึ้นมหาศาลและคนกล่าวขวัญกันอย่างกว้างขวางว่าบริษัทจะยิ่งใหญ่ “ระดับโลก”
การปรับ Target Price รอบสองก็ตามมา ตัวเลขกำไรถูกเลื่อนไปใช้ตัวเลขของปีหน้าจากกำไรต่อหุ้น 2 บาทโต 50% กลายเป็น 3 บาท และเมื่อคูณด้วยตัวเลข PE ที่ 50 เท่า ราคาเป้าหมายก็เลยกลายเป็น 150 บาท คำแนะนำก็คือ “ซื้อ” เพราะราคาปัจจุบันเท่ากับ 120 บาท มีโอกาสทำกำไรได้ประมาณ 30 บาทต่อหุ้นหรือประมาณ 25% นักลงทุนจึงซื้อหุ้นต่อทั้ง ๆ ที่ราคาเกินเป้าหมายแรกที่ 100 บาทไปแล้ว และถ้าเราเชื่อตัวเลขเหล่านั้น เราก็อาจจะเข้าไปซื้อ เพราะดูเหมือนว่าหุ้นกำลังวิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ แต่ทั้งหมดที่เขาพูดมานั้น เขาไม่ได้พูดว่าโอกาสเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน เขาพูดราวกับว่ามันจะเกิดขึ้นแน่นอนหรือไม่ก็สูงมาก และที่ยิ่งสำคัญก็คือ เขาไม่พูดถึงโอกาสความเป็นไปได้ที่ตัวเลขจะต่ำกว่านั้นมาก เช่น กำไรอาจจะไม่โตเลยหรือลดลงได้ทั้ง ๆ ที่ถ้ามองย้อนหลังไปในอดีตหลายปี กำไรของบริษัทก็ไม่ได้โตหรือโตน้อยแค่ปีละไม่เกิน 10%
เมื่อเวลาผ่านไป ผลการดำเนินงานของบริษัทไม่ได้ออกมาตามที่คาด มันต่ำกว่าที่คาดมาก แต่มันใกล้เคียงกับผลการดำเนินงานในอดีตมากกว่า นั่นก็คือ มันโตช้าแค่ 5-10% ต่อปี นักลงทุนเริ่มตกใจและขายหุ้น ราคาหุ้นร่วงมาแรงมากกว่า 50% จากจุดสูงสุดและค่า PE ก็ยังสูงเกิน 25 เท่าที่เป็นค่า PE ของหุ้นก่อนที่จะมีการคาดการณ์กำไรของบริษัทว่าจะเพิ่มขึ้น 50% ใน “ปีหน้า” นักลงทุนที่เข้าไปซื้อหุ้นในราคาที่สูงลิ่วขาดทุนหนักเพราะไม่ได้คำนึงถึง Probability หรือโอกาสที่กำไรจะเพิ่ม50% ว่ามันมีมากน้อยแค่ไหน บางทีอาจจะน้อยมากแค่ 10% ก็เป็นได้ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ “ไม่น่าจะเกิดขึ้น” และผลก็คือ มันก็ไม่เกิดขึ้นจริง ๆ นอกจากไม่เกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นยังแตกต่างหรือผันแปรไปจากค่าที่คาดหวังมาก คือจากการเติบโต50% กลายเป็นแค่ 10% ซึ่งในแวดวงของนักลงทุนไทยแล้ว เราไม่ถือว่ามันเป็นหุ้นเติบโต ดังนั้น คนที่เล่นหุ้น Growth ก็ขายหุ้นแบบถล่มทลาย
ธรรมชาติของตัวเลขผลประกอบการของแต่ละอุตสาหกรรมและแต่ละบริษัทนั้น เราต้องเข้าใจว่ามันสามารถคาดการณ์ด้วยความแม่นยำและมีความผันผวนต่างกัน จำนวนและขนาดของลูกค้ารวมถึงความผันผวนของราคาสินค้ามีส่วนอยู่มาก ถ้าลูกค้าเป็นรายย่อยและมีจำนวนมากเป็นล้าน ๆ คน การคาดการณ์โดยทั่วไปก็จะมีความแม่นยำและโอกาสที่ผลประกอบการจะแตกต่างจากตัวเลขคาดการณ์มากก็จะน้อย ในกรณีแบบนี้ ความเสี่ยงของการลงทุนก็จะต่ำกว่า เรามักจะไม่ค่อยเจอวิกฤติด้านของการลงทุนรุนแรงในหุ้นประเภทนี้ เช่นเดียวกัน โอกาสที่หุ้นจะกระโดดขึ้นไปรุนแรงในเวลาอันสั้นก็จะน้อยกว่ามากเพราะการคาดการณ์อนาคตของผลประกอบการของหุ้นปีต่อปีก็มักจะไม่ก้าวกระโดดที่จะส่งผลให้หุ้นมีราคาปรับตัวขึ้นไปเร็วมากได้ อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ได้แปลว่าการลงทุนในหุ้นแบบนี้ไม่น่าสนใจ เพราะจริงอยู่ว่าการลงทุนในหุ้นแบบนี้อาจจะไม่ทำให้รู้สึกว่ารวยเร็ว แต่ในระยะยาวแล้ว มันอาจจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการเล่นหุ้นที่หวือหวาแต่คาดการณ์ได้ยากและมีโอกาสสูงที่มันอาจจะตกต่ำลงอย่างแรงในบางช่วง และการตกต่ำลงแรงนั้นมันทำลายความมั่งคั่งได้รุนแรงมากกว่าการขึ้นที่รุนแรงในระดับเดียวกัน
ตัวเลขภาพใหญ่เช่น ตัวเลขเกี่ยวกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการปรับตัวของดัชนีหุ้นเองนั้นก็มีความแตกต่างกันมากในแง่ของความสามารถในการคาดการณ์และความผันผวนของตัวเลข โดยที่ตัวเลข GDP นั้นเนื่องจากผูกติดอยู่กับประชาชนทั้งประเทศและกิจกรรมที่เขาทำ การคาดการณ์ปีต่อปีจึงค่อนข้างแม่นยำพอสมควรและความผันผวนก็ค่อนข้างต่ำ เช่น ถ้าเราคาดว่าเศรษฐกิจไทยปีหน้าจะโต 4% และความผันผวนก็คือไม่ต่ำกว่า 3.5% ในด้านที่แย่และไม่เกิน 4.5% ในด้านที่ดี โอกาสที่เราจะทำนายพลาดก็น้อย ดังนั้น เราจึงไม่ต้องกังวลมากนักว่าบริษัทที่เราลงทุนจะ “เจ๊ง” เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย อย่างมากเราก็ไม่ค่อยดีหรือดีเท่านั้น
แต่ตัวเลขดัชนีหุ้นนั้นการคาดการณ์น่าจะยากถึงยากมากและความผิดพลาดจากที่ทำนายก็อาจจะมหาศาล หุ้นอาจจะเป็นวิกฤติได้เสมอเนื่องจากมันอิงกับปัจจัยทั่วโลกซึ่งแน่นอนรวมถึงปัจจัยในประเทศที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ถูกต้องหรือแม้แต่ใกล้เคียง เช่นเดียวกัน หุ้นก็อาจจะดี ดัชนีหุ้นวิ่งขึ้น “หักปากกาเซียน” ได้เสมอแม้ว่าคนส่วนใหญ่จะบอกว่าปีนี้เล่นหุ้นยากมาก ดังนั้น เราไม่ควรจะหวังอะไรกับดัชนีหุ้นถ้าเราลงทุนระยะยาว เราอาจจะต้องระวังมากขึ้นบ้างในกรณีที่มีสถานการณ์บางอย่างที่ประวัติศาสตร์บอกว่า “น่ากลัว” เช่นในยามที่หุ้นปรับตัวเป็นกระทิงและดัชนีมีราคาแพงมากซึ่งในที่สุดก็มักจะต้องปรับตัวลงแรงจนบางครั้งเป็นวิกฤติ เป็นต้น
ทั้งหมดนั้นก็คือตัวอย่างของตัวเลขที่เราอาจจะต้องคาดการณ์เพื่อที่จะวิเคราะห์หุ้น หน้าที่ของเราก็คือการวิเคราะห์ตัวเลขแต่ละตัวว่ามันน่าจะเป็นอย่างไรในปีหน้าและในอนาคต เราจะต้องรู้ปัจจัยสำคัญต่าง ๆ ในการที่จะกำหนดตัวเลขเหล่านั้นและความผันผวนของมัน ในกรณีจำนวนมากนั้นผมพบว่ามันไม่สามารถกำหนดได้แม่นยำและความผันผวนสูงมาก ซึ่งในกรณีแบบนั้นบ่อยครั้งผมจะไม่ลงทุนเลย ผมชอบลงทุนเฉพาะในหุ้นที่ผมคาดการณ์ตัวเลขได้ค่อนข้างดีและความผันผวนหรือโอกาสแตกต่างจากที่คาดการณ์มีน้อย เพราะด้วยการลงทุนในหุ้นแบบนี้ โอกาสผิดพลาดหรือเรา “แพ้” มีต่ำ ผมชอบลงทุนในสิ่งที่มีโอกาสขาดทุนน้อยแม้ว่าบางทีกำไรก็อาจจะไม่สูง เพราะผมเชื่อในกฎสำคัญของการลงทุนในระยะยาวที่ว่า “อย่าขาดทุน”
เก็บตก VI Summit 2019 –
เก็บตก VI Summit 2019 - งานรวมพลวีไอที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน
วันนี้แอดฟังรายการรู้ใช้เข้าใจเงิน
อาจารย์นิเวศน์ ได้เล่าถึงบรรยากาศงาน VI Summit 2019 และทริปสั้นๆ ที่ไป Malaysia ให้ฟัง
ทางเพจสรุปมาฝากดังนี้ค่ะ
อาจารย์นิเวศน์ เล่าให้ฟังว่า
งาน VI Summit ที่กัลลาลัมเปอร์นี้น่าจะเป็นรวมพลที่น่าจะใหญ่ที่สุดในย่าน
ปกติจะไปบรรยายที่สิงคโปร์แต่ปีนี้ไปมาเลเซีย
ในงานมีคนไทยไปด้วย หลายคนเป็นคนคุ้นหน้า
สังคม VI ไทย หลายคนไม่ทำงานแล้ว เป็นอิสระทางการเงิน
การไปสัมมนาต่างประเทศเป็นชีวิตอีกแบบที่สนุกดี ได้เพื่อน...