หน้าแรก แท็ก ดร.นิเวศน์ #บทความ

แท็ก: ดร.นิเวศน์ #บทความ

หุ้น Holding Company

0
โลกในมุมมองของ Value Investor      6 ตุลาคม 62 ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ในยามที่ตลาดหุ้นไม่ค่อยดีและเป็นตลาดหุ้น Sideway มานานนั้น  หุ้นที่น่าสนใจกลุ่มหนึ่งก็คือหุ้น Holding Company หรือหุ้นที่ถือหุ้นของบริษัทอื่นเป็นหลักหรือถือหุ้นบริษัทอื่นคิดเป็นมูลค่าจำนวนมากเมื่อเทียบกับกิจการที่บริษัททำ  ถ้าเป็น  Pure Holding Company อย่างบริษัทเบิร์กไชร์ของ วอเร็น บัฟเฟตต์ นั้น  บริษัทจะไม่ทำกิจการอะไรเองเลยแต่จะเป็นแค่ผู้ถือหุ้นในบริษัทอื่น ๆ   ในตลาดหุ้นไทยเองนั้นเท่าที่เห็นก็น่าจะมีหุ้นของ Intuch ที่ถือแต่หุ้นบริษัทอื่นเฉพาะอย่างยิ่งก็คือหุ้น...

ปัจจัยขับเคลื่อน ราคาหุ้น

0
โลกในมุมมองของValue Investor      24 สิงหาคม62 ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ผมอยู่กับตลาดหุ้นและการลงทุนมานาน ศึกษาและพัฒนาความรู้เกี่ยวกับการลงทุนโดยการอ่านหนังสือสารพัดและสังเกตเหตุการณ์และพฤติกรรมของผู้คนในสังคมรวมถึงตลาดหุ้นเพื่อที่จะหาวิธีการลงทุนที่จะได้ผลตอบแทนที่ดีและมีความเสี่ยงต่ำ นอกจากนั้นก็ยังคอยติดตาม ราคาหุ้น จำนวนมากที่ซื้อขายกันในแต่ละวันถ้าว่างและสะดวกที่จะทำ ซึ่งทำให้คิดว่าราคาหุ้นในตลาดหุ้นไทยโดยเฉพาะที่เป็นหุ้นขนาดเล็กถึงกลางนั้นมักจะมีการเคลื่อนไหวในแต่ละวันตามปัจจัยหรือเหตุการณ์หรือข่าวบางอย่างที่เกิดขึ้น ดังนั้น ถ้าใครรู้ข้อมูลเหล่านั้นก่อนหรือประเมินได้ว่ามันจะกระทบกับราคาหุ้นได้มากน้อยแค่ไหน เขาก็อาจจะสามารถเทรดหรือซื้อขายหุ้นทำกำไรได้ อย่างน้อยก็ในระยะเวลาสั้นๆ แต่นี่ก็ขอบอกเสียก่อนว่าไม่ใช่วิธีการหรือหลักการลงทุนของผมเองซึ่งเน้นการลงทุนระยะยาวแบบVI ซึ่งเน้นปัจจัยบางอย่างที่เป็นเรื่องระยะยาวซึ่งส่วนมากก็ไม่เกี่ยวกับสิ่งที่ผมกำลังจะพูด ปัจจัยที่น่าจะมีผลขับเคลื่อนราคาหุ้นโดยเฉพาะในระยะสั้นนั้นคร่าวๆ ผมแบ่งเป็น3-4 กลุ่มคือ หนึ่งเรื่องของปัจจัยทางด้านภาพใหญ่ของเศรษฐกิจการเงิน การเมือง สังคมและอื่นๆ ของประเทศและของโลก สองคือผู้เล่นหรือลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ สามเป็นเรื่องของตัวบริษัทและกิจการ และสุดท้ายเป็นเรื่องของตัวหุ้นเอง ภาพใหญ่ที่มักจะสามารถขับเคลื่อนราคาหุ้นได้แทบจะทุกครั้งที่เกิดขึ้นน่าจะมาจากเรื่องของอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของธนาคารกลางโดยเฉพาะสหรัฐและของไทยเอง ยิ่งถ้ามีการเปลี่ยนแปลงผิดจากที่ผู้คนคาด ผลกระทบก็มักจะแรงพอสมควร นอกจากอัตราดอกเบี้ยแล้ว อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สงครามการค้า สถานการณ์รุนแรงทางด้านการเมืองโดยเฉพาะของไทย และที่สำคัญวิกฤติทางการเงินของประเทศ สิ่งต่างๆ เหล่านี้มักจะสามารถขับเคลื่อนราคาหุ้นได้ บางครั้งอย่างมีนัยสำคัญในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์หรือการที่จะ “รู้ก่อน” ก็ทำได้ยากสำหรับคนทั่วไป แต่ถ้ารู้และเป็นเรื่องสำคัญ เช่น รู้ว่ากำลังจะมีการเก็บภาษีกำไรจากการซื้อขายหุ้นหรือมีมาตรการบางอย่างเช่น ควบคุมเงินลงทุนจากต่างประเทศ แบบนี้ สิ่งที่ต้องทำก็คือ ขายหุ้นทิ้ง เพราะราคาหุ้นทั้งตลาดอาจจะตกลงมาแบบ“แพนิก” ได้ กลุ่มที่สองก็คือผู้เล่นในตลาด นี่ก็มักจะเป็นปัจจัยที่ขับเคลื่อนราคาหุ้นได้ไม่น้อยโดยเฉพาะในหุ้นขนาดเล็กหรือFree Float ต่ำ เช่น ถ้ามีผู้เล่นรายใหญ่เช่นกองทุนกำลังเข้าซื้อหุ้นขนาดเล็กหรือกลาง-เล็กบางตัว นี่ก็มักทำให้หุ้นตัวนั้นวิ่งขึ้นไป บางครั้งรุนแรงได้ เช่นเดียวกับที่ “นักลงทุนรายใหญ่”  เข้าไปเก็บหุ้นขนาดเล็กจนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และมีรายงานออกมาว่าถือหุ้นเกิน5 หรือ10%  หรือปรากฏชื่อว่าถือหุ้นเกิน0.5% เวลาปิดสมุดทะเบียน แบบนี้บ่อยครั้งก็อาจจะทำให้หุ้นปรับตัวขึ้นได้ ในอีกด้านหนึ่ง เวลานักวิเคราะห์ออกบทวิเคราะห์แนะนำให้ซื้อหุ้นจากที่ไม่เคยวิเคราะห์หรือเคยแนะนำให้ถือหรือขาย แบบนี้ก็อาจจะมีผลต่อราคาหุ้นให้ปรับตัวขึ้นได้เหมือนกัน เช่นเดียวกัน เวลานักวิเคราะห์บอกให้ขายหุ้นจากที่เคยให้ซื้อ แบบนี้ก็มักจะทำให้หุ้นลง เจ้าของหุ้นก็มักจะมีบทบาทที่สามารถขับเคลื่อนราคาหุ้นได้ไม่น้อย บางทีแค่ออกมาให้ข่าวดีๆ ว่าผลประกอบการจะโดดเด่นหรือมีแผนขยายตัวอย่างแรงออกไปสู่ต่างประเทศ หรือออกมาบอกว่าบริษัทกำลัง “ฟื้นตัว” จากภาวะตกต่ำรุนแรง แบบนี้ก็สามารถขับเคลื่อนหุ้นไปได้แรงทั้งที่ทุกอย่างที่พูดนั้นยังไม่ได้เกิดขึ้นและจะเกิดได้มากน้อยแค่ไหนก็ยังไม่รู้ ปัจจัยกลุ่มที่สามก็คือตัวบริษัทหรือกิจการซึ่งจำนวนมากเป็นเรื่องของ “พื้นฐาน” แต่บางทีก็เป็นแค่“สถานการณ์” แต่ถ้าบริษัทประกาศผลประกอบการที่มีกำไรดีขึ้นหรือดีขึ้นมาก ส่วนใหญ่แล้วราคาหุ้นก็มักจะปรับตัวขึ้น บางทีอย่างแรง แต่ถ้าประกาศกำไรลดลง แบบนี้หุ้นก็มักจะตกลงมา โดยที่คนไม่สนใจว่ากำไรที่เพิ่มหรือลดนั้นมาจากอะไร เป็นเรื่องของสถานการณ์ที่เอื้ออำนวยหรือเกิดจากความสามารถในการทำกำไรเพราะทั้งสองอย่างนี้แตกต่างกันมากในด้านของพื้นฐาน และก็เช่นเดียวกัน คนก็ไม่สนใจว่าหุ้นมันแพงหรือถูกเกินไปหรือไม่ ข่าวของบริษัทบางอย่างเช่น เจ้าของหรือผู้ถือหุ้นใหญ่กำลังจะเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลซึ่งคนมักจะเชื่อกันว่าจะทำให้บริษัทได้ประโยชน์ ได้งานหรือสามารถค้าขายได้มากขึ้น แบบนี้ก็สามารถทำให้หุ้นวิ่งขึ้นไปได้เหมือนกัน บางทีก็เป็นเรื่องว่าบริษัทในกลุ่มเช่น รับเหมาก่อสร้างงานสาธารณูปโภคจะได้ประโยชน์จากการที่จะมีงานมากขึ้นเมื่อได้รัฐบาลใหม่ แบบนี้ก็มักจะกระตุ้นให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นได้ เช่นเดียวกับหุ้นค้าปลีกสินค้าจำเป็นที่ราคาหุ้นดีขึ้นเนื่องจากจะมีการ“อัดฉีด” ให้คน“รากหญ้า” มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น เป็นต้น ข่าวของบริษัทยังมีอีกมาก เช่น การได้งานใหม่ที่เป็นโครงการ การได้รับการต่อสัญญาสัมปทานที่จะทำให้บริษัทจะได้ประโยชน์ไปอีกหลายสิบปี การทำM&A หรือซื้อโครงการเช่น โรงงานไฟฟ้าขนาดใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ ทั้งหมดนั้นก็มักจะทำให้หุ้นขึ้นทั้งๆ ที่ยังไม่รู้ว่าที่ซื้อมานั้นคุ้มค่าหรือได้กำไรมากน้อยแค่ไหน สุดท้ายก็คือตัวหุ้นเอง นี่ก็เป็นเรื่องของจิตวิทยาที่มีอิทธิพลสูงต่อราคาหุ้น ถ้าราคาหุ้นตัวหนึ่งวิ่งขึ้นไปแรงเป็นระยะ โดยเฉพาะมาพร้อมกับปริมาณการซื้อขายหุ้นที่สูง แนวโน้มระยะสั้นๆ ก็คือ ราคาก็มักจะวิ่งขึ้นไปได้อีก นี่จริงๆ แล้วก็ออกแนวการเล่นหุ้นแบบ “เทคนิค” ที่บางคนบอกว่าไม่ต้องคิดถึงเหตุผล บางทีเหตุผลอาจจะมาทีหลัง บางครั้งหุ้นทั้งตลาดโดยเฉลี่ยหรือดัชนีหุ้นเองนั้นก็มักจะตกลงมาแรงตามดัชนีหุ้นต่างประเทศโดยเฉพาะอเมริกา ดังนั้น คนเล่นหุ้นระยะสั้นก็มักจะต้อง“ดูดาว” ตอนกลางคืนเพื่อที่จะรู้ว่าวันรุ่งขึ้นหุ้นจะขึ้นหรือตก  หุ้นบางตัวนั้น เวลาขึ้นลงมักจะมีบ่อยครั้งที่ขึ้นลงแรงมากทั้งๆที่ไม่ได้มีข่าวอะไรพิเศษ บางทีปริมาณการซื้อขายก็ไม่มาก แบบนี้ ถ้ามีข่าวอะไรเข้ามา ราคาหุ้น ก็อาจจะกระชากแรงกว่าปกติ ผมเองคิดว่าอาการแบบนี้อาจจะเป็นเรื่องหุ้นที่อาจจะถูกCorner หรือ“ต้อนเข้ามุม”  หุ้นอยู่ในมือของคนจำนวนน้อยที่สามารถควบคุมราคาให้ไปในทิศทางที่ต้องการได้ หรือพวกเขาต่างก็มีมุมมองไปในทางเดียวกัน ผลก็คือ เวลามีการซื้อเข้ามาเพิ่มโดยใครก็ตาม ราคาก็วิ่งแรงกว่าปกติมาก หรือเวลาที่พวกเขาขาย ราคาก็ดิ่งได้ง่ายๆ  ทั้งหมดนั้นก็เป็นข้อสังเกตของผมที่เห็นและติดตามหุ้นมานาน แน่นอนว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงอาจจะ10 ปีที่ผ่านมา ในอดีตก่อนหน้านั้นหรือในอนาคตข้างหน้า มันก็อาจจะเปลี่ยนไป ทั้งหมดนั้นผมคิดว่าขึ้นอยู่กับลักษณะของตลาดหุ้นและนักลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนส่วนบุคคลในตลาด การเล่นหุ้นหรือแม้แต่ลงทุนในตลาดหุ้นไทยเองนั้น ผมคิดว่าการเข้าใจว่าอะไรหรือปัจจัยใดเป็นตัวขับเคลื่อนหุ้นน่าจะมีประโยชน์แม้ว่าเราในฐานะของVI อาจจะไม่ได้นำมาใช้เองก็ตาม อ่านบทความ ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร คลิก https://www.vietnamvi.com/category/ดร-นิเวศน์/

วิกฤติกำลังจะมา?

0
โลกในมุมมองของValue Investor   ดร. นิเวศน์เหมวชิรวรากร สัปดาห์ก่อนตลาดหุ้นโลกและไทยค่อนข้างผันผวน บางวันดัชนีดาวโจนส์ตกลงมาถึง3%   เช่นเดียวกันตลาดหุ้นไทยบางวันก็ตกลงมาเกือบ2% ทั้งๆ ที่ในช่วงหลายปีหลังดัชนีตลาดหลักทรัพย์บ้านเราค่อนข้างมั่นคงไม่ค่อยผันผวนมากนัก ที่สำคัญ หุ้นแบ้งค์ใหญ่ซึ่งโดยปกติไม่ค่อยปรับตัวมากต่างก็ตกลงมาถึงประมาณ3% ในวันเดียว การตกลงมาอย่างหนักของหุ้นนั้นส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากการปรับตัวของตลาดเงินและพันธบัตรที่มีการปรับลดลงโดยธนาคารกลางของประเทศต่างๆรวมถึงไทยซึ่งก็ส่งผลไปถึงตลาดการเงินด้วย เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ ทำให้อัตราผลตอบแทนหรือที่เรียกว่าYield ของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐระยะสั้นอายุ2 ปีลดลงมาเหลือ1.63%  ต่อปี แต่ที่ลดลงหนักยิ่งกว่าก็คือผลตอบแทนพันธบัตรอายุ10 ปีได้ตกลงมาเหลือเพียง1.62% ต่อปีซึ่งเป็นปรากฏการณ์ผิดปกติที่เรียกว่าInverted Yield Curve (IYC) ที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนัก อาจจะ10 ปีหนอะไรทำนองนั้น แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือเกือบทุกครั้งที่เกิดขึ้น หลังจากนั้นประมาณ12 เดือน เศรษฐกิจก็เกิด “วิกฤติ”  ในช่วง50 ปีที่ผ่านมา มีเพียงครั้งเดียวที่เวลาเกิดสถานการณ์ที่เรียกว่าInverted Yield Curve นี้แล้วเศรษฐกิจไม่วิกฤติ ส่วนอีก6 ครั้งนั้น เศรษฐกิจเกิดปัญหาหลังจากนั้นภายใน7-24 เดือน ดังนั้น การเกิดIYC ครั้งนี้จึงทำให้นักเศรษฐศาสตร์กังวลกันมาก และตลาดหุ้นจึงตกลงมาแรงคำถามก็คือ วิกฤติกำลังจะมาใช่ไหม?  และเราในฐานะของนักลงทุนจะทำอย่างไร? ก่อนอื่นคงต้องดูว่าIYC หรือการที่ผลตอบแทนพันธบัตรหรือการลงทุนระยะสั้นให้ผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตรหรือการลงทุนระยะยาวนั้นมีความหมายอย่างไร? โดยปกติถ้าเราลงทุนระยะยาว เราต้องการที่จะได้ผลตอบแทนสูงขึ้น เช่น ถ้าฝากเงินออมทรัพย์หรือฝากแค่3 เดือน ผลตอบแทนก็อาจจะได้แค่1-2% ต่อปี แต่ถ้าเราฝากประจำหรือลงทุนในพันธบัตรอายุ3 ปีที่ไม่มีความเสี่ยงเหมือนกันนั้น เราก็มักจะได้ผลตอบแทนสูงกว่าเช่นอาจจะ3%  ถ้ายาวกว่านั้นเช่น10 ปี เราก็มักจะได้ผลตอบแทนสูงขึ้นเช่น5% ต่อปี นี่เป็นเรื่องปกติ แต่สถานการณ์IYC ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ในอเมริกานั้นกลับกลายเป็นว่าถ้าเราลงทุนแค่2 ปีกลับได้ผลตอบแทนสูงกว่าลงทุน10 ปี ซึ่งเป็นเหมือนกับสัญญาณว่าในอนาคตอัตราดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนระยะสั้นจะลดลงและจะลดลงอยู่ในระดับต่ำไปอีกนานเป็น10 ปี นักลงทุนจึงยอมที่จะ“ล็อก” อัตราผลตอบแทนไว้ก่อน ว่าที่จริงผลตอบแทนพันธบัตรอายุ30 ปีของอเมริกาในช่วงนี้อยู่ที่เพียง2.015% ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์และเป็นการส่งสัญญาณโดยตลาดเงินว่าผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยในอีก30 ปีข้างหน้านั้นจะต่ำมากอย่างน่าตกใจคือเฉลี่ยปีละประมาณ2% เหตุที่ผลตอบแทนในอนาคตจะต่ำมากนั้นเป็นสัญญาณว่าคนที่จะกู้เงินเพื่อลงทุนซึ่งต้องอาศัยเงินระยะยาวนั้นมีน้อยและคนที่จะปล่อยกู้หรือลงทุนมีมาก ซึ่งก็เป็นสัญญาณต่อไปว่าเศรษฐกิจกำลังถดถอย ธุรกิจจะไม่ค่อยลงทุน บริษัทไม่โต กำไรไม่โตหรืออาจจะตกลง ธุรกิจบางส่วนจะล้มละลายและอาจจะก่อปัญหาให้กับสถาบันการเงิน และในที่สุดก็อาจจะกลายเป็น “วิกฤติ”  ว่าที่จริงเราก็เริ่มเห็นแล้วว่าเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ รวมถึงไทยกำลังเติบโตน้อยลง มีการปรับเป้าหมายการเติบโตลดลงกันทั่วโลก การส่งออกติดลบ การลงทุนภาคเอกชนน้อยลง ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากประเด็นเรื่องของสงครามการค้าระหว่างอเมริกากับจีนและโลก และไม่ว่าเหตุผลจะเป็นอย่างไร สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นชัดเจนว่าเศรษฐกิจโลกและไทยกำลังชะลอลงและการแก้ไขไม่ใช่เรื่องง่าย เหตุผลก็อาจจะเป็นเพราะว่าประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างก็ใช้“เครื่องมือ” และทรัพยากรต่างๆ ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจเช่น การลดดอกเบี้ยและการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบโดยรัฐกันเกือบหมดแล้วตั้งแต่ปี2008 ในช่วงวิกฤติรอบก่อน ดังนั้น การป้องกันปัญหาในรอบนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่าย ว่าที่จริงคนที่มีชื่อเสียงทางด้านเศรษฐศาสตร์บางคนทำนายมานานพอสมควรแล้วว่าอเมริกาจะเกิดวิกฤติในปี2020 คือปีหน้าตั้งแต่เศรษฐกิจอเมริกันยังไม่มีปัญหา ยังไม่มีเรื่องสงครามการค้าและปรากฎการณ์IYC  เหตุผลผมจำไม่ได้ชัดแต่น่าจะมาจากการที่เศรษฐกิจอเมริกาไม่สมดุลเช่นการขาดดุลการค้าและอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำต่อเนื่องกันยาวนานเป็นต้น แต่อีกส่วนหนึ่งนั้นอาจจะมาจากการที่เศรษฐกิจดีต่อเนื่องมายาวนานจนเกินไปคือเกิน10 ปีซึ่งตามประวัติศาสตร์ไม่ค่อยเกิดขึ้นและมักจะจบลงด้วยการถดถอยหรือวิกฤติ ในตอนนั้นก็แน่นอนว่าคนส่วนใหญ่ก็คงไม่ได้ให้น้ำหนักมากเพราะว่าเรื่องการทำนายทายทักเรื่อง“โลกาวินาศ” นั้น มีอยู่ตลอดเวลา คนที่ได้ชื่อว่าเป็น“Doomsayer” หรือคนที่ได้รับการยอมรับว่าสามารถทำนายเรื่องร้ายแรงที่กำลังจะเกิดขึ้นได้แม่นยำนั้นมีอยู่มากมายและพวกเขาก็“ทำนายอยู่เรื่อยๆ” จนคนไม่ค่อยสนใจแล้ว อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์หลายๆ เรื่องที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้ก็น่าจะทำให้คนหลายเริ่มสนใจและอาจจะเชื่อมากขึ้นว่า “วิกฤติกำลังจะมา” และนั่นน่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ตลาดหุ้นผันผวนอย่างแรงในสัปดาห์ก่อน ในฐานะของVI เราคงไม่สรุปว่าวิกฤติจะมาแน่ ความเชื่อที่ว่า “วิกฤติมักจะมาโดยที่เรามักจะไม่คาดคิดหรือไม่รู้ตัว ถ้าทุกคนคาดว่าจะเกิดมันก็คงไม่เกิดเพราะเราจะแก้ไขหรือหลีกเลี่ยงก่อน”  นั้น ดูเหมือนว่าจะฝังอยู่ในความคิดของนักคิดจำนวนไม่น้อย คนมักจะพูดกันว่าในอดีตที่เกิดวิกฤติแต่ละครั้ง ก็ดูเหมือนว่าจะเกิดขึ้นโดยไม่มี“เซียน” คนไหนบอกก่อน สำหรับประเด็นนี้ผมเองก็มีข้อถกเถียงอยู่เหมือนกัน เพราะผมเองก็เคยผ่านมาหลายวิกฤติ ผมยอมรับว่าวิกฤติซับไพร์มในปี2008 นั้น เกิดขึ้นโดยผมแทบไม่รู้ตัวเลย เหตุผลอาจจะเป็นเพราะมันอยู่ไกลตัวมาก แต่วิกฤติของไทยในปี2540 ซึ่งผมเองอยู่ใน“ศูนย์กลาง” ของปัญหานั้น ผมรู้ดีมากว่ามันจะต้องเกิดก่อนที่มันจะเกิดจริงไม่น้อยกว่า1 ปี เพียงแต่ว่าเราทำอะไรไม่ได้ แก้ไขอะไรไม่ได้ และ “พูดไม่ได้” ในตอนนี้ที่เราไม่ได้เป็นศูนย์กลางของปัญหาและไม่มีข้อมูลที่ดีพอ เราก็ไม่รู้จริงๆ ว่าในที่สุดจะเกิดวิกฤติหรือไม่ แต่ด้วยปรากฎการณ์และสัญญาณที่เราเห็นอยู่หลายเรื่อง โอกาสที่จะเกิดปัญหากับเศรษฐกิจและตลาดหุ้นก็น่าจะมีอยู่ไม่น้อย อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจกำหนดกลยุทธ์ในการลงทุนนั้น เราคงไม่ได้ให้น้ำหนักว่าวิกฤติจะต้องเกิดแน่นอน เพราะถ้าคิดอย่างนั้น เราอาจจะตัดสินใจขายหุ้นทิ้งทั้งหมดซึ่งไม่ใช่กลยุทธ์ที่ดีเลย  สิ่งที่ควรจะทำก็คือ เตรียมปรับพอร์ตการลงทุนในลักษณะDefensive หรือแนวอนุรักษ์นิยมที่อาจจะไม่ได้ถือหุ้น100% และหุ้นที่ถืออยู่นั้นจะไม่ถูกกระทบจากภาวะเศรษฐกิจมากเกินไป ราคาหุ้นก็ไม่ควรแพง เพราะถ้าเกิดวิกฤติจริง ราคาอาจจะตกลงมาได้มาก ที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือ วิกฤติอาจจะส่งผลต่อตลาดหุ้นยาวนาน ดังนั้น ควรเลือกหุ้นที่สามารถจ่ายปันผลได้ดีพอสมควรแม้ว่าเศรษฐกิจจะย่ำแย่ การได้รับปันผลในยามที่หุ้นตกลงมาหรือภาวะตลาดซบเซานั้นผมคิดว่าจะทำให้เรารู้สึกดีขึ้น  อีกประการหนึ่งก็คือ หุ้นที่ยังสามารถจ่ายปันผลได้ดีนั้นก็คือกิจการที่แข็งแกร่งและไม่ล้มหายตายจากไปง่ายๆ และพร้อมกลับมาเติบโตต่อไปได้อย่างรวดเร็วเมื่อวิกฤติผ่านไป คำถามสุดท้ายก็คือ ถ้าเราค่อนข้างมั่นใจว่าปัญหาคงจะมีแน่แม้ว่าเศรษฐกิจอาจจะไม่วิกฤติ ทำไมเราไม่ถือเงินสด?  คำตอบของผมก็คือ เงินสดนั้นก็คือการลงทุนอีกอย่างหนึ่งที่ให้ผลตอบแทนน้อยมากน่าจะแค่ไม่เกิน1-2% ต่อปีและจะน้อยต่อไปอีกน่าจะเป็น10 ปีขึ้นไป ดังนั้น ถ้าเราสามารถเลือกหุ้นที่ให้ปันผลได้ซัก3-4% ต่อปีขึ้นไปในระยะยาวแม้ในยามที่เศรษฐกิจยากลำบาก การถือเป็นหุ้นก็น่าจะดีกว่า และในกรณีแบบนี้ เราคงต้องลืมเรื่องของราคาหุ้นไปก่อน   

MOST POPULAR