Mike Lynch- มุมมองการเทรดหุ้นของนักลงทุนเวียดนาม

ทริป VVI Hanoi 2018. ที่ผ่านมานี้มี speaker เก่งๆ หลายท่านค่ะ หนึ่งในนั้นคือคุณ Mike Lynch  ซึ่งปัจจุบันเป็น Managing Director, Co-Head Institutional Brokerage อยู่ที่ Saigon Securities Inc (SSI)  ถึงแม้คุณ Mike จะมาเวียดนามได้เพียง 1.5 ปี แต่มีประสบการณ์การทำงานในสายนี้ทั้งด้าน Research และ Sale มาร่วมๆ 20 ปี จากทั้งที่ Morgan Stanley , HSBC, Merrill Lynch , CIMB,  CLSA และอื่นๆค่ะ

แค่ได้ฟังคุณMike พูดครั้งแรกก็รู้สึกได้เลยค่ะว่าคมมากค่ะ  จับประเด็นตลาดเวียดนามได้โดนจริงๆ  วันนี้แอดเลยขออนุญาตสรุปให้ฟังกันค่ะ   ขอใช้ภาษาสบายๆ หน่อยในการสรุปบางส่วนที่คุณ Mike บรรยายในทริปสัมมนาครั้งนี้นะคะ

โดยที่คุณ Mike เค้าเล่าให้ฟังว่า

(1) ทำไมต้องเวียดนาม
(2) แล้วนักลงทุนเวียดเค้ามองหาหุ้นกันแบบไหน
(3) ทำไมหุ้นที่ถูก มันก็ยังถูกอยู่อย่างนั้น
(4) ทำไมเวียดนามถึงเป็นตัวเก็งเข้า MSCI Emerging Market (EM) แน่ๆ

.
คุณ Mike บอกว่าต้องมาเวียดนามเพราะถ้าไม่มาตอนนี้ จะมาตอนไหน  ขืนรอให้เวียดนามเข้า MSCI Emerging Market (EM) ไปแล้วอาจจะสายเกินไป และในระยะเวลา 10-20 ปีนี้ เวียดนามเป็นประเทศที่น่าสนใจแน่นอนค่ะ  คุณ Mike ฟันธง!! …ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ,  เม็ดเงินลงทุนจาก FDI, ค่าแรงที่ถูกกว่าจีนครึ่งนึง (แต่ถ้าจะให้แม่นยำกว่านี้ คือค่าแรงประมาณ 1/3 ของจีน), ประชากรยังเป็นวัยรุ่น-วัยทำงาน  ที่ส่วนใหญ่พูดภาษาอังกฤษได้ (แอบแหน็บเมืองไทยของเราว่ายังมีคนพูดภาษาอังกฤษน้อยกว่าคนเวียดนามอีกค่ะ)   คุณ Mike ยังมองอีกว่าเวียดนามน่าจะเป็นเหมือนเมืองไทยตอนนี้ได้เร็วกว่าภายใน 20 ปี (อาจจะทำได้ภายใน 10 ปีด้วยซ้ำ)   นอกจากนี้สินค้าที่เป็นแบรนด์ของเวียดนามเองยังไม่เยอะมาก  เค้าลองนับดูจริงๆมีประมาณ 20 แบรนด์เท่านั้น จึงนับเป็นโอกาสของแบรนด์เวียดนามใหม่ที่จะเข้ามาในตลาดค่ะ

ในแง่ของโครงสร้างตลาดหลักทรัพย์  ตอนนี้มีบัญชีเทรดหุ้นอยู่ประมาณ 800,000 บัญชีที่ทำการซื้อขาย (ถึงแม้ตัวเลขบัญชีเทรดจะมีประมาณ 3 ล้านบัญชี แปลว่าคนนึงอาจจะมีหลายบัญชี)  ไม่มีกองทุนในประเทศ แม้ว่าจะมีบริษัทประกัน แต่บริษัทประกันไม่ได้นำเงินมาซื้อหุ้น แต่เป็นการซื้อตราสารหนี้   ตัวเลข turnover ในแต่ละวันจะเป็นของนักลงทุนเวียดนามประมาณ 85%   และในปัจจุบันตลาดของเวียดนามยังไม่เรียกว่าเป็นตลาดที่นักลงทุนส่วนใหญ่เน้นการลงทุนแบบเน้นคุณค่านะคะ  เรียกว่าเป็นการเทรดตามโมเมนตัม หรือ catalyst เสียมากกว่าค่ะ  และคนเวียดนามเองส่วนใหญ่จะใช้ margin ในการเทรด 50%   ต้นทุนการกู้เงินมาเทรดโดยเฉลี่ยอยู่ที่   13%  ดังนั้นนักลงทุนชาวเวียดส่วนใหญ่เค้าจะไม่สนใจปันผล 30% หรืออะไรในแง่พื้นฐานกิจการเท่าไรนัก   และโดยเฉลี่ยจะถือหุ้นกันประมาณ 5 วันก็โยนทิ้งกันแล้วค่ะ  นักลงทุนต่างชาติห้ามใช้ margin ในการเทรด (ถ้าคุณจะบอกว่าโบรกที่คุณใช้อยู่ให้ทำได้ แปลว่ากำลังทำอย่างผิดกฎหมายค่ะ)  การ short หุ้นยังไม่ได้รับการอนุญาตให้ทำ
.
สำหรับหุ้น IPO ที่เวียดนาม ยังไม่จำเป็นต้องเข้ามา list ในตลาดทันที   คือสามารถทำ IPO แล้วไม่ list ได้เป็นสิบๆปีค่ะ   สำหรับการ IPO ของหุ้นที่เป็น State-Owned Enterprises (SOEs) จะใช้วิธีการประมูลแบบ Dutch auction ซึ่งนักลงทุนต่างชาติไม่ค่อยชอบวิธีการแบบนี้เท่าไร เพราะรายละเอียดการประมูลไม่เป็นที่เปิดเผย เราไม่รู้ว่าเราจะได้ที่ราคาเท่าไร อย่างไร  ไม่มีการทำ price discovery ???? แปลว่าไม่มีการศึกษามูลค่าที่เหมาะสมของหุ้น ด้วยการศึกษา demand/supply และตัวแปรอื่นที่เกี่ยวข้อง  เราจะไม่รู้ว่าราคานี้ถูกหรือแพงhttps://investinganswers.com/financial-dictionary/economics/price-discovery-3069)    ทำให้มีทั้งหุ้น IPO ที่ประสบความสำเร็จ  และล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า (ยกตัวอย่างหุ้น IPOs ที่ไม่ประสบความสำเร็จเช่น Vietnam Rubber, Genco 3, Viglacera และ MBB)
.
ความท้าทายของนักลงทุนต่างชาติในการมาลงทุนที่เวียดนาม คือ
– ไม่สามารถซื้อหุ้น OTC บางตัวได้ อย่างเช่นหุ้นกลุ่มธนาคาร
– นักลงทุนหลายเจ้าไม่สามารถมาซื้อหุ้นใน OTC หรือ UpCOM ได้เพราะมีปัญหาเรื่อง free float และ liquidity  ต่ำ
– Foreign Ownership Limit (FOL) ถ้าเต็มต้องไปซื้อแบบจ่ายพรีเมียม ก็มีปัญหากระทบ NAV อีก แล้วเวลาสถาบัน หรือกองทุนรายงานมูลค่าออกไป  นักลงทุนที่มาซื้อกองทุนก็ไม่พอใจอีก แต่ว่าถ้าจะซื้อหุ้นตัวนี้ นี่ก็เป็นเพียงราคาเดียวที่มีให้เลือกได้ ซึ่งปัญหาจะวนไปอยู่แบบนี้
– ที่สำคัญนักลงทุนเวียด จะเล่นหุ้น (ไม่เรียกว่าลงทุน) ด้วยการพยายามหาหุ้นที่จะไปขายต่อต่างชาติได้ เพื่อที่จะได้ขายแบบพรีเมียม (เพราะอย่างที่บอกว่าเค้าไม่สนใจพื้นฐาน เค้าไม่เน้นถือหุ้นระยะยาว)  ยกตัวอย่างเช่น MWG  หรือจะพยายามหาหุ้นที่จะเข้า  index inclusion (หุ้นที่จะย้ายจาก OTC ไป UpCOM  หรือย้ายจาก  UpCOM ไป HNX/HOSE)
– นอกจากนี้นักลงทุนเวียดจะชอบเทรดหุ้นที่เป็น stock dividend (ไม่ชอบหุ้นที่จ่ายปันผลเป็นเงินสด)  โดยจะเข้าไปซื้อก่อนวันขึ้น XD เพื่อให้ได้หุ้นปันผล ทำให้เค้าได้หุ้นเพิ่มขึ้น แล้วขายทิ้ง
– ยกตัวอย่าง Techcom bank (TCB) ซึ่งเป็นธนาคารที่ดีอันดับต้นๆของเวียดนาม  ที่เพิ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดฯ เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาในราคา VND 128,000  แต่พอเข้าตลาดฯมาแล้วราคากลับร่วงลงมา 50% ภายใน 2 อาทิตย์หลังจากนั้น  ทำให้นักลงทุนต่างชาติที่ได้ IPO ไปขาดทุนทันที  ในขณะที่นักลงทุนเวียดเข้าไปซื้อจับจองกันก่อนหน้านั้นประมาณปีครึ่ง ตั้งแต่ในตลาด OTC โดยมีต้นทุนต่ำกว่า VND 50,000 โดยประมาณ  ทำให้นักลงทุนเวียดนามยังคงขายได้กำไรอยู่ถึงแม้ว่าจะขายที่ราคาต่ำกว่าราคา IPO
– นอกจากนี้นักลงทุนเวียดนามยังซื้อขายตาม Fund flow ของต่างชาติ  ถ้าต่างชาติยัง net buy ถึงจะซื้อตาม
– อีกเรื่องนึงที่สร้างควาสนุกสนานให้กับนักลงทุนชาวเวียดคือ derivative market ซึ่งเมื่อก่อนไม่มี เพิ่งเริ่มมาเทรดกันประมาณเดือนตุลาปีที่แล้ว  ปัจจุบันมูลค่าการเทรดเพิ่มมากขึ้น และเป็นที่ชื่นชอบของชาวเวียดนามเป็นอย่างมากเพราะมี leverage เพิ่มเป็น 5 เท่า และสามารถเล่นเดย์เทรดได้ รวมทั้งเล่นได้ทั้งสองขา  แต่ว่าจะมีแค่ VN30 index derivative ให้เทรดกันเท่านั้น
.
ทำไมหุ้นที่ถูก ก็ยังคงถูกอยู่อย่างนั้น?
คุณ Mike บอกว่า เพราะนักลงทุนชาวเวียดเค้ากำหนดราคา (set the price) กับพวกหุ้นที่ติด FOL มากกว่า  เค้าไม่ได้สนใจการถือหุ้นเน้นคุณค่า ไม่สนใจหุ้นปันผล  ทำให้หุ้นที่มูลค่าถูก มันก็จะยังคงถูกอยู่แบบนั้น   จริงอยู่ถึงแม้ว่าอาจจะเป็นผู้บริหารอาจจะแย่ มี tactic ในการบริหาร หรือเล่นกลทางบัญชี แต่นักลงทุนชาวเวียดเน้นเล่นหุ้นตามโมเมนตัม มากกว่าที่จะมานั่งแกะงบ หรือศึกษาพื้นฐาน  .. คุณ Mike จึงมองว่านี่เป็นโอกาสในการเก็บหุ้นของพวกเรา   โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวเวียดนามใจร้อน ถ้าซื้อหุ้น 4-5 วันแล้วไม่ขึ้น ก็โยนขายทิ้งกันเลยค่ะ เปลี่ยนไปเล่นตัวอื่นแทน
.
ทีนี้พอหุ้นดีๆ ไปติด FOL กันหมด นักลงทุนต่างชาติเลยให้ความสนใจการซื้อ ETF กันมากขึ้น โดยมีการตั้งกอง VN30ETF (E1VFVN30) โดยมีกองทุน 245710KS เป็นกองพี่กองน้อง (synthetic) อยู่ที่เกาหลีใต้ด้วย และนักลงทุนชาวเกาหลีต่างให้ความสนใจกันมาก เพราะกองนี้ถือหุ้นประเภท MWG, FPT, MBB, VPB, PNJ และ REE เป็นต้น  ทำให้มี fund flow ไหลเข้ามาจากเกาหลีใต้เยอะมากๆค่ะ   ซึ่งคุณMikeเล่าให้ฟังว่าถ้าเวียดนามลองเอาแนวความคิดของไทยเรื่องการใช้ NVDR จะทำให้ปัญหา FOL หมดไปและการจะเข้าสู่ MSCI EM น่าจะใกล้ความเป็นจริงมากขึ้นค่ะ

เป็นอย่างไรบ้างคะ  มุมมองเชิงพฤติกรรมที่พวกเราไม่ค่อยได้ยินจากที่ไหน   ถ้าเพื่อนๆอยากทราบข้อมูลแบบนี้อีก  ติดตามได้เพจของ VVI กันได้เรื่อยๆแบบนี้ค่ะ